คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2948/2563
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 11
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันกระทำความผิด แต่จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน รวม 57 กรรม และผู้ร้องมิได้กล่าวมาในคำร้องหรือนำสืบให้ชัดแจ้งว่าขอดอกเบี้ยนับแต่วันกระทำความผิดวันใด ทั้งตามคำร้องมีคำขอบังคับให้จำเลยรับผิดในหนี้จากมูลละเมิดเป็นจำนวนเดียวซึ่งเป็นหนี้อันแบ่งแยกมิได้ และที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยให้จำเลยรับผิดก็เป็นหนี้จำนวนเดียว จึงต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่จำเลย ซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 ว่าขอดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดครั้งสุดท้าย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดครั้งแรกจึงเป็นการไม่ชอบ
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 279
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานางสาว ส. ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสียหายต่อร่างกายและจิตใจ ค่าเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกายและชื่อเสียง 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม), 279 วรรคสอง (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีและฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือเด็กอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 10 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 20 ปี ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 เห็นว่า โจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันว่า จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหาย คำเบิกความของผู้เสียหายมีลักษณะตรงไปตรงมา ทั้งขณะเบิกความถึงการกระทำของจำเลยที่กระทำต่อผู้เสียหาย ผู้เสียหายร้องไห้หลายครั้ง แสดงให้เห็นถึงความคับข้องใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คำเบิกความของผู้เสียหายดังกล่าวยังสอดคล้องกับผลการตรวจชันสูตรของแพทย์ ซึ่งแพทย์ผู้ตรวจชันสูตรพบรอยฉีกขาดเก่าของเยื่อพรหมจารี จึงยิ่งสนับสนุนให้คำเบิกความของผู้เสียหายมีน้ำหนักรับฟังมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นเมื่อพิจารณาคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหาย ปรากฏว่าผู้เสียหายให้การถึงการกระทำของจำเลยโดยมีรายละเอียดข้อเท็จจริงตรงตามที่เบิกความในชั้นพิจารณาซึ่งขณะให้การนั้นผู้เสียหายอายุเพียง 12 ปี ยังไม่รู้ประสาในเรื่องทางเพศ หากไม่เป็นความจริงเชื่อว่าผู้เสียหายไม่น่าจะให้การถึงการกระทำชำเราของจำเลยที่กระทำต่อผู้เสียหายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังเป็นการให้การต่อหน้าพนักงานอัยการและนักสังคมสงเคราะห์ซึ่งเป็นคนกลางไม่มีส่วนได้เสียในคดี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหายเป็นเรื่องกระทบต่อผู้เสียหายและครอบครัว อีกทั้งจำเลยมีความสัมพันธ์เป็นบุคคลในครอบครัวเดียวกับผู้เสียหายซึ่งผู้เสียหายก็เบิกความว่า ขณะย้ายมาเรียนต่อชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำเลยดีกับผู้เสียหายมาก แสดงว่าผู้เสียหายไม่ได้คิดร้ายต่อจำเลย ดังนั้น หากไม่เป็นความจริงผู้เสียหายคงไม่เบิกความปรักปรำจำเลยให้เป็นผลเสียแก่ตัวผู้เสียหายและครอบครัว ประกอบกับโจทก์ยังมีนาง ช. มารดาผู้เสียหายมาเบิกความสนับสนุนพฤติการณ์ที่เป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นสอดรับกับข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของผู้เสียหายอีกด้วย ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า นาง ช. มีเรื่องโกรธแค้นจำเลยที่ขอหย่ากะทันหันและเคยบอกจำเลยว่า หากไม่ยอมคืนดีจะหาเรื่องให้ถึงที่สุด การที่นาง ช. ไปแจ้งความและให้การต่อพนักงานสอบสวนเป็นการชี้นำพนักงานสอบสวนและให้การก่อนที่ผู้เสียหายจะให้การต่อพนักงานสอบสวนนั้น เห็นว่า จำเลยเบิกความว่า นาง ช. รู้จักตำรวจทหารมาก หากนาง ช. จะหาเรื่องกลั่นแกล้งจำเลยย่อมสามารถกล่าวหาจำเลยได้โดยวิธีอื่นที่ไม่ทำให้ผู้เสียหายซึ่งเป็นบุตรของตนรวมทั้งตัวนาง ช. ต้องเสียหายได้ ส่วนที่นาง ช. แจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจและให้การต่อพนักงานสอบสวนก่อนที่ผู้เสียหายจะให้การเป็นเพราะนาง ช. เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เสียหายซึ่งยังเป็นเด็ก และได้ความจากพันตำรวจโท อ. พนักงานสอบสวนว่า เนื่องจากผู้เสียหายยังเป็นเด็กจึงยังไม่สามารถสอบคำให้การได้ทันที พันตำรวจโท อ. จึงสอบคำให้การนาง ช. ไว้ก่อนที่จะสอบคำให้การผู้เสียหาย จึงหาเป็นการชี้นำไม่ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ที่เกิดเหตุเป็นบ้านห้องแถว ถัดไปเป็นห้องของบุคคลอื่น ย่อมเป็นการไม่สะดวก เพราะอาจทำให้ผู้เสียหายส่งเสียงขอความช่วยเหลือได้ และหากมีการกระทำชำเราเวลากลางคืนซึ่งนาง ช. หลับอยู่ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะปกปิดการกระทำเป็นเวลากว่า 2 ปีนั้น เห็นว่า ได้ความจากผู้เสียหายว่า ขณะกระทำชำเราจำเลยพูดให้ผู้เสียหายเงียบและใช้มือปิดปากผู้เสียหายไว้ ทั้งยังพูดจาข่มขู่ผู้เสียหายว่าหากไม่ยอมจะทำร้ายมารดาและพี่ของผู้เสียหาย ย่อมทำให้ผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กเกิดความเกรงกลัวจนต้องจำยอมและไม่กล้าเล่าให้มารดาฟัง เมื่อพิจารณาสภาพบ้านที่เกิดเหตุเป็นบ้านก่ออิฐถือปูน มีความมั่นคงแน่นหนา ห้องนอนที่ผู้เสียหายพักเป็นห้องส่วนตัวซึ่งจำเลยสามารถกระทำความผิดได้โดยไม่มีบุคคลใดล่วงรู้ ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยตรวจสอบสมุดลงเวลาเรียนของครูประจำชั้นตามเอกสารท้ายอุทธรณ์ ปรากฏว่าวันที่ 7 สิงหาคม 2551 ผู้เสียหายไปเรียนไม่ได้อยู่ที่บ้านนั้น เห็นว่า เอกสารท้ายอุทธรณ์ที่จำเลยอ้างเป็นเพียงสำเนาเอกสารไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้รับรองและผู้รับรองมีความเกี่ยวพันกับเอกสารดังกล่าวอย่างไร ประกอบกับเอกสารดังกล่าวมีการตัดทอนให้เป็นแผ่นเดียวกัน เลขประจำตัวของผู้เสียหายก็เป็นลายมือเขียนแตกต่างจากนักเรียนคนอื่น ๆ ที่เป็นการพิมพ์ ในชั้นพิจารณาจำเลยมิได้นำครูประจำชั้นซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบการมาเรียนของผู้เสียหายมาเบิกความยืนยัน ข้อเท็จจริงในส่วนนี้จึงไม่มีน้ำหนักรับฟัง ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า นาง ว. ให้การในชั้นสอบสวนแตกต่างจากที่นาง ช. เบิกความว่าผู้เสียหายบอกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่นาง ช. เอง แต่นาง ว. ให้การว่า ผู้เสียหายบอกแก่นาง ว. นั้น เห็นว่า นาง ว. ให้การว่า นาง ว. เป็นผู้คาดคั้นผู้เสียหายจนทราบเรื่องว่าถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเราซึ่งขณะนั้นนาง ช. ไม่อยู่ แต่เมื่อนาง ช. กลับมา ผู้เสียหายก็ได้เล่าเหตุการณ์ให้นาง ช. ฟังอีกครั้งจนนาง ช. ทราบความจริง จึงมิได้ขัดแย้งแตกต่างกัน สำหรับอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยเป็นรายละเอียดไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป และศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้โดยชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่จำต้องวินิจฉัยซ้ำอีก ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 9 เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของจำเลยที่ว่า สำเนาสมุดลงเวลาเรียนเอกสารท้ายอุทธรณ์ของจำเลยเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่จะพิสูจน์ว่าคำให้การของผู้เสียหายไม่เป็นความจริง จึงเป็นพยานหลักฐานที่ควรรับฟังนั้น เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง มิใช่ปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ดังนั้น เมื่อในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นจำเลยไม่ได้นำสืบหรือถามค้านพยานโจทก์ด้วยเอกสารดังกล่าวให้ปรากฏข้อเท็จจริงไว้ จำเลยย่อมไม่อาจยกข้อเท็จจริงเช่นว่านั้นมาเพื่อขอให้ศาลฎีกาใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานตามที่จำเลยกล่าวอ้างได้ เพราะเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 รับวินิจฉัยให้ ก็เป็นการไม่ชอบและไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่จะฎีกา เนื่องจากเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 9 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยในข้อนี้มานั้นเป็นการไม่ชอบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียวเบิกความขัดแย้งกับพยานแวดล้อมอื่น และนาง ช. มารดาผู้เสียหายพาผู้เสียหายไปร้องทุกข์เพราะต้องการกลั่นแกล้งจำเลย พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้นั้น เห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาไม่รับฎีกาของจำเลยในข้อนี้ไว้พิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง
อนึ่ง เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 มาตรา 5 และมาตรา 9 ให้ยกเลิกความในมาตรา 277 และมาตรา 279 และให้ใช้ความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
สำหรับคดีส่วนแพ่งที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันกระทำความผิดนั้น คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน รวม 57 กรรม โดยผู้ร้องมิได้กล่าวมาในคำร้องหรือนำสืบให้ชัดแจ้งว่าขอดอกเบี้ยนับแต่วันกระทำความผิดวันใด ทั้งตามคำร้องของผู้ร้องมีคำขอบังคับให้จำเลยรับผิดในหนี้จากมูลละเมิดเป็นจำนวนเดียวซึ่งเป็นหนี้อันแบ่งแยกมิได้ และที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยให้จำเลยรับผิดก็เป็นหนี้จำนวนเดียว จึงต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่จำเลย ซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11 ว่าขอดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดครั้งสุดท้าย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2551 ซึ่งเป็นวันทำละเมิดครั้งแรกแก่ผู้ร้องจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งเป็นวันทำละเมิดครั้งสุดท้าย เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนแพ่งทั้งชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.666/2563
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี ผู้ร้อง - นางสาว ส. จำเลย - นาย ฮ.
ชื่อองค์คณะ ปดารณี ลัดพลี พันธุ์เลิศ บุญเลี้ยง บุญทอง ปลื้มวรสวัสดิ์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดปัตตานี - นางสาวเมลานี โล่ห์พัฒนานนท์ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 - นายจีระพัฒน์ พันธุ์ทวี