สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2356/2565

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2356/2565

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 22

เมื่อความปรากฏต่อศาลฎีกาว่า คดีอาญาหมายเลขดำที่ 1144/2561 ของศาลอาญา ที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อนั้น ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 แล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะสั่งให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อได้

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 144 นับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.63/2562 ของศาลจังหวัดทองผาภูมิ และโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1143/2561 และ อ.1144/2561 ของศาลอาญา และนับโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.63/2562 ของศาลจังหวัดทองผาภูมิ

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 จำคุก 1 ปี ให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.63/2562 ของศาลจังหวัดทองผาภูมิ ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1143/2561 และ อ.1144/2561 ของศาลอาญานั้น เนื่องจากคดีทั้งสองดังกล่าวศาลยังมิได้มีคำพิพากษา จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ให้ยกคำขอในส่วนนี้ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า ขณะเกิดเหตุนายวิเชียร ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานโดยมีอำนาจหน้าที่ตามสำเนาประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2561 เวลาประมาณ 18 นาฬิกา จำเลยทั้งสองกับพวก 2 คน เดินทางเข้าไปกางเต็นท์พักแรมที่ริมลำห้วยปะชิ ซึ่งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก และเป็นบริเวณที่ไม่อนุญาตให้พักแรมได้ ต่อมาวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2561 เวลาประมาณ 16 นาฬิกา ถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 เวลาประมาณ 1 นาฬิกา นายวิเชียรกับพวกทำการตรวจค้นบริเวณที่พักของจำเลยที่ 1 กับพวก ในเบื้องต้นพบอาวุธปืนพร้อมเครื่องกระสุนปืน มีดปลายแหลม เบ็ดตกปลา อุปกรณ์เครื่องครัวต่าง ๆ ซากเครื่องในสัตว์ป่าสภาพถูกชำแหละออกจากตัวซุกซ่อนอยู่ที่ร่องหินภายในลำห้วยปะชิ ถุงเกลือแกง กระจุกขนของสัตว์ป่าลักษณะใหม่และอ่อนนุ่มสีเทาดำ หล่นอยู่ห่างจากซากเครื่องในสัตว์ป่าประมาณ 1 เมตร ซากไก่ฟ้าหลังเทา และเนื้อเก้งแช่อยู่ในถังน้ำแข็ง จากนั้นวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 2.30 นาฬิกา นายวิเชียรกับพวกนำตัวจำเลยทั้งสองกับพวกพร้อมของกลางไปที่ห้องภายในอาคารนิทรรศการและศูนย์บริการของสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก สำหรับคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 เนื่องจากโจทก์มิได้อุทธรณ์ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้อง

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า มีเหตุสมควรลงโทษจำเลยที่ 1 สถานเบา และรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี นับว่าเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 มากแล้ว กรณีไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขโทษให้เบากว่านี้อีก ส่วนที่ขอให้รอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษจำคุก นั้น เห็นว่า หลักเกณฑ์ที่ศาลจะรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษจำคุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ได้นั้น จะต้องปรากฏว่าผู้กระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุกหรือปรับและศาลลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปีไม่ว่าจะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม ผู้กระทำความผิดนั้นต้องไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน หรือผู้กระทำความผิดเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนแต่เป็นโทษจำคุกสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หรือเป็นโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือผู้กระทำความผิดเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนแต่พ้นโทษจำคุกมาแล้วเกินกว่าห้าปี แล้วมากระทำความผิดอีก โดยความผิดในครั้งหลังเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รับโทษจำคุกในความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ ความผิดต่อพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และความผิดคดีนี้ในครั้งหลังเป็นความผิดต่อเจ้าพนักงานซึ่งมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ กรณีของจำเลยที่ 1 จึงไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 ได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 โดยไม่รอการลงโทษนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น และเมื่อความปรากฏต่อศาลฎีกาว่าคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1144/2561 ของศาลอาญา ที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อนั้น ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 แล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะสั่งให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อได้

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นับโทษจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1144/2561 ของศาลอาญา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อท.69/2564

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 ภาค 7 จำเลย - นาย ป. กับพวก

ชื่อองค์คณะ สุนทร เฟื่องวิวัฒน์ เสถียร ศรีทองชัย สถาพร ดาโรจน์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 - นายกิตติพงษ์ กลิ่นขจร ศาลอุทธรณ์ - นายประชา งามลำยวง

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE