สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2297/2565

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2297/2565

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 177 วรรคสอง

โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าบ้านและที่ดินพิพาทของโจทก์เพื่อประกอบธุรกิจร้านอาหาร มีกำหนด 3 ปี มีข้อสัญญาข้อหนึ่งว่า ผู้เช่าจะโอนสิทธิการเช่าหรือนำทรัพย์สินที่เช่าไปให้ผู้อื่นเช่าช่วงไม่ได้เว้นแต่ผู้เช่าจะได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อมาราวเดือนพฤษภาคม 2559 จำเลยที่ 1 นำบ้านและที่ดินไปให้จำเลยที่ 3 เช่าช่วง เป็นการผิดสัญญาเช่า การที่จำเลยที่ 3 อยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่ใช่ผู้เช่าช่วงแต่เป็นเพียงบริวารของจำเลยที่ 1 สัญญาเช่าระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังไม่ระงับ จำเลยทั้งสามสามารถอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทได้ ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ นับว่าเป็นการกล่าวอ้างเหตุแห่งการปฏิเสธว่าจำเลยที่ 3 อยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทโดยได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นเพียงบริวารของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ คำให้การของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวจึงเป็นคำให้การปฏิเสธคำฟ้องของโจทก์โดยชัดแจ้งแล้ว ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง

แม้จำเลยที่ 3 ทำสัญญาเช่าช่วงบ้านและที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และได้ใช้ประโยชน์ในบ้านและที่ดินพิพาท แต่ก็เป็นการอยู่และใช้ประโยชน์โดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าช่วงที่ทำไว้กับจำเลยที่ 1 ซึ่งมีผลเพียงว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิให้เช่าช่วง จำเลยที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิที่จะใช้ประโยชน์ในบ้านและที่ดินพิพาทอีกต่อไป แต่ไม่ทำให้การที่จำเลยที่ 3 ได้อยู่และใช้ประโยชน์ในบ้านและที่ดินพิพาทมาก่อนแล้วนั้น กลายเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 จึงไม่จำต้องชำระค่าเสียหายแก่โจทก์

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 880,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสามขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหาย 480,000 บาท จำเลยที่ 3 ใช้ค่าเสียหาย 240,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวตามลำดับ นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยที่ 3 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าบ้านเลขที่ 61/25 ตามฟ้องจากโจทก์เพื่อประกอบธุรกิจร้านอาหาร ตกลงค่าเช่าเดือนละ 50,000 บาท มีบันทึกข้อตกลงท้ายสัญญาเช่าว่าในช่วงปีที่ 4 ถึงที่ 6 ปรับค่าเช่าเป็นเดือนละ 55,000 บาท โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีหมายเลขดำที่ 749/2559 หมายเลขแดงที่ 2020/2560 ของศาลชั้นต้น ขอให้ขับไล่จำเลยที่ 1 ออกจากบ้านและที่ดินพิพาท ให้ชำระค่าเช่าที่ค้างและให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าที่ค้างชำระ 420,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก สำหรับจำเลยที่ 2 นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะเป็นเพียงกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ไม่มีฝ่ายใด ฎีกาคัดค้าน คดีสำหรับจำเลยที่ 2 จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

คดีมีปัญหาที่วินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ประการแรกว่า คำให้การของจำเลยที่ 3 ชอบด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง หรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าบ้านและที่ดินพิพาทของโจทก์เพื่อประกอบธุรกิจร้านอาหาร มีกำหนด 3 ปี มีข้อสัญญาข้อหนึ่งว่า ผู้เช่าจะโอนสิทธิการเช่าหรือนำทรัพย์สินที่เช่าไปให้ผู้อื่นเช่าช่วงไม่ได้เว้นแต่ผู้เช่าจะได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อมาราวเดือนพฤษภาคม 2559 จำเลยที่ 1 นำบ้านและที่ดินไปให้จำเลยที่ 3 เช่าช่วง เป็นการผิดสัญญาเช่า การที่จำเลยที่ 3 อยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ข้อนี้จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่ใช่ผู้เช่าช่วงแต่เป็นเพียงบริวารของจำเลยที่ 1 สัญญาเช่าระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังไม่ระงับ จำเลยทั้งสามสามารถอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทได้ ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ นับว่าเป็นการกล่าวอ้างเหตุแห่งการปฏิเสธว่าจำเลยที่ 3 อยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทโดยได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นเพียงบริวารของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ คำให้การของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวจึงเป็นคำให้การปฏิเสธคำฟ้องของโจทก์โดยชัดแจ้งแล้ว ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า คำให้การของจำเลยที่ 3 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 3 ฟังขึ้น

คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ประการต่อไปว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้เช่าช่วงบ้านและที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 หรือเป็นบริวารของจำเลยที่ 1 โจทก์มีนายวินิจ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ นายชัชวาลย์ และนางสาวณัฐชยา เบิกความได้ใจความว่า เดือนธันวาคม 2558 จำเลยที่ 1 เริ่มไม่ชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์และมิได้ประกอบกิจการใด ๆ บนทรัพย์สินที่เช่า ต่อมาเดือนพฤษภาคม 2559 มีร้านค้าไปประกอบกิจการค้าขายสินค้ามือสองในบ้านและที่ดินพิพาท การค้าขายสินค้าดังกล่าวไม่ใช่วัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการของจำเลยที่ 1 นายชัชวาลย์จึงมอบหมายให้นางสาวณัฐชยาไปสอบถาม ได้ความว่าร้านดังกล่าวเป็นของบุคคลที่มีชื่อว่า เดียร์ ปลายเดือนมิถุนายน 2560 จำเลยที่ 3 ไปพบนายชัชวาลย์และขอเช่าบ้านและที่ดินพิพาทจากนายชัชวาลย์โดยแจ้งว่าได้เช่าบ้านและที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ในอัตราเดือนละ 30,000 บาท โจทก์จึงทราบว่าร้านค้าขายสินค้ามือสองดังกล่าวเป็นร้านของจำเลยที่ 3 แต่นายชัชวาลย์ปฏิเสธมิให้จำเลยที่ 3 เช่า ต่อมาวันที่ 31 สิงหาคม 2560 จำเลยที่ 3 ย้ายทรัพย์สินออกจากบ้านและที่ดินพิพาท ฝ่ายจำเลยที่ 3 มีจำเลยที่ 2 เบิกความว่า จำเลยที่ 3 เช่าอาคารที่ถนนเบญจางค์ซึ่งไม่ใช่บ้านพิพาทจากจำเลยที่ 2 เพื่อค้าขายสินค้ามือสองจากประเทศญี่ปุ่น เมื่อมีสินค้ามากขึ้น อาคารที่ถนนเบญจางค์ไม่มีเนื้อที่พอรองรับสินค้า จำเลยที่ 2 จึงอนุญาตให้จำเลยที่ 3 ใช้พื้นที่ชั้นล่างของบ้านพิพาทเป็นที่เก็บสินค้า จำเลยที่ 3 มิได้เช่าช่วงบ้านพิพาทจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และนายอณุวัฒน์ ทนายความและผู้รับมอบอำนาจจำเลยที่ 3 เบิกความว่า จำเลยที่ 3 ไม่ใช่ผู้เช่าช่วงแต่เป็นเพียงบริวารของจำเลยที่ 1 เนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยไว้ชัดเจนแล้วว่า จำเลยที่ 1 นำบ้านและที่ดินพิพาทไปให้จำเลยที่ 3 เช่าช่วง จำเลยที่ 1 มิได้ฎีกาโต้แย้งในเรื่องนี้ ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ว่า จำเลยที่ 1 นำบ้านและที่ดินพิพาทไปให้จำเลยที่ 3 เช่าช่วงจริง ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 มิได้เป็นผู้เช่าช่วงบ้านและที่ดินพิพาท โดยเป็นเพียงบริวารของจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 3 จะให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นเพียงบริวารของจำเลยที่ 1 มิใช่ผู้เช่าช่วงก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ให้การในเรื่องของการให้เช่าช่วงเพียงว่า ไม่ทราบ ซึ่งเท่ากับว่าจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิเสธว่ามิได้ให้เช่าช่วง และจำเลยที่ 1 มิได้ให้การยอมรับเลยว่าจำเลยที่ 3 เป็นบริวารของตน คงมีแต่จำเลยที่ 3 เท่านั้นที่ให้การว่าจำเลยที่ 3 เป็นบริวารของจำเลยที่ 1 นอกจากนี้ยังได้ความจากนางสาวณัฐชยา พนักงานของโจทก์ ว่า นายชัชวาลย์ใช้พยานให้ไปสอบถามเรื่องร้านค้าสินค้ามือสองที่ตั้งอยู่ในบ้านพิพาทหลังจากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเช่าบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ ได้ความว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้เช่าช่วงบ้านและที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ยังมาพบพยาน ณ ที่ทำงานของพยานแจ้งว่าขอพบนายชัชวาลย์และบอกพยานว่าจำเลยที่ 3 เช่าที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ค่าเช่าเดือนละ 30,000 บาท แต่นายชัชวาลย์ปฏิเสธไม่ยินยอมให้จำเลยที่ 3 เช่าบ้านและที่ดินพิพาท และนายชัชวาลย์ก็เบิกความในทำนองเดียวกันนี้ ซึ่งจำเลยที่ 3 มิได้นำสืบปฏิเสธว่ามิได้ไปพบนางสาวณัฐชยาและนายชัชวาลย์ พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 3 ฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้เช่าช่วงบ้านและที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 อย่างไรก็ตาม แม้นหากจะฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 ทำสัญญาเช่าช่วงบ้านและที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และได้ใช้ประโยชน์ในบ้านและที่ดินพิพาทจริง แต่ก็เป็นการอยู่และใช้ประโยชน์โดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าช่วงที่ทำไว้กับจำเลยที่ 1 ซึ่งมีผลเพียงว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิให้เช่าช่วง จำเลยที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิที่จะใช้ประโยชน์ในบ้านและที่ดินพิพาทอีกต่อไป แต่ไม่ทำให้การที่จำเลยที่ 3 ได้อยู่และใช้ประโยชน์ในบ้านและที่ดินพิพาทมาก่อนแล้วนั้น กลายเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 จึงไม่จำต้องชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังขึ้น

อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มีการประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความใหม่แทน เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี ทำให้ดอกเบี้ยผิดนัดของค่าสินไหมทดแทนซึ่งเป็นหนี้สินที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ต้องปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ดังนี้ เมื่อปัญหาเรื่องอัตราดอกเบี้ยขัดต่อกฎหมายหรือไม่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ก็ตาม ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและกำหนดดอกเบี้ยให้ถูกต้องตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหาย 480,000 บาท พร้อมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ไปจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ หากกระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยใหม่ ก็ให้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยไปตามพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี แต่ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยตามคำขอ ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 3 ในชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.926/2564

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย พ. จำเลย - บริษัท จ. กับพวก

ชื่อองค์คณะ อุบลรัตน์ ลุยวิกกัย สิริกานต์ มีจุล ประชา งามลำยวง

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดอุดรธานี - นางสาวสุพจี รุ่งโรจน์ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 - นายรุ่งอรุณ หลินหะตระกูล

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th