สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3009/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3009/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83, 86 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192 วรรคสอง, 215, 225 พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พุทธศักราช 2550 ม. 3

เมทแอมเฟตามีนของกลาง 565 เม็ด เป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนที่ ส. ซื้อมาจากจำเลย หลังจากที่จำเลยขายเมทแอมเฟตามีนให้แก่ ส. โดยจำเลยได้รับเงินค่าเมทแอมเฟตามีนไปแล้ว การครอบครองเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่ายและการจำหน่ายล้วนเป็นการกระทำของ ส. กับพวกโดยจำเลยไม่มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้อง อีกทั้งในวันเกิดเหตุในคดีนี้จำเลยไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุหรือมีส่วนร่วมในการครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางเพื่อจำหน่ายหรือจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับ จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยร่วมกับ ส. กับพวกมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย แต่การที่จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่ ส. ย่อมถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ ส. ในการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยจึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 86 แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นตัวการ แต่ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยเป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ถือว่าข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่เป็นข้อสาระสำคัญ เมื่อจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 กับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100/1, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (2), 66 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 25 ปี และปรับ 700,000 บาท ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 12 ปี และปรับ 400,000 บาท รวมจำคุก 37 ปี และปรับ 1,100,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติในชั้นนี้ว่า เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2549 ร้อยตำรวจตรีชาญ และสิบตำรวจตรีทวัสชัย กับพวกซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 435 ร่วมกันจับกุมนายสิทธิชัย ในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแล้วสืบสวนขยายผลได้ความว่า นายสิทธิชัยซื้อเมทแอมเฟตามีนมาจากนายสุชาติ ทั้งสามารถล่อซื้อได้ ต่อมาวันที่ 17 มิถุนายน 2549 จึงมีการวางแผนล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจนกระทั่งมีการจับกุมนายสุชาติ นายสายัณห์ และนายวิรัตน์ พร้อมเมทแอมเฟตามีน 565 เม็ด ดำเนินคดีฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 190 เม็ด โดยศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษนายวิรัตน์ในความผิดดังกล่าว ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2532/2549 ของศาลชั้นต้น และลงโทษนายสุชาติและนายสายัณห์ในความผิดฐานดังกล่าวตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2987/2550 ของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2559 พนักงานสอบสวนรับตัวจำเลยมาดำเนินคดี พนักงานสอบสวนส่งเมทแอมเฟตามีนของกลางไปตรวจพิสูจน์และได้รับแจ้งผลการตรวจพิสูจน์ ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2987/2550 ของศาลชั้นต้น

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยร่วมกับพวกกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เหตุที่มีการออกหมายจับจำเลยสืบเนื่องมาจากก่อนเกิดเหตุคดีนี้เพียง 1 วัน ร้อยตำรวจตรีชาญกับพวกจับกุมนายสิทธิชัยได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนจำนวนหนึ่งจากการซักถามเพื่อขยายผล นายสิทธิชัยให้การว่า ซื้อเมทแอมเฟตามีนมาจากนายสุชาติและให้ความร่วมมือในการติดต่อล่อซื้อ ต่อมาในวันเกิดเหตุ นายสิทธิชัยติดต่อล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากนายสุชาติ 190 เม็ด ในราคา 35,000 บาท โดยมีนายวิรัตน์เป็นผู้นำเมทแอมเฟตามีน 190 เม็ด มาให้นายสุชาติ และจากการตรวจค้นยังพบเมทแอมเฟตามีนอีก 375 เม็ด ที่ตัวนายวิรัตน์ จากการสอบถามนายวิรัตน์ให้การว่า รับเมทแอมเฟตามีนมาจากนายสายัณห์ จึงให้เจ้าพนักงานตำรวจไปนำตัวนายสายัณห์มาสอบถาม จากการสอบถามบุคคลทั้งสามได้ความว่า บุคคลทั้งสามร่วมกันมีและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน โดยนายสายัณห์ให้การเพิ่มเติมว่า ซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยมาจำหน่าย โดยเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2549 มีการโอนเงิน 50,000 บาท เข้าบัญชีของจำเลย การที่ร้อยตำรวจตรีชาญกับพวกสามารถจับกุมนายวิรัตน์ นายสุชาติ และนายสายัณห์ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลาง สืบเนื่องมาจากการขยายผลการจับกุมนายสิทธิชัย ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษบุคคลทั้งสาม โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงแต่อย่างใดว่า ร้อยตำรวจตรีชาญกับพวกปรักปรำบุคคลทั้งสาม แม้ในคดีนี้นายสายัณห์จะเบิกความว่า ถูกเจ้าพนักงานตำรวจทำร้ายร่างกายและบังคับให้บอกว่า เงิน 50,000 บาท ที่โอนให้แก่จำเลยเป็นค่าเมทแอมเฟตามีน แต่คำเบิกความของนายสายัณห์ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2987/2550 ของศาลชั้นต้น นายสายัณห์เบิกความว่า ขณะอยู่ที่กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 435 ไม่ได้ถูกควบคุมตัวในห้องขัง เพียงแต่ถูกกักบริเวณและไม่ได้ถูกทำร้ายร่างกาย นอกจากนี้ยังเบิกความว่าไม่ได้พบจำเลยมานาน 10 ปีแล้ว ไม่เคยโอนเงินให้จำเลยและไม่เคยรู้จักหมายเลขบัญชีและหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลย นอกจากนี้สิบตำรวจตรีทวัสชัยเบิกความยืนยันว่า ระหว่างที่นายวิรัตน์ นายสุชาติ และนายสายัณห์ถูกควบคุมตัวที่กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนนั้น ทั้งสามคนไม่มีใครถูกทำร้าย อันสอดคล้องกับคำเบิกความของพันตำรวจตรีมนัสพนักงานสอบสวนว่า ระหว่างสอบปากคำนายสายัณห์ และนายวิรัตน์สังเกตตามเนื้อตัวร่างกายไม่มีร่องรอยบาดแผลถูกทำร้ายและทั้งสองคนไม่ได้แจ้งว่าถูกทำร้าย ย่อมแสดงให้เห็นว่า ร้อยตำรวจตรีชาญกับพวกซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐไม่มีผู้ใดทำร้ายร่างกายนายสายัณห์และบังคับให้นายสายัณห์ต้องให้การตามที่เจ้าพนักงานตำรวจบังคับ การที่ร้อยตำรวจตรีชาญทราบบัญชีของจำเลยและการโอนเงิน 50,000 บาท ของนายสายัณห์จึงเกิดจากคำบอกเล่าที่มิได้ถูกข่มขู่หรือบังคับของนายสายัณห์ทั้งสิ้น นอกจากนี้เมื่อตรวจดูการเคลื่อนไหวทางบัญชีของจำเลย ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2987/2550 ของศาลชั้นต้นโดยตลอดแล้ว จะเห็นว่า นอกจากนายสายัณห์จะโอนเงิน 50,000 บาท ในวันที่ 16 มิถุนายน 2549 แล้ว ยังมีการโอนเงินจากตู้ฝากถอนเงินอัตโนมัติเดียวกันนี้อีกหลายครั้ง แม้จำเลยจะมีนายจเร พี่ชายของจำเลยเบิกความว่า ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวได้ทยอยโอนเงินที่ยืมคืนจำเลย แต่จำนวนเงินที่จำเลยและนายจเรกล่าวอ้างว่าให้ยืมมีเพียง 300,000 บาท มิใช่ 650,736 บาท คำเบิกความของนายสายัณห์และนายจเรที่กล่าวอ้างว่าโอนเงินยืมคืนให้แก่จำเลยจึงขัดแย้งกับคำเบิกความของนายสายัณห์ในคดีดังกล่าวและขัดแย้งกับการเคลื่อนไหวทางบัญชีของจำเลย ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง การที่จำเลยมีการเคลื่อนไหวทางบัญชีที่ผิดปกติดังกล่าวนี้เชื่อได้ตามคำให้การของนายสายัณห์ว่า เป็นการโอนเงินเพื่อชำระค่าเมทแอมเฟตามีน นอกจากนี้นายสายัณห์ยังชี้ภาพถ่ายจำเลยต่อหน้าผู้ว่าราชการจังหวัดตรังและสื่อมวลชน ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2987/2550 ของศาลชั้นต้น พยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าวล้วนสอดคล้องต้องกันว่า เมทแอมเฟตามีนของกลาง 565 เม็ด เป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนที่นายสายัณห์ซื้อมาจากจำเลย แต่หลังจากที่จำเลยขายเมทแอมเฟตามีนให้แก่นายสายัณห์โดยจำเลยได้รับเงินค่าเมทแอมเฟตามีนไปแล้ว การครอบครองเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่ายและการจำหน่ายล้วนเป็นการกระทำของนายสายัณห์กับพวกโดยจำเลยไม่มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้อง อีกทั้งในวันเกิดเหตุในคดีนี้จำเลยไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุหรือมีส่วนร่วมในการครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางเพื่อจำหน่ายหรือจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับ ดังนั้น ในวันที่ 17 มิถุนายน 2549 เวลากลางวัน ซึ่งเป็นวันที่เกิดเหตุในคดีนี้ จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยร่วมกับนายสายัณห์ นายวิรัตน์ และนายสุชาติ มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย อย่างไรก็ตาม การที่จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่นายสายัณห์ ย่อมถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่นายสายัณห์ในการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยจึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นตัวการ แต่ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยเป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ศาลย่อมลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 กับพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 เพราะข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่เป็นข้อสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) (ที่แก้ไขใหม่), 66 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ให้จำคุก 16 ปี 8 เดือน และปรับ 466,666 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่) โดยให้กักขังแทนค่าปรับได้เกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.1481/2562

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดตรัง จำเลย - นาย ข.

ชื่อองค์คณะ นิติ เอื้อจรัสพันธุ์ ชนากานต์ ธีรเวชพลกุล สมชัย ฑีฆาอุตมากร

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดตรัง - นายวรชาติ เกลี้ยงแก้ว ศาลอุทธรณ์ - นายขจรเดช คงแสงชู

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE