คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2431/2565
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 379, 383, 705, 733
ข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของ จ. ว่า จำเลยที่ 4 ปลอมลายมือชื่อตน ทำรายงานการประชุมเท็จ และนำห้องชุด 20 ห้องของจำเลยที่ 5 ไปจดทะเบียนจำนองกับโจทก์ตามฟ้อง และ จ. มาฟ้องจำเลยที่ 4 เป็นคดีอาญาและคดีแพ่งดังกล่าว แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าคดีดังกล่าวมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วหรือไม่ ผลแห่งคดีเป็นเช่นไร ทั้งการกระทำของจำเลยที่ 4 ดังกล่าวนั้น ก็เป็นเรื่องการดำเนินการภายในของจำเลยที่ 5 ไม่มีผลผูกพันโจทก์ โดยโจทก์เป็นบุคคลภายนอกผู้รับจำนองห้องชุด 20 ห้อง ไม่ปรากฏว่าโจทก์ไม่สุจริตอย่างไร ข้ออ้างของจำเลยที่ 5 ดังกล่าวจึงใช้ยันโจทก์ไม่ได้ โจทก์มิอาจทราบได้ว่าจำเลยที่ 4 ไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 5 ดังที่จำเลยที่ 5 ฎีกา ประกอบกับโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 5 โดยชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ตามหนังสือสัญญาจำนองเพิ่มหลักทรัพย์เป็นประกันโดยไม่เพิ่มวงเงิน รวม 20 ห้องชุด และตามสัญญาค้ำประกัน ตามที่โจทก์อุทธรณ์และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 81,644,412.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 57,377,361.10 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดทรัพย์ของจำเลยทั้งห้าและทรัพย์จำนองตามฟ้องพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอให้เพิกถอนสัญญาจำนองและสัญญาค้ำประกันระหว่างจำเลยที่ 5 กับโจทก์
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแย้งแล้ว มีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 5
ระหว่างพิจารณาบริษัทบริหารสินทรัพย์ ก. ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยทั้งห้าสละประเด็นเรื่องฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันชำระเงิน 81,644,412.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 57,377,361.25 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 1 กรกฎาคม 2558) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องขอสวมสิทธิแทนโจทก์ หากไม่ชำระหนี้ให้ยึดที่ดินจำนองโฉนดเลขที่ 6092 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 4 ขายทอดตลาดนำเงินมาชำระ ถ้าไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ขายทอดตลาดนำเงินมาชำระจนครบถ้วน กับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้องขอสวมสิทธิแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 60,000 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีระหว่างผู้ร้องขอสวมสิทธิแทนโจทก์กับจำเลยที่ 5 ให้เป็นพับ
โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 81,644,412.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเอ็ม แอล อาร์ บวก 3 ต่อปี แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 57,377,361.10 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 1 กรกฎาคม 2558) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดห้องชุด จำนวน 20 ห้อง ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 4832, 4833, 29044 และ 177744 ของจำเลยที่ 5 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้เป็นพับ เนื่องจากโจทก์ไม่แก้อุทธรณ์จึงไม่กำหนดค่าทนายความให้ ส่วนจำเลยที่ 5 ให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 90,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2549 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินไปจากโจทก์ 65,000,000 บาท มีกำหนดเวลา 7 ปี มีระยะเวลาปลอดต้นเงิน 6 เดือน ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเอ็ม แอล อาร์ ต่อปี นับแต่วันที่เบิกเงินกู้เป็นต้นไป และยินยอมให้โจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยตามประกาศของโจทก์ ตกลงผ่อนชำระเป็นรายเดือน เดือนละไม่ต่ำกว่า 1,100,000 บาท ให้เสร็จสิ้นภายใน 84 เดือน นับแต่เดือนที่จำเลยเบิกเงินกู้งวดแรก โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2549 จำเลยที่ 4 จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 6092 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เป็นประกันหนี้โจทก์ หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยอมรับผิดส่วนที่ขาดจนครบ จำเลยที่ 5 จดทะเบียนจำนองห้องชุด จำนวน 20 ห้อง ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 4832, 4833, 29044 และ 177744 ภายหลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 เบิกเงินกู้ไปจากโจทก์ 64,556,250 บาท และจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้โจทก์หลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2557 จำเลยที่ 1 ชำระหนี้โจทก์ 500,000 บาท แล้วผิดนัดไม่ชำระอีก คงค้างชำระต้นเงิน 57,377,361.10 บาท และดอกเบี้ยถึงก่อนวันฟ้อง 24,267,051.15 บาท
กรณีเห็นควรวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 5 ก่อนว่า จำเลยที่ 5 ต้องรับผิดตามหนังสือสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.21 และสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.19 หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของนางจิตติมาว่า จำเลยที่ 4 ปลอมลายมือชื่อตน ทำรายงานการประชุมเท็จ และนำห้องชุด 20 ห้อง ของจำเลยที่ 5 ไปจดทะเบียนจำนองกับโจทก์ตามฟ้อง และนางจิตติมาฟ้องจำเลยที่ 4 เป็นคดีอาญาและคดีแพ่งดังกล่าว แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าคดีดังกล่าวมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วหรือไม่ ผลแห่งคดีเป็นเช่นไร ทั้งการกระทำของจำเลยที่ 4 ดังกล่าวนั้น ก็เป็นเรื่องการดำเนินการภายในของจำเลยที่ 5 ไม่มีผลผลผูกพันโจทก์ โดยโจทก์เป็นบุคคลภายนอกผู้รับจำนองห้องชุด 20 ห้อง ไม่ปรากฏว่าโจทก์ไม่สุจริตอย่างไร ข้ออ้างของจำเลยที่ 5 ดังกล่าวจึงใช้ยันโจทก์ไม่ได้ โจทก์มิอาจทราบได้ว่าจำเลยที่ 4 ไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 5 ดังที่จำเลยที่ 5 ฎีกา ประกอบกับโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 5 โดยชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ตามหนังสือสัญญาจำนองเพิ่มหลักทรัพย์เป็นประกันโดยไม่เพิ่มวงเงิน รวม 20 ห้องชุด เอกสารหมาย จ.21 และตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.19 ตามที่โจทก์อุทธรณ์และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 5 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 5 ว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเพียงใด เห็นว่า โจทก์นำสืบว่า แม้โจทก์เป็นสถาบันการเงินมีอำนาจเรียกเก็บดอกเบี้ยได้ตามประกาศกระทรวงการคลังและประกาศของโจทก์ซึ่งให้โจทก์เรียกเก็บดอกเบี้ยจากผู้กู้เงินที่ผิดเงื่อนไขในอัตราสูงสุดได้ถึงร้อยละ 18 ต่อปี แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ได้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยหลายครั้ง โดยครั้งสุดท้ายก่อนฟ้อง โจทก์คิดดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 13 ต่อปี และนับจากวันที่ 1 กรกฎาคม 2558 ซึ่งเป็นวันฟ้องคดีเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ตามประกาศกระทรวงการคลังและประกาศของโจทก์ดังกล่าว ข้อ 3.2 กรณีดังกล่าวจึงเป็นการเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเพื่อความเสียหายอันเกิดจากลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ จึงเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ซึ่งหากสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงได้ตาม มาตรา 383 วรรคหนึ่ง แห่งบทกฎหมายดังกล่าว เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน รวมถึงการแก้ไขเรื่องอัตราดอกเบี้ยในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในมาตรา 7 และมาตรา 224 แล้ว เห็นสมควรกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันฟ้องให้แก่โจทก์ร้อยละ เอ็ม แอล อาร์ บวก 2 ต่อปี แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้นส่วนฎีกาของจำเลยที่ 5 ฟังขึ้นบางส่วน
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาว่า หากยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 5 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบถ้วนมาด้วยนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 5 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ตามหนังสือสัญญาจำนองเพิ่มหลักทรัพย์เป็นประกันโดยไม่เพิ่มวงเงิน รวม 20 ห้องชุด เอกสารหมาย จ.21 ซึ่งในสัญญาข้อ 6 ระบุว่า หากบังคับจำนองไม่พอชำระหนี้ ผู้จำนองยินยอมให้บังคับเอากับทรัพย์สินอื่นจนครบถ้วน ศาลอุทธรณ์จึงต้องพิพากษาด้วยว่า หากยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดเงินไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 5 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบถ้วนด้วยตามที่ระบุไว้ในสัญญาดังกล่าว คำพิพากษาศาลส่วนนี้ของศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 81,644,412.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเอ็ม แอล อาร์ บวก 2 ต่อปี แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 57,377,361.10 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 1 กรกฎาคม 2558) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 5 ออกขายทอดตลาดไม่พอชำระหนี้แก่โจทก์ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 5 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.845/2564
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - ธนาคาร พ. โดยบริษัทบริหารสินทรัพย์ ก. ผู้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทน จำเลย - บริษัท ส. กับพวก
ชื่อองค์คณะ ขนิษฐา อรุณวงศ์ ชูเกียรติ ดิลกแพทย์ ฉัตรทิชา ชัยรัชต์กร
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ - นายณัฐกิตต์ มฤคินทร์ ศาลอุทธรณ์ - นายณัฐพร สายสุวรรณ