สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2296/2565

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2296/2565

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 587, 816 วรรคหนึ่ง

สัญญาว่าจ้างก่อสร้างอาคารโภชนาการกำหนดให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้าง แม้จำเลยซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างเป็นผู้จัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างตามฟ้องเพื่อติดตั้งในอาคารโภชนาการ และเป็นผู้ชำระราคาวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างดังกล่าวให้แก่ผู้ขาย แต่เป็นการทดรองจ่ายแทนโจทก์ จำเลยจึงเป็นเพียงตัวแทนของโจทก์ในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างแทนโจทก์ซึ่งเป็นตัวการ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างที่จำเลยจัดซื้อมาจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยซึ่งเป็นตัวแทนคงมีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ซึ่งเป็นตัวการจ่ายเงินทดรองคืนให้แก่จำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 816 วรรคหนึ่ง

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 844,294.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 804,090 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 804,090 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 9 ตุลาคม 2560) ต้องไม่เกิน 40,204.50 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 6,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท

โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์ฟังได้ว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนางสาวอุไรศรี นายศรัณยู นายศาสนัย และนายศีขรินทร์ เป็นกรรมการ นางสาวอุไรศรีประธานกรรมการ ลงลายมือชื่อร่วมกับกรรมการอื่นอีกหนึ่งคนและประทับตราสำคัญของจำเลย หรือกรรมการคนอื่นสองคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของจำเลยมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยได้ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2558 จำเลยโดยนางสาวอุไรศรี ประธานกรรมการ และนายศรัณยู กรรมการของจำเลย ลงลายมือชื่อในช่องผู้ว่าจ้างแต่ไม่ได้ประทับตราสำคัญของจำเลย ว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารโภชนาการ 1 ชั้น (ที่ถูก เป็น อาคารโภชนาการชั้น 1) เป็นเงิน 5,445,000 บาท กำหนดเวลาก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 70 วัน วันที่ 19 กันยายน 2558 จำเลยโดยนายศรัณยู กรรมการของจำเลย ว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารห้องน้ำ 1 ชั้น (ที่ถูก เป็น อาคารห้องน้ำชั้น 1) เป็นเงิน 3,637,250 บาท กำหนดเวลาก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 70 วัน วันที่ 12 มกราคม 2559 จำเลยโดยนายศรัณยูกรรมการของจำเลยว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารโภชนาการชั้น 2 ถึงชั้น 4 เป็นเงิน 23,500,000 บาท กำหนดเวลาก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน หลังจากได้รับค่าจ้างงวดที่ 1 ซึ่งโจทก์ได้รับเงินค่าจ้างงวดที่ 1 ไปแล้วในวันทำสัญญา ในวันเดียวกันนั้น จำเลยว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารห้องน้ำชั้น 2 เป็นเงิน 2,728,000 บาท กำหนดเวลาก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน หลังจากได้รับค่าจ้างงวดที่ 1 วันที่ 29 สิงหาคม 2559 โจทก์และจำเลยทำรายการระบุว่า มูลค่างานเดิมเป็นเงิน 44,046,012 บาท บวกภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 เป็นเงิน 3,083,220.84 บาท รวมมูลค่างานเดิม 47,129,232.84 บาท ผลงานที่โจทก์ก่อสร้างเสร็จแล้วและได้รับค่าจ้างไปแล้วเป็นเงิน 28,843,725.71 บาท คงเหลือ 18,285,507.13 บาท โจทก์และจำเลยตกลงลดสินจ้างค่าก่อสร้างลงเหลือเพียง 37,500,000 บาท บวกภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 เป็นเงิน 2,625,000 บาท รวมเป็นเงิน 40,125,000 บาท เมื่อหักสินจ้างตามผลงานที่โจทก์ก่อสร้างเสร็จแล้วและได้รับค่าจ้างไปแล้วเป็นเงิน 28,843,725.71 บาท คงเหลือสินจ้าง 11,281,274.29 บาท และเมื่อหักเงินที่จำเลยทดรองจ่ายแทนโจทก์เป็นค่าวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างที่ซื้อมาก่อสร้างติดตั้งในอาคารก่อสร้างเป็นวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างที่ซื้อจากบริษัท ค. เป็นเงิน 473,312.36 บาท และ 276,557.55 บาท บริษัท ก. เป็นเงิน 61,067.72 บาท 280,277.12 บาท และบริษัท ท. เป็นเงิน 250,920.35 บาท รวมเป็นเงิน 1,342,135.11 (ที่ถูก 1,342,135.10) บาท แล้วคงเหลือสินจ้างเป็นเงิน 9,939,139.18 (ที่ถูก 9,939,139.19) บาท วันที่ 5 กันยายน 2559 โจทก์ทำบันทึกเสนอแก่จำเลยกำหนดเวลาการก่อสร้างงานส่วนที่เหลือคิดเป็นสินจ้างเพียง 9,288,915.13 บาท แบ่งชำระเป็น 4 งวด ตามผลงานที่โจทก์ก่อสร้างดังที่กำหนดไว้ในบันทึกดังกล่าว โดยจำเลยจะชำระสินจ้างงวดแรก 3,500,000 บาท เมื่อโจทก์ต้องก่อสร้างโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก งานหลังคา (รางน้ำและท่อน้ำฝน) ผนังปล่องลิฟท์ งานประตูหน้าต่าง งานกั้นผนังห้องพักนักเรียน งานทำพื้นขัดมันชั้น 4 งานทาสีผนังภายในและฝ้าเพดานแล้วเสร็จ งวดที่ 2 และงวดที่ 3 ชำระงวดละ 2,000,000 บาท และงวดสุดท้ายเหลือค่าจ้าง 1,788,915.13 บาท เมื่อหักค่าประกันผลงาน 500,000 บาท คงเหลือจ่ายงวดสุดท้าย 1,288,915.13 บาท นางสาวอุไรศรี ประธานกรรมการของจำเลย ลงชื่ออนุมัติในวันเดียวกันนั้น แต่โจทก์ได้รับเงินค่าจ้างงวดแรกไปแล้วในวันทำบันทึก วันที่ 29 ธันวาคม 2559 จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์ โจทก์จัดทำใบเสนอราคาวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างฉบับลงวันที่ 25 มกราคม 2560 ต่อนายศรัณยู กรรมการของจำเลย เป็นเงิน 887,684 บาท วันที่ 31 มกราคม 2560 นายอธิป พนักงานของบริษัท อ. ทำหน้าที่ผู้จัดการโครงการมีหนังสือแจ้งนายศรัณยูว่าวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างที่โจทก์แจ้งขายคืนแก่โครงการมีจำนวนไม่ครบถ้วน วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 โจทก์จัดทำใบส่งสินค้า/ใบวางบิล ส่งมอบวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง 15 รายการ คิดเป็นเงินเพียง 804,090 บาท ให้แก่นายศรัณยูด้วย โดยนายเฉลิมพล พนักงานของจำเลย ลงชื่อรับทราบ และนายวัชรสิทธิ์ พนักงานของบริษัท อ. ซึ่งเป็นที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานก่อสร้างให้แก่จำเลยเขียนข้อความว่า รับทราบรายการตรงตามจำนวนที่นำส่งจริงแล้วลงชื่อไว้ แล้วจำเลยส่งมอบวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างดังกล่าวให้แก่บริษัท ส. ซึ่งเป็นผู้รับเหมารายใหม่ไปติดตั้งภายในอาคารโภชนาการของจำเลย โจทก์ให้ทนายความมีหนังสือฉบับลงวันที่ 23 สิงหาคม 2560 บอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระราคาวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างให้แก่โจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ จำเลยได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2560

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า สัญญาว่าจ้างก่อสร้างอาคารโภชนาการกำหนดให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างแม้จำเลยซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างเป็นผู้จัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างตามฟ้องเพื่อติดตั้งในอาคารโภชนาการ และเป็นผู้ชำระราคาวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างดังกล่าวให้แก่ผู้ขาย แต่เป็นการทดรองจ่ายแทนโจทก์ จำเลยจึงเป็นเพียงตัวแทนของโจทก์ในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างแทนโจทก์ซึ่งเป็นตัวการ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างที่จำเลยจัดซื้อมาจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยซึ่งเป็นตัวแทนคงมีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ซึ่งเป็นตัวการจ่ายเงินทดรองคืนให้แก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 816 วรรคหนึ่ง ซึ่งต้องพิจารณาด้วยว่าโจทก์คืนเงินทดรองจ่ายให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้วหรือไม่ เห็นว่า แม้ใบแสดงรายการค่าก่อสร้างคงเหลือระบุว่า มูลค่างานเดิมคิดเป็นสินจ้าง 44,046,012 บาท บวกภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 เป็นเงิน 3,083,220.84 บาท รวมมูลค่างานเดิมคิดเป็นสินจ้าง 47,129,232.84 บาท ผลงานที่โจทก์ก่อสร้างเสร็จและได้รับสินจ้างไปแล้วเป็นเงิน 28,843,725.71 บาท คงเหลือมูลค่างานคิดเป็นสินจ้าง 18,285,507.13 บาท ซึ่งน่าจะเป็นมูลค่างานที่โจทก์ยังไม่ได้ก่อสร้าง แล้วโจทก์และจำเลยตกลงมูลค่างานใหม่คิดเป็นสินจ้าง 37,500,000 บาท บวกภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 เป็นเงิน 2,625,000 บาท รวมเป็นมูลค่างานคิดเป็นสินจ้าง 40,125,000 บาท เมื่อหักผลงานที่โจทก์ก่อสร้างเสร็จและได้รับสินจ้างไปแล้วเป็นเงิน 28,843,725.71 บาท คงเหลือมูลค่างานคิดเป็นสินจ้าง 11,281,274.29 บาท แสดงว่าเงินจำนวน 11,281,274.29 บาท เป็นมูลค่าของงานที่โจทก์ยังไม่ได้ก่อสร้างดังคำเบิกความของนายพิมล หุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์ ที่ตอบคำถามของทนายจำเลยตามที่ได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น หาใช่เป็นสินจ้างที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์เพราะโจทก์ก่อสร้างงานเสร็จแล้วแต่อย่างใดไม่ แต่การที่ใบแสดงรายการค่าก่อสร้างคงเหลือ ระบุว่า หักค่าใช้จ่ายที่จำเลยทดรองจ่ายเป็นเงิน 1,342,135.11 บาท นั้น คงเหลือมูลค่างานคิดเป็นสินจ้าง 9,939,139.18 บาท ซึ่งน่าจะเป็นการตกลงลดสินจ้างลงจากจำนวนเงิน 11,281,274.29 บาท หาใช่ว่าโจทก์จะมีสิทธิหักเงินทดรองจ่ายต่อเมื่อโจทก์ก่อสร้างงานเสร็จสิ้นตามสัญญาและส่งมอบอาคารโภชนาการให้แก่จำเลยแต่อย่างใดไม่ ดังจะเห็นได้จากเมื่อโจทก์ทำบันทึกเรื่องเงื่อนไขการชำระเงินเสนอแก่จำเลย กำหนดสินจ้างที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากจำเลยเมื่อโจทก์ก่อสร้างงานเสร็จตามสัญญาให้เหลือเพียง 9,288,915.13 บาท แบ่งชำระสินจ้างเป็น 4 งวด ซึ่งนางสาวอุไรศรี ประธานกรรมการของจำเลย อนุมัติตามบันทึกดังกล่าว และเมื่อจำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญา จำเลยเพียงแต่แจ้งให้โจทก์ขนย้ายทรัพย์สินออกจากพื้นที่ก่อสร้าง โดยไม่ได้เรียกร้องให้โจทก์คืนเงินทดรองจ่ายค่าวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างแก่จำเลย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยตกลงตามข้อเสนอของโจทก์ที่ลดสินจ้างจากเดิม 11,281,274.29 บาท ลงเหลือ 9,939,139.18 บาท และเหลือ 9,288,915.13 บาท โดยสินจ้างที่ลดจำนวนลงนั้นถือว่าเป็นเงินที่โจทก์คืนทดรองจ่ายค่าวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้ว ครั้นเมื่อโจทก์เสนอราคาขายวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างดังกล่าวต่อนายศรัณยู กรรมการจำเลย ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยเป็นเงิน 887,684 บาท แล้วนายอธิป ผู้จัดการโครงการของจำเลย มีหนังสือแจ้งนายศรัณยูระบุว่า จากการตรวจสอบวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในก่อสร้างที่โจทก์แจ้งขายคืนแก่โครงการมีจำนวนไม่ครบถ้วนโดยระบุรายการวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างที่ขาดไป แม้โจทก์ไม่ได้นำสืบนายศรัญยูและนายอธิปเป็นพยานยืนยันข้อเท็จจริงตามหนังสือดังกล่าวว่า นายศรัณยูได้รับใบเสนอราคาจากโจทก์แล้วแจ้งให้นายอธิปตรวจสอบวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างตามใบเสนอราคาของโจทก์ แต่พฤติการณ์ที่โจทก์จัดทำใบส่งสินค้า/ใบวางบิล มีรายละเอียดวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในสำเนาหนังสือ และลดราคาลงเหลือเพียง 804,090 บาท แล้วนายเฉลิมพล วิศวกรผู้ควบคุมงานก่อสร้างซึ่งเป็นตัวแทนจำเลย ลงชื่อในใบส่งสินค้า/ใบวางบิล รับทราบการส่งวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างดังกล่าวให้แก่จำเลยเท่านั้น และนายวัชรสิทธิ์ พนักงานของบริษัท อ. ซึ่งเป็นที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานก่อสร้างให้แก่จำเลย เขียนข้อความในใบส่งสินค้า/ใบวางบิล ว่ารับทราบรายการตรงตามจำนวนที่นำส่งจริงแล้วลงชื่อไว้ ทำให้น่าเชื่อว่านายศรัณยู ตัวแทนของจำเลย ได้รับใบเสนอราคาจากโจทก์แล้วแจ้งให้นายอธิปตรวจสอบ เมื่อนายศรัณยูรับทราบข้อมูลจากนายอธิปแล้วแจ้งให้โจทก์ทราบ โจทก์จึงจัดทำใบส่งสินค้า/ใบวางบิลมีรายละเอียดวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างถูกต้องครบถ้วนตามรายการที่นายอธิปตรวจสอบไว้ แม้นายศรัณยูไม่ใช่กรรมการที่ลงลายมือชื่อเพียงผู้เดียวมีอำนาจกระทำการแทนจำเลย แต่ในการว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารโภชนาการและห้องน้ำ ฉบับลงวันที่ 19 กันยายน 2558 และวันที่ 12 มกราคม 2559 นั้น นายศรัณยูลงลายมือชื่อเป็นผู้ว่าจ้างแทนจำเลย และจำเลยยอมรับการกระทำของนายศรัณยูโดยให้โจทก์ก่อสร้างอาคารโภชนาการและห้องน้ำตามสัญญาแล้วชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์ตลอดมา ถือได้ว่า จำเลยเชิดนายศรัณยูแสดงออกเป็นตัวแทนของตนหรือรู้แล้วยอมให้นายศรัณยูเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตน ตกลงซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างตามราคาที่ระบุไว้ในใบส่งสินค้า/ใบวางบิล และแม้จำเลยไม่ได้แต่งตั้งให้นายเฉลิมพลและนายวัชรสิทธิ์เป็นตัวแทนของจำเลย แต่เมื่อนายเฉลิมพลและนายวัชรสิทธิ์ลงชื่อรับทราบแล้วจำเลยได้รับมอบวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างดังกล่าวและส่งมอบให้แก่บริษัท ส. ซึ่งเป็นผู้รับเหมารายใหม่นำไปใช้ในการก่อสร้างงานให้แก่จำเลย พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่า จำเลยเชิดนายเฉลิมพลและนายวัชรสิทธิ์แสดงออกเป็นตัวแทนของตนหรือรู้แล้วยอมให้นายเฉลิมพลและนายวัชรสิทธิ์เชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตน ในการรับมอบวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างจากโจทก์ จำเลยในฐานะตัวการจึงต้องรับผิดในผลแห่งการกระทำของนายศรัณยู นายเฉลิมพล และนายวัชรสิทธิ์ โดยต้องชำระราคาค่าวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างดังกล่าวให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลดังกล่าวเป็นตัวแทนของจำเลย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 จำเลยให้การว่า จำเลยว่าจ้างผู้รับเหมารายใหม่เข้าไปก่อสร้างต่อจากโจทก์ เสียสินจ้างเป็นเงิน 6,650,000 บาท จำเลยชำระสินจ้างล่วงหน้าไปแล้ว 3,500,000 บาท จำเลยต้องจ่ายสินจ้างเพิ่มขึ้นจากสัญญาเดิม 861,087.97 บาท โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่จำเลย จำเลยจึงมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์เกี่ยวกับทรัพย์สินตามคำฟ้องที่โจทก์จะต้องติดตั้งให้แล้วเสร็จ เนื่องจากโจทก์ได้รับสินจ้างไปแล้ว จึงขอใช้สิทธิยึดหน่วงทรัพย์สินตามคำฟ้องจนกว่าโจทก์จะชำระค่าแห่งการงานที่โจทก์ทำไม่แล้วเสร็จให้แก่จำเลย ซึ่งเมื่อพิจารณาจากบันทึกเรื่องเงื่อนไขการชำระเงิน จะเห็นได้ว่าสินจ้างที่โจทก์เสนอและจำเลยอนุมัติเป็นเงิน 9,288,915.13 บาท แบ่งชำระเป็น 4 งวด จำเลยจะชำระสินจ้างงวดแรก 3,500,000 บาท จึงคงเหลือสินจ้างที่จำเลยยังไม่ได้ชำระให้แก่โจทก์เป็นเงิน 5,788,915.13 บาท จำเลยว่าจ้างผู้รับเหมารายใหม่เป็นเงิน 6,650,000 บาท เพิ่มขึ้นจากสินจ้างที่จำเลยยังไม่ได้ชำระให้แก่โจทก์เป็นเงิน 861,087.87 บาท ประกอบกับเมื่อจำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์ ไม่ได้บอกกล่าวทวงถามให้โจทก์คืนสินจ้างดังกล่าว และไม่ได้ระบุว่า สินจ้างที่โจทก์ได้รับไป 3,500,000 บาท รวมค่าวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างที่โจทก์ขายคืนให้แก่จำเลย ทำให้เชื่อได้ว่าสินจ้าง 3,500,000 บาท ที่โจทก์ได้รับไป เป็นค่าแห่งการงานที่โจทก์ทำให้แก่จำเลยไม่รวมค่าวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างที่โจทก์ขายคืนให้แก่จำเลยเหมือนดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ เมื่อโจทก์ให้ทนายความมีหนังสือฉบับลงวันที่ 23 สิงหาคม 2560 บอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระราคาวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างให้แก่โจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ และจำเลยได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2560 แล้ว แต่จำเลยไม่ชำระราคาให้แก่โจทก์ จึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องชำระราคาวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างตามฟ้องเป็นเงิน 804,090 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยระหว่างผิดนัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2560 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันครบกำหนดตามหนังสือบอกกล่าวทวงถามเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หาใช่นับแต่พ้นกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่จำเลยได้รับวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้าง คือ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 ดังคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นแต่อย่างใดไม่ ปัญหาที่ว่า จำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดตั้งแต่เมื่อใด เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดหยิบยกปัญหาข้อนี้ขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2564 ได้มีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นมา โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามลำดับ แล้วให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยข้อความใหม่บัญญัติให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตามอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา 7 คือ ร้อยละ 3 ต่อปี หรืออัตราที่ปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี และมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดฉบับดังกล่าว บัญญัติให้ใช้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดฉบับดังกล่าวใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดฉบับดังกล่าว แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดหยิบยกปัญหาข้อนี้ขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2560 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 3 ต่อปี บวกเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี เป็นร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราที่จะปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 (ที่แก้ไขใหม่) บวกเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอท้ายฟ้อง นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน

พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 804,090 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2560 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 อัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราที่จะปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 (ที่แก้ไขใหม่) บวกเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอท้ายฟ้อง นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 20,000 บาท

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.858/2564

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - ห้างหุ้นส่วนจำกัด ม. จำเลย - บริษัท ร.

ชื่อองค์คณะ กิตติพงษ์ ศิริโรจน์ ประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์ กษิดิศ มงคลศิริภัทรา

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ - นางสาวประวีณณัฐ มูลเมฆ ศาลอุทธรณ์ - นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ศิริกุล

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th