สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 278/2562

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 278/2562

พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 22, 25

พ.ร.บ.ล้มละลาย

พ.ศ.2483 มาตรา 22 บัญญัติว่า เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจดังต่อไปนี้

(1) จัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไป

(2) เก็บรวบรวมและรับเงิน หรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่ลูกหนี้

หรือซึ่งลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น (3) ประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้

อันเป็นบทบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการจัดการและเก็บรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้มาให้ได้มากที่สุดเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ในการขอรับชำระหนี้

และมาตรา 25 บัญญัติว่า ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแพ่งทั้งปวงอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้

ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์

และเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง

ศาลมีอำนาจงดการพิจารณาคดีแพ่งนั้นไว้ หรือจะสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้

ก็เห็นได้ชัดว่าในกรณีที่มีคดีแพ่งอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งกฎหมายบังคับให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องเข้าว่าคดีแทนลูกหนี้ผู้ถูกฟ้องนั้น

ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่า การที่จะให้มีการพิจารณาคดีต่อไปจะยังประโยชน์แก่การจัดการและเก็บรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้มากยิ่งกว่าและมิได้ร้องขอให้งดการพิจารณาไว้แล้ว ศาลย่อมมีอำนาจที่จะสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้

หาใช่ว่าศาลจะต้องงดการพิจารณาคดีและจำหน่ายคดีที่ค้างพิจารณาทั้งหมดออกจากสารบบความได้เพียงสถานเดียว

ซึ่งข้อเท็จจริงในคดีนี้ก็ได้ความว่า

หลังจากถูกฟ้องคดี ต่อมามีการขอเลื่อนคดีเรื่อยมาด้วยเหตุผลว่า รอฟังผลคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่

249/2549 แม้กระทั่งวันที่ 1 กันยายน 2554 เป็นวันนัดพร้อมซึ่งขณะนั้นศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดลูกหนี้ทั้งสาม

คือจำเลยทั้งสามตั้งแต่วันที่ 23

สิงหาคม 2554 อำนาจการจัดการทรัพย์สินและการต่อสู้คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามจึงตกเป็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว

แต่จำเลยทั้งสามและทนายความจำเลยทั้งสามไม่แถลงข้อเท็จจริงดังกล่าวเพื่อศาลชั้นต้นจะได้หมายเรียกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแทนต่อไป และแม้ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสามเป็นบุคคลล้มละลาย

วันที่ 20 พฤษภาคม 2556 จำเลยทั้งสามก็คงวางเฉยไม่แถลงแต่อย่างไร

จนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราวเมื่อวันที่

30 กันยายน 2556 เพื่อให้ขาดความต่อเนื่องของการพิจารณาคดีที่จะติดตามข้อเท็จจริงในช่วงระยะเวลาสั้นและยิ่งนำรายงานเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มาพิจารณาประกอบ

ซึ่งจำเลยที่ 3 ในฐานะลูกหนี้ที่ 2 ให้ถ้อยคำว่า เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2556

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หมายเรียกมาให้สอบสวนเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สิน ให้การว่าไม่ทราบแน่ชัดว่ามีคดีแพ่งที่เกี่ยวข้องคดีใดบ้าง

ทั้งที่คดีนี้ทุนทรัพย์สูงถึง 50 กว่าล้านบาท จำเลยที่ 3

ก็เป็นจำเลยคนหนึ่งในคดีแพ่ง การกล่าวให้ถ้อยคำเช่นนั้นย่อมไม่อาจเชื่อได้

ทำให้เชื่อได้ว่า การเลื่อนคดีอย่างต่อเนื่องโดยไม่แถลงข้อเท็จจริงดังกล่าวเกิดจากการวางแผนกระทำการโดยมีเจตนาทุจริตเพื่อให้โจทก์ไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ภายในกำหนด ซึ่งจะเป็นการหลุดพ้นจากหนี้และนำไปสู่การปลดล้มละลายในลำดับถัดมา

การจำหน่ายคดีย่อมทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียหาย กรณีสมควรมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินคดีแทนจำเลยทั้งสามต่อไป

ไม่มีเหตุจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน

47,879,999.80 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ

7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณาจำเลยที่

2 ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราวเพื่อรอฟังผลคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่

249/2549

โจทก์ยื่นคำร้องขอให้จำหน่ายคดี

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค

6 พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกิน 200 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า

ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสาม เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2551

ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เลื่อนการพิจารณาเนื่องจากจำเลยทั้งสามแถลงขอให้รอฟังผลคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่

249/2549 ของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 23

กันยายน 2551 ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำพิพากษาแล้ว วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2553

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เลื่อนการพิจารณาคดีเพื่อรอฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีดังกล่าวตามที่คู่ความแถลง

วันที่ 10 กันยายน 2555 จำเลยที่ 3 ภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2

ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งถึงแก่ความตาย

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2556 ต่อมาวันที่ 30 กันยายน 2556

ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราวเพื่อรอฟังผลคำพิพากษาศาลฎีกา และวันที่ 2 ตุลาคม 2558

โจทก์ยื่นคำร้องขอยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ เนื่องจากศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่

249/2549 วันที่ 11 สิงหาคม 2558 วันที่ 14

ธันวาคม 2558

ทนายจำเลยทั้งสามยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีเนื่องจากติดว่าความและจำเลยที่ 3 ถูกฟ้องล้มละลายอยู่ระหว่างตรวจสอบและคัดถ่ายเอกสาร

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2559 ทนายจำเลยทั้งสามยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ามาในคดีเพราะจำเลยที่

3 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดวันที่

23 สิงหาคม 2554 และมีคำพิพากษาให้ล้มละลาย วันที่ 20 พฤษภาคม 2556

ในคดีล้มละลายหมายเลขดำที่ 4072/2553 หมายเลขแดงที่ 8042/2554 และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้หมายเรียกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแทนจำเลยที่

3 วันที่ 11 เมษายน 2559

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ดำเนินการเกี่ยวกับการขอเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 2 เนื่องจากจำเลยที่ 3 ถูกพิพากษาให้ล้มละลาย

จึงไม่มีอำนาจ วันที่ 11 กรกฎาคม 2559 จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องว่า

นับถึงวันยื่นคำร้องเป็นระยะเวลาเกินกว่า 3 ปี แล้วจึงถือว่า จำเลยที่ 3

ได้ปลดและหลุดพ้นจากการล้มละลาย มีอำนาจเข้าเป็นคู่ความแทน วันที่ 15 กุมภาพันธ์

2560 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ทั้งสาม (จำเลยที่ 3 เป็นลูกหนี้ที่ 2)

ยื่นคำร้องว่า

การเข้าว่าคดีแพ่งแทนลูกหนี้ไม่มีประโยชน์แก่กองทรัพย์สินของลูกหนี้แต่อย่างไร

จึงไม่ขอเข้าว่าคดี และขอให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ และวันที่ 27

เมษายน 2560 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ทั้งสามแถลงว่า

โจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ จึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ ไม่ขอเข้าว่าคดีและขอให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2

ออกจากสารบบความด้วย

มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า

คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีจำเลยทั้งสามออกจากสารบบความชอบหรือไม่

เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 ซึ่งบัญญัติว่า เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจดังต่อไปนี้ (1)

จัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้

หรือการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไป (2)

เก็บรวบรวมและรับเงิน หรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่ลูกหนี้

หรือซึ่งลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น และ (3) ประนีประนอมยอมความ

หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ อันเป็นบทบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการจัดการและเก็บรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้มาให้ได้มากที่สุดเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ในการขอรับชำระหนี้

และมาตรา 25 ซึ่งบัญญัติว่า

ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแพ่งทั้งปวงอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้

ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์

และเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง

ศาลมีอำนาจงดการพิจารณาคดีแพ่งนั้นไว้ หรือจะสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้

ก็เห็นได้ชัดว่าในกรณีที่มีคดีแพ่งอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งกฎหมายบังคับให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องเข้าว่าคดีแทนลูกหนี้ผู้ถูกฟ้องนั้น

ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่า

การที่จะให้มีการพิจารณาคดีต่อไปจะยังประโยชน์แก่การจัดการและเก็บรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้มากยิ่งกว่าและมิได้ร้องขอให้งดการพิจารณาไว้แล้ว

ศาลย่อมมีอำนาจที่จะสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้

หาใช่ว่าศาลจะต้องงดการพิจารณาคดีและจำหน่ายคดีที่ค้างพิจารณาทั้งหมดออกจากสารบบความได้เพียงสถานเดียว

ซึ่งข้อเท็จจริงในคดีนี้ก็ได้ความว่า หลังจากถูกฟ้องคดี

ต่อมามีการขอเลื่อนคดีเรื่อยมาด้วยเหตุผลว่า รอฟังผลคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 249/2549 แม้กระทั่งวันที่ 1 กันยายน

2554 เป็นวันนัดพร้อมซึ่งขณะนั้นศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดลูกหนี้ทั้งสาม คือจำเลยทั้งสามตั้งแต่วันที่

23 สิงหาคม 2554 อำนาจการจัดการทรัพย์สินและการต่อสู้คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามจึงตกเป็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว

แต่จำเลยทั้งสามและทนายความจำเลยทั้งสามต่างไม่แถลงข้อเท็จจริงดังกล่าวเพื่อศาลชั้นต้นจะได้หมายเรียกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแทนต่อไป

และแม้ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสามเป็นบุคคลล้มละลาย

วันที่ 20 พฤษภาคม 2556 จำเลยทั้งสามก็คงวางเฉยไม่แถลงแต่อย่างไร

จนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราวเมื่อวันที่ 30

กันยายน 2556 เพื่อให้ขาดความต่อเนื่องของการพิจารณาคดีที่จะติดตามข้อเท็จจริงในช่วงระยะเวลาสั้นและยิ่งนำรายงานเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แนบคำร้องฉบับลงวันที่

15 กุมภาพันธ์ 2560 พิจารณาประกอบซึ่งจำเลยที่ 3 ในฐานะลูกหนี้ที่ 2 ให้ถ้อยคำว่า เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2556 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หมายเรียกมาให้สอบสวนเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินให้การว่าไม่ทราบแน่ชัดว่ามีคดีแพ่งที่เกี่ยวข้องคดีใดบ้าง

ทั้งที่คดีนี้ทุนทรัพย์สูงถึง 50 กว่าล้านบาท จำเลยที่ 3

ก็เป็นจำเลยคนหนึ่งในคดีแพ่ง การกล่าวให้ถ้อยคำเช่นนั้น ย่อมไม่อาจเชื่อได้ ทำให้เชื่อได้ว่า

การเลื่อนคดีอย่างต่อเนื่องโดยไม่แถลงข้อเท็จจริงดังกล่าวเกิดจากการวางแผนกระทำการโดยมีเจตนาทุจริตเพื่อให้โจทก์ไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้

ภายในกำหนดซึ่งจะเป็นการหลุดพ้นจากหนี้และนำไปสู่การปลดล้มละลายในลำดับถัดมา

เช่นนี้การจำหน่ายคดีย่อมทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียหาย

กรณีสมควรมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินคดีแทนจำเลยทั้งสามต่อไปไม่มีเหตุจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

อนึ่ง

การที่โจทก์ขอให้กลับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความเป็นให้ดำเนินการต่อไป

ถือว่าเป็นคดีมีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่คำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง

200 บาท แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเกินมา เห็นสมควรคืนส่วนที่เกินแก่โจทก์

พิพากษากลับเป็นว่า

ไม่จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าดำเนินคดีแทนจำเลยทั้งสาม

คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท แก่โจทก์

ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลนอกจากที่ศาลฎีกาสั่งคืนให้เป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.678/2561

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - เทศบาลนครนครสวรรค์ จำเลย - ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. กับพวก

ชื่อองค์คณะ รังสรรค์ กุลาเลิศ โสภณ บางยี่ขัน บุญไทย อิศราประทีปรัตน์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดนครสวรรค์ - นายทรงธน ติระการ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 - นายสิทธิชัย ลีลาโสภิต

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th