สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2887/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2887/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 71 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1448, 1459 พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 ม. 19, 20 วรรคหนึ่ง

โจทก์ร่วมและจำเลยจดทะเบียนสมรสกันที่ประเทศอังกฤษเมื่อปี 2557 แม้ ป.พ.พ. มาตรา 1459 วรรคหนึ่ง จะบัญญัติว่า "การสมรสในต่างประเทศระหว่างคนที่มีสัญชาติไทยด้วยกัน หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย จะทำตามแบบที่กำหนดไว้ตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายแห่งประเทศนั้นก็ได้" และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การสมรสซึ่งได้ทำถูกต้องตามแบบที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแห่งประเทศที่ทำการสมรสนั้น ย่อมเป็นอันสมบูรณ์" ก็ตาม แต่อย่างไรก็ดี มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า "เงื่อนไขแห่งการสมรสให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของคู่กรณีแต่ละฝ่าย" เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยและโจทก์ร่วมเป็นผู้มีสัญชาติไทย ดังนั้น ในการพิจารณาถึงความสมบูรณ์แห่งการสมรสระหว่างจำเลยและโจทก์ร่วมจึงต้องพิจารณาตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 หมวด 2 เรื่องเงื่อนไขแห่งการสมรสประกอบด้วย เมื่อมาตรา 1448 บัญญัติว่า "การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว" แสดงว่าการสมรสจะสมบูรณ์ต่อเมื่อคู่สมรสเป็นชายและหญิง เมื่อจำเลยและโจทก์ร่วมต่างก็เป็นหญิง การสมรสระหว่างจำเลยและโจทก์ร่วมจึงไม่ต้องด้วยเงื่อนไขของการสมรสตามกฎหมายไทย จำเลยและโจทก์ร่วมไม่มีสถานะเป็นสามีภริยาตามกฎหมาย กรณีจึงไม่ต้องด้วยเหตุยกเว้นโทษตาม ป.อ. มาตรา 71

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335, 352, 91 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน รวมเป็นเงิน 82,215,256 บาท แก่ผู้เสียหาย และขอให้นับโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3211/2559 ของศาลชั้นต้น

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นางสาว ป. ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335 (1) วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานลักทรัพย์ จำคุก 3 ปี ฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน จำคุก 4 ปี รวมสองกระทง จำคุก 7 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จึงลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี 8 เดือน และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 62,509,875 บาท แก่โจทก์ร่วม ส่วนข้อหาอื่นและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3211/2559 ของศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อปี 2541 โจทก์ร่วมและจำเลยรู้จักกันโดยโจทก์ร่วมเป็นลูกค้าทำผมที่ร้านทำผมของจำเลยแล้วใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างคนรักตั้งแต่ปี 2542 เมื่อปี 2545 โจทก์ร่วมก่อตั้งและเป็นกรรมการของบริษัท ค. ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร บริษัทดังกล่าวประกอบกิจการผลิตทองรูปพรรณให้ร้านขายทอง รวมทั้งร้าน ล. ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวโจทก์ร่วม ปัจจุบันจำเลยเป็นกรรมการของบริษัทดังกล่าว เมื่อปี 2545 โจทก์ร่วม นาง ช. มารดาของโจทก์ร่วมและจำเลยเป็นกรรมการของบริษัท ด. ประกอบกิจการจำหน่ายจิวเวลรี่และทองรูปพรรณ เมื่อปี 2547 โจทก์ร่วมและจำเลยเป็นกรรมการของบริษัท จ. ประกอบกิจการร้านขายเครื่องประดับอัญมณี เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2555 โจทก์ร่วมเดินทางไปพักอาศัยอยู่กับบุตรในต่างประเทศ โดยให้จำเลยมีหน้าที่ดูแลและบริหารธุรกิจผลิตทองรูปพรรณที่ประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว ต่อมาเมื่อปี 2557 โจทก์ร่วมและจำเลยจดทะเบียนสมรสกันที่ประเทศอังกฤษ วันที่ 8 กรกฎาคม 2558 โจทก์ร่วมเดินทางกลับประเทศไทยและพบว่าทรัพย์สินของโจทก์ร่วมประเภททองรูปพรรณ ทองรูปพรรณประดับเพชร ทองคำแท่ง เหรียญทองคำ ทองคำขาวฝังเพชร อัญมณีชนิดต่าง ๆ เครื่องประดับมุก นาฬิกาข้อมือและทรัพย์สินอื่น รวมราคา 61,159,875 บาท ของโจทก์ร่วมที่เก็บไว้ในตู้นิรภัยภายในบริษัท ค. หายไป

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ร่วมเบิกความยืนยันว่า ทรัพย์สินที่จำเลยนำไปขายและจำนำ เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของโจทก์ร่วมที่หายไปจากตู้นิรภัย โดยโจทก์ร่วมมีภาพถ่ายทรัพย์ที่ถูกประทุษร้าย เป็นหลักฐานประกอบคำเบิกความ ซึ่งตามเอกสารดังกล่าวมีทั้งภาพถ่าย ภาพสเกตช์ และคำบรรยายเกี่ยวกับรูปลักษณะและตำหนิรูปพรรณของทรัพย์แต่ละชิ้นอย่างละเอียด เมื่อปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้ทรัพย์สินเหล่านี้มาจากบิดามารดาตั้งแต่ยังเด็กสะสมเรื่อยมา บางรายการได้มาในช่วงปี 2542 ถึง 2558 และทรัพย์สินของโจทก์ร่วมส่วนใหญ่จะมีใบรับรองจากร้านค้าผู้ขาย ซึ่งโจทก์ร่วมบันทึกรายละเอียดของร้านค้าและราคาไว้ด้านข้างของรูปภาพด้วย ส่วนทรัพย์สินบางรายการไม่ได้ระบุไว้เนื่องจากไม่ได้ถ่ายรูปเก็บไว้ แต่โจทก์ร่วมก็มีใบเสร็จรับเงินของร้านค้าที่ขายให้โจทก์ร่วมเป็นหลักฐาน ซึ่งหากโจทก์ร่วมมิใช่เจ้าของที่แท้จริง ย่อมเป็นการยากที่โจทก์ร่วมจะจดจำและบอกรายละเอียดลักษณะรูปพรรณของทรัพย์สินต่าง ๆ ดังกล่าวได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะทรัพย์สินดังกล่าวส่วนใหญ่มีลักษณะเฉพาะ มิใช่ทรัพย์สินหรือเครื่องประดับที่มีขายทั่วไป โดยน้องชายโจทก์ร่วมเบิกความสนับสนุนว่า โจทก์ร่วมสะสมเครื่องประดับประเภททองคำและเครื่องเพชร โดยบิดามารดามอบให้เป็นทรัพย์สินส่วนตัวหลายร้อยรายการ พยานและโจทก์ร่วมไปตรวจสอบทรัพย์สินที่โรงรับจำนำ พบว่าทรัพย์สินหลายรายการเป็นของโจทก์ร่วม เหตุที่จำได้เนื่องจากบางรายการเป็นทรัพย์สินที่สะสมมานานหลายปี บางรายการเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ร่วมผลิตเพื่อมอบให้แก่พี่น้อง จำเลยเองก็เบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่า เป็นทรัพย์สินของโจทก์ร่วมที่มีมาก่อนที่จะรู้จักกับจำเลย และยังเบิกความตอบทนายโจทก์ร่วมถามค้านว่า จำเลยรู้ว่าโจทก์ร่วมเป็นบุตรสาวของร้านทอง ล. และมีทรัพย์สินส่วนตัวเป็นรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ เงินสด และเครื่องประดับประเภทจิวเวลรี่ เจือสมคำเบิกความของโจทก์ร่วม ที่จำเลยนำสืบต่อสู้และจำเลยฎีกาว่า ในการทำธุรกิจและใช้ชีวิตร่วมกับโจทก์ร่วม จำเลยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดรวมทั้งค่าใช้จ่ายของโจทก์ร่วมและบุตร เมื่อเกิดปัญหาทางธุรกิจจำเลยก็จำเป็นต้องนำทรัพย์สินไปจำนำเพื่อนำเงินมาหมุนเวียนรักษาธุรกิจอันเป็นที่มาของรายได้ไว้ ทั้งทรัพย์สินที่นำไปจำนำก็ยังคงรักษาไว้เสมอ หากไม่สามารถไถ่ถอนได้ก็ยังคงชำระดอกเบี้ยตลอด ไม่เคยปล่อยให้ทรัพย์หลุดจำนำ จำเลยมิได้เบียดบังไปใช้ส่วนตัวหรือมีเจตนาทุจริตนั้น โจทก์ร่วมเบิกความว่า ในระหว่างที่โจทก์ร่วมอยู่ต่างประเทศ โจทก์ร่วมได้ตกลงให้จำเลยนำเงินรายได้จากบริษัท จ. ซึ่งเป็นบริษัทที่โจทก์ร่วมเป็นผู้ลงทุนแต่เพียงผู้เดียวส่งไปเป็นค่าใช้จ่ายแก่โจทก์ร่วมเดือนละ 1,000,000 บาท และโจทก์ร่วมยินยอมให้จำเลยใช้จ่ายส่วนตัวเดือนละ 1,000,000 บาท ส่วนทรัพย์สินอื่นโจทก์ร่วมไม่อนุญาตให้จำเลยเกี่ยวข้อง ตลอดระยะเวลาดังกล่าวจำเลยแจ้งโจทก์ร่วมว่าโจทก์ร่วมมีรายได้จากร้าน จ. เป็นจำนวนมากไม่ได้ขาดทุนหมุนเวียนจนต้องนำของไปจำนำหรือขายแต่อย่างใด และโจทก์ร่วมไม่ได้เดินทางกลับมาประเทศไทยตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่อยู่ในต่างประเทศดังกล่าว เนื่องจากจำเลยแจ้งว่าธุรกิจดีมาก โจทก์ร่วมมิได้มอบการครอบครองทรัพย์เหล่านั้นให้จำเลยครอบครองแทน ทั้งยังกำชับมิให้จำเลยยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนตัวของโจทก์ร่วม การที่จำเลยเอาทรัพย์สินส่วนตัวของโจทก์ร่วมไปจำนำและนำเงินที่ได้จากการจำนำไปเป็นของตนจึงเป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปโดยมีเจตนาทุจริต เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ มิใช่ความผิดฐานยักยอกดังที่จำเลยฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า จำเลยได้รับยกเว้นโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 71 หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏจากทางนำสืบโจทก์และจำเลยว่า โจทก์ร่วมและจำเลยจดทะเบียนสมรสกันที่ประเทศอังกฤษเมื่อปี 2557 แม้ว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1459 วรรคหนึ่ง จะบัญญัติว่า "การสมรสในต่างประเทศระหว่างคนที่มีสัญชาติไทยด้วยกัน หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย จะทำตามแบบที่กำหนดไว้ตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายแห่งประเทศนั้นก็ได้" และพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การสมรสซึ่งได้ทำถูกต้องตามแบบที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแห่งประเทศที่ทำการสมรสนั้น ย่อมเป็นอันสมบูรณ์" ก็ตาม แต่อย่างไรก็ดี มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า "เงื่อนไขแห่งการสมรสให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของคู่กรณีแต่ละฝ่าย" เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยและโจทก์ร่วมเป็นผู้มีสัญชาติไทย ดังนั้น ในการพิจารณาถึงความสมบูรณ์แห่งการสมรสระหว่างจำเลยและโจทก์ร่วมจึงต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 หมวด 2 เรื่องเงื่อนไขแห่งการสมรสประกอบด้วย เมื่อมาตรา 1448 บัญญัติว่า "การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว" แสดงว่าการสมรสจะสมบูรณ์ต่อเมื่อคู่สมรสเป็นชายและหญิง เมื่อจำเลยและโจทก์ร่วมต่างก็เป็นหญิง การสมรสระหว่างจำเลยและโจทก์ร่วมจึงไม่ต้องด้วยเงื่อนไขของการสมรสตามกฎหมายไทย จำเลยและโจทก์ร่วมไม่มีสถานะเป็นสามีภริยาตามกฎหมาย กรณีจึงไม่ต้องด้วยเหตุยกเว้นโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 71 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 54,785,400 บาท แก่โจทก์ร่วม และยกคำขอให้นับโทษต่อของโจทก์เสีย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.1739/2562

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ร่วม - นางสาว ป. จำเลย - นางสาว ส.

ชื่อองค์คณะ ชนากานต์ ธีรเวชพลกุล นิติ เอื้อจรัสพันธุ์ สมชัย ฑีฆาอุตมากร

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดตลิ่งชัน - นายนพรัตน์ บุญจร ศาลอุทธรณ์ - นายสัณธาน ขันทมณี

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE