คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2958/2563
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 223 วรรคหนึ่ง, 1008 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย
จำเลยประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์อันเป็นกิจการที่ประชาชนให้ความไว้วางใจย่อมต้องใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความละเอียดรอบคอบ การที่พนักงานของจำเลยจ่ายเงินตามเช็คพิพาทซึ่งมีลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอมและผิดเงื่อนไขการสั่งจ่ายเช็ค จึงเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ถือว่าจำเลยผิดสัญญาฝากทรัพย์ จำเลยจะยกข้ออ้างว่า พนักงานของจำเลยโทรศัพท์สอบถามผู้จัดการของโจทก์เกี่ยวกับการลงลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเกินจำนวน และยกพฤติการณ์ในการเก็บรักษาเช็คพิพาทว่าเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ ตลอดจนอ้างว่าโจทก์ผู้รับรองการถอนเงินตามเช็คเป็นการรับสภาพหนี้ ขึ้นอ้างเป็นข้อยกเว้นว่าโจทก์ตกอยู่ในฐานะผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คปลอมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย เพื่อให้จำเลยหลุดพ้นความรับผิดหาได้ไม่ แต่พฤติการณ์ที่โจทก์มอบให้ผู้จัดการของโจทก์เป็นผู้เก็บรักษาสมุดเช็คของโจทก์ไว้ผู้เดียว ซึ่งไม่ชอบด้วยข้อบังคับของโจทก์ที่ให้คณะกรรมการของโจทก์เก็บรักษาสมุดเช็คโจทก์ และการยอมให้กรรมการผู้มีอำนาจบางคนลงลายมือชื่อในเช็คไว้ล่วงหน้าทั้งการสั่งจ่ายเช็คพิพาทซึ่งเป็นเงินจำนวนมากกลับจ่ายเป็นเช็คผู้ถือ โดยไม่ระบุชื่อผู้รับเงินและไม่ขีดคร่อมเช็คตามข้อบังคับของโจทก์รวมทั้งไม่ตรวจสอบรายการเดินบัญชีกระแสรายวันที่จำเลยส่งให้ทราบทุกเดือน จนทำให้มีผู้นำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินจากบัญชีโจทก์ถึง 44 ฉบับ ในช่วงระยะเวลา 1 ปี 4 เดือน ย่อมเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่า โจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายไม่ยิ่งหย่อนกว่าจำเลยด้วย
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 279,073,292.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 225,070,465.86 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 166,374,139.17 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้เท่าจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 60,000 บาท
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์มีนางพรสวรรค์ เป็นผู้จัดการ โจทก์เป็นลูกค้าของจำเลยที่สาขานครราชสีมา ประเภทบัญชีกระแสรายวันบัญชีเลขที่ 301 – 6 – 08xxx – x และบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ เลขที่ 301 – 0– 31xxx – x โดยโจทก์ยื่นคำขอใช้บริการโอนเงินระหว่างบัญชีกับจำเลย เพื่อขอโอนเงินจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ไปยังบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของโจทก์กรณีที่เงินในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไม่พอจะชำระเงินตามเช็ค ซึ่งจำเลยได้มอบสมุดเช็คให้แก่โจทก์เพื่อสั่งจ่ายเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ ในการเบิกเงินออกจากบัญชี ผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อของโจทก์ 2 คนหรือ 3 คน ลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราสำคัญของโจทก์ในเช็คที่จำเลยมอบแก่โจทก์สั่งจ่ายเบิกถอนเงินออกจากบัญชีได้ ต่อมาเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2552 ได้มีการยกเลิกการประทับตราสำคัญในการสั่งจ่ายเช็ค เมื่อระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2553 มีบุคคลร่วมกันนำเช็คพิพาท 44 ฉบับ ที่จำเลยมอบให้แก่โจทก์ ไปเบิกเงินจากจำเลยสาขานครราชสีมา เป็นเงิน 225,070,465.86 บาท และจำเลยจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้ง 44 ฉบับ จากบัญชีเงินฝากของโจทก์ไป
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยจ่ายเงินตามเช็คไม่เป็นไปตามข้อตกลงในเรื่องเงื่อนไขการสั่งจ่ายเช็ค จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า จำเลยประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์อันเป็นกิจการที่ประชาชนให้ความไว้วางใจ จำเลยย่อมต้องจัดหาพนักงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คที่มีผู้นำมายื่นเพื่อเบิกเงินที่มีความชำนาญในการตรวจสอบลายมือชื่อเป็นพิเศษกว่าคนทั่วไปมาทำหน้าที่ซึ่งสำคัญเป็นอย่างยิ่งนี้ หากพนักงานของจำเลยที่ทำหน้าที่ตรวจสอบลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คเป็นผู้ได้รับการอบรมในเรื่องนี้โดยเฉพาะและมีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างดี ทั้งใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความละเอียดรอบคอบย่อมจะสามารถสังเกตเห็นความแตกต่างของลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายและทราบได้ว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเป็นลายมือชื่อปลอม ที่จำเลยอ้างว่าพนักงานของจำเลยต่างตรวจสอบลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คเปรียบเทียบกับตัวอย่างลายมือชื่อที่โจทก์ให้ไว้กับจำเลย พบว่า มีลายเส้น น้ำหนัก จุดเริ่มต้น จุดสิ้นสุด ระยะห่างช่องไฟ ความเอียงของตัวอักษร การตวัดเหมือนกัน และการสั่งจ่ายเป็นไปตามข้อตกลงนั้น ก็เป็นการเบิกความของพนักงานจำเลยทั้งสิ้นซึ่งย่อมเบิกความให้เป็นคุณแก่จำเลยได้ และที่อ้างว่าได้มีการโทรศัพท์ไปสอบถามผู้จัดการของโจทก์เกี่ยวกับการลงลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเกินจำนวนแล้วนั้นก็ไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะยอมจ่ายเงินไปตามเช็คพิพาทนั้น พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักแก่การรับฟังมากกว่าพยานหลักฐานจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทดังกล่าวข้างต้นเป็นลายมือชื่อปลอม และลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คบางส่วนไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจ กับเช็คบางฉบับมีการประทับตราสำคัญของโจทก์ที่มีการยกเลิกไปแล้ว อันเป็นการผิดเงื่อนไขการสั่งจ่ายเช็ค การที่พนักงานของจำเลยจ่ายเงินตามเช็คพิพาทซึ่งลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเป็นลายมือชื่อปลอมและผิดเงื่อนไขการสั่งจ่ายเช็คจึงเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ถือว่าจำเลยจ่ายเงินตามเช็คพิพาทและหักเงินจากบัญชีของโจทก์ไปโดยผิดสัญญาฝากทรัพย์ จำเลยจะยกพฤติการณ์ในการเก็บรักษาเช็คพิพาทว่าเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ และโจทก์เป็นผู้รับรองการถอนเงินตามเช็คพิพาทจึงถือว่าโจทก์รับสภาพหนี้แล้ว ขึ้นอ้างเป็นข้อยกเว้นว่าโจทก์ตกอยู่ในฐานะผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทปลอมเป็นข้อต่อสู้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1008 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย เพื่อให้จำเลยหลุดพ้นความรับผิดต่อโจทก์หาได้ไม่ แต่ในส่วนของเช็คพิพาทฉบับที่ 17 ที่ 38 ที่ 39 และที่ 42 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความจากพันตำรวจเอกบรรพต พยานจำเลยว่า พยานเป็นสมาชิกของโจทก์ได้ถอนเงินจากบัญชีและรับเงินตามเช็คฉบับที่ 17 โดยถูกต้อง ส่วนเช็คฉบับที่ 38 ได้ความจากนายกันตพัฒน์ เจ้าหน้าที่ของชุมชนสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย พยานจำเลยว่า เป็นการจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้เงินกู้แก่ชุมชนสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทยจริง สำหรับเช็คฉบับที่ 39 และ 42 ได้ความจากนางสาวอัจฉรา พยานจำเลยว่า เป็นการถอนเงินจากบัญชีของตนโดยชอบ ส่วนโจทก์ไม่ได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับผู้มีสิทธิที่แท้จริงเป็นผู้รับเงินไปจากโจทก์ โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายในส่วนนี้ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับดังกล่าวแก่โจทก์ คงรับผิดตามเช็คพิพาทฉบับที่เหลือซึ่งจำนวนเงินที่จ่ายไปรวม 166,374,139.17 บาท แต่การที่โจทก์มอบให้นางพรสวรรค์ ผู้จัดการของโจทก์เป็นผู้เก็บรักษาสมุดเช็คของโจทก์ไว้คนเดียว ทั้งที่ตามข้อบังคับของโจทก์ผู้มีอำนาจเก็บรักษาสมุดเช็คคือคณะกรรมการของโจทก์ นอกจากนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า มีการยอมให้กรรมการผู้มีอำนาจบางคนลงลายมือชื่อในเช็คไว้ล่วงหน้า อันทำให้มีการปลอมลายมือชื่อได้โดยง่ายยิ่งขึ้นเพราะขาดการตรวจสอบโดยกรรมการทุกคนที่ร่วมลงลายมือชื่อสั่งจ่าย ประกอบกับได้ความตามทางนำสืบของจำเลยโดยโจทก์ไม่ได้โต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่า การสั่งจ่ายเช็คตามข้อบังคับของโจทก์ต้องระบุชื่อบุคคลหรือหน่วยงานโดยขีดฆ่าคำว่า หรือผู้ถือ ออก แต่การจ่ายเงินตามเช็คพิพาทซึ่งเป็นเงินจำนวนมากกลับจ่ายเป็นเงินสดโดยไม่ระบุชื่อและขีดคร่อม ซึ่งเป็นการสั่งจ่ายเช็คที่ผิดปกติ การที่มีผู้นำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากบัญชีของโจทก์ได้ถึง 44 ฉบับ ในช่วงระยะเวลาระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2553 เช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ละเลยไม่ระมัดระวังในการเก็บรักษาควบคุมดูแลสมุดเช็ค รวมทั้งไม่มีมาตรการในการตรวจสอบเพื่อป้องกันมิให้มีการนำเช็คไปปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายนำไปเบิกเงินจากจำเลยแต่อย่างใด ทั้งที่จำเลยได้ส่งรายการเดินบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ให้แก่โจทก์ทราบทุกเดือน และทุกหกเดือน หากโจทก์มีมาตรการการตรวจสอบที่ดี ก็จะทราบถึงความผิดปกติในการใช้เช็คเบิกเงินออกจากบัญชีของโจทก์และสามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาที่รวดเร็วกว่านี้ แต่โจทก์กลับปล่อยปละละเลยไม่ตรวจสอบจนเวลาล่วงมาถึง 1 ปี 4 เดือน จึงทราบเหตุทุจริตดังกล่าว ถือได้ว่าโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายไม่ยิ่งหย่อนกว่าจำเลยด้วย ดังนั้น สมควรกำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ไม่เต็มตามฟ้อง ส่วนการกำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงใด ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 223 วรรคหนึ่ง ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์เป็นเงิน 85,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 85,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 มกราคม 2556) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 70,000 บาท
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ผบ.(พ)154/2562
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - สหกรณ์ออมทรัพย์ ข. จำเลย - บริษัทธนาคาร ก.
ชื่อองค์คณะ วัชรินทร์ สุขเกื้อ ประมวญ รักศิลธรรรม พีรศักดิ์ ไวกาสี
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดนครราชสีมา - นายอุทิศ เพ็ชรใต้ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 - นายสถาพร ดาโรจน์