สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2893/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2893/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 157

ตาม พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ.2551 มาตรา 5 วรรคสอง บัญญัติความเป็นนิติบุคคลของมหาวิทยาลัยไว้ว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ซึ่งไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน การทำหน้าที่ของจำเลยทั้งสี่ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ จึงหาใช่การปฏิบัติหน้าที่ซึ่งได้รับแต่งตั้งในหน่วยงานของรัฐที่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดินอันจะทำให้จำเลยทั้งสี่เป็นผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ราชการตามความหมายของ "เจ้าพนักงาน" ตามประมวลกฎหมายอาญา จึงไม่เป็นความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 157

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 157

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน

โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสี่ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้เป็นคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ ทำหน้าที่ประเมินผลงานวิชาการ จริยธรรม และจรรยาบรรณทางวิชาการของโจทก์ทั้งสองกรณีขอรับการพิจารณาเพื่อกำหนดตำแหน่งศาสตราจารย์ (เชี่ยวชาญพิเศษ) ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินคุณสมบัติและผลงานวิชาการเพื่อขอกำหนดตำแหน่งศาสตราจารย์ (เชี่ยวชาญพิเศษ) พ.ศ.2552 ได้ใช้ดุลพินิจประเมินผลงานโจทก์ทั้งสองโดยมิชอบด้วยหน้าที่ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับดังกล่าวและตามประกาศ ก.พ.อ. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 พร้อมเอกสารแนบท้าย เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จึงเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า จำเลยทั้งสี่มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ ข้อนี้ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ.2551 มาตรา 5 วรรคสอง บัญญัติฐานะความเป็นนิติบุคคลของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไว้ว่า "มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ซึ่งไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ และกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น" สำหรับผู้ที่มีฐานะเป็นข้าราชการอยู่ในขณะพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ.2530 ซึ่งเป็นกฎหมายเดิมใช้บังคับพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฉบับใหม่ ก็มีบทเฉพาะกาลกำหนดขั้นตอนและวิธีการสำหรับผู้ที่สมัครใจเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกันกับโจทก์ทั้งสองเอาไว้ ดังนั้น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงเป็นองค์กรมหาชนอิสระที่แยกออกจากระบบราชการ หาใช่เป็นส่วนราชการสังกัดกระทรวงหรือทบวงของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกต่อไป โดยมหาวิทยาลัยจะมีคณะกรรมการบริหารงานบุคคลทำหน้าที่เสนอแนะสภามหาวิทยาลัยเพื่อกำหนดอัตราเงินเดือนและค่าจ้างของพนักงานมหาวิทยาลัยเอง โดยอาศัยรายได้ส่วนหนึ่งจากเงินงบประมาณในลักษณะของเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นรายปี มิใช่เงินงบประมาณในหมวดเงินเดือน ขณะที่รายได้ของมหาวิทยาลัยก็ไม่ถือเป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณอีกด้วย ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ.2551 มาตรา 16, 30 และเมื่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (16) กำหนดบทนิยามของ "เจ้าพนักงาน" ไว้ว่าหมายความถึงบุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงาน หรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ ดังนี้ เมื่อพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ.2551 มิได้กำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ขณะที่การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยทั้งสี่ซึ่งได้รับมอบหมายจากสภามหาวิทยาลัยในการพิจารณาประเมินผลงานของโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ก็เป็นอำนาจหน้าที่ซึ่งมีกฎหมายบัญญัติรับรองไว้โดยเฉพาะตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ.2551 มาตรา 25 (10) อันเป็นเรื่องของการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยซึ่งมีความเป็นอิสระแยกต่างหากจากระบบราชการเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศในทางวิชาการดังที่ระบุไว้ในหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าวถึงเหตุผลในการประกาศใช้กฎหมายว่า "…ส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยของรัฐพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการแต่อยู่ในกำกับของรัฐ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ และมีความคล่องตัวสามารถจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น" การทำหน้าที่ของจำเลยทั้งสี่ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ จึงหาใช่การปฏิบัติหน้าที่ซึ่งได้รับแต่งตั้งในหน่วยงานของรัฐที่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดินอันจะทำให้จำเลยทั้งสี่เป็นผู้ซึ่ง "ปฏิบัติหน้าที่ราชการ" ที่จะเข้าอยู่ในความหมายของ "เจ้าพนักงาน" ตามประมวลกฎหมายอาญาตามบทนิยามดังกล่าว จำเลยทั้งสี่จึงไม่อาจกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ดังที่โจทก์ทั้งสองฟ้องกล่าวหาได้ ขณะที่กรรมการในสภามหาวิทยาลัยก็ไม่มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาเช่นเดียวกัน การรายงานผลการประเมินโจทก์ทั้งสองของจำเลยทั้งสี่ต่อสภามหาวิทยาลัยตามฟ้องก็ย่อมไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ด้วยเช่นกัน กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ทั้งสองต่อไปอีก เพราะไม่มีเหตุจะเปลี่ยนแปลงผลแห่งคดีได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.718/2562

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นายหรือศาสตราจารย์เกียรติคุณ จ. กับพวก จำเลย - นายหรือศาสตราจารย์ อ. กับพวก

ชื่อองค์คณะ บุญทอง ปลื้มวรสวัสดิ์ พันธุ์เลิศ บุญเลี้ยง ทองธาร เหลืองเรืองรอง

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดเชียงใหม่ - นางปัทมาพร นาคเรืองศรี ศาลอุทธรณ์ภาค 5 - นางสาวมยุรี จามิกรานนท์

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE