คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2470/2534
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 335, 65 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 5, 14, 15, 195, 216, 218 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249
ผู้ร้องแม้จะเป็นมารดาจำเลยและจำเลยจะเป็นผู้วิกลจริตไม่สามารถต่อสู้คดีจริงหรือไม่ก็ตาม เมื่อผู้ร้องมิได้เป็นคู่ความในคดี และมิได้อยู่ในฐานะเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5(1) หรือ (2)จึงไม่อาจยื่นฎีกาเข้ามาในคดีได้ ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 2 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา218 วรรคแรก แต่คดีที่คู่ความฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายนั้นหากศาลฎีกาเห็นว่าศาลล่างลงโทษจำเลยหนักเกินไปก็ย่อมมีอำนาจลงโทษให้เหมาะสมแก่ความผิดได้ จำเลยกระทำผิดขณะมีอายุ 18 ปีเศษไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ทั้งผู้เสียหายแถลงไม่ติดใจดำเนินคดีจำเลย สมควรรอการลงโทษจำคุกหรือให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันลักทรัพย์ของนายจ้าง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 83 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 3,750 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 วรรคสาม (ที่ถูกมาตรา335(7)(11) วรรคสาม), 83 จำคุก 4 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี สำหรับของกลางปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้เสียหายได้รับคืนแล้ว จึงให้ยกคำขอส่วนนี้
จำเลยอุทธรณ์ขอลดโทษและรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยและผู้ร้องซึ่งเป็นมารดาจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีสำหรับผู้ร้อง แม้ผู้ร้องจะเป็นมารดาจำเลยและจำเลยจะเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีตามฎีกาผู้ร้องหรือไม่ก็ตาม เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องมิได้เป็นคู่ความในคดีและมิใช่มารดาของผู้เสียหายอันจะเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5(1) หรือ (2)ผู้ร้องจึงไม่อาจฎีกาเข้ามาในคดีได้ ส่วนฎีกาจำเลยที่อ้างว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 เพราะจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้นั้น เห็นว่า ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นจำเลยมิได้กล่าวอ้างว่าไม่สามารถต่อสู้คดีได้เพราะเป็นผู้วิกลจริต และขอให้ศาลชั้นต้นส่งจำเลยไปให้พนักงานแพทย์ทำการตรวจ เพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าว ทั้งมิได้ยกเหตุนี้ขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ จำเลยเพียงแต่ขอให้ศาลอุทธรณ์ลดโทษและรอการลงโทษจำคุกเท่านั้น ฎีกาของจำเลยจึงเกี่ยวกับข้อเท็จจริงอันนำไปสู่การวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งจำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และที่จำเลยฎีกาอ้างเหตุว่าเป็นโรคจิตมีเหตุลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 นั้น จำเลยเพียงแต่ยื่นคำร้องประกอบคำให้การรับสารภาพเพื่อให้ศาลรอการลงโทษเท่านั้นมิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยเป็นโรคจิต และกระทำผิดในขณะรู้ผิดชอบอยู่บ้างหรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้างหรือไม่อย่างไร จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงที่จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้นเช่นเดียวกันต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา249 วรรคแรก ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15…คดีนี้คู่ความฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย หากศาลฎีกาเห็นว่าศาลล่างลงโทษจำเลยหนักเกินไปก็ย่อมมีอำนาจที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยให้เหมาะสมแก่ความผิดได้ ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 18 ปีเศษ ซึ่งผู้เสียหายได้แถลงไม่ติดใจดำเนินคดีจำเลยต่อไป สมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำคุกตามที่ศาลอุทธรณ์กำหนดไว้มีกำหนด 2 ปี โดยกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติจำเลยดังนี้(1) ให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 2 เดือนต่อครั้ง มีกำหนด1 ปี (2) ให้จำเลยเข้ารับการบำบัดรักษาอาการบกพร่องทางจิตที่โรงพยาบาลจิตเวช เป็นเวลา 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการ จังหวัด สมุทรปราการ ผู้ร้อง - นาง สุข ทวี แจ่ม กระจ่าง จำเลย - นาย พรศักดิ์ แจ่ม กระจ่าง
ชื่อองค์คณะ ไมตรี กลั่นนุรักษ์ จรัส อุดมวรชาติ อุไร คังคะเกตุ
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan