สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3029/2566

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3029/2566

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1373, 1474 (1), 1474 วรรคสอง, 1532 (ข)

เมื่อจำเลยรับว่าที่ดินพิพาทจำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนบุคคลอื่น จำเลยจึงไม่อาจยกข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ขึ้นอ้างได้ โจทก์อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 วรรคสอง จำเลยปฏิเสธว่าไม่ใช่สินสมรส จำเลยจึงมีภาระการพิสูจน์

การจัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาในกรณีที่มีการฟ้องหย่ากัน ป.พ.พ. มาตรา 1532 (ข) บัญญัติว่า "ถ้าเป็นการหย่าโดยคำพิพากษาของศาล คำพิพากษาส่วนที่บังคับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยานั้น มีผลย้อนหลังไปถึงวันฟ้องหย่า" คดีนี้เป็นฟ้องให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาเมื่อมีการหย่ากันแล้วโดยคำพิพากษาของศาล จึงต้องบังคับตามมาตรา 1532 (ข) กล่าวคือ ในส่วนของการบังคับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยานั้นให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันฟ้องหย่า การพิจารณาการได้มาเกี่ยวกับสินสมรสจึงต้องพิจารณามาตรา 1532 (ข) ประกอบด้วย โดยหากเป็นกรณีที่มีการหย่าโดยคำพิพากษา ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาในระหว่างสมรสที่จะเป็นสินสมรสจะต้องได้มาอย่างช้าสุดไม่เกินวันฟ้องหย่า จำเลยฟ้องหย่าโจทก์วันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 จำเลยจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 20691 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2558 ส่วนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 53456 จำเลยจดทะเบียนรับโอนมาเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 อันเป็นการได้รับโอนมาภายหลังจากวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยยื่นฟ้องหย่าโจทก์แล้ว และทางนำสืบของโจทก์ไม่สามารถรับฟังได้ว่าจำเลยนำเงินที่เป็นสินสมรสไปชำระค่าที่ดิน เมื่อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงนี้จำเลยได้มาภายหลังวันที่ฟ้องหย่า จึงไม่เป็นสินสมรสของจำเลยกับโจทก์ตามมาตรา 1574 (1) ประกอบมาตรา 1532 (ข) โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอแบ่งที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 20691 และเลขที่ 53456 จากจำเลย

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการขายที่ดินโฉนดเลขที่ 53456 ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย และให้จำเลยแบ่งสินสมรสที่ดิน 9 แปลง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 20691 ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เนื้อที่ 3 งาน 13 ตารางวา ซึ่งจำเลยนำไปแบ่งในนามเดิมอีก 7 แปลง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 58052 ถึง 58058 ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และที่ดินโฉนดเลขที่ 53456 ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 43 ตารางวา ให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง หากไม่สามารถตกลงกันได้ ให้นำออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งปันกัน

จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 20691 ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เนื้อที่ 3 งาน 13 ตารางวา ซึ่งจำเลยได้แบ่งแยกเป็นที่ดิน 7 แปลง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 58052 ถึง 58058 ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และที่ดินโฉนดเลขที่ 53456 ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 43 ตารางวา ให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง หากไม่สามารถตกลงกันได้ให้นำทรัพย์ดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งแก่โจทก์กึ่งหนึ่ง หากสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ ให้จำเลยชดใช้ราคาทรัพย์กึ่งหนึ่งของทรัพย์ที่ไม่สามารถแบ่งได้ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยรับผิดเพียงเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท คำขออื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 20691 ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย (ซึ่งเป็นแปลงคง) และที่ดินโฉนดเลขที่ 58052, 58053, 58054, 58056, 58057 และ 58058 ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นที่ดินที่จำเลยได้แบ่งในนามเดิมออกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 20691 ให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง โดยให้โจทก์และจำเลยตกลงกันเองก่อน หากไม่สามารถตกลงกันได้ให้นำที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง ยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 53456 ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย และที่ดินโฉนดเลขที่ 58055 ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง และหากสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ ให้จำเลยชดใช้ราคาทรัพย์กึ่งหนึ่งของทรัพย์ที่ไม่สามารถแบ่งได้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นได้ว่า โจทก์และจำเลยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2549 ต่อมาวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 จำเลยฟ้องหย่าโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้หย่าเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2559 และคดีถึงที่สุดเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 โดยจำเลยไปจดทะเบียนหย่าที่สำนักทะเบียนอำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 20691 ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ที่มีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์นั้นได้มาเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2558 แล้วมีการแบ่งที่ดินในนามเดิมออกไปอีก 7 แปลง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 58052 ถึง 58058 ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 53456 ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ที่มีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์นั้นได้มาเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 ต่อมาวันที่ 28 มีนาคม 2559 จำเลยขายที่ดินโฉนดเลขที่ 53456 ให้แก่นายสุวัฒน์ และวันที่ 18 ตุลาคม 2562 จำเลยขายที่ดินโฉนดเลขที่ 58055 ให้แก่นางสาวปราณปริยา โดยการขายทั้งสองครั้งนั้นไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ส่วนโจทก์เคยต้องโทษจำคุกอยู่ที่เรือนจำกลางจังหวัดเชียงราย ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2558 ถึงเดือนตุลาคม 2561

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า จำเลยมีภาระการพิสูจน์ว่าที่ดินพิพาทเป็นของนางรัตนา กับร้อยตำรวจตรีโอภาส มารดาและพี่ชายจำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยยอมรับข้อเท็จจริงแล้วว่าจำเลยมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 20691 ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2558 ซึ่งต่อมามีการแบ่งในนามเดิมออกไปอีก 7 แปลง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 58052 ถึง 58058 ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และจำเลยมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 53456 ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 แต่จำเลยอ้างว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของนางรัตนาและร้อยตำรวจตรีโอภาสซึ่งเป็นมารดาและพี่ชายจำเลย โดยบุคคลทั้งสองร่วมกันซื้อที่ดินมาจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด แต่เพื่อความสะดวกในการทำนิติกรรม จึงให้จดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแทน และที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีโฉนดที่ดินซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 บัญญัติว่า ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ดังนี้ เมื่อจำเลยอ้างว่าที่ดินพิพาทจำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนบุคคลอื่น แม้จำเลยจะมีชื่อในโฉนดที่ดินจำเลยก็ไม่อาจนำข้อสันนิษฐานดังกล่าวขึ้นอ้างได้ เมื่อโจทก์อ้างว่าเป็นสินสมรสย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 วรรคสอง จำเลยปฏิเสธว่าไม่ใช่สินสมรส จำเลยจึงมีภาระการพิสูจน์ ที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าจำเลยมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงในประเด็นนี้จึงชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยหรือเป็นของนางรัตนา และร้อยตำรวจตรีโอภาส ซึ่งเป็นมารดาและพี่ชายจำเลย เห็นว่า จำเลยนำสืบอ้างว่านางรัตนาและร้อยตำรวจตรีโอภาสร่วมกันซื้อที่ดินพิพาทจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดด้วยวิธีการประมูลราคา เพื่อความสะดวกในการทำนิติกรรมต่าง ๆ นั้น นางรัตนาและร้อยตำรวจตรีโอภาสมอบให้จำเลยเป็นผู้ดำเนินการในการทำนิติกรรมต่าง ๆ แทน รวมทั้งลงชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทน การเข้าประมูลซื้อที่ดินพิพาทนี้จำเลยเป็นผู้เข้าประมูลซื้อในนามของจำเลยเองซึ่งพยานจำเลยทั้ง 3 ปาก ล้วนเป็นผู้ใกล้ชิดกันและเป็นผู้มีส่วนได้เสียต่อผลแห่งคดีเกี่ยวกับที่ดินพิพาทโดยตรงจึงต้องรับฟังพยานจำเลยด้วยความระมัดระวัง ที่จำเลยอ้างว่าเหตุที่นางรัตนาและร้อยตำรวจตรีโอภาสให้จำเลยดำเนินการต่าง ๆ แทนเนื่องจากไว้วางใจจำเลย เพราะจำเลยเป็นบุตรและเป็นน้องสาว และจำเลยมีความคล่องตัวขับรถยนต์ด้วยตนเองได้ ส่วนนางรัตนาอายุมากสายตาไม่ค่อยดีและขับรถไม่เป็น และร้อยตำรวจตรีโอภาสมีงานยุ่งติดราชการตำรวจ นอกจากนี้การซื้อขายที่ดินมีการติดต่อกับหน่วยงานราชการและมีเอกสารเป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมาจำเลยติดต่อค้าขายแทนนางรัตนานั้น เห็นว่าการประมูลซื้อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีราคาสูงหากนางรัตนาและร้อยตำรวจตรีโอภาสเป็นผู้ประมูลซื้อและเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทแล้วให้จำเลยเป็นผู้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินแทน ซึ่งแม้จำเลยจะเป็นบุตรนางรัตนาและน้องสาวร้อยตำรวจตรีโอภาสก็ตาม แต่จำเลยยังมีคู่สมรสอยู่ซึ่งอาจส่งผลทางกฎหมายที่เสียหายต่อนางรัตนาและร้อยตำรวจตรีโอภาสอย่างใหญ่หลวงได้ ดังนี้เพียงเหตุผลที่ว่าจำเลยมีความคล่องตัวขับรถยนต์ด้วยตนเองได้ ส่วนนางรัตนาอายุมากสายตาไม่ค่อยดีและขับรถไม่เป็น จึงไม่สมเหตุผลเพราะข้อจำกัดต่าง ๆ ที่จำเลยอ้างมานั้น หากจำเลยต้องการช่วยเหลือนางรัตนาก็สามารถพานางรัตนาไปจัดการด้วยตนเองหรือมีการมอบอำนาจให้ทำแทนได้ รวมทั้งเหตุที่อ้างว่าร้อยตำรวจตรีโอภาสมีงานยุ่งติดราชการตำรวจก็เป็นเหตุผลที่เลื่อนลอยเพราะการรับราชการนั้นข้าราชการสามารถบริหารเวลาโดยขอลากิจหรือลาพักผ่อนเพื่อทำกิจธุระจำเป็นของตนได้ ประกอบกับร้อยตำรวจตรีโอภาสเป็นเจ้าพนักงานตำรวจย่อมเป็นผู้ที่มีความรู้ในข้อกฎหมายดีว่าการที่ให้บุคคลอื่นเป็นผู้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินแทนอาจส่งผลเสียร้ายแรงอย่างไรต่อตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ที่ให้ถือกรรมสิทธิ์แทนนั้นมีคู่สมรสด้วยแล้วอาจมีผลต่อทรัพย์สินระหว่างสามีภริยากับคู่สมรสของผู้ที่ให้ถือกรรมสิทธิ์แทนได้ดังเช่นคดีนี้ นอกจากนี้คำเบิกความของจำเลยที่เบิกความตอบคำซักถามทนายจำเลยก่อนทนายโจทก์ถามค้านว่า วันที่จำเลยไปประมูลซื้อที่ดินพิพาทจาก ป.ป.ส. มีตัวจำเลย มารดาจำเลยและพี่ชายจำเลยไปร่วมประมูลเพียงสามคน ไม่มีบุคคลอื่นหรือทนายความเข้าไปช่วยเหลือในการประมูล ซึ่งเป็นการเบิกความที่ขัดแย้งกับที่จำเลยเบิกความไว้ในตอนแรกว่า จำเลยเป็นผู้ไปดำเนินการประมูลซื้อที่ดินพิพาทเอง และจำเลยยังตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ขณะมีการประมูลที่ดินพิพาทจาก ป.ป.ส. พี่ชายข้าฯ เป็นผู้เข้าประมูล และประมูลได้รวม 3 แปลง แต่ต่อมาพี่ชายข้าฯ ได้ให้ข้าฯ ใส่ชื่อข้าฯ ในที่ดินพิพาทไว้แทน เหตุที่พี่ชายให้ใส่ชื่อข้าฯ ไว้แทนนั้น เพราะเดิมที่ดินพิพาทเป็นของข้าฯ แต่ถูก ป.ป.ส. ยึดไปขายทอดตลาด และพี่ชายข้าฯ ไม่สะดวกที่จะไปดำเนินการจดทะเบียนโอน รวมทั้งเบิกความว่า การลงชื่อเข้าร่วมประมูลจาก ป.ป.ส. มีการระบุชื่อข้าฯ เป็นผู้เข้าร่วมประมูล ไม่ได้ระบุชื่อมารดาและพี่ชายข้าฯ ด้วย นอกจากนี้ร้อยตำรวจตรีโอภาสก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า วันที่จำเลยและมารดาไปประมูลซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดของ ป.ป.ส. นั้น ข้าฯ เดินทางไปด้วย จำเลยเป็นผู้ลงชื่อเข้าร่วมประมูล แต่คนที่ทำหน้าที่ในการถือป้ายเสนอราคาการประมูลคือตัวข้าฯ ซึ่งคำเบิกความของร้อยตำรวจตรีโอภาสเป็นการรับว่าในการไปประมูลซื้อที่ดินพิพาทนั้นร้อยตำรวจตรีโอภาสไปด้วย จึงขัดแย้งกับเหตุผลที่จำเลยและร้อยตำรวจตรีโอภาสเบิกความไว้ว่าร้อยตำรวจตรีโอภาสให้จำเลยดำเนินการแทนเพราะติดราชการตำรวจและภริยาไม่สบาย จึงเป็นการเบิกความที่ไม่อยู่กับร่องกับรอยและขัดแย้งกันเอง จึงเป็นพิรุธและไม่น่าเชื่อถือ และที่จำเลยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของนางรัตนาและร้อยตำรวจตรีโอภาสที่ให้จำเลยดำเนินการต่าง ๆ แทน โดยในการประมูลซื้อที่ดินพิพาทใช้เงินของร้อยตำรวจตรีโอภาส 3,500,000 บาท ซึ่งหากเป็นการประมูลซื้อของร้อยตำรวจตรีโอภาสจริงและใช้เงินบางส่วนของร้อยตำรวจตรีโอภาสแล้วเหตุใดจำเลยจึงต้องคืนเงิน 3,500,000 บาท ที่ใช้ในการประมูลซื้อนี้ให้แก่ร้อยตำรวจตรีโอภาสด้วย โดยจำเลยเบิกความในหน้า 4 ย่อหน้าแรกว่า "ต่อมาได้นำที่ดินแปลงตำบลบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ไปจำนองกับนายภราดรเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นเงิน 3,500,000 บาท โดยนำเงินจำนวนดังกล่าวคืนให้ร้อยตำรวจตรีโอภาส" ซึ่งสอดรับกับคำเบิกความของนางรัตนาที่เบิกความว่า ได้นำที่ดินแปลงตำบลบ้านดู่ไปจำนองกับนายภราดรเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นเงิน 3,500,000 บาท โดยนำเงินจำนวนดังกล่าวไปคืนให้แก่ร้อยตำรวจตรีโอภาสฯ อันเป็นข้อยืนยันที่แสดงให้เห็นว่าร้อยตำรวจตรีโอภาสมิใช่ผู้เข้าประมูลและเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทด้วย ส่วนเงินต่าง ๆ ที่นำมาจ่ายเป็นค่ามัดจำนั้นทางนำสืบของจำเลยได้ความเพียงว่านำมาจากเงินหมุนเวียนบางส่วนภายในกิจการของนางรัตนาประมาณ 1,500,000 บาท เงินของร้อยตำรวจตรีโอภาส 3,500,000 บาท และเงินที่นางรัตนากู้ยืมจากนายวินัย 1,000,000 บาท นางสาวพัชมณ 1,000,000 บาท และนางฟองนวล 800,000 บาท รวม 2,800,000 บาท นั้น เห็นว่า ในส่วนของร้อยตำรวจตรีโอภาสซึ่งมีจำนวนมากถึง 3,500,000 บาท แต่จำเลยและร้อยตำรวจตรีโอภาสไม่มีพยานหลักฐานที่แสดงถึงแหล่งที่มาของเงินจำนวนดังกล่าวหรือนำเอกสารการเบิกถอนเงินจากธนาคารมาแสดงให้เห็นว่าร้อยตำรวจตรีโอภาสนำเงินจำนวนนี้มาจากที่ใด จึงเป็นคำกล่าวอ้างที่เลื่อนลอยปราศจากพยานหลักฐานสนับสนุน สำหรับในส่วนของบุคคลอื่นที่จำเลยอ้างว่านางรัตนาเป็นผู้กู้ยืมมา แต่จากคำเบิกความของจำเลยตอบทนายโจทก์ถามค้านว่ามีการชำระหนี้คืนแก่เพื่อน ๆ ของจำเลย โดยเป็นการชำระเต็มจำนวน และเมื่อจำเลยคืนเงินเพื่อนของจำเลยก็คืนหลักฐานการกู้ยืมให้ จากนั้นจำเลยได้ฉีกทำลายทิ้ง อันมีความหมายว่าเงินยืมดังกล่าวนั้นเป็นเงินที่จำเลยยืมจากเพื่อน ๆ ของจำเลยมิใช่นางรัตนาเป็นผู้ยืม ประกอบกับเป็นการเบิกความกล่าวอ้างลอย ๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุน แม้จำเลย นางรัตนา และร้อยตำรวจตรีโอภาสจะอ้างในทำนองว่า เมื่อได้ชำระหนี้ให้แก่บุคคลภายนอกหมดแล้วก็ได้รับหลักฐานการกู้ยืมกลับมาและทำลายทิ้งไปแล้ว จึงไม่มีหลักฐานการกู้เงินดังกล่าวมาแสดงนั้น ซึ่งผิดวิสัยของบุคคลที่ประกอบกิจการค้าขายเยี่ยงจำเลยที่ควรจะเก็บหลักฐานดังกล่าวหรือถ่ายภาพเก็บไว้บ้าง และแม้หากจะมีการทำลายไปแล้วจริงจำเลยก็ยังสามารถนำบุคคลที่อ้างว่าให้กู้ยืมเงินมาเป็นพยานเพื่อสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของจำเลยได้ แต่จำเลยมิได้นำบุคคลใดเลยมาเป็นพยาน คงแต่กล่าวอ้างลอย ๆ เท่านั้น พยานหลักฐานของจำเลยจึงเป็นคำเบิกความที่ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุนทำให้มีน้ำหนักน้อย ส่วนที่นางรัตนาเบิกความว่า ในการประกอบกิจการของตนเงินหมุนเวียนบางส่วนได้มาจากการที่นางรัตนานำที่ดินพร้อมบ้านไปจำนองแก่นายสุไผทเป็นเงิน 6,000,000 บาท มีวงเงินที่ใช้ได้ 5,000,000 บาท นั้น แต่จากสัญญาจำนองปรากฏว่านางรัตนาทำสัญญาจำนองตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2557 ซึ่งทำก่อนที่ที่ดินพิพาทซึ่งเคยเป็นของจำเลยมาก่อนจะถูกโอนมาเป็นของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดและก่อนที่จำเลยจะเข้าประมูลซื้อที่ดินพิพาทถึง 1 ปี 4 เดือน จึงไม่น่าเชื่อว่าเงินที่ได้จากการจำนองดังกล่าวจะเป็นเงินที่นางรัตนาใช้เป็นเงินมัดจำที่ดินที่ประมูลดังกล่าว และนอกจากนี้การที่จำเลยเป็นผู้จัดการรวบรวมเงินชำระหนี้ที่อ้างว่านางรัตนากู้ยืมมาเองโดยทางนำสืบของจำเลยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเลยว่านางรัตนาและร้อยตำรวจตรีโอภาสให้จำเลยจัดการหรือรู้เห็นให้จำเลยดำเนินการด้วย ซึ่งพฤติการณ์ที่จำเลยปฏิบัติเสมือนหนึ่งเป็นการกระทำเพื่อชำระหนี้ของตัวจำเลยเองโดยจำเลยนำที่ดินโฉนดเลขที่ 20691 และ 53456 ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทไปทำนิติกรรมด้วยตนเองหลายครั้ง คือ การนำที่ดินโฉนดเลขที่ 53456 จดทะเบียนจำนองแก่นายภราดรเป็นเงิน 3,500,000 บาท ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 หลังจากนั้นจำเลยก็ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 53456 ให้แก่นายสุวัฒน์เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2559 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ไถ่ถอนจำนองกับนายภราดร โดยอ้างว่านำเงินส่วนที่เหลือไปใช้คืนนางวิมลศรี 1,200,000 บาท คืนให้นายวินัย 1,000,000 บาท คืนให้นางสาวพัชมณ 1,000,000 บาท และคืนให้นางฟองนวล 800,000 บาท สำหรับการทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 20691 จำเลยขายให้แก่นายอานนท์ และมีข้อตกลงกันว่านายอานนท์จะชำระเงินไถ่ถอนจำนองเป็นเงิน 6,000,000 บาท แล้วนำที่ดินไปแบ่งแยกเป็นแปลงเล็กหลายแปลง จากนั้นนายอานนท์จะลงทุนก่อสร้างอาคารพาณิชย์เพื่อขายพร้อมที่ดินดังกล่าวแล้วให้นางรัตนากับร้อยตำรวจตรีโอภาสมีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน 1 ห้อง ส่วนที่เหลือเมื่อขายได้แล้วให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อโดยเงินที่ขายได้ตกเป็นของนายอานนท์ทั้งหมด และเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2561 จำเลยได้รับเงินจากนายอานนท์ 6,000,000 บาท จึงนำไปไถ่ถอนจำนองในวันเดียวกัน นายอานนท์ขายอาคารพาณิชย์พร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 58055 ให้แก่นางสาวปราณปริยาโดยจดทะเบียนโอนวันที่ 18 ตุลาคม 2562 ซึ่งการทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาทโดยลำพังของจำเลยและการจัดการชำระหนี้เกี่ยวกับที่ดินพิพาทของจำเลยดังกล่าวข้างต้นนั้นมีลักษณะเหมือนเป็นการซื้อที่ดินและจัดการหนี้สินของตนเองมากกว่าจะเป็นการดำเนินการแทนผู้อื่น พยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่สมเหตุผล ดูมีพิรุธไม่น่าเชื่อถือ นอกจากนี้ข้ออ้างในเรื่องการทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 20691 กับนายอานนท์โดยมีการตกลงว่านายอานนท์จะชำระเงินไถ่ถอนจำนองเป็นเงิน 6,000,000 บาท แล้วนำที่ดินไปแบ่งแยกเป็นแปลงเล็กหลายแปลง จากนั้นนายอานนท์จะลงทุนก่อสร้างอาคารพาณิชย์เพื่อขายพร้อมที่ดินดังกล่าวแล้วให้แก่นางรัตนาและร้อยตำรวจตรีโอภาสมีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน 1 ห้อง ส่วนที่เหลือเมื่อขายได้แล้วให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อโดยเงินที่ขายได้ตกเป็นของนายอานนท์ทั้งหมดนั้น ในข้อนี้จำเลยคงมีแต่สำเนารายการเดินบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ซึ่งจำเลยอ้างว่านายอานนท์โอนเงินมาให้จำเลยเพื่อไปไถ่ถอนที่ดินโฉนดเลขที่ 20691 ในวันที่ 21 มีนาคม 2561 มาเป็นพยานเท่านั้น โดยจำเลยไม่ได้นำนายอานนท์มาเป็นพยานเพื่อสนับสนุนข้อกล่าวอ้างดังกล่าว ประกอบกับหากนายอานนท์นำเงิน 6,000,000 บาท ไปไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทแปลงดังกล่าวแล้วมีการแบ่งแยกเป็นแปลงเล็กหลายแปลง และนายอานนท์ยังต้องลงทุนก่อสร้างอาคารพาณิชย์เพื่อขายอีกซึ่งคงจะต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก แต่กลับไม่ปรากฏว่าจำเลยกับนายอานนท์ทำบันทึกข้อตกลงกันเป็นหนังสือหรือมีการนำนายอานนท์มาเป็นพยานเพื่อสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของจำเลย คำเบิกความของจำเลยจึงเลื่อนลอยไม่สมเหตุผล เมื่อพิจารณาคำเบิกความของจำเลย นางรัตนาและร้อยตำรวจตรีโอภาสทั้งหมดโดยตลอดแล้ว เห็นว่า คำเบิกความของจำเลย นางรัตนาและร้อยตำรวจตรีโอภาสไม่น่าเชื่อถือและมีน้ำหนักน้อย จำเลยจึงนำสืบไม่สมกับที่มีภาระการพิสูจน์ พยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่อาจรับฟังได้ตามที่จำเลยกล่าวอ้างว่าที่ดินพิพาทคดีนี้เป็นของนางรัตนาและร้อยตำรวจตรีโอภาสโดยร่วมกันซื้อมาจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าที่ดินพิพาทซึ่งรวมถึงที่ดินที่แบ่งในนามเดิมอีก 7 แปลง เป็นของจำเลยนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ดังที่วินิจฉัยไปข้างต้นว่า จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทรวมถึงที่ดินที่แบ่งในนามเดิมอีก 7 แปลง ด้วยการประมูลซื้อมาจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด การที่ที่ดินพิพาทจะเป็นสินสมรสก็ต่อเมื่อจำเลยได้ที่ดินพิพาทมาในระหว่างสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 (1) แต่อย่างไรก็ตามการสมรสของโจทก์และจำเลยได้สิ้นสุดลงแล้วด้วยการที่จำเลยยื่นฟ้องหย่าโจทก์และศาลมีคำพิพากษาให้หย่า ซึ่งการจัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาในกรณีที่มีการฟ้องหย่ากันนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1532 (ข) บัญญัติว่า "ถ้าเป็นการหย่าโดยคำพิพากษาของศาล คำพิพากษาส่วนที่บังคับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยานั้น มีผลย้อนหลังไปถึงวันฟ้องหย่า" ดังนี้ เมื่อคดีนี้เป็นฟ้องให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาเมื่อมีการหย่ากันแล้วโดยคำพิพากษาของศาลจึงต้องบังคับตามมาตรา 1532 (ข) กล่าวคือ ในส่วนของการบังคับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยานั้นให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันฟ้องหย่า ซึ่งการพิจารณาการได้มาเกี่ยวกับสินสมรสนอกจากจะต้องพิจารณามาตรา 1474 (1) ว่าเป็นทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาในระหว่างสมรสแล้วจะต้องพิจารณามาตรา 1532 (ข) ประกอบด้วย โดยหากเป็นกรณีที่มีการหย่าโดยคำพิพากษา ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาในระหว่างสมรสที่จะเป็นสินสมรสจะต้องได้มาอย่างช้าสุด ไม่เกินวันฟ้องหย่าด้วย โดยคดีที่จำเลยฟ้องหย่าโจทก์มีการยื่นฟ้องในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 ส่วนที่ดินพิพาทจำเลยรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 20691 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2558 ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 53456 จำเลยรับโอนมาเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 อันเป็นการได้รับโอนมาภายหลังจากวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยยื่นฟ้องหย่าโจทก์แล้ว แต่อย่างไรก็ตามที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าวจำเลยได้มาจากการประมูลซื้อทอดตลาดเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2558 โดยที่ดินโฉนดเลขที่ 20691 จำเลยชำระค่าที่ดินที่เหลือ 4,237,500 บาท ในวันที่ 30 ตุลาคม 2558 และจดทะเบียนโอนในวันที่ 17 ธันวาคม 2558 ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 53456 จำเลยชำระค่าที่ดินที่เหลือ 7,222,500 บาท ในวันที่ 29 มกราคม 2559 และจดทะเบียนรับโอนในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 ดังนี้ ถือว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 20691 ในวันที่ 17 ธันวาคม 2558 และได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 53456 ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 อันเป็นการได้มาภายหลังจากที่จำเลยฟ้องหย่าโจทก์ และทางนำสืบของโจทก์ไม่สามารถรับฟังได้ว่าจำเลยนำเงินที่เป็นสินสมรสไปชำระค่าที่ดิน เมื่อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงนี้จำเลยได้มาภายหลังวันที่ฟ้องหย่า จึงไม่เป็นสินสมรสของจำเลยกับโจทก์ตามมาตรา 1574 (1) ประกอบมาตรา 1532 (ข) โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอแบ่งที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 20691 และเลขที่ 53456 จากจำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 20691 ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย (ซึ่งเป็นแปลงคง) และที่ดินโฉนดเลขที่ 58052, 58053, 58054, 58055, 85056, 59057 และ 58058 ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นที่ดินที่จำเลยได้แบ่งในนามเดิมออกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 20691 และที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 53456 ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เป็นสินสมรสของโจทก์และจำเลย จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยเป็นรายละเอียด ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยต่อไป

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 20691 ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย (ซึ่งเป็นแปลงคง) และที่ดินโฉนดเลขที่ 58052, 58053, 58054, 58055, 85056, 59057 และ 58058 ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นที่ดินที่จำเลยได้แบ่งในนามเดิมออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 20691 และที่ดินโฉนดเลขที่ 53456 ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ยช.(พ)36/2565

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พันตำรวจโท ว. จำเลย - นาง ภ.

ชื่อองค์คณะ สุวิทย์ พรพานิช อโนชา ชีวิตโสภณ สมชัย ฑีฆาอุตมากร

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงราย - นายสงวนศักดิ์ กิมเอ็ง

  • นายอมรรัตน์ กริยาผล
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th