คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2959/2567
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 72 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 79
ผู้ตายและผู้เสียหายเข้ามาลักผลปาล์มในสวนของบุตรชายจำเลย การลักทรัพย์เป็นการประทุษร้ายต่อทรัพย์สินและเป็นการละเมิดต่อสิทธิในความเป็นเจ้าของทรัพย์ เป็นการกระทำที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น ไม่เป็นธรรมต่อเจ้าของผลผลิตและผู้เกี่ยวข้องที่ต้องลงทุนลงแรง เมื่อจำเลยมีหน้าที่เฝ้าดูแลสวนป่าให้บุตรชายมาพบเห็นการกระทำของผู้ตายและผู้เสียหายซึ่งหน้า ย่อมต้องเกิดโทสะและมีอำนาจที่จะปกป้องติดตามจับกุมผู้ตายและผู้เสียหายเพื่อนำทรัพย์สินคืนมาได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 79 แม้จะได้ความว่าจำเลยตะโกนบอกให้ผู้ตายและผู้เสียหายหยุด โดยผู้ตายและผู้เสียหายได้ทิ้งผลปาล์มที่ลักมาแล้วและพยายามหลบหนีออกจากที่เกิดเหตุ แต่ผู้ตายและผู้เสียหายไม่ยอมหยุดกลับรีบขับรถจักรยานยนต์หลบหนีโดยมิได้รู้สำนึกในการกระทำผิดของตน ย่อมต้องสร้างความไม่พอใจและก่อให้เกิดโทสะแก่จำเลยยิ่งขึ้นจนเป็นเหตุให้จำเลยจำต้องใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายและผู้เสียหาย ซึ่งโทสะของจำเลยนี้ยังคงมีอยู่ต่อเนื่องตราบเท่าที่บุคคลทั้งสองยังพยายามหลบหนี การใช้อาวุธปืนยิงของจำเลยในขณะที่ถูกข่มเหงรังแกจากการถูกผู้ตายและผู้เสียหายเข้ามาลักทรัพย์และมีโทสะอยู่เช่นนี้ จึงนับเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 80, 91, 288, 371, 376 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 8 ทวิ, 72 ทวิ ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพข้อหาพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร ส่วนข้อหาฆ่าผู้อื่น พยายามฆ่าผู้อื่น และยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน จำเลยให้การต่อสู้อ้างเหตุป้องกัน
ระหว่างพิจารณา นางสาวพิไลพร มารดานายโชติมนต์ ผู้ตายและในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กชายชยานันท์ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 300,000 บาท
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 72, 288 ประกอบมาตรา 72, 80 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 7 ปี คำให้การและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี 8 เดือน โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 2 ปี โดยคุมความประพฤติของจำเลยไว้ 1 ปี ริบของกลาง ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก กับให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการสำนักงานคดีศาลสูงภาค 8 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุด ได้รับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงในความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร และฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 288 ประกอบมาตรา 80, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและฐานพยายามฆ่าผู้อื่น เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่น ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 15 ปี ความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 2,000 บาท คำให้การกับทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา และจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเป็นการบรรเทาผลร้ายแก่ผู้เสียหายแล้ว กรณีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 7 ปี 6 เดือน และปรับ 1,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยไม่รอการลงโทษจำคุกและไม่คุมประพฤติของจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งในชั้นนี้ว่า นายโชติมนต์ ผู้ตาย กับเด็กชายชยานันท์ ผู้เสียหาย เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ตามวันและเวลาเกิดเหตุในฟ้อง ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ มีผู้เสียหายนั่งซ้อนท้ายเข้าไปลักผลปาล์มในสวนปาล์มของบุตรชายจำเลยที่เกิดเหตุ ซึ่งมีจำเลยเป็นผู้ดูแล จำเลยพาอาวุธปืนพกออโตเมติก (HK) ขนาด 9 มม. LUGER ที่จำเลยได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้จากเจ้าพนักงานติดตัวไป มาพบเห็นเหตุการณ์ขณะที่ผู้ตายและผู้เสียหายกำลังช่วยกันนำผลปาล์ม 2 ทะลาย ออกไป จึงเรียกให้ทั้งสองคนหยุด แต่ผู้ตายและผู้เสียหายไม่หยุด จำเลยโดยมีเจตนาฆ่าใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงผู้ตายและผู้เสียหาย กระสุนปืนถูกผู้ตายที่บริเวณหน้าอกด้านซ้ายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย แต่กระสุนปืนไม่ถูกผู้เสียหาย หลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยพร้อมยึดอาวุธปืน ปลอกกระสุนปืน กระสุนปืนและซองกระสุนปืนเป็นของกลาง แล้วกล่าวหาจำเลยเป็นคดีนี้ สำหรับความผิดฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้อง ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ และฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า เหตุที่จำเลยก่อเหตุเป็นคดีนี้ ก็เพราะผู้ตายและผู้เสียหายเข้ามาลักผลปาล์มในสวนของบุตรชายจำเลย การลักทรัพย์เป็นการประทุษร้ายต่อทรัพย์สิน และเป็นการละเมิดต่อสิทธิในความเป็นเจ้าของของเจ้าของทรัพย์ โดยเฉพาะทรัพย์ในคดีนี้เป็นผลปาล์ม ซึ่งจำต้องมีการลงทุนและต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควรกว่าจะได้ผลผลิต การที่ผู้ตายและผู้เสียหายเข้ามาฉกฉวยลักเอาผลผลิตไปเช่นนี้ นับเป็นการกระทำที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น ไม่เป็นธรรมต่อเจ้าของผลผลิตและผู้เกี่ยวข้องที่ต้องลงทุนลงแรง เมื่อจำเลยซึ่งมีหน้าที่เฝ้าดูแลสวนปาล์มให้บุตรชายมาพบเห็นการกระทำของผู้ตายและผู้เสียหายซึ่งหน้า ย่อมต้องเกิดโทสะและมีอำนาจที่จะปกป้องติดตามจับกุมผู้ตายและผู้เสียหายเพื่อนำทรัพย์สินคืนมาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 79 แม้จะได้ความว่าจำเลยตะโกนบอกให้ผู้ตายและผู้เสียหายหยุด โดยผู้ตายและผู้เสียหายได้ทิ้งผลปาล์มที่ลักมาและพยายามหลบหนีออกจากที่เกิดเหตุ แต่ผู้ตายและผู้เสียหายไม่ยอมหยุด กลับรีบขับรถจักรยานยนต์หลบหนีโดยมิได้รู้สำนึกในการกระทำผิดของตน ย่อมต้องสร้างความไม่พอใจและก่อให้เกิดโทสะแก่จำเลยยิ่งขึ้นจนเป็นเหตุให้จำเลยจำต้องใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายและผู้เสียหาย ซึ่งโทสะของจำเลยนี้ยังคงมีอยู่ต่อเนื่องตราบเท่าที่บุคคลทั้งสองยังพยายามหลบหนี การใช้อาวุธปืนยิงของจำเลยในขณะที่ถูกข่มเหงรังแกจากการถูกผู้ตายและผู้เสียหายเข้ามาลักทรัพย์และมีโทสะอยู่เช่นนี้ จึงนับเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ จำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ และฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควรตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพในความผิดฐานดังกล่าว แต่ศาลชั้นต้นเห็นว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร เนื่องจากสถานที่เกิดเหตุที่จำเลยพาอาวุธปืนติดตัวไปเป็นสวนปาล์มของบุตรชายจำเลยซึ่งเป็นที่ดินเอกชน มิใช่เมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ แล้วพิพากษายกฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 เห็นว่า บ้านที่จำเลยพักอาศัยอยู่คนละแห่งกับสวนปาล์มที่เกิดเหตุ การที่จำเลยพาอาวุธปืนจากบ้านเดินทางมาสวนปาล์ม จึงถือได้ว่าจำเลยพาอาวุธปืนติดตัวไปตามทางสาธารณะมาบริเวณที่เกิดเหตุ แล้วพิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร แต่จำเลยมิได้ฎีกาว่าไม่ได้พาอาวุธปืนจากบ้านเดินทางมาสวนปาล์มของบุตรชายจำเลย คงฎีกาอ้างเพียงว่า สถานที่ที่จำเลยพาอาวุธปืนติดตัวไปเป็นสวนปาล์มของบุตรชายจำเลยไม่ใช่เมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะเท่านั้น ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาที่มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ส่วนฎีกาของจำเลยที่อ้างว่า การพาอาวุธปืนของจำเลยเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควรนั้น ก็เป็นฎีกาที่โต้เถียงข้อเท็จจริงที่ขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลย เท่ากับเป็นการหยิบยกเอาข้อเท็จจริงซึ่งยุติไปแล้วขึ้นมาโต้เถียงใหม่ในชั้นฎีกา จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 8 แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะฟังว่าจำเลยพาอาวุธปืนติดตัวไปโดยไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ ก็เป็นเพียงการวินิจฉัยยืนยันถึงข้อเท็จจริงที่จำเลยให้การรับสารภาพแล้ว หาก่อให้เกิดสิทธิในการฎีกาแก่จำเลยไม่ ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และ 252 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายมีว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า หลังเกิดเหตุจำเลยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้องที่ 1 แล้วเป็นเงินถึง 450,000 บาท จนผู้ร้องที่ 1 ให้อภัยไม่ติดใจเอาความแก่จำเลย ทั้งที่เหตุเกิดเพราะผู้ตายและผู้เสียหายเป็นฝ่ายก่อเหตุลักทรัพย์ของบุตรชายจำเลย หากผู้ตายและผู้เสียหายไม่เข้าไปลักทรัพย์ในสวนปาล์มที่จำเลยเฝ้าดูแล และเมื่อจำเลยพบเห็นแล้วบุคคลทั้งสองยอมให้จำเลยจับแต่โดยดี ไม่พยายามหลบหนี ก็จะไม่เกิดเหตุขึ้น ดังนั้น การที่จะลงโทษจำคุกจำเลยซึ่งเป็นสุจริตชนไปเสียทีเดียว ย่อมไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน กรณีจึงมีเหตุอันควรปรานีที่จะรอการลงโทษจำคุกให้จำเลย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 72 และมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 72 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 72 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 7 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 3 ปี 6 เดือน เมื่อรวมกับโทษฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 แล้วเป็นจำคุก 3 ปี 6 เดือน และปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.282/2567
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดกระบี่ ผู้ร้อง - นางสาว พ. กับพวก จำเลย - นาย ว.
ชื่อองค์คณะ วรงค์พร จิระภาค ไชยยศ วรนันท์ศิริ วิชาญ พึ่งประสิทธิ์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดกระบี่ - นายวิชญ์พล มากกิตติ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 - นางสาวภัชดา เหลืองวิลัย