สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2907/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2906 - 2907/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (4), 216 วรรคหนึ่ง, 218 วรรคหนึ่ง, 221 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 70 วรรคหนึ่ง (1), 123, 124, 144 วรรคหนึ่ง (1)

คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ยื่นฎีกาทั้งปัญหาข้อกฎหมายและปัญหาข้อเท็จจริง พร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ อ. ร. ส. ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่ง ส. ได้ลงชื่ออนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ ส. เป็นเพียงผู้พิพากษาที่สั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อันเป็นการสั่งภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีเสร็จแล้ว ส. มิได้พิจารณาคดีนี้เลย จึงไม่อาจอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ได้ ประกอบกับฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ยังเป็นการคัดลอกข้อความตามอุทธรณ์มาทั้งหมด มิได้ระบุว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนใดมีข้อวินิจฉัยผิดพลาดคลาดเคลื่อนอย่างไร และที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง กรณีไม่มีเหตุสมควรที่ศาลฎีกาจะต้องย้อนสำนวนลงไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการจัดส่งคำร้องของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ไปให้ผู้พิพากษาอื่นในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ระบุในคำร้องพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อีก

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 และ 124 บัญญัติให้สิทธิลูกจ้างยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานกรณีนายจ้างไม่จ่ายเงินอย่างหนึ่งอย่างใดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินดังกล่าวให้ลูกจ้างได้ บทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนาที่จะให้การเยียวยาแก่ลูกจ้างที่นายจ้างไม่จ่ายเงิน ตามพระราชบัญญัตินี้ให้แก่ลูกจ้าง มิใช่บทบัญญัติตัดสิทธิหรือกำหนดขั้นตอนและวิธีการให้ลูกจ้างต้องปฏิบัติเสียก่อนจึงจะดำเนินคดีอาญาต่อนายจ้างแต่ประการใดไม่ ส่วนปัญหาว่าลูกจ้างมีสิทธิฟ้องคดีอาญานายจ้างได้หรือไม่เพียงใด ก็ต้องพิจารณาไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ในฐานะนายจ้างของโจทก์ทั้งสองร่วมกันไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จึงเป็นความผิดฐานไม่จ่ายค่าจ้างให้ถูกต้องและตามกำหนดเวลาตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 70 วรรคหนึ่ง (1), 144 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นลูกจ้างได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำความผิดทางอาญาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จึงเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เป็นคดีนี้ได้

เนื้อหาฉบับเต็ม

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์ในสำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 2 และเรียกจำเลยทั้งสี่ทั้งสองสำนวนว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 54, 70, 144, 146 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 3 หลบหนีศาลชั้นต้นออกหมายจับแล้ว แต่ยังไม่ได้ตัวมาดำเนินคดี

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 54, 70 (1) วรรคหนึ่ง, 144 (1) วรรคหนึ่ง (ที่ถูก 70 วรรคหนึ่ง (1), 144 วรรคหนึ่ง, (1)) 146 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานไม่จ่ายค่าจ้างและฐานไม่จ่ายค่าจ้างตามกำหนดเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานไม่จ่ายค่าจ้างตามกำหนด (ที่ถูก ตามมาตรา 144 วรรคหนึ่ง (1)) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 30,000 บาท รวม 26 กระทง เป็นเงิน 780,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 4 กระทงละ 2 เดือน รวม 26 กระทง เป็นจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 4 คนละ 52 เดือน จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 วางเงินชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองบางส่วนและให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เห็นควรลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละหนึ่งในสาม คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 520,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 4 คนละ 34 เดือน 20 วัน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29

จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 30,000 บาท รวม 25 กระทง เป็นเงิน 750,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 4 กระทงละ 2 เดือน รวม 25 กระทง เป็นจำคุกคนละ 50 เดือน ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสามแล้ว คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 500,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 4 คนละ 33 เดือน 10 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกา โดยนาย ส. ผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 20,000 บาท ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 4 กระทงละ 1 เดือน 10 วัน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขเล็กน้อย คดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ยื่นฎีกาทั้งปัญหาข้อกฎหมายและปัญหาข้อเท็จจริง พร้อมกับยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 29 มีนาคม 2562 ระบุชื่อขอให้นาย อ. นางสาว ร. นาย ส. ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งนาย ส. ได้ลงชื่ออนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ปรากฏว่านายสุรชัยเป็นเพียงผู้พิพากษาที่สั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อันเป็นการสั่งภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีเสร็จแล้ว นาย ส. มิได้พิจารณาคดีนี้เลย จึงไม่อาจอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ได้ นอกจากนี้ ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ยังเป็นการคัดลอกข้อความตามอุทธรณ์มาทั้งหมดแบบคำต่อคำโดยเปลี่ยนถ้อยคำลงท้ายในฎีกาว่า ขอศาลฎีกาได้โปรดมีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ข้อความตามฎีกาดังกล่าวมิได้ระบุว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนใดมีข้อวินิจฉัยผิดพลาดคลาดเคลื่อนอย่างไร และที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง กรณีไม่มีเหตุสมควรที่ศาลฎีกาจะต้องย้อนสำนวนลงไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการจัดส่งคำร้องของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฉบับลงวันที่ 29 มีนาคม 2562 ไปให้ผู้พิพากษาอื่นในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ระบุในคำร้องพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อีก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4

คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ในข้อ 2.1 ว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จะไม่ได้ยกข้อต่อสู้นี้ขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จึงไม่ต้องห้ามที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จะยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 โดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกา สรุปว่า ความผิดตามฟ้องเป็นความผิดที่สามารถเปรียบเทียบได้ โจทก์ทั้งสองต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 มาตรา 124 และระเบียบกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาและการเปรียบเทียบผู้กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและความปลอดภัยในการทำงาน พ.ศ.2558 ข้อ 9 ข้อ 11 โดยยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเพื่อทำการสอบสวนและทำการเปรียบเทียบ หากพนักงานตรวจแรงงานสอบสวนแล้วเห็นว่านายจ้างไม่ควรได้รับโทษจำคุกหรือไม่ควรถูกฟ้องร้องเป็นคดีอาญา พนักงานตรวจแรงงานจะนำเรื่องเสนอเพื่อให้อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมอบหมายทำการเปรียบเทียบ เมื่อนายจ้างชำระค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบ การดำเนินคดีอาญาต่อนายจ้างให้เป็นอันระงับไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 124/1 เมื่อโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้น โดยไม่ได้เสนอเรื่องตามขั้นตอนดังกล่าวจึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 และ 124 บัญญัติให้สิทธิลูกจ้างยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานกรณีนายจ้างไม่จ่ายเงินอย่างหนึ่งอย่างใดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินดังกล่าวให้ลูกจ้างได้ บทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนาที่จะให้การเยียวยาแก่ลูกจ้างที่นายจ้างไม่จ่ายเงินตามพระราชบัญญัตินี้ให้แก่ลูกจ้าง มิใช่บทบัญญัติตัดสิทธิหรือกำหนดขั้นตอนและวิธีการให้ลูกจ้างต้องปฏิบัติเสียก่อนจึงจะดำเนินคดีอาญาต่อนายจ้างแต่ประการใดไม่ ส่วนปัญหาว่าลูกจ้างมีสิทธิฟ้องคดีอาญานายจ้างได้หรือไม่เพียงใด ก็ต้องพิจารณาไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ในฐานะนายจ้างของโจทก์ทั้งสองร่วมกันไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ที่ 1 ตั้งแต่งวดวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 ถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2558 รวม 5 เดือน ค่าชั่วโมงการบินงวดวันที่ 20 มกราคม 2557 และตั้งแต่งวดวันที่ 20 มิถุนายน 2557 ถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2557 อีก 8 เดือน รวมเป็นเงิน 243,341 บาท และไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ที่ 2 ตั้งแต่งวดวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 ถึงวันที่ 5 เมษายน 2558 รวม 3 เดือน ค่าชั่วโมงบินงวดวันที่ 20 มกราคม 2557 ตั้งแต่งวดวันที่ 20 มิถุนายน 2557 ถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2557 และงวดวันที่ 20 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 อีก 9 เดือน รวมเป็นเงิน 209,339 บาท การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จึงเป็นความผิดฐานไม่จ่ายค่าจ้างให้ถูกต้องและตามกำหนดเวลาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 70 วรรคหนึ่ง (1), 144 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และเมื่อนายจ้างทำให้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นลูกจ้างได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำความผิดทางอาญาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ดังกล่าว โจทก์ทั้งสองจึงเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เป็นคดีนี้ได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ข้อนี้ ฟังไม่ขึ้น

สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ที่ขอให้ศาลฎีกาลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น แม้เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้น แต่เมื่อศาลฎีกาได้รับวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 แล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณาด้วยว่าโทษที่ศาลล่างทั้งสองลงแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เหมาะสมเพียงใด และมีเหตุที่จะรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 4 หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว โทษจำคุกและโทษปรับที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดมานั้นเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ได้นำเงินมาวางต่อศาลชั้นต้นก่อนพิพากษาคดีเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 24,375 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 17,100 บาท แม้ค่าเสียหายที่นำมาวางต่อศาลดังกล่าวมีจำนวนน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับค่าจ้างและค่าชั่วโมงการบินที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ค้างจ่ายโจทก์ทั้งสอง แต่พอถือได้ว่าเป็นการพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งคดี เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 4 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับคดีแรงงานมีความมุ่งหมายที่จะลงโทษนายจ้างในทางแพ่งมากกว่าโทษในทางอาญา จึงเห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 4 ไว้ แต่เพื่อให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 ได้สำนึกในความผิดที่ได้กระทำไปและไม่กระทำความผิดอีก เห็นสมควรลงโทษปรับจำเลยที่ 2 และที่ 4 ด้วย

ส่วนกรณีตามปัญหาที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 ที่คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องเรื่องขอให้เพิกถอนการพิจารณาผิดระเบียบเนื่องจากจำเลยที่ 4 ยกข้อต่อสู้ว่าคดีนี้มิได้อยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น แต่ศาลชั้นต้นยังมิได้ส่งไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษา เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้ว เพื่อมิให้คดีล่าช้าศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียว โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก่อนพิเคราะห์แล้ว ตามคำร้องของจำเลยที่ 4 ที่ยกข้อต่อสู้ว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานหรือไม่ เมื่อคดีนี้เป็นคดีอาญา มิใช่คดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 ที่จำเลยที่ 4 จะร้องขอให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลแรงงาน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 9 หรือไม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 4 จึงชอบแล้ว

อนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า สัญญาจ้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ทั้งสองมีกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 5 ของเดือน และจ่ายค่าชั่วโมงการบินทุกวันที่ 20 ของเดือนถัดไป จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ไม่จ่ายค่าจ้างและค่าชั่วโมงการบินให้แก่โจทก์ทั้งสองให้ถูกต้องและตามกำหนดดังกล่าว จึงเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2514 มาตรา 70 วรรคหนึ่ง (1), 144 วรรคหนึ่ง (1) มิใช่มาตรา 54, 146 ตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 70 วรรคหนึ่ง (1), 144 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 2 และที่ 4 คนละ 6,000 บาท อีกสถานหนึ่ง รวม 25 กระทง เป็นเงิน 150,000 บาท ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงปรับจำเลยที่ 2 และที่ 4 คนละ 100,000 บาท โทษจำคุกของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.3064-3065/2562

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย พ. กับพวก จำเลย - บริษัท อ. กับพวก

ชื่อองค์คณะ นิยุต สุภัทรพาหิรผล อาเล็ก จรรยาทรัพย์กิจ สาคร ตั้งวรรณวิบูลย์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลอาญากรุงเทพใต้ - นายอรรถกร สมบัติชัย ศาลอุทธรณ์ - นายทวีศักดิ์ จันทร์วีระเสถียร

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE