คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2829/2563
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 277 วรรคสี่ (เดิม), 317 วรรคสาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 225 วรรคหนึ่ง, 252 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15
การวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าผู้เสียหายที่ 2 ยินยอมให้จำเลยทั้งสามกระทำชำเราหรือไม่ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบในศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพโดยไม่ได้นำสืบต่อสู้ว่า ผู้เสียหายที่ 2 ยินยอมให้จำเลยทั้งสามกระทำชำเรา ข้อเท็จจริงที่ว่าผู้เสียหายที่ 2 ยินยอมให้จำเลยทั้งสามกระทำชำเรา จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสามเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ก่อนเกิดเหตุจำเลยทั้งสามกับพวกนั่งอยู่กับผู้เสียหายที่ 2 ที่โรงอาหารของโรงเรียน ต่อมา ว. พวกของจำเลยทั้งสามพาผู้เสียหายที่ 2 ไปร่วมประเวณีที่ห้องน้ำของโรงเรียนแล้วบอกให้ผู้เสียหายที่ 2 รออยู่ที่ห้องน้ำ จากนั้นจำเลยทั้งสามกับพวกเข้าไปกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ในห้องน้ำซึ่งเป็นสถานที่เดียวกันในลักษณะต่อเนื่องกันในเวลาใกล้ชิดติดต่อกัน แสดงให้เห็นว่าจำเลยแต่ละคนกับพวกต้องรู้กันและตกลงกันในขณะที่นั่งรอ ว. ว่าผู้ใดจะกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ก่อนหลังเพื่อไม่ให้ผู้เสียหายที่ 2 มีโอกาสตั้งตัวและหลบหนีหรือขัดขืนได้ แล้วเข้าไปกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ในห้องน้ำทันที แม้ไม่มีจำเลยอื่นหรือบุคคลใดเข้าช่วยเหลือสนับสนุนหรือให้ความสะดวกให้มีการกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 แต่มิได้หมายความว่าจำเลยทั้งสามกับพวกแต่ละคนจะไม่ได้วางแผนร่วมกันกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 เพราะจำเลยทั้งสามกับพวกแต่ละคนได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ครบทุกคน การกระทำของจำเลยทั้งสามกับพวกจึงเป็นการกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงและเด็กหญิงนั้นไม่ยินยอม
ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม มีความมุ่งหมายที่จะคุ้มครองอำนาจของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเด็ก อันไม่ใช่ตัวเด็กที่ถูกพราก และปกป้องมิให้ผู้ใดมาก่อการรบกวนหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการกระทบกระทั่งต่ออำนาจปกครอง ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยปริยาย แม้เด็กจะไปอยู่ที่แห่งใด หากบิดามารดา ผู้ดูแล หรือผู้ปกครองยังดูแลเอาใจใส่อยู่ เด็กย่อมอยู่ในอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตลอดเวลาโดยไม่ขาดตอน ทั้งเป็นการลงโทษผู้ที่ละเมิดต่ออำนาจปกครองดูแลเด็กของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลด้วย เมื่อจำเลยทั้งสามกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ในห้องน้ำต่อเนื่องกันหลังจากที่ ว. ร่วมประเวณีกับผู้เสียหายที่ 2 แล้ว แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามไม่ยอมให้ผู้เสียหายที่ 2 ออกจากห้องน้ำ แม้เป็นเพียงชั่วคราวก็ทำให้อำนาจปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาถูกตัดขาดพรากไปแล้วโดยปริยาย หาใช่จะต้องร่วมกันพาผู้เสียหายที่ 2 มายังที่เกิดเหตุถึงจะทำให้ความปกครองถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนแล้วจึงเป็นความผิด
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 277, 279, 283 ทวิ, 317
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสี่ (เดิม), 279 วรรคสอง (เดิม), 283 ทวิ วรรคสอง, 317 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตามและเด็กนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ฐานร่วมกันพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร และฐานร่วมกันกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตามอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตามอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยทั้งสามตลอดชีวิต ฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจาร จำคุกคนละ 5 ปี จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 ฐานร่วมกันกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตามอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง จำคุกคนละ 25 ปี ฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจาร จำคุกคนละ 2 ปี 6 เดือน รวมจำคุกคนละ 27 ปี 6 เดือน
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เด็กหญิง ว. ผู้เสียหายที่ 2 เป็นบุตรของผู้เสียหายที่ 1 ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 2 อายุ 13 ปีเศษ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2561 เวลาประมาณ 20 นาฬิกา ผู้เสียหายที่ 2 ส่งข้อความทางโปรแกรมเฟซบุ๊กถึงนาย ว. ให้มารับผู้เสียหายที่ 2 ไปดื่มสุรา ต่อมานาย ว. ขับรถจักรยานยนต์มารับผู้เสียหายที่ 2 พาไปที่โรงอาหารของโรงเรียน เมื่อไปถึงพบจำเลยทั้งสามกับพวกรวม 6 คน นาย ว. กับพวกชวนผู้เสียหายที่ 2 นั่งเล่นที่โรงอาหารดังกล่าว จากนั้นนาย ว. พาผู้เสียหายที่ 2 ไปที่ห้องน้ำของโรงเรียนแล้วร่วมประเวณีกับผู้เสียหายที่ 2 โดยผู้เสียหายที่ 2 ยินยอม แล้วนาย ว. บอกผู้เสียหายที่ 2 รออยู่ในห้องน้ำก่อน ระหว่างนั้นจำเลยทั้งสามกับพวกรวม 6 คน เข้าไปในห้องน้ำทีละคนแล้วกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ต่อมาผู้เสียหายที่ 2 ออกจากห้องน้ำพบนาย ช. ปลัดอำเภอบ้านกรวด นาย ช. ติดต่อทางโทรศัพท์ให้ผู้เสียหายที่ 1 มารับผู้เสียหายที่ 2 จากนั้นนำจำเลยทั้งสามกับพวกซึ่งถูกจับกุมได้และผู้ปกครองมามอบตัวพร้อมพาผู้เสียหายทั้งสองไปสถานีตำรวจภูธรบ้านกรวด ร้อยตำรวจเอก ธ. พนักงานสอบสวน ส่งผู้เสียหายที่ 2 ไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลบ้านกรวด
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อแรกว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงหรือไม่ เห็นว่า การวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าผู้เสียหายที่ 2 ยินยอมให้จำเลยทั้งสามกระทำชำเราหรือไม่ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบในศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพโดยไม่ได้นำสืบต่อสู้ว่าผู้เสียหายที่ 2 ยินยอมให้จำเลยทั้งสามกระทำชำเรา ดังนี้ ข้อเท็จจริงที่ว่าผู้เสียหายที่ 2 ยินยอมให้จำเลยทั้งสามกระทำชำเรา จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสามเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยทั้งสามกับพวกนั่งอยู่กับผู้เสียหายที่ 2 ที่โรงอาหารของโรงเรียน ต่อมานาย ว. พวกของจำเลยทั้งสามพาผู้เสียหายที่ 2 ไปร่วมประเวณีที่ห้องน้ำของโรงเรียน แล้วบอกให้ผู้เสียหายที่ 2 รออยู่ที่ห้องน้ำ จากนั้นจำเลยทั้งสามกับพวกเข้าไปกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ในห้องน้ำซึ่งเป็นสถานที่เดียวกันในลักษณะต่อเนื่องกันในเวลาใกล้ชิดติดต่อกัน แสดงให้เห็นว่าจำเลยแต่ละคนกับพวกต้องรู้กันและตกลงกันในขณะที่นั่งรอนาย ว. ว่าผู้ใดจะกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ก่อนหลังเพื่อไม่ให้ผู้เสียหายที่ 2 มีโอกาสตั้งตัวและหลบหนีหรือขัดขืนได้ แล้วเข้าไปกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ในห้องน้ำทันที แม้ไม่มีจำเลยอื่นหรือบุคคลใดเข้าช่วยเหลือสนับสนุนหรือให้ความสะดวกให้มีการกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 แต่มิได้หมายความว่าจำเลยทั้งสามกับพวกแต่ละคนจะไม่ได้วางแผนร่วมกันกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 เพราะจำเลยทั้งสามกับพวกแต่ละคนได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ครบทุกคน การกระทำของจำเลยทั้งสามกับพวกจึงเป็นการกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงและเด็กหญิงนั้นไม่ยินยอม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อต่อไปว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจารหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม มีความมุ่งหมายที่จะคุ้มครองอำนาจของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเด็ก อันไม่ใช่ตัวเด็กที่ถูกพราก และปกป้องมิให้ผู้ใดมาก่อการรบกวนหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการกระทบกระทั่งต่ออำนาจปกครอง ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยปริยาย แม้เด็กจะไปอยู่ที่แห่งใด หากบิดามารดา ผู้ดูแล หรือผู้ปกครองยังดูแลเอาใจใส่อยู่ เด็กย่อมอยู่ในอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตลอดเวลาโดยไม่ขาดตอน ทั้งเป็นการลงโทษผู้ที่ละเมิดต่ออำนาจปกครองดูแลเด็กของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลด้วย เมื่อจำเลยทั้งสามกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ในห้องน้ำต่อเนื่องกันหลังจากที่นาย ว. ร่วมประเวณีกับผู้เสียหายที่ 2 แล้ว แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามไม่ยอมให้ผู้เสียหายที่ 2 ออกจากห้องน้ำ แม้เป็นเพียงชั่วคราวก็ทำให้อำนาจปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาถูกตัดขาดพรากไปแล้วโดยปริยาย หาใช่จะต้องร่วมกันพาผู้เสียหายที่ 2 มายังที่เกิดเหตุถึงจะทำให้ความปกครองถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนแล้วจึงเป็นความผิด ดังนี้ เมื่อผู้เสียหายที่ 2 ออกจากบ้านแล้วถูกจำเลยทั้งสามกับพวกกระทำชำเรา ถือได้ว่าเป็นการพาและแยกเด็กไปจากความปกครองดูแลและล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาอันเป็นความหมายของคำว่าพรากแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจาร ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.996/2563
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดนางรอง จำเลย - นาย ส. กับพวก
ชื่อองค์คณะ เทพ อิงคสิทธิ์ ชาติชาย โฆษิตวัฒนฤกษ์ พิสุทธิ์ ศรีขจร
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดนางรอง - นางสาวพลพร ไวทยางกูร ศาลอุทธรณ์ภาค 3 - นายองอาจ แน่นหนา