สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2564/2567

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2564/2567

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1299, 1330, 1373 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 1 (14), 7 (2), 271, 278, 295 ประมวลกฎหมายที่ดิน ม. 58 ตรี, 61

กระบวนวิธีการบังคับคดีในขั้นตอนต่าง ๆ นั้น หากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายเพราะเหตุดังกล่าวเห็นว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีบกพร่อง ผิดพลาด หรือฝ่าฝืนต่อกฎหมาย บุคคลดังกล่าวย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลให้สั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวงหรือวิธีการบังคับใด ๆ โดยเฉพาะหรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างใดแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่ศาลเห็นสมควรได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 วรรคสอง อันเป็นบทกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว เมื่อโจทก์อ้างว่าการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะจำเลยที่ 1 มิได้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่แท้จริงและโฉนดที่ดินพิพาทออกโดยไม่ชอบ โจทก์จะต้องยื่นคำร้องต่อศาลในคดีเดิมหรือศาลที่ดำเนินการออกหมายบังคับคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7 (2) ประกอบ มาตรา 271 โจทก์หามีอำนาจที่จะฟ้องเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเป็นคดีใหม่ได้ไม่ ถึงแม้ว่าคำฟ้องของโจทก์จะเกี่ยวข้องกับประเด็นการเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทด้วยก็ตาม ส่วนเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้นเป็นเจ้าพนักงานที่ต้องปฏิบัติในการที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลเท่านั้น ไม่มีอำนาจเข้ามาเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือเป็นคู่ความได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 5

จำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้มีสิทธิในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3. ก.) เลขที่ 808 ที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ต้น แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 จะขายที่ดินพิพาทและส่งมอบการครอบครองให้แก่โจทก์และโจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมานานประมาณ 20 ปีเศษ ก็ตาม แต่ตราบใดที่ยังมิได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนก็ยังคงถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาท อีกทั้งจำเลยที่ 1 ยังได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 รับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยไม่สุจริต จึงได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง ประกอบกับได้ความว่าจำเลยที่ 6 ผู้ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดเพิ่งทราบว่ามีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหลังจากจำเลยที่ 6 ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดแล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 6 เป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล สิทธิในที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 6 จึงไม่เสียไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 จำเลยที่ 6 ย่อมมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์ กรณีไม่อาจบังคับตามคำขอให้ที่ดินพิพาทกลับคืนมาเป็นของโจทก์ได้

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการออกโฉนดที่ดินพิพาทเลขที่ 5640 เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 4 เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท และขอให้พิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 808 และให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ หากไม่สามารถเพิกถอนการออกโฉนดที่ดิน เพิกถอนการจำนองและเพิกถอนการขายทอดตลาดได้ ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ราคาที่ดิน 645,450 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 626,860 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่ 18 สิงหาคม 2563 จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และให้ลดลงเหลืออัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยน โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกานับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยให้ปรับเปลี่ยนลดลงหรือเพิ่มขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาซึ่งออกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปีแต่ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามขอ กับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้แก่โจทก์ 10,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 และให้โจทก์ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 โดยกำหนดค่าทนายความให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 รวมกันเป็นเงิน 10,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนจำเลยที่ 4 และที่ 6 ให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกาเฉพาะประเด็นที่ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 5 หรือไม่ มีเหตุให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท และพิพากษาให้ที่ดินพิพาทกลับคืนมาเป็นของโจทก์ได้หรือไม่

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้มีสิทธิในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 808 เนื้อที่ 12 ไร่ 22 ตารางวา และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 811 เนื้อที่ 10 ไร่ 2 งาน 8 ตารางวา ต่อมาวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2533 จำเลยที่ 1 ขายที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวและส่งมอบการครอบครองให้แก่โจทก์โดยมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จากนั้นเมื่อปี 2539 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ดำเนินการออกโฉนดที่ดินโดยวิธีเปลี่ยนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวเป็นโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ตรี โดยออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 5640 และ 5639 ตามลำดับให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในขณะนั้น สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 5640 เป็นที่ดินพิพาทในคดีนี้ หลังจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกโฉนดที่ดินแล้ว เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2548 จำเลยที่ 2 มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ให้มารับโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับดังกล่าว ในการขอรับโฉนดที่ดินเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2549 จำเลยที่ 1 แจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่า หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 808 และ 811 สูญหายไป แล้วนำรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานไปขอรับโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับ ต่อมาวันที่ 27 มกราคม 2553 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 4 จำนวน 196,800 บาท โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันการชำระหนี้แล้วผิดนัดไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 4 ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแขวงพระนครเหนือ เป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5018/2554 ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 4 หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาด จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาทำให้ที่ดินพิพาทถูกยึดออกขายทอดตลาด ในการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2561 จำเลยที่ 6 เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดและจำเลยที่ 5 เคาะไม้ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 6 ต่อมาวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 โจทก์ยื่นคำขอเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทและที่ดินโฉนดเลขที่ 5639 ต่อจำเลยที่ 3 แต่ถูกยุติเรื่องและจำเลยที่ 3 แจ้งให้โจทก์ไปใช้สิทธิทางศาล ครั้นวันที่ 20 เมษายน 2561 จำเลยที่ 6 วางเงินค่าซื้อทรัพย์ครบถ้วน จำเลยที่ 5 จึงมีหนังสือถึงจำเลยที่ 2 ขอให้จดทะเบียนระงับการจำนองและให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 6 เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2561 จำเลยที่ 2 มีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 5 ว่า ที่ดินพิพาทอยู่ระหว่างการพิจารณาเพิกถอนโฉนดที่ดิน และวันที่ 5 มิถุนายน 2561 จำเลยที่ 5 มีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 6 ว่าเกิดเหตุขัดข้องในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน เนื่องจากมีข้อโต้แย้งว่ามีการขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่ผู้อื่นไปแล้วในขณะที่ที่ดินดังกล่าวมีเอกสารสิทธิเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ในวันเดียวกันจำเลยที่ 5 มีหนังสือถึงจำเลยที่ 2 ขอคำยืนยันการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 6 วันที่ 16 ตุลาคม 2562 โจทก์อุทธรณ์คำสั่งยกคำขอเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทและโฉนดที่ดินเลขที่ 5639 แต่จำเลยที่ 3 แจ้งให้โจทก์ไปใช้สิทธิทางศาล

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 5 หรือไม่ เห็นว่า กระบวนพิจารณาคดีในชั้นบังคับคดีนั้นเมื่อศาลได้ออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีอยู่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานศาลในการดำเนินการบังคับคดีให้เป็นไปตามที่ศาลกำหนดไว้ในหมายบังคับคดีและตามบทบัญญัติในภาค 4 ลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 278 วรรคหนึ่ง ดังนั้น กระบวนวิธีการบังคับคดีในขั้นตอนต่าง ๆ หากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายเพราะเหตุดังกล่าวเห็นว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีบกพร่อง ผิดพลาด หรือฝ่าฝืนต่อกฎหมาย บุคคลดังกล่าวย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลให้สั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวงหรือวิธีการบังคับใด ๆ โดยเฉพาะหรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างใดแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่ศาลเห็นสมควรได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 295 วรรคสอง อันเป็นบทกฎหมายที่บัญญัติไว้สำหรับการนี้โดยเฉพาะแล้ว เมื่อโจทก์อ้างว่าการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 5 ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะจำเลยที่ 1 มิได้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่แท้จริงและโฉนดที่ดินพิพาทออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในกรณีเช่นนี้โจทก์จะต้องยื่นคำร้องต่อศาลในคดีเดิมหรือศาลที่ดำเนินการออกหมายบังคับคดี คือ ศาลแขวงพระนครเหนือในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5018/2554 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 7 (2) ประกอบมาตรา 271 เพื่อให้ศาลแขวงพระนครเหนือดำเนินการไต่สวนและมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีต่อไป โจทก์หามีอำนาจที่จะฟ้องเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเป็นคดีใหม่ได้ไม่ ถึงแม้ว่าคำฟ้องของโจทก์จะเกี่ยวข้องกับประเด็นการเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทด้วยก็ตาม ส่วนเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1 (14) บัญญัติว่า "เจ้าพนักงานบังคับคดี หมายความว่า เจ้าพนักงานในสังกัดกรมบังคับคดีหรือพนักงานอื่นผู้มีอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้อยู่ ในอันที่จะปฏิบัติตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในภาค 4 แห่งประมวลกฎหมายนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิของคู่ความในระหว่างการพิจารณา หรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง และให้หมายความรวมถึงบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ปฏิบัติการแทน" เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเป็นเจ้าพนักงานที่ต้องปฏิบัติในการที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลเท่านั้น ไม่มีอำนาจเข้ามาเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือเป็นคู่ความได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 5 ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า มีเหตุให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท และพิพากษาให้ที่ดินพิพาทกลับคืนมาเป็นของโจทก์ได้หรือไม่ ซึ่งเห็นควรวินิจฉัยรวมกันไป เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้มีสิทธิในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 808 ที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ต้น แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 จะขายที่ดินพิพาทและส่งมอบการครอบครองให้แก่โจทก์และโจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมานานประมาณ 20 ปีเศษ ดังที่โจทก์กล่าวอ้างก็ตาม แต่ตราบใดที่ยังมิได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนก็ยังคงถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาท อีกทั้งจำเลยที่ 1 ยังได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 ด้วย เมื่อต่อมาจำเลยที่ 3 ออกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้มีชื่อเป็นผู้มีสิทธิในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ตรี อันมิใช่เป็นการออกโฉนดที่ดินเฉพาะรายตามคำขอของจำเลยที่ 1 การออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการออกโฉนดที่ดินที่ชอบด้วยกฎหมายจนกว่าจะมีการพิสูจน์สิทธิครอบครองและโฉนดที่ดินดังกล่าวถูกเพิกถอนหรือแก้ไขโดยอธิบดีกรมที่ดินหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ซึ่งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีหรือผู้ตรวจราชการกรมที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 หรือโดยคำพิพากษาของศาล ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 รับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยไม่สุจริต จึงได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง ต่อมาเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้จำนอง และเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้แก่จำเลยที่ 4 ซึ่งในขณะนั้นโฉนดที่ดินพิพาทก็ยังมิได้ถูกเพิกถอนหรือดำเนินการแก้ไขโดยการจดทะเบียนให้แก่โจทก์ให้ตรงตามความเป็นจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ประกอบกับได้ความว่าจำเลยที่ 6 ผู้ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดเพิ่งทราบว่ามีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561 หลังจากจำเลยที่ 6 ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลแล้ว ดังนี้ กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 6 เป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล สิทธิในที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 6 จึงไม่เสียไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 จำเลยที่ 6 ย่อมมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์ กรณีไม่อาจบังคับตามคำขอให้ที่ดินพิพาทกลับคืนมาเป็นของโจทก์ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.69/2567

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย ส. จำเลย - นาย ท. กับพวก

ชื่อองค์คณะ ณัฐพงศ์ ฐาปนาเนติพงศ์ สุรศักดิ์ ตันโสรัจประเสริฐ วรพงศ์ มนตรีกุล ณ อยุธยา

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดชัยภูมิ - นายภาณุพันธ์ สุภัจจาภิชัย ศาลอุทธรณ์ภาค 3 - นายปรัชญา กำเหนิดฤทธิ์

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th