สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2753/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2753/2563

พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ม. 54, 72 ตรี พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ม. 14, 26/4, 26/5, 31, 35

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองเป็นคดีอาญาตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และขอให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐ จึงเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การพิจารณาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 40 ตอนท้าย และคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งจะต้องกล่าวหรือแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง กับต้องวินิจฉัยไปตามประเด็นแห่งคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 141 (4) (5) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีส่วนแพ่งโดยมิได้สอบคำให้การส่วนแพ่งของจำเลยทั้งสองและโจทก์มิได้นำสืบพยานหลักฐานอันจะเป็นฐานในการกำหนดค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 26/4 กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีส่วนแพ่งไปโดยมิชอบ เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองดำเนินการส่วนนี้ให้ถูกต้อง กรณีดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 26/4, 26/5, 31, 35 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54, 72 ตรี, 74 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83 ริบมีดของกลาง กับให้จำเลยทั้งสอง คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยทั้งสองออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ และให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหาย 714,540 บาท แก่กรมป่าไม้

จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 9 เดือน กับให้จำเลยทั้งสอง คนงาน ผู้รับจ้างผู้แทน และบริวารออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ และให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหาย 714,540 บาท แก่กรมป่าไม้ ริบของกลาง

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับคนละ 20,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับคนละ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้คนละ 2 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้จำเลยทั้งสองฟังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหาย 100,000 บาท แก่กรมป่าไม้ โทษจำคุกและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฎีกาในคดีส่วนแพ่งโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกาในประเด็นที่ว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องและมีคำขอให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายแก่กรมป่าไม้ 714,540 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงยุติตามคำฟ้องโจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายแก่กรมป่าไม้ตามฟ้อง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้ให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายแก่กรมป่าไม้ 100,000 บาท จึงไม่ชอบเนื่องจากจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพโดยไม่โต้แย้งในเรื่องค่าเสียหาย หากจำเลยทั้งสองโต้แย้งตั้งแต่ต้น โจทก์จะได้มีโอกาสนำพยานเข้าสืบในประเด็นเรื่องค่าเสียหายดังกล่าว เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองเป็นคดีอาญาตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ และขอให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐ จึงเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การพิจารณาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 ตอนท้าย และคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งจะต้องกล่าวหรือแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง กับต้องวินิจฉัยไปตามประเด็นแห่งคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141 (4) (5) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีส่วนแพ่งโดยมิได้สอบคำให้การส่วนแพ่งของจำเลยทั้งสองและโจทก์มิได้นำสืบพยานหลักฐานอันจะเป็นฐานในการกำหนดค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 มาตรา 26/4 กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีส่วนแพ่งไปโดยมิชอบ เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองดำเนินการส่วนนี้ให้ถูกต้อง กรณีดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในคดีส่วนแพ่ง ให้ศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยทั้งสองในคดีส่วนแพ่งแล้วพิจารณาพิพากษาคดีส่วนแพ่งใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา สว.(อ)287/2562

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดเลย จำเลย - นาง ส. กับพวก

ชื่อองค์คณะ สุริยง ลิ้มสถิรานันท์ ธงชัย เสนามนตรี ชัยเจริญ ดุษฎีพร

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดเลย - นายสิทธิเดช สิงห์บุระอุดม ศาลอุทธรณ์ภาค 4 - นางพยางคศิริ วิทยาผาสุข

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE