สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2479/2565

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2479/2565

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 492, 494, 496, 499 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 150 วรรคท้าย

โจทก์ทั้งสองพร้อมที่จะชําระค่าสินไถ่ให้แก่จำเลย แต่เจ้าพนักงานที่ดินไม่สามารถจดทะเบียนไถ่การขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ เนื่องจากที่ดินพิพาทถูกอายัดไว้ชั่วคราวในคดีอื่น อันมิได้เกิดจากความผิดของโจทก์ทั้งสอง แสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์ทั้งสองแสดงเจตนาขอไถ่ที่ดินพิพาทจากจำเลยภายในกําหนดเวลาที่ตกลงกันไว้แล้ว จึงไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์ทั้งสองจะต้องขอขยายระยะเวลาไถ่ที่ดินพิพาทออกไปอีก

การไถ่ที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมต่างตอบแทนที่โจทก์ทั้งสองมีหน้าที่ชําระค่าสินไถ่ให้แก่จำเลย และจำเลยมีหน้าที่จดทะเบียนไถ่การขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสอง เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินไม่อาจจดทะเบียนไถ่การขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิที่จะยังไม่ชําระค่าสินไถ่ให้แก่จำเลยและไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์ทั้งสองจะต้องนําค่าสินไถ่ไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์

หลังจากคำสั่งอายัดที่ดินพิพาทสิ้นผล จำเลยมีหนังสือบอกกล่าวให้โจทก์ทั้งสองชําระค่าสินไถ่พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของค่าสินไถ่ ซึ่งเกินกว่าที่ตกลงในสัญญาขายฝาก โจทก์ทั้งสองจึงชอบที่จะโต้แย้งได้ กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยมีหนังสือบอกกล่าวให้โจทก์ทั้งสองไปไถ่การขายฝากที่ดินพิพาทโดยชอบและโจทก์ทั้งสองสละสิทธิไถ่ที่ดินพิพาท เมื่อโจทก์ทั้งสองมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยกำหนดวันเวลาที่จะไปจดทะเบียนไถ่การขายฝากที่ดินพิพาท จำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวโดยชอบแล้ว แต่เพิกเฉย โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยรับค่าสินไถ่ตามที่ตกลงกันไว้ได้ โดยจำเลยไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากค่าสินไถ่

คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองเป็นคู่ความร่วมในคดีที่มีมูลความแห่งคดีอันไม่อาจแบ่งแยกได้ แต่โจทก์ทั้งสองต่างยื่นฎีกามาแต่ละฉบับแยกต่างหากจากกัน โดยต่างเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามาเต็มตามทุนทรัพย์ จึงชอบที่ศาลฎีกาจะมีคำสั่งคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เสียเกินมาแก่โจทก์ทั้งสองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 150 วรรคท้าย

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนไถ่การขายฝากที่ดินพิพาทคืนโจทก์ทั้งสอง และรับสินไถ่ 23,100,000 บาท จากโจทก์ทั้งสอง หากจำเลยไม่ดำเนินการ ให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยรับเงินสินไถ่ 23,100,000 บาท แล้วจดทะเบียนไถ่การขายฝากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2209 ให้แก่โจทก์ทั้งสอง หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายมิได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในชั้นนี้ฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2552 โจทก์ทั้งสองทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2209 ไว้กับจำเลย ตกลงสินไถ่เป็นเงิน 23,100,000 บาท กำหนดเวลาไถ่ 8 เดือน ต่อมาวันที่ 17 มิถุนายน 2553 ซึ่งอยู่ในกำหนดเวลาไถ่ที่ดินพิพาท โจทก์ทั้งสองและจำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนไถ่การขายฝากที่ดินพิพาทต่อเจ้าพนักงานที่ดิน แต่เจ้าพนักงานที่ดินไม่สามารถจดทะเบียนไถ่การขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ เนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 899/2556 ให้อายัดที่ดินพิพาทไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โจทก์ทั้งสองจึงขอให้นายอำเภอบันทึกคำขอไถ่การขายฝากที่ดินพิพาทไว้เป็นหลักฐาน ต่อมาวันที่ 13 ธันวาคม 2559 ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดที่ดินพิพาทไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ผลของคดีคือศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง คำสั่งขออายัดที่ดินพิพาทไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็นอันสิ้นผล จำเลยมีหนังสือบอกกล่าวลงวันที่ 1 ธันวาคม 2560 ให้โจทก์ทั้งสองไถ่ที่ดินพิพาทภายใน 7 วัน นับแต่ได้รับหนังสือบอกกล่าว โจทก์ทั้งสองโต้แย้งว่าระยะเวลาที่จำเลยกำหนดให้โจทก์ทั้งสองไถ่ที่ดินพิพาทไม่ใช่ระยะเวลาพอสมควร ขอให้จำเลยติดต่อโจทก์ทั้งสองเพื่อกำหนดระยะเวลาไถ่ที่ดินพิพาทใหม่ จำเลยจึงมีหนังสือลงวันที่ 18 ธันวาคม 2560 แจ้งโจทก์ทั้งสอง ให้โจทก์ทั้งสองนำเงินสินไถ่ 23,100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินสินไถ่ นับแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2552 มาไถ่ที่ดินพิพาทภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าว โจทก์ทั้งสองมีหนังสือลงวันที่ 5 มกราคม 2561 โต้แย้งว่าจำเลยไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากเงินสินไถ่ที่ดินพิพาทได้ ขอให้จำเลยติดต่อโจทก์ทั้งสองภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือเพื่อกำหนดวันเวลาในการไถ่ที่ดินพิพาทและรับเงินค่าสินไถ่ ต่อมาโจทก์ทั้งสองมีหนังสือลงวันที่ 18 กันยายน 2561 ให้จำเลยติดต่อทนายความของโจทก์ทั้งสองเพื่อเจรจาการไถ่ที่ดินพิพาทต่อไป

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ทั้งสองได้รับอนุญาตให้ฎีกาเพียงประเด็นเดียวว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิไถ่ที่ดินพิพาทโดยชำระเงินค่าสินไถ่ตามจำนวนที่ระบุในสัญญาขายฝากและต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยของเงินค่าสินไถ่หรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2553 ซึ่งอยู่ภายในกำหนดเวลาไถ่ที่ดินพิพาทได้ โจทก์ทั้งสองและจำเลยได้ไปที่สำนักงานที่ดินเพื่อขอจดทะเบียนไถ่ที่ดินพิพาท โดยโจทก์ทั้งสอง มีสำเนาตั๋วแลกเงิน ว่าโจทก์ทั้งสองพร้อมที่จะชำระเงินค่าสินไถ่ให้แก่จำเลยและค่าธรรมเนียม แต่เจ้าพนักงานที่ดินไม่สามารถจดทะเบียนไถ่การขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ตามเจตนาของโจทก์ทั้งสองและจำเลยเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 899/2556 ให้อายัดที่ดินพิพาทไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา แสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์ทั้งสองได้แสดงเจตนาขอไถ่ที่ดินพิพาทจากจำเลยภายในกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้แล้ว จึงไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์ทั้งสองจะต้องขอขยายระยะเวลาไถ่ที่ดินพิพาทออกไปอีก ส่วนเหตุที่เจ้าพนักงานที่ดินไม่สามารถจดทะเบียนไถ่การขายฝากที่ดินพิพาทได้ก็เนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้อายัดที่ดินพิพาทไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา อันมิได้เกิดจากความผิดของโจทก์ทั้งสอง และการไถ่ที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมต่างตอบแทน ที่โจทก์ทั้งสองมีหน้าที่ที่จะต้องชำระสินไถ่ให้แก่จำเลยและจำเลยมีหน้าที่ที่จะต้องจดทะเบียนไถ่การขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสอง เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้อายัดที่ดินที่ขายฝากไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานที่ดินไม่อาจจดทะเบียนไถ่การขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิที่จะยังไม่ชำระเงินค่าสินไถ่ให้แก่จำเลยได้เช่นกัน และก็ไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์ทั้งสองจะต้องนำเงินค่าสินไถ่ไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์ อีกทั้งภายหลังจากศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้อายัดที่ดินพิพาทไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โดยศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ในคดีดังกล่าว อันมีผลให้คำสั่งอายัดที่ดินพิพาทไว้ชั่วคราวเป็นอันสิ้นผล การที่จำเลยมีหนังสือบอกกล่าวลงวันที่ 18 ธันวาคม 2560 ให้โจทก์ทั้งสองชำระเงินค่าสินไถ่พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินค่าสินไถ่ เกินกว่าที่ตกลงในสัญญา จึงชอบที่โจทก์ทั้งสองจะโต้แย้ง กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้มีหนังสือบอกกล่าวให้โจทก์ทั้งสองไปไถ่การขายฝากที่ดินพิพาทโดยชอบและโจทก์ทั้งสองสละสิทธิไถ่ที่ดินพิพาท ต่อมาเมื่อโจทก์ทั้งสองมีหนังสือลงวันที่ 5 มกราคม 2561 และ 18 กันยายน 2561 ให้จำเลยกำหนดวันเวลาที่จะไปจดทะเบียนไถ่การขายฝากที่ดินพิพาท จำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวโดยชอบแล้ว แต่เพิกเฉย โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยรับเงินค่าสินไถ่ที่ดินพิพาท 23,100,000 บาท ตามที่ตกลงกันไว้ โดยจำเลยไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยของเงินค่าสินไถ่ที่ดินพิพาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น

อนึ่ง คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองเป็นคู่ความร่วมในคดีที่มีมูลความแห่งคดีอันไม่อาจแบ่งแยกได้ แต่โจทก์ทั้งสองต่างยื่นฎีกามาแต่ละฉบับแยกต่างหากจากกัน โดยต่างเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามาเต็มตามทุนทรัพย์ จึงชอบที่ศาลฎีกาจะมีคำสั่งคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เสียเกินมาแก่โจทก์ทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 150 วรรคท้าย

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาตามส่วนที่โจทก์ทั้งสองชำระเกินมาแก่โจทก์ทั้งสองคนละ 100,000 บาทค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.864/2564

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย ล. กับพวก จำเลย - นางสาว ว.

ชื่อองค์คณะ ไชยผล สุรวงษ์สิน เธียรดนัย ธรรมดุษฎี สนิท ตระกูลพรายงาม

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดภูเก็ต - นางสาวกมลลักษณ์ บุญดิเรก ศาลอุทธรณ์ภาค 8 - นายวิระ สุดแก้ว

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th