สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 295/2567

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 295/2567

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 341, 350 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 195 วรรคสอง, 225

เดิมโจทก์ใช้ชื่อกลุ่มออมทรัพย์ฯ เป็นชื่อคู่ความ ต่อมาแก้ฟ้องใช้ชื่อ ส. กับพวก ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจดำเนินการแทนกลุ่มออมทรัพย์ฯ เป็นคู่ความแทน เมื่อกลุ่มออมทรัพย์ฯ ไม่เป็นบุคคลตาม ป.พ.พ. จึงไม่สามารถเป็นคู่ความในคดีได้ ดังนั้น ส. กับพวก ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจดำเนินการแทนกลุ่มออมทรัพย์ฯ จึงไม่สามารถเป็นคู่ความในคดีนี้ได้ แม้ ส. กับ จ. จะเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ฯ ดังกล่าว แต่ก็มิได้ฟ้องคดีในฐานะส่วนตัว จึงไม่สามารถมอบอำนาจให้ ภ. ดำเนินคดีแทนได้ เมื่อ ส. กับพวกไม่สามารถเป็นคู่ความในคดีได้ตามกฎหมายย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ทั้งสามฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 350

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลเฉพาะข้อหาฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา ส่วนข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 จำคุก 3 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่าโจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องจากที่เดิมระบุชื่อโจทก์ว่า กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านคลองกรูด เป็นนายสังเกตกับนางจีรนันท์และนางสาวขวัญสุดาก็ตาม แต่ตามคำเบิกความของนางสาวสุภาวดี ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทั้งสามปรากฏว่า นายสังเกตกับนางจีรนันท์และนางสาวขวัญสุดา เป็นกรรมการผู้มีอำนาจดำเนินการแทนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านคลองกรูด ซึ่งกลุ่มออมทรัพย์ดังกล่าวไม่เป็นบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงไม่สามารถเป็นคู่ความในคดีได้ นายสังเกตกับนางจีรนันท์และนางสาวขวัญสุดา ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจดำเนินการแทนกลุ่มออมทรัพย์ดังกล่าวจึงไม่สามารถเป็นคู่ความในคดีนี้ได้ ตามคำฟ้องของโจทก์ประกอบเอกสารท้ายคำฟ้องที่ระบุว่า นายสังเกตและนางจีรนันท์ โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ดังกล่าวด้วย ก็ไม่ปรากฏว่านายสังเกตและนางจีรนันท์ โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฟ้องคดีในฐานะส่วนตัว โจทก์ทั้งสามจึงมอบอำนาจให้นางสาวสุภาวดี ดำเนินคดีนี้แทนไม่ได้เช่นกัน นอกจากนี้ นางสาวสุภาวดี ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทั้งสาม ซึ่งตามคำฟ้องของโจทก์ประกอบเอกสารท้ายคำฟ้อง ระบุว่าเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ดังกล่าวด้วย ก็ไม่ได้ฟ้องคดีในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากสมาชิกทั้งหมดของกลุ่มออมทรัพย์ดังกล่าว เมื่อโจทก์ทั้งสามไม่สามารถเป็นคู่ความในคดีนี้ได้ตามกฎหมายย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้อง นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ทั้งสามอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป

พิพากษายืน

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.2503/2566

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย ส. กับพวก จำเลย - นาง น.

ชื่อองค์คณะ สันติชัย วัฒนวิกย์กรรม์ นพดล คชรินทร์ รังสรรค์ กุลาเลิศ

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี - นายสุรวงศ์ จันนาคิน ศาลอุทธรณ์ภาค 8 - นายจรัญ ฉางแก้ว

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th