คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2483/2565
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 162 (1), 162 (4) พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 ม. 59, 60
ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงเหนือ มีหน้าที่กำหนดนโยบายโดยไม่ขัดต่อกฎหมายและรับผิดชอบในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบาย แผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล ข้อบัญญัติ ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการ สั่ง อนุญาต และอนุมัติเกี่ยวกับราชการองค์การบริหารส่วนตำบล วางระเบียบเพื่อให้งานขององค์การบริหารส่วนตำบลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รักษาการให้เป็นไปตามข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลตาม มาตรา 59 และมาตรา 60 แห่ง พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ไม่ได้มีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสาร หรือกรอกข้อความในเอกสาร แม้จำเลยที่ 1 อนุมัติให้เบิกจ่ายเงินหมวดลูกหนี้เงินยืมงบประมาณประเภทรายจ่ายเกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติราชการ ที่ไม่เข้าลักษณะรายจ่ายหมวดอื่น ๆ อนุมัติให้ยืมเงินตามสัญญาการยืมเงิน และอนุมัติให้จ่ายเงินตามฎีกาเบิกเงินในโครงการโดยไม่มีการดำเนินการโครงการดังกล่าว ก็ไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) และ (4)
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 147, 157, 162 (1) (4) และให้จำเลยที่ 2 คืนเงินจำนวน 20,000 บาท ให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลเวียงเหนือ ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (1) (4), 157 (ที่ถูก 162 (1) (4) (เดิม), 157 (เดิม)) ประกอบมาตรา 83 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 162 (1) (4), 157 (ที่ถูก มาตรา 147 (เดิม), 162 (1) (4) (เดิม), 157 (เดิม)) ประกอบมาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ จำคุก 5 ปี ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับรองเอกสารอันเป็นเท็จกับความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 6 ปี และจำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (1) (4), 157 (ที่ถูก มาตรา 162 (1) (4) (เดิม), 157 (เดิม)) ประกอบมาตรา 83 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ให้จำเลยที่ 2 คืนเงิน 20,000 บาท ให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลเวียงเหนือ ผู้เสียหาย (ที่ถูก ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก)
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า ขณะเกิดเหตุ จำเลยทั้งสามเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ตามความในมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 โดยจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงเหนือ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ มีหน้าที่กำหนดนโยบายโดยไม่ขัดต่อกฎหมายและรับผิดชอบในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบาย แผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล ข้อบัญญัติ ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการ สั่ง อนุญาต และอนุมัติเกี่ยวกับราชการองค์การบริหารส่วนตำบล วางระเบียบเพื่อให้งานขององค์การบริหารส่วนตำบลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รักษาการให้เป็นไปตามข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลและเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานส่วนตำบลและลูกจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบลตามมาตรา 59 และมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงเหนือ มีอำนาจหน้าที่เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานส่วนตำบลและลูกจ้างองค์การบริหารส่วนตำบลรองจากนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และรับผิดชอบควบคุมดูแลราชการประจำขององค์การบริหารส่วนตำบลให้เป็นไปตามนโยบาย และมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดหรือตามที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลมอบหมาย ตามมาตรา 60/1 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ส่วนจำเลยที่ 3 ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนการคลัง องค์การบริหารส่วนตำบลเวียงเหนือ มีหน้าที่เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานส่วนตำบล ลูกจ้าง และพนักงานจ้าง และรับผิดชอบการปฏิบัติราชการของส่วนตำบลตามคำสั่งองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงเหนือ เรื่อง กำหนดงานและหน้าที่ความรับผิดชอบการปฏิบัติราชการภายในส่วนการคลัง และมีหน้าที่เป็นผู้ตรวจฎีกาเบิกเงินให้ถูกต้องตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจสอบเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 ข้อ 60 ถึง ข้อ 62 จำเลยทั้งสามได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้มีอำนาจลงนามถอนเงินฝากธนาคารจากบัญชีเงินฝากขององค์การบริหารส่วนตำบลเวียงเหนือ ตามคำสั่งองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงเหนือ ที่ 96/2552 เรื่อง แต่งตั้งผู้มีอำนาจถอนเงินฝากธนาคาร ลงวันที่ 1 เมษายน 2552 มีหน้าที่ลงนามในเช็คเพื่อสั่งจ่ายเงินที่องค์การบริหารส่วนตำบลต้องจ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันโดยจ่ายเงินได้เฉพาะที่กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือหนังสือสั่งการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงินและการตรวจสอบเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2552 จำเลยที่ 2 ทำบันทึกข้อความมีใจความว่า ตามข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2552 องค์การบริหารส่วนตำบลเวียงเหนือได้ตั้งงบประมาณรายจ่าย หน่วยงาน สำนักงานปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงเหนือ ด้านบริหารงานทั่วไป แผนงานสาธารณสุข งานสาธารณสุขและสาธารณสุขอื่น หมวดลูกหนี้เงินยืมงบประมาณ ประเภทรายจ่ายเกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติราชการที่ไม่เข้าลักษณะรายจ่ายหมวดอื่น ๆ บัดนี้ สำนักงานปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงเหนือ มีความประสงค์ขออนุมัติเบิกจ่ายเงิน ตามข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2552 ขออนุมัติเบิกจ่ายเงินหมวดลูกหนี้เงินยืมงบประมาณ ประเภทรายจ่ายเกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติราชการที่ไม่เข้าลักษณะรายจ่ายหมวดอื่น ๆ เป็นเงิน 20,000 บาท ได้ตรวจสอบเอกสารการเบิกจ่ายเงินครบถูกต้องแล้ว เห็นควรพิจารณาอนุมัติการเบิกจ่ายเงินเป็นเงิน 20,000 บาท และได้ตรวจสอบตามข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปี พ.ศ. 2552 เอกสารการเบิกจ่ายเงินครบถ้วน ถูกต้องแล้ว จำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นผู้เบิกแล้วจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงชื่อเห็นควรอนุมัติให้เบิกจ่ายได้ เสนอต่อจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ลงชื่ออนุมัติให้เบิกจ่ายได้ แล้วจำเลยทั้งสามร่วมกันลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คธนาคารลงวันที่ 17 มิถุนายน 2552 จำนวนเงิน 20,000 บาท ออกจากบัญชีเงินฝากเลขที่ 312-6-02xxx-x ระบุชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับเงิน แต่ไม่ได้ขีดคร่อมและขีดฆ่าคำว่า "หรือผู้ถือ" หลังจากนั้น จำเลยที่ 2 มอบเช็คให้นางนงลักษณ์ไปเบิกเงินจากธนาคาร แล้วมอบเงินให้แก่จำเลยที่ 2 ต่อมาวันที่ 23 กรกฎาคม 2552 จำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นผู้ยืมในสัญญาการยืมเงิน เลขที่ 18/2552 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2552 จำนวนเงิน 20,000 บาท ระบุว่าเบิกยืมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในโครงการป้องกันและระงับไข้เลือดออก แต่ไม่กำหนดระยะเวลาส่งใช้เงินยืมไว้ แล้วจำเลยที่ 2 ยังลงชื่อเสนอต่อจำเลยที่ 1 ว่าเห็นสมควรอนุมัติให้ยืมตามใบยืมฉบับดังกล่าวได้ จำเลยที่ 1 ลงชื่ออนุมัติให้ยืมตามเงื่อนไขดังกล่าว แล้วจำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นผู้รับเงิน แล้วจำเลยที่ 3 จัดทำและตรวจสอบรายงานการจัดทำเช็ค/ใบถอน แล้วจำเลยทั้งสามลงชื่อเป็นผู้อนุมัติ จำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นผู้เบิกและจำเลยที่ 3 ลงชื่อเป็นผู้ตรวจสอบเอกสารประกอบฎีกา แล้วเสนอต่อจำเลยที่ 2 ว่าเห็นควรให้เบิกจ่ายได้ จำเลยที่ 2 ลงชื่อเสนอต่อจำเลยที่ 1 ว่าเห็นควรอนุมัติให้เบิกจ่ายได้ จำเลยที่ 1 ลงชื่ออนุมัติให้เบิกจ่ายได้ นอกจากนี้ จำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นผู้เบิกจ่ายเงินเพื่อจ่ายโครงการป้องกันและระงับโรคไข้เลือดออก จำนวน 20,000 บาท และจำเลยที่ 3 ลงชื่อเป็นผู้ตรวจสอบในเอกสารงบรายละเอียดใบสำคัญประกอบฎีกา โดยไม่ได้ระบุเลขที่ฎีกาเบิกเงินนอกงบประมาณ แล้วจำเลยที่ 2 ยังลงชื่อในใบรับรองของผู้เบิก โดยไม่ได้ระบุเลขที่คลังรับและเลขที่ฎีกา แล้วจำเลยที่ 2 เบียดบังเงิน 20,000 บาท ที่เบิกมาเป็นของตนโดยทุจริต
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยเสียก่อนประการแรกว่า จะรับวินิจฉัยคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฎีกาของจำเลยที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ไม่ได้บัญญัติถึงเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมฎีกาไว้ และไม่อาจนำบทบัญญัติมาตรา 163 อนุโลมใช้ในชั้นฎีกาได้ ดังนั้น การแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องฎีกาจึงต้องยื่นคำร้องขอภายในกำหนดระยะเวลาที่ให้ยื่นฎีกา ข้อเท็จจริงได้ความว่า ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟัง เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 ครั้นวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาและฎีกา ต่อมาวันที่ 19 มกราคม 2565 จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฎีกาโดยเนื้อหาของคำร้องเป็นการเพิ่มเติมประเด็นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่ให้ยื่นฎีกาแล้ว จึงไม่อาจอนุญาตให้จำเลยที่ 3 ขอแก้ไขเพิ่มเติมฎีกาดังกล่าวได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า "อนุญาต สำเนาให้โจทก์" ซึ่งมีความหมายว่า รับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฎีกาของจำเลยที่ 3 จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง แม้โจทก์ไม่ได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้น แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 48 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ด้วยการเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นแล้วมีคำสั่งใหม่
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยเสียก่อนประการที่สองว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (1) และ (4) หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (เดิม) ซึ่งใช้บังคับในขณะกระทำความผิด บัญญัติว่า "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสาร กระทำการดังต่อไปนี้ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ (1) รับรองเป็นหลักฐานว่า ตนได้กระทำการอย่างใดขึ้น หรือว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จ…หรือ (4) รับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ ต้องระวางโทษ…" ข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงเหนือ มีหน้าที่กำหนดนโยบายโดยไม่ขัดต่อกฎหมายและรับผิดชอบในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบาย แผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล ข้อบัญญัติ ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการ สั่ง อนุญาต และอนุมัติเกี่ยวกับราชการองค์การบริหารส่วนตำบล วางระเบียบเพื่อให้งานขององค์การบริหารส่วนตำบลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รักษาการให้เป็นไปตามข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลตามมาตรา 59 และมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ไม่ได้มีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสาร หรือกรอกข้อความในเอกสาร แม้จำเลยที่ 1 อนุมัติให้เบิกจ่ายเงินหมวดลูกหนี้เงินยืมงบประมาณประเภทรายจ่ายเกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติราชการที่ไม่เข้าลักษณะรายจ่ายหมวดอื่น ๆ อนุมัติให้ยืมเงินตามสัญญาการยืมเงิน และอนุมัติให้จ่ายเงินตามฎีกาเบิกเงินในโครงการโดยไม่มีการดำเนินการโครงการดังกล่าว ก็ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (1) และ (4) แม้จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ มิได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาและฎีกาในประเด็นข้อนี้ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 48 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง มาตรา 195 วรรคสอง มาตรา 215 และมาตรา 225
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ว่า มีเหตุที่จะรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ไม่ได้ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 2 เบียดบังเงินที่เบิกมา ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด แล้วจำเลยที่ 3 ยังกระทำความผิดฐานรับรองเป็นหลักฐานว่าตนได้กระทำการอย่างใดขึ้นหรือว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จ และรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จอีกบทหนึ่งด้วย โดยไม่ได้วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องที่ไม่ร้ายแรงมากนัก ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน กับจำเลยที่ 3 รับราชการมาเป็นเวลานานและไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 3 ประพฤติผิดวินัยหรือเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยที่ 1 และที่ 3 กลับตัวเป็นพลเมืองดี โดยรอการลงโทษไว้ ซึ่งน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และสังคมส่วนรวมมากกว่าการลงโทษจำคุก แต่เพื่อให้หลาบจำ สมควรลงโทษปรับอีกสถานหนึ่งด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษโดยไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 3 มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้จำเลยที่ 3 แก้ไขเพิ่มเติมฎีกา แล้วมีคำสั่งใหม่ว่า ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 3 แก้ไขเพิ่มเติมฎีกา ให้ยกคำร้อง แต่ให้รับคำร้องดังกล่าวไว้เป็นคำแถลงการณ์ และจำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (1) (4) (เดิม) ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ในความผิดดังกล่าว กับให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 10,000 บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 3 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) หากจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อท.5/2565
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - อัยการสูงสุด จำเลย - นาย ด. กับพวก
ชื่อองค์คณะ กิตติพงษ์ ศิริโรจน์ ประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์ อนันต์ วงษ์ประภารัตน์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 - นายสัมฤทธิ์ ทินบุตร ศาลอุทธรณ์ - นายธนิต สุธีรพรหม