สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3/2543

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3/2543

พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 ม. 5

การที่โจทก์ออกเดินทางจากบ้านเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ปรุงอาหารและประสบอุบัติเหตุขับรถชนต้นไม้ในระหว่างเดินทางก่อนถึงเวลาปฏิบัติงานนั้นโจทก์ยังไม่ได้ลงมือทำงานให้แก่บริษัทนายจ้าง แม้หัวหน้างานของโจทก์สั่งให้โจทก์มาทำงานในวันเกิดเหตุ งานที่โจทก์ได้รับมอบหมายให้ทำก็อยู่ในห้องครัวของบริษัทดังกล่าวอันเป็นสถานที่ที่โจทก์กำลังเดินทางไป และอยู่ในช่วงระยะเวลาระหว่าง 6 นาฬิกา ถึง 15 นาฬิกาเท่านั้น การที่โจทก์ต้องกลับบ้านไปบอกให้ครอบครัวทราบว่าโจทก์จะต้องทำงานในวันเกิดเหตุจึงทำให้โจทก์ต้องเดินทางออกจากบ้านมายังที่ทำงาน เป็นเรื่องส่วนตัวของโจทก์ไม่เกี่ยวกับงานที่โจทก์จะต้องทำ และที่โจทก์ตั้งใจจะแวะซื้อเครื่องปรุงอาหารบางอย่างที่โจทก์เห็นว่าขาดหรือหมดไปจากตลาดที่อยู่ในระหว่างทางมาใช้ในการทำงานของโจทก์ด้วย ก็ไม่ปรากฏว่านายจ้างได้มีคำสั่งให้กระทำเช่นนั้น จึงแสดงอยู่ในตัวว่าโจทก์กระทำเอง ไม่ได้ทำตามคำสั่งของนายจ้าง จะถือว่าโจทก์ได้รับอันตรายเนื่องจากการทำงานตามคำสั่งของนายจ้างหรือเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างหาได้ไม่ กรณีของโจทก์จึงมิใช่เป็นการประสบอันตรายตามความหมายของพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 5

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2540 บริษัทแม่ปิงพร็อพเพอร์ตี้ จำกัดจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ทำหน้าที่พนักงานปรุงอาหารได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 5,500 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน เมื่อวันที่ 23กรกฎาคม 2540 ซึ่งปกติเป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ของโจทก์ โจทก์ได้รับคำสั่งจากนายสมภพ ขุนราช หัวหน้างานให้ไปทำงานในวันดังกล่าว โจทก์ออกเดินทางจากบ้านเพื่อไปทำงานเมื่อเวลาประมาณ 5 นาฬิกา ครั้นประมาณ 5.15 นาฬิกาขณะโจทก์ขับรถจักรยานยนต์อยู่บนถนนสายเชียงใหม่ - ฝาง โจทก์ได้ประสบอุบัติเหตุขับรถชนต้นไม้ที่ล้มขวางอยู่ เพราะมองไม่เห็นเนื่องจากขณะนั้นยังมืดฝนตกและมีรถยนต์เปิดไฟสูงแล่นสวนทางมา เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บตาข้างซ้ายบอด โจทก์ได้เข้ารักษาที่โรงพยาบาลเชียงดาว เสียค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 800 บาท แล้วไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลนครพิงค์ ซึ่งเป็นสถานพยาบาลที่อยู่ในความตกลงของกองทุนเงินทดแทนในจังหวัดเชียงใหม่ เสียค่ารักษาพยาบาลอีก 42,000 บาท และแพทย์สั่งให้โจทก์หยุดพักรักษาตัวมีกำหนด 60 วัน ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2540 ถึงวันที่ 23 กันยายน 2540 โจทก์ไปยื่นคำร้องขอค่ารักษาพยาบาลและเงินทดแทนต่อกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่ พนักงานเงินทดแทนวินิจฉัยว่า การประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของโจทก์มิได้เกิดเนื่องจากการทำงาน โจทก์อุทธรณ์ คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีมติว่า โจทก์มิได้ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่ รส 0711/2339ลงวันที่ 1 เมษายน 2541 และพิพากษาว่าโจทก์ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง ให้จำเลยจ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 35,000 บาท ค่าทดแทนระหว่างหยุดงานเป็นเงิน 6,600 บาท และค่าทดแทนเนื่องจากโจทก์สูญเสียดวงตาข้างซ้ายเป็นเงิน 291,500 บาท

จำเลยให้การว่า การประสบอันตรายของโจทก์มิได้เกิดขึ้น เนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาล ค่าทดแทนระหว่างหยุดทำงานและค่าทดแทนเนื่องจากการสูญเสียดวงตาข้างซ้ายจากกองทุนเงินทดแทน คงมีสิทธิเพียงได้รับค่ารักษาพยาบาลจากกองทุนประกันสังคมตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เท่านั้น แต่โจทก์ก็ได้ใช้สิทธิของจ่าสิบเอกสมเกียรติ เล็กจำลอง สามีเบิกค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวจากทางราชการไปแล้ว จึงไม่มีสิทธิจะเบิกจากกองทุนประกันสังคมอีก ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ กองทุนเงินทดแทนที่ รส 0711/2339 ลงวันที่ 1 เมษายน 2541 และให้จำเลยชำระเงินทดแทนแก่โจทก์ คือค่ารักษาพยาบาลจำนวน 35,000 บาท ค่าทดแทนกรณีลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้จำนวน 6,600 บาท และค่าทดแทนการสูญเสียดวงตาข้างซ้ายจำนวน 174,900 บาท คำขออื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าโจทก์เดินทางออกจากบ้านไปทำงานตามคำสั่งของหัวหน้างานโดยตั้งใจจะแวะซื้อเครื่องปรุงอาหารที่ตลาดไปใช้ในการทำงานด้วย แล้วโจทก์ประสบอุบัติเหตุในระหว่างทางก่อนถึงเวลาปฏิบัติงาน เป็นการประสบอันตราย เนื่องจากการทำงานตามคำสั่งของนายจ้างหรือเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ออกเดินทางจากบ้านเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ปรุงอาหารและประสบอุบัติเหตุขับรถชนต้นไม้ในระหว่างเดินทางนั้นโจทก์ยังไม่ได้ลงมือทำงานให้แก่บริษัทแม่ปิงพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ซึ่งเป็นนายจ้างแต่อย่างใด แม้จะได้ความว่านายสมภพ ขุนราช หัวหน้างานของโจทก์สั่งให้โจทก์มาทำงานในวันเกิดเหตุ งานที่โจทก์ได้รับมอบหมายให้ทำก็อยู่ในห้องครัวของบริษัทดังกล่าวอันเป็นสถานที่ที่โจทก์กำลังเดินทางไป และอยู่ในช่วงระยะเวลาระหว่าง 6 นาฬิกาถึง 15 นาฬิกาเท่านั้น การที่โจทก์ต้องกลับบ้านไปบอกให้ครอบครัวทราบว่าโจทก์จะต้องทำงานในวันเกิดเหตุจึงทำให้โจทก์ต้องเดินทางออกจากบ้านมายังที่ทำงานเป็นเรื่องส่วนตัวของโจทก์ไม่เกี่ยวกับงานที่โจทก์จะต้องทำ การที่โจทก์ตั้งใจจะแวะซื้อเครื่องปรุงอาหารบางอย่างที่โจทก์เห็นว่าขาดหรือหมดไปจากตลาดที่อยู่ระหว่างทางมาใช้ในการทำงานของโจทก์ด้วยก็ไม่ปรากฏว่านายจ้างได้มีคำสั่งให้กระทำเช่นนั้น จึงแสดงอยู่ในตัวว่าโจทก์กระทำเองไม่ได้ทำตามคำสั่งของนายจ้าง ดังนี้ จะถือว่าโจทก์ได้รับอันตรายเนื่องจากการทำงานตามคำสั่งของนายจ้าง หรือเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างหาได้ไม่ กรณีของโจทก์จึงมิใช่เป็นการประสบอันตรายตามความหมายของพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 5 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทน

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาง สมปอง เล็กจำลอง จำเลย - สำนักงานประกันสังคม

ชื่อองค์คณะ จรัส พวงมณี สละ เทศรำพรรณ กมล เพียรพิทักษ์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE