คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2883/2563
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/30, 798 วรรคสอง, 806
โจทก์ทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยโดยมี น. เป็นตัวแทนออกหน้าทำสัญญากับจำเลย โจทก์ในฐานะตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อย่อมมีสิทธิที่จะกลับแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาใด ๆ ซึ่ง น. ตัวแทนได้ทำไว้แทนตนได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 และเมื่อโจทก์เป็นตัวการมิได้เปิดเผยชื่อ การตั้ง น. เป็นตัวแทนย่อมไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือตามมาตรา 798 วรรคสอง โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยไม่สามารถส่งผลผลิตลำไยให้โจทก์ได้เพราะลำไยไม่มีคุณภาพและเรียกเงินมัดจำที่โจทก์ได้ให้ไว้คืน อันเป็นกรณีกล่าวอ้างว่า จำเลยละเลยไม่ชำระหนี้ต้องคืนเงินมัดจำตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (3) การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินมัดจำค่าสินค้าหรือเงินที่โจทก์มอบให้จำเลยเพื่อชำระเป็นค่าสินค้าบางส่วนคืน เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 250,284 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 204,315 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งและแก้ไขคำฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและยกฟ้องแย้ง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งฟ้องและฟ้องแย้งให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันรับฟังได้ยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์ประกอบอาชีพรับซื้อผลลำไยส่งขายสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2556 นางนิษา ทำสัญญาซื้อขายผลลำไยล่วงหน้ากับจำเลยในที่ดิน 1 แปลง มีต้นลำไย 300 ต้น โดยวางเงินมัดจำ 174,315 บาท และวางเงินมัดจำเพิ่มอีก 30,000 บาท รวมเป็นเงินมัดจำ 204,315 บาท เมื่อกำหนดเก็บลำไยนางนิษามิได้เข้าเก็บลำไย จำเลยเป็นคนเก็บลำไย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่า นางนิษาเป็นตัวแทนโจทก์ในการทำสัญญาซื้อขายลำไยกับจำเลยตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า โจทก์เป็นคนสัญชาติจีนเข้ามาในประเทศไทยเพื่อประกอบกิจการรับซื้อผลไม้ในจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดใกล้เคียงเพื่อส่งออกไปขายยังสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีนายสมนึก นางนิษา และนางสาวนีรนุช เป็นตัวแทนซื้อขายและชำระเงินค่าลำไยแทนโจทก์ โจทก์ซื้อขายผลลำไยกับจำเลยตั้งแต่ปี 2554 ถึงปี 2556 โดยมีการวางมัดจำแก่จำเลย แต่ผลผลิตลำไยปี 2554 และปี 2555 ไม่ดีและไม่พอหักชำระเงินมัดจำได้ทั้งหมด โจทก์จึงนำเงินมัดจำที่เหลือ 124,315 บาท มาเป็นเงินมัดจำสัญญาซื้อขายลำไยฉบับวันที่ 3 ตุลาคม 2556 และได้มอบเงินล่วงหน้าแก่จำเลยอีก 50,000 บาท รวมเป็นเงิน 174,315 บาท ต่อมาวันที่ 17 ธันวาคม 2556 จำเลยขอเงินมัดจำเพิ่มอีก 30,000 บาท ซึ่งโจทก์ได้มอบเงินดังกล่าวแก่จำเลยแล้ว รวมเป็นเงินที่โจทก์ได้ให้ไว้ทั้งสิ้น 204,315 บาท หลังจากนั้นโจทก์มีข้อพิพาทกับนายสมนึกและนางนิษาซึ่งเป็นสามีภริยากัน โจทก์จึงให้นางนิษาตัวแทนโจทก์ทำบันทึกด้านหลังสัญญาซื้อขายลำไยให้โจทก์มีสิทธิตามสัญญาซื้อขายดังกล่าวแต่ผู้เดียว แต่นางนิษาให้นายสมนึกสามีลงชื่อเป็นผู้มอบเอกสาร ซึ่งสอดคล้องกับสัญญาซื้อขายลำไยที่ด้านหลังระบุว่า ข้าฯ (นายสมนึก) ขอยืนยันว่า ได้ส่งมอบสัญญารับไปดำเนินการเองโดยเป็นสิทธิของโจทก์แต่เพียงผู้เดียว โดยมีนายสมนึกลงลายมือชื่อในฐานะผู้ส่งมอบและนางนิษาลงลายมือชื่อในฐานะพยาน จำเลยเองก็เบิกความเจือสมพยานโจทก์ว่า คนไทยที่รับซื้อลำไยมีน้อย ส่วนมากจะเป็นตัวแทนของผู้ซื้อชาวจีน จำเลยเคยเห็นโจทก์ที่ล้งลำไยของนางนิษาและเคยพูดคุยกัน เข้าใจว่าโจทก์มีหน้าที่ดูแลด้านการเงิน นางวิมล ภริยาจำเลยมาเบิกความเป็นพยานจำเลยก็เบิกความว่า จำเลยชวนไปหานางนิษาเพื่อบอกให้มาเก็บลำไย แต่ไม่พบนางนิษา จึงเดินทางไปที่ล้งลำไยชั่วคราว พบโจทก์ โจทก์บอกว่าให้นางนิษาบอกโจทก์แทนในการเก็บผลลำไย ก็แสดงให้เห็นว่า จำเลยทราบว่าโจทก์กับนางนิษามีความเกี่ยวพันกันในการซื้อผลผลิตลำไย โดยโจทก์มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงิน มิใช่โจทก์ไม่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายผลผลิตลำไยเสียเลยทีเดียว นอกจากนี้จำเลยยังเบิกความต่อไปว่า การทำสัญญาซื้อขายลำไยทุกครั้ง จำเลยทำสัญญากับนางนิษา หากปีไหนขายลำไยแล้วหักเงินมัดจำไม่หมดจะนำเงินมัดจำที่เหลือมาทำสัญญาซื้อขายลำไยฉบับใหม่ ซึ่งจำนวนเงินที่ระบุในสัญญาซื้อขายลำไยน่าจะเป็นจำนวนเงินที่เหลือจากเงินมัดจำฉบับก่อน ก็สอดคล้องกับคำเบิกความของโจทก์ว่า เงินมัดจำตามสัญญาซื้อขายลำไย มีการนำเงินมัดจำที่จำเลยค้างปีก่อนมารวมไว้ด้วย หากโจทก์มิได้มีความสัมพันธ์ใด ๆ กับจำเลยในการทำสัญญาซื้อขายลำไยแล้ว โจทก์ย่อมไม่อาจทราบวิธีปฏิบัติในการซื้อขายลำไยและรายละเอียดความเป็นมาในการทำสัญญาซื้อขายลำไยกับจำเลยได้ และเมื่อนางนิษามีข้อพิพาทกับโจทก์ นางนิษาได้มอบสัญญาซื้อขายลำไยที่ทำกับจำเลยให้โจทก์ เมื่อพิจารณาชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักและเหตุผลดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์ทำสัญญาซื้อขายลำไยกับจำเลยโดยมีนางนิษาเป็นตัวแทนออกหน้าทำสัญญากับจำเลย โจทก์ในฐานะตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะกลับแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาใด ๆ ซึ่งนางนิษาตัวแทนได้ทำไว้แทนตนได้ ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 806 และเมื่อโจทก์เป็นตัวการมิได้เปิดเผยชื่อ การตั้งนางนิษาเป็นตัวแทนย่อมไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือตามมาตรา 798 วรรคสอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
สำหรับปัญหาตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ และจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใดนั้น ปัญหานี้ศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัย แต่คู่ความได้สืบพยานกันเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อมิให้คดีล่าช้าศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยก่อน ในประเด็นดังกล่าวจำเลยให้การและนำสืบว่า โจทก์ทำสัญญาซื้อขายลำไยกับจำเลยเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2556 จำเลยราดสารเร่งลำไยวันที่ 20 สิงหาคม 2556 ครบกำหนดเก็บลำไยในเดือนมีนาคม 2557 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 23 มิถุนายน 2560 คดีโจทก์ขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยไม่สามารถส่งผลผลิตลำไยให้โจทก์ได้เพราะลำไยไม่มีคุณภาพและเรียกเงินมัดจำที่โจทก์ได้ให้ไว้คืน อันเป็นกรณีกล่าวอ้างว่า จำเลยละเลยไม่ชำระหนี้ต้องคืนเงินมัดจำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378 (3) การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินมัดจำค่าสินค้าหรือเงินที่โจทก์มอบให้จำเลยเพื่อชำระเป็นค่าสินค้าบางส่วนคืน เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 โจทก์ทำสัญญาซื้อขายลำไยกับจำเลยเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2556 และโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 23 มิถุนายน 2560 ยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ข้อต่อสู้ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาว่าจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใดนั้น ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาได้ความว่า การซื้อขายผลผลิตลำไยพิพาทเป็นการปลูกลำไยนอกฤดูกาล และผลผลิตออกในช่วงหน้าแล้ง การจะดูแลลำไยให้มีผลผลิตดีทำได้ยาก ทั้งปรากฏตามคำเบิกความของจำเลยกับนายวิมล ภริยาจำเลยว่า ผลผลิตปีก่อนไม่ดี ทำให้จำเลยไม่สามารถคืนเงินมัดจำแก่โจทก์ได้ ต้องนำเงินมัดจำที่ค้างปีก่อนมารวมลงเป็นมัดจำตามสัญญาซื้อขายลำไยฉบับพิพาทนี้ กับจำเลยคาดว่าผลผลิตลำไยพิพาทจะขายได้ไม่น้อยกว่า 280,000 บาท แต่ทางนำสืบของจำเลย จำเลยขายลำไยได้เพียง 50,000 บาทเท่านั้น ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า จำนวนเงินที่จำเลยได้รับจากการขายลำไยจึงถือว่าต่ำกว่าที่จำเลยคาดหมายไว้มาก ส่อไปในทางผลผลิตลำไยไม่ดี ในทางกลับกัน หากผลผลิตลำไยของจำเลยดี โจทก์ซึ่งเป็นพ่อค้าย่อมต้องมาเก็บผลลำไยส่งไปขายต่างประเทศ เพราะจะทำให้โจทก์ได้กำไรเป็นประโยชน์ตอบแทน ที่โจทก์ไม่มาเก็บลำไยจึงเชื่อว่าน่าจะเป็นเพราะไม่คุ้มค่าที่จะมาเก็บลำไยมากกว่า ที่จำเลยนำสืบว่าผลผลิตลำไยของจำเลยดี แต่โจทก์ไม่มาเก็บผลลำไย จึงไม่สมเหตุผล พยานหลักฐานโจทก์มีเหตุผลน่ารับฟัง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า ลำไยของจำเลยไม่ดีและไม่มีคุณภาพ ซึ่งตามสัญญาซื้อขายลำไย ข้อ 4 ระบุว่า ผู้ขายจะดูแลลำไยที่ทำสัญญาขายต่อกันไม่ให้เกิดความเสียหายจากเหตุดังต่อไปนี้ ขาดปุ๋ย ขาดยา ขาดน้ำ ค้างคาวเข้าทำลาย โรคทำลาย และผลแตกเสียหาย หากเกิดกรณีใดกรณีหนึ่ง ผู้ซื้อและผู้ขายจะหักน้ำหนักเสียหายออกโดยพิจารณาเป็นต้น ๆ ไป โดยให้ราคาท้องตลาดในขณะนั้นเป็นราคาในการคิดคำนวณ โดยข้อกำหนดตามสัญญาดังกล่าวหาได้ให้สิทธิโจทก์ไม่เข้าเก็บผลลำไยแต่อย่างใดไม่ แต่เมื่อจำเลยเบิกความว่า จำเลยได้นำผลผลิตลำไยไปขายให้แก่บุคคลภายนอกได้เงินจำนวน 50,000 บาท แล้ว ซึ่งตามสัญญาซื้อขายลำไย ข้อ 3 ระบุว่า …แต่ถ้าผู้ขายผิดสัญญาโดยนำลำไยไปขายให้กับบุคคลอื่นจะต้องคืนเงินมัดจำและถูกปรับเป็นเงิน 3 เท่าของเงินมัดจำ เช่นนี้ จำเลยจึงต้องคืนเงินมัดจำที่ได้รับไว้แก่โจทก์ ส่วนดอกเบี้ยที่โจทก์ขอมาในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2557 นั้น ตามสัญญาซื้อขายลำไยมิได้กำหนดเรื่องอัตราดอกเบี้ยไว้ แต่เมื่อโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยคืนเงินมัดจำ 204,315 บาท ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ ซึ่งจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าววันที่ 12 มีนาคม 2560 จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 204,315 บาท นับแต่วันพ้นกำหนดให้ชำระเงินตามหนังสือทวงถามคือนับแต่วันที่ 28 มีนาคม 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ข้อต่อสู้ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 204,315 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 28 มีนาคม 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.914/2562
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย ฉ. จำเลย - นาย ภ.
ชื่อองค์คณะ อำพันธ์ สมบัติสถาพรกุล ชัยรัตน์ ศิลาลาย ภัทรศักดิ์ วรรณแสง
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดจันทบุรี - นางสาวปิยนุช จันลองรัตน์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 - นายสมพงศ์ เผือกประดิษฐ