สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2949/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2949/2563

พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ม. 5, 9, 60, 61

ความผิดฐานฟอกเงิน โดยรับโอนเงินเพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริง และจำหน่ายจ่ายโอน ซึ่งเงินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระอันเป็นความผิดมูลฐานด้วย และฐานสมคบเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน ผู้กระทำความผิดหาจำต้องเป็นผู้ส่งข้อมูลอินเตอร์เน็ตที่เรียกว่ามัลแวร์เข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหายจนทำให้มีการโอนเงินโดยอัตโนมัติ หรือหาจำต้องเป็นผู้หลอกหลวงให้ผู้เสียหายโอนเงินไม่ ทั้งกรณีไม่จำต้องอาศัยความผิดมูลฐานเป็นเงื่อนไขว่าจะต้องดำเนินคดีอาญาในความผิดมูลฐานหรือมีคำพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดมูลฐานเสียก่อน จึงจะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดฐานฟอกเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานได้

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3, 5, 9, 60, 61 พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 มาตรา 4, 8, 36, 37 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 137, 264, 265, 267, 268 ให้จำเลยที่ 1 เลิกการประกอบธุรกิจหรือเลิกกิจการและให้เลิกการเป็นผู้ถือหุ้นของคนไทยในบริษัทจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพในความผิดฐานตามฟ้อง ข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 4 ข้อ 5 และข้อ 6 ส่วนความผิดฐานอื่นนอกนี้ให้การปฏิเสธ

จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพในความผิดฐานตามฟ้อง ข้อ 3 ข้อ 4 ข้อ 5 และข้อ 6 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีใหม่และจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 3

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 (1) (2), 9 วรรคสอง, 60, 61 พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 มาตรา 36, 37 (ที่ถูก ต้องระบุมาตรา 8 (1) (3) ด้วย) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 264, 265, 267, 268 วรรคสอง (ที่ถูก มาตรา 137 (เดิม), 264 (เดิม), 265 (เดิม), 267 (เดิม), 268 วรรคสอง) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นคนต่างด้าวร่วมกันประกอบธุรกิจอันเป็นธุรกิจที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 100,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี ฐานร่วมกันแจ้งความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 (ที่ถูก มาตรา 267 (เดิม)) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 3,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี ฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอม เนื่องจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้น ให้ลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอมแต่กระทงเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง ประกอบมาตรา 265 (ที่ถูก มาตรา 265 (เดิม)) ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 5,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี ฐานเป็นคนต่างด้าวยินยอมให้ผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นแทนในบริษัทจำกัด เพื่อให้ตนเองประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี ความผิดทุกฐานดังกล่าวจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กระทงละคนละกึ่งหนึ่ง คงลงโทษฐานเป็นคนต่างด้าวร่วมกันประกอบธุรกิจอันเป็นธุรกิจที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 50,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี ฐานร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 1,500 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี ฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอม ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 2,500 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี ฐานเป็นคนต่างด้าวยินยอมให้ผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นแทนในบริษัทจำกัด เพื่อให้ตนเองประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี ส่วนความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินและฐานสมคบเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันฟอกเงินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 750,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 10 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละหนึ่งในสาม คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 500,000 บาท และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 ปี 8 เดือน รวมปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 554,000 บาท และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 10 ปี 8 เดือน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่ถูก ไม่ต้องระบุมาตรา 30) ให้จำเลยที่ 1 เลิกการประกอบธุรกิจและให้เลิกการเป็นผู้ถือหุ้นของคนไทยในบริษัทจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว เห็นว่า โจทก์มีนายสุนทรา นิติกรชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการส่วนข้อมูลคดีและมาตรการพิเศษทางกฎหมาย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และนายมเหสักข์ พนักงานสอบสวนชำนาญการพิเศษ กรมสอบสวนพิเศษ กระทรวงยุติธรรม เป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินของประเทศสหรัฐอเมริกาหรือฟินเซ็นต์ และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินของประเทศไทยต่างเป็นสมาชิกเครือข่ายสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินทั่วโลกหรือเอ็กซ์ม่อนกรุ๊ป สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินของประเทศไทยได้รับข้อมูลจากฟินเซ็นต์ และได้รับหนังสือจากสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยยืนยันการตรวจสอบข้อมูลของฟินเซ็นต์โดยสำนักงานสอบสวนและสืบสวนกลางของประเทศสหรัฐอเมริกาหรือเอฟบีไอว่า มีกลุ่มอาชญากรรมระหว่างประเทศร่วมกันฉ้อโกงโดยส่งข้อมูลอินเตอร์เน็ตที่เรียกว่ามัลแวร์เข้าไปควบคุมสั่งการในระบบคอมพิวเตอร์ของหลายบริษัท ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัทเหล่านั้นขัดข้อง และมีการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหลอกหลวงให้มีการกรอกหมายเลขโทรศัพท์ กับชื่อ และชื่อสกุลใหม่ เป็นเหตุให้มีการโอนเงินจากบัญชีธนาคารของบริษัทต่าง ๆ โดยอัตโนมัติด้วยวิธีการผิดกฎหมายเข้าบัญชีของกลุ่มเครือข่ายคนร้ายซึ่งส่วนใหญ่เป็นบัญชีธนาคารในประเทศไทย มีบริษัทได้รับความเสียหายประมาณ 30 แห่ง มูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 1,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดในประเทศไทย มีจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคนต่างด้าวสัญชาติรัสเซียเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนและเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะจำเลยที่ 2 มีประวัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่ประเทศรัสเซีย นอกจากนี้ทั้งสองหน่วยงานของประเทศสหรัฐอเมริกาดังกล่าวยังยืนยันว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ข้อ 8 บริษัทยูไนเต็ดไตเติ้ล กรุ๊ป จำกัด ผู้เสียหาย ซึ่งตั้งอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ถูกกลุ่มอาชญากรรมระหว่างประเทศร่วมกันฉ้อโกงด้วยวิธีการข้างต้น ทำให้มีการโอนเงินอัตโนมัติด้วยวิธีการผิดกฎหมายจากบัญชีเงินฝากธนาคารรีเจี้ยนส์แบงค์ เลขที่บัญชี 670-9-21xxx-x ของผู้เสียหายที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 478,771.29 ดอลลาร์สหรัฐ หักค่าธรรมเนียมธนาคารต่างประเทศ 25 ดอลลาร์สหรัฐ คงเหลือ 478,746.29 ดอลลาร์สหรัฐ เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) สาขาหาดจอมเทียนสาย 2 พัทยา ประเทศไทย เลขที่บัญชี 970-0-12xxx-x ของจำเลยที่ 1 โดยคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 35.03 บาท คิดเป็นเงิน 16,770,482.54 บาท หักค่าคอมมิชชั่น 500 บาท คงเหลือ 16,769,982.54 บาท และในวันเดียวกันจำเลยที่ 2 โอนเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวทั้งจำนวนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนเทพประสิทธิ์ พัทยา (2165) เลขที่บัญชี 694-7-00xxx-x ของจำเลยที่ 2 แล้วในวันเดียวกันจำเลยที่ 2 ก็ถอนเงินออกจากบัญชี รวม 5 ครั้ง ถอนเงินวันรุ่งขึ้นอีก 1 ครั้ง และถอนเงินวันถัดจากวันรุ่งขึ้นอีก 3 ครั้ง รวมเป็นเงินประมาณ 16,000,000 บาท ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้มาจากหน่วยงานราชการของประเทศสหรัฐอเมริกาและสอดคล้องกับข้อมูลเอกสารบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 1 ซึ่งต่อมามีการโอนเงินทั้งจำนวนที่รับโอนมาภายหลังหักค่าธรรมเนียมแล้วเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 2 ในวันเดียวกัน อันเป็นหลักฐานในการยอมรับเงินที่โอนมา จากนั้นจำเลยที่ 2 ก็ถอนเงินจำนวนดังกล่าวออกจากบัญชีภายในระยะเวลาเพียง 3 วัน ทำให้น่าเชื่อว่าผู้เสียหายถูกฉ้อโกงและเป็นเหตุให้ได้ไปซึ่งเงินจำนวนตามฟ้อง ข้อ 8 จากผู้เสียหาย ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างว่า เงินจำนวนดังกล่าวเป็นของนายไบรอัน ซึ่งโอนเงินมาเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดภูเก็ต และนายไบรอันอยู่ประเทศไทยโดยเดินทางไปจังหวัดภูเก็ตด้วยกัน กับนายไบรอันยืนยันว่าตนเองเป็นเจ้าของบริษัทผู้เสียหายนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้นำนายไบรอันมาเบิกความเป็นพยานสนับสนุน และจากการตรวจสอบของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่พบฐานข้อมูลของนายไบรอันในระบบฐานข้อมูลแต่อย่างใด แสดงว่า นายไบรอันไม่ได้เดินทางเข้าออกประเทศไทย ส่วนที่อ้างว่านายไบรอันเป็นเจ้าของบริษัทผู้เสียหายก็ขัดแย้งกับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่อ้างว่าบริษัทผู้เสียหายไม่มีอยู่จริง ทั้งบัญชีธนาคารที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เปิดไว้ดังกล่าวไม่ปรากฏว่ามีการเคลื่อนไหวทางบัญชีจนกระทั่งมีการโอนเงินของผู้เสียหายเข้าบัญชีคิดเป็นเงินไทยกว่า 16,000,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีพยานหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าเป็นการรับเงินค่านายหน้าโดยสุจริตดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อสู้ พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักน่าเชื่อ พยานหลักฐานจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ไม่สามารถรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับโอนเงินเพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริง และจำหน่ายจ่ายโอนซึ่งเงินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ซึ่งการกระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระนอกราชอาณาจักรดังกล่าว หากได้กระทำลงในราชอาณาจักรไทยแล้วจะเป็นความผิดมูลฐานด้วย จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน และฐานสมคบเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน และพิพากษายืน

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ตามที่คู่ความมิได้โต้แย้งกัน และตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างมิได้ฎีกาโต้แย้งเช่นกันว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้อง ข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 4 ข้อ 5 และข้อ 6 ความผิดทุกฐานดังกล่าวจึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพียงว่า การที่โจทก์อ้างว่ามีกลุ่มอาชญากรรมระหว่างประเทศส่งข้อมูลอินเตอร์เน็ตที่เรียกว่ามัลแวร์ เข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัทผู้เสียหาย ทำให้ระบบขัดข้อง และมีการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหลอกหลวงผู้เสียหาย เป็นเหตุให้มีการโอนเงินจากบัญชีธนาคารของผู้เสียหายโดยอัตโนมัติด้วยวิธีการผิดกฎหมาย นั้น โจทก์ไม่สามารถนำสืบพิสูจน์ได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้กระทำการดังกล่าว หรือจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้หลอกหลวงให้ผู้เสียหายโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 ทั้งไม่มีการฟ้องร้องเพื่อดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระอันเป็นความผิดมูลฐานในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ข้อ 7 และ ข้อ 8 นั้น เห็นว่า ความผิดฐานฟอกเงิน โดยรับโอนเงินเพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริง และจำหน่ายจ่ายโอนซึ่งเงินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระอันเป็นความผิดมูลฐานด้วย และฐานสมคบเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน ผู้กระทำความผิดหาจำต้องเป็นผู้ส่งข้อมูลอินเตอร์เน็ตที่เรียกว่ามัลแวร์เข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหายจนทำให้มีการโอนเงินโดยอัตโนมัติ หรือหาจำต้องเป็นผู้หลอกหลวงให้ผู้เสียหายโอนเงินไม่ ทั้งกรณีไม่จำต้องอาศัยความผิดมูลฐานเป็นเงื่อนไขว่าจะต้องดำเนินคดีอาญาในความผิดมูลฐานหรือมีคำพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดมูลฐานเสียก่อน จึงจะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดฐานฟอกเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานได้ เมื่อฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้โต้แย้งว่ามีการฉ้อโกงผู้เสียหายด้วยวิธีการดังกล่าว เป็นเหตุให้มีการโอนเงินจากบัญชีธนาคารของผู้เสียหายโดยอัตโนมัติด้วยวิธีการผิดกฎหมาย ดังนี้ แม้ไม่ปรากฏว่ามีการฟ้องร้องเพื่อดำเนินคดีในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระนอกราชอาณาจักรดังกล่าว ซึ่งหากได้กระทำลงในราชอาณาจักรไทยแล้วจะเป็นความผิดมูลฐานในคดีนี้ด้วย แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินตามฟ้อง ข้อ 7 และข้อ 8 ศาลก็พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ก่อนลดโทษ มีกำหนด 10 ปี หนักเกินไป ศาลฎีกาสมควรลดโทษให้เหมาะสมกับสภาพความผิดและพฤติการณ์แห่งคดี

พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 7 ปี เมื่อลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสามแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี 8 เดือน และเมื่อรวมโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว เป็นจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 ปี 8 เดือน ส่วนโทษสำหรับจำเลยที่ 1 และนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.690/2563

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด จำเลย - บริษัท บ. กับพวก

ชื่อองค์คณะ ลาชิต ไชยอนงค์ ชลิต กฐินะสมิต วิชาญ กาญจนะ

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลอาญา - นางประวัณยา บุนนาค ศาลอุทธรณ์ - นางพัชร์ภรณ์ อนุวุฒินาวิน

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE