คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2908/2537
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 27, 62, 243 (2) พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2477 ม. 33, 44 (3)
ขณะที่โจทก์แต่งตั้งให้ ป.เป็นทนายความเข้าว่าต่างคดีให้โจทก์ในศาลชั้นต้นและลงชื่อในอุทธรณ์ของโจทก์ที่ยื่นต่อศาลนั้นป.เป็นผู้ที่ขาดจากการเป็นทนายความและต้องห้ามมิให้ว่าความในศาลหรือแต่งคำฟ้อง คำให้การ คำฟ้องอุทธรณ์ คำฟ้องฎีกา ฯลฯตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 44(3) และมาตรา 33มาแต่แรก แม้ต่อมาภายหลัง ป. จะได้จดทะเบียนและได้รับใบอนุญาตให้เป็นทนายความตลอดชีพก็ตาม แต่ขณะที่ว่าต่างคดีให้โจทก์นั้นป. ได้ขาดจากการเป็นทนายความ ย่อมไม่มีอำนาจที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตั้งแต่วันที่ ป. รับแต่งตั้งจากโจทก์ให้เป็นทนายว่าต่างมา จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคแรก และมาตรา 62ชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(2) ประกอบมาตรา 247และปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง
คดีทั้งสองสำนวน ศาลชั้นต้นรวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า ที่ดินพิพาทรวม 6 แปลง โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยได้รับมรดกจากบิดามารดา ต่อมาจำเลยได้บุกรุกเข้าไปไถนาและยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายนวล คำนึง บิดาโจทก์เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ขอให้พิพากษาว่า ที่ดินพิพาท โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ให้ขับไล่จำเลยและบริวาร
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นมรดกของบิดาโจทก์ จำเลยและทายาทอื่นรวม 6 คน โดยนายบุญมี คำนึง พี่ชายคนแรกมอบให้โจทก์ครอบครองไว้แทนทายาท เมื่อปี 2520 นายบุญมีมอบให้โจทก์ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แต่โจทก์ได้ฉ้อฉลโดยขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) สำหรับที่ดินพิพาททุกแปลงเป็นชื่อของนายสีดา คำนึง สามีโจทก์เป็นการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายนวล คำนึง ไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แต่อย่างใดขอให้ยกฟ้อง
สำนวนหลังโจทก์ฟ้อง ขอให้พิพากษากำจัดจำเลยมิให้ได้รับมรดกของนายนวล คำนึง ให้จำเลยส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 8, 19, 130, 136,1566 และ 1572 กับให้ไปดำเนินการโอนหรือเปลี่ยนชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ทุกฉบับจากชื่อนายสีดา คำนึงเป็นชื่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายนวล คำนึง ผู้ตาย
จำเลยให้การว่า ภายหลังที่บิดามารดาถึงแก่กรรมแล้ว จำเลยได้ครอบครองที่ดินพิพาททั้ง 6 แปลงโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนนายบุญมีมิได้ให้จำเลยครอบครองแทนทายาทหรือไปขอออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินไว้แทนทายาทแต่อย่างใด ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นสิทธิครอบครองของจำเลย ที่ดินพิพาทจึงมิใช่ทรัพย์มรดกของนายนวลอีกต่อไป ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เรียกนางลำพันธ์หรือรำพรรณ คำนึงโจทก์ในสำนวนแรกและจำเลยในสำนวนหลังว่าโจทก์ ให้เรียกนายผัน คำนึงจำเลยในสำนวนแรก และโจทก์ในสำนวนหลังว่าจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ส่งมอบที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 8, 19, 130, 136,1566 และ 1572 ตำบลโนนคูณ (เดิมตำบลคอนกาม) อำเภอยางชุมน้อยจังหวัดศรีสะเกษ แก่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายนวล คำนึงผู้ตาย โดยให้โจทก์ไปดำเนินการโอนหรือเปลี่ยนชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ทุกฉบับจากชื่อนายสีดา คำนึง เป็นชื่อจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายนวล คำนึง ผู้ตายภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา หากโจทก์ไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา กำจัดโจทก์มิให้ได้รับมรดกทั้งหมดของนายนวล คำนึง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
จำเลยยื่นคำแก้ฎีกาและคำร้องมีข้อความทำนองเดียวกันว่าในช่วงปี 2533 ถึง 2534 นายประจญ เจริญพิทยา ทนายโจทก์ซึ่งลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์แทนโจทก์และเป็นผู้เรียงอุทธรณ์ในฐานะทนายโจทก์ได้ขาดต่ออายุใบอนุญาตให้เป็นทนายความอุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่ชอบกระบวนพิจารณาในชั้นอุทธรณ์จึงไม่มีผลตามกฎหมายเท่ากับโจทก์มิได้ยื่นอุทธรณ์ คดีถึงที่สุดตั้งแต่ศาลชั้นต้นแล้ว โจทก์จึงฎีกาไม่ได้ ขอให้ศาลสอบถามคุณสมบัติของทนายโจทก์ในช่วงเวลาดังกล่าวจากผู้เกี่ยวข้อง แล้วมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับฎีกา และมีคำสั่งใหม่เป็นไม่รับฎีกาโจทก์
ศาลฎีกามีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นสอบถามผู้เกี่ยวข้องตามคำร้องของจำเลยแล้ว ศาลชั้นต้นนัดสอบถามนายประจญ เจริญพิทยา ทนายโจทก์และนายสุรกิจ โรจนวรเกียรติ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการสภาทนายความจังหวัดศรีสะเกษ ในปี 2533 ถึงต้นปี 2535 ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2535
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "สมควรวินิจฉัยปัญหาตามที่จำเลยแก้ฎีกาและยื่นคำร้องว่า นายประจญ เจริญพิทยา ทนายความที่โจทก์แต่งตั้งให้ว่าต่างคดีได้ลงชื่อในอุทธรณ์โจทก์เป็นผู้อุทธรณ์และผู้เรียงไปในขณะที่ขาดต่ออายุใบอนุญาตให้เป็นทนายความหรือไม่เสียก่อนในปัญหาดังกล่าว เห็นว่า ตามใบแต่งทนายความลงวันที่ 19 ตุลาคม 2532ที่โจทก์แต่งให้นายประจญ เจริญพิทยา เป็นทนายความว่าต่างคดีทั้งสองสำนวนนี้ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ในข้อความขอรับเป็นทนายความ ปรากฏว่านายประจญ เจริญพิทยา ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตให้เป็นทนายความเมื่อปี 2529 ตามใบอนุญาตที่6676/2529 ซึ่งใบอนุญาตมีอายุใช้ได้เป็นเวลา 2 ปี นับแต่วันออกใบอนุญาต ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528มาตรา 39 วรรคแรก ฉะนั้นใบอนุญาตให้เป็นทนายความของนายประจญเจริญพิทยา จึงสิ้นอายุเมื่อปี 2531 และยังได้ความจากนายสุรกิจโรจนวรเกียรติ ประธานคณะอนุกรรมการสภาทนายความจังหวัดศรีสะเกษที่แถลงต่อศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่9 พฤศจิกายน 2535 ว่า นายสุรกิจได้รับคำร้องขอต่ออายุใบอนุญาตให้เป็นทนายความของนายประจญ เจริญพิทยา เมื่อปลายปี 2534จึงมอบหมายให้นายวันดี แซ่จึง ไปดำเนินการ แต่ปรากฏว่าสภาทนายความไม่รับการต่ออายุใบอนุญาตของนายประจญ เจริญพิทยา เนื่องจากใบอนุญาตขาดช่วงไปไม่ติดต่อกันถึงปี 2535 ดังนั้น ขณะที่นายประจญ เจริญพิทยา เข้าว่าต่างคดีให้โจทก์ในศาลชั้นต้นตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2532 และลงชื่อในอุทธรณ์ของโจทก์ที่ยื่นต่อศาลเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2533 นั้น นายประจญ เจริญพิทยาเป็นผู้ที่ขาดจากการเป็นทนายความ และต้องห้ามมิให้ว่าความในศาลหรือแต่งคำฟ้อง คำให้การคำฟ้องอุทธรณ์ คำฟ้องฎีกา ฯลฯ ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 44(3) และมาตรา 33ตามลำดับ มาแต่แรก แม้ต่อมานายประจญ เจริญพิทยา จะได้จดทะเบียนและได้รับใบอนุญาตให้เป็นทนายความประเภทตลอดชีพเมื่อวันที่31 มกราคม 2535 ตามใบอนุญาตเลขที่ 102/2535 ดังที่นายประจญแถลงต่อศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2535ก็ตาม แต่ขณะที่นายประจญว่าต่างคดีให้โจทก์ นายประจญได้ขาดจากการเป็นทนายความแล้ว ย่อมไม่มีอำนาจที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2532 ที่นายประจญรับแต่งตั้งจากโจทก์ให้เป็นทนายว่าต่างมา จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคแรกและมาตรา 62 ชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนนี้ใหม่ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 243(2) ประกอบด้วยมาตรา 247 แม้จำเลยยื่นคำแก้ฎีกาและคำร้องแต่เพียงว่านายประจญทนายโจทก์ซึ่งลงชื่อในอุทธรณ์เป็นผู้อุทธรณ์และผู้เรียงในขณะที่ขาดต่ออายุใบอนุญาตให้เป็นทนายความ อุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่ชอบเท่านั้นก็ตาม แต่เมื่อปรากฏต่อศาลฎีกาว่านายประจญเป็นผู้ขาดต่ออายุใบอนุญาตให้เป็นทนายความ จึงไม่มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณามาตั้งแต่ศาลชั้นต้นแล้ว ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาโจทก์"
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2532ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อจากวันที่ 18 ตุลาคม 2532จนเสร็จการพิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ไปตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาง ลำ พัน ธ์ คำนึง จำเลย - นาย ผัน คำนึง
ชื่อองค์คณะ เสมอ อินทรศักดิ์ บุญศรี กอบบุญ สุทธิ นิชโรจน์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan