สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3031/2566

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3031/2566

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 171, 368 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (5), 246, 252

ข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างโจทก์และจำเลยภายหลังหย่าเป็นความตกลงระงับข้อพิพาทที่โจทก์และจำเลยไม่อาจรักษาสถานภาพของการสมรสที่มีต่อกันไว้ได้ด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน เป็นสัญญาอย่างหนึ่งที่ต้องตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 และมาตรา 368 การตีความข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยจะอาศัยเพียงลำพังข้อสัญญาข้อหนึ่งข้อใดเพียงข้อเดียว ย่อมไม่อาจทราบเจตนาอันแท้จริงในทางสุจริตของคู่สัญญาได้ สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 7 มีความว่า จำเลยยอมชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่โจทก์เดือนละ 25,000 บาท เป็นเวลา 5 ปี เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 10 ตุลาคม 2561 และจะชำระทุกวันที่ 10 ของทุกเดือนไปจนกว่าจะครบ 5 ปี แม้สัญญาระบุว่าเป็นข้อตกลงในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดู แต่แท้ที่จริงเป็นข้อตกลงในเรื่องการจ่ายค่าเลี้ยงชีพภายหลังการหย่า และสัญญาข้อ 8 ที่ว่า จำเลยตกลงจะชำระเงินโบนัสแก่โจทก์ปีละ 100,000 บาท เป็นเวลา 5 ปี เริ่มชำระงวดแรกในปี 2567 หลังจากที่จำเลยได้จ่ายเงินตามสัญญาข้อ 7 ครบ 5 ปี ในปี 2566 ซึ่งมีลักษณะเป็นเงินค่าเลี้ยงชีพภายหลังการหย่าเช่นกันและเป็นการจ่ายค่าเลี้ยงชีพต่อเนื่องกับสัญญาข้อ 7 รวมแล้วเป็นเวลา 10 ปี เป็นที่เห็นได้ชัดว่าเป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยตกลงยอมผ่อนผันตามคำเรียกร้องของโจทก์ในคำฟ้อง ด้วยการลดจำนวนเงินที่เรียกร้องทั้งสองจำนวนลงจากที่จำเลยจะต้องจ่ายในช่วง 5 ปีแรก เดือนละ 35,000 บาท เหลือเดือนละ 25,000 บาท และช่วง 5 ปีหลัง จากที่จำเลยต้องจ่ายเงินได้พิเศษประจำปีจากการทำงานของจำเลย (โบนัส) จำนวนครึ่งหนึ่งของเงินได้ เหลือเพียงปีละ 100,000 บาท แม้คำฟ้องและสัญญาประนีประนอมยอมความกำหนดให้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพจากเงินได้พิเศษประจำปีจากการทำงานของจำเลย (โบนัส) ในช่วง 5 ปี หลังก็ตาม แต่น่าจะเป็นเพราะโจทก์ต้องการเรียกร้องเป็นเงินครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินได้พิเศษประจำปีจากการทำงานหรือโบนัสของจำเลย มิได้ถือเอาเป็นข้อสำคัญว่าเงินที่จะนำมาจ่ายให้แก่โจทก์จะต้องเป็นเงินโบนัสที่จำเลยได้มาจากบริษัท บ. ประกอบกับสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ได้กำหนดเงื่อนไขไว้อย่างใดว่า เงินที่จะจ่ายแก่โจทก์ต้องเป็นเงินโบนัสที่จำเลยได้จากบริษัท บ. เมื่อพิเคราะห์เจตนาอันแท้จริงของโจทก์และจำเลยแล้ว โจทก์และจำเลยมีเจตนาตกลงกันให้จำเลยจ่ายเงินเป็นค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ ตามสัญญาข้อ 8 อีกปีละ 100,000 บาท เป็นเวลา 5 ปี เริ่มชำระงวดแรกในปี 2567 เป็นต้นไป นอกเหนือจากที่จะต้องจ่ายตามสัญญาข้อ 7 อย่างไรก็ตามหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 8 เป็นหนี้ในอนาคต ยังไม่ถึงกำหนดตามคำพิพากษาตามยอม จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยมิได้ปฏิบัติตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาตามยอมของศาล เช่นนี้โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้มีการบังคับคดีแก่จำเลยได้ คำสั่งและคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองที่ให้อายัดเงินในบัญชีธนาคารของจำเลยนั้น เป็นการไม่ชอบ และเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 252 และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ 2553 มาตรา 182/1

เนื้อหาฉบับเต็ม

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2561 ซึ่งโจทก์จำเลยตกลงกันว่า ข้อ 1 โจทก์และจำเลยตกลงจะไปจดทะเบียนหย่ากัน…ภายในวันนี้ หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาตามยอมแทนการแสดงเจตนา ข้อ 2…ข้อ 3…ข้อ 4…ข้อ 5…ข้อ 6…ข้อ 7 จำเลยยอมชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่โจทก์เดือนละ 25,000 บาท เป็นเวลา 5 ปี เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 10 ตุลาคม 2561 และจะชำระทุกวันที่ 10 ของทุกเดือนไปจนกว่าจะครบ 5 ปี ข้อ 8 จำเลยยินยอมชำระเงินโบนัสที่พึงได้จากบริษัท บ. ให้แก่โจทก์ปีละ 100,000 บาท เป็นระยะเวลา 5 ปี เริ่มชำระงวดแรกในปี 2567 โดยจะชำระภายใน 30 วัน หลังจากจำเลยได้รับเงินโบนัสจากบริษัท ข้อ 9… ข้อ 10 โจทก์และจำเลยตกลงกันตามข้อ 1 ถึงข้อ 9 และไม่ติดใจเรียกร้องประการอื่นใดอีก และข้อ 11 หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดข้อตกลงดังกล่าวข้างต้นยินยอมให้อีกฝ่ายบังคับคดีได้ทันที ศาลชั้นต้นออกคำบังคับตามยอม ต่อมาวันที่ 16 ตุลาคม 2561 โจทก์แถลงต่อศาลชั้นต้นขอให้ออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามยอมข้อ 7 ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี

วันที่ 8 มีนาคม 2564 โจทก์ยื่นคำร้องว่า จำเลยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมโดยไม่มีหนี้ค้างชำระ บัดนี้จำเลยได้ลาออกจากบริษัท บ. ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ทำให้โจทก์ไม่สามารถบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 7 และข้อ 8 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีคำสั่งให้ถอนการอายัดเงินกรณีจำเลยลาออก เงินโบนัสและเงินอื่น ๆ เหลือเพียงอายัดแต่เงินเดือน โจทก์ได้แถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินบำเหน็จของจำเลยกรณีลาออกจากงาน ซึ่งจำเลยจะได้รับจากบริษัท บ. ส่งเข้าบัญชีบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขานานาเหนือ ของจำเลย เป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 7 เดือนละ 25,000 บาท อีก 35 งวด จนถึงเดือนกันยายน 2566 และเงินโบนัสตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 8 ปีละ 100,000 บาท เป็นเวลา 5 ปี เป็นเงิน 500,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,375,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งว่าโจทก์สามารถใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้มีคำสั่งให้จำเลยชำระ เจ้าพนักงานจึงจะดำเนินการให้ได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งอายัดเงินจำนวน 1,375,000 บาท จากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือมีคำสั่งอื่นใดเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

ศาลชั้นต้นนัดพร้อม ในวันนัดพร้อมโจทก์แถลงต่อศาลชั้นต้นว่า โจทก์ไม่ติดใจเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 7 เนื่องจากยังไม่ถึงกำหนดชำระ จำเลยแถลงว่า จำเลยมิได้ลาออกจากงาน แต่บริษัท บ. เลิกจ้าง โดยจำเลยจะได้รับเงินจากการออกจากงานประมาณ 5,000,000 บาท ส่วนข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 8 ที่ว่า จำเลยยินยอมจะจ่ายเงินโบนัสที่พึงได้จากบริษัทดังกล่าวแก่โจทก์ปีละ 100,000 บาท เป็นเวลา 5 ปีนั้น เมื่อจำเลยออกจากงาน ข้อตกลงนี้เป็นพ้นวิสัยที่จะบังคับได้ต่อไป

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เจตนารมณ์ของคู่สัญญาประสงค์จะให้โจทก์ได้รับเงินรายปีจากจำเลยปีละ 100,000 บาท โดยเบื้องต้นให้จำเลยชำระจากเงินโบนัส เมื่อลาออกจากงานย่อมไม่มีเงินโบนัสรายปีที่จะนำมาจ่ายตามข้อตกลงได้ แต่หนี้ที่ตกลงกันไว้ยังมีอยู่ จึงให้อายัดเงินที่จำเลยจะได้จากบริษัท บ. จำนวน 500,000 บาท ตามข้อ 8 ของสัญญาประนีประนอมยอมความ ลงวันที่ 6 กันยายน 2561

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาประการเดียวว่า โจทก์มีสิทธิขออายัดเงินในบัญชีธนาคารของจำเลยเพื่อชำระเงินโบนัสแก่โจทก์ตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 8 หรือไม่ เห็นว่า คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ นอกจากโจทก์และจำเลยทำความตกลงในเรื่องหย่าซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ไปจดทะเบียนหย่ากันแล้ว ยังมีข้อตกลงกันในเรื่องการแบ่งทรัพย์สินและที่พิพาทกันในชั้นนี้คือ ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 8 ที่ว่า "จำเลยยินยอมชำระเงินโบนัสที่พึงได้จากบริษัท บ. ให้แก่โจทก์ ปีละ 100,000 บาท เป็นระยะเวลา 5 ปี เริ่มชำระงวดแรกในปี 2567 โดยจะชำระภายใน 30 วัน หลังจากจำเลยได้รับเงินโบนัสจากบริษัท" จำเลยฎีกาว่า ข้อตกลงที่จำเลยยินยอมชำระเงินโบนัสนี้เป็นสัญญาที่มีเงื่อนไขบังคับก่อนต่อเมื่อจำเลยจะต้องมีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวจากบริษัท บ. และจำเลยจะชำระภายใน 30 วัน หลังจากที่จำเลยได้รับเงินจากบริษัท เมื่อจำเลยพ้นจากสภาพการเป็นพนักงานของบริษัทนั้นแล้ว จำเลยไม่มีสิทธิจะได้รับเงินโบนัสที่จะนำมาชำระแก่โจทก์ การชำระเงินโบนัสแก่โจทก์จึงเป็นอันพ้นวิสัยนั้น เห็นว่า ข้อตกลงเรื่องการแบ่งทรัพย์สินระหว่างโจทก์และจำเลยภายหลังเมื่อหย่าเป็นความตกลงระงับข้อพิพาทที่โจทก์และจำเลยไม่อาจรักษาสถานภาพของการสมรสที่มีต่อกันไว้ได้ด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน เป็นสัญญาอย่างหนึ่งที่ต้องตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 171 และมาตรา 368 การตีความข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยจะอาศัยเพียงลำพังข้อสัญญาข้อหนึ่งข้อใดเพียงข้อเดียวดังที่จำเลยอ้างในฎีกา ย่อมไม่อาจทราบเจตนาอันแท้จริงในทางสุจริตของคู่สัญญาได้ โดยโจทก์แก้ฎีกาว่า การจ่ายเงินตามสัญญาข้อ 8 โจทก์ประสงค์ให้จำเลยจ่ายเงินให้โจทก์อีกปีละ 100,000 บาท เป็นเวลา 5 ปี เท่ากับสัญญาข้อ 7 โดยจำเลยขอจ่ายหลังจากจ่ายค่าเลี้ยงดูตามสัญญาข้อ 7 ครบ 5 ปีแล้ว ในปัญหานี้ สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 7 มีความว่า จำเลยยอมชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่โจทก์เดือนละ 25,000 บาท เป็นเวลา 5 ปี เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 10 ตุลาคม 2561 และจะชำระทุกวันที่ 10 ของทุกเดือนไปจนกว่าจะครบ 5 ปี แม้สัญญาระบุว่าเป็นข้อตกลงในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดู แต่แท้ที่จริงเป็นข้อตกลงในเรื่องการจ่ายค่าเลี้ยงชีพภายหลังการหย่า และสัญญาข้อ 8 ที่ว่า จำเลยตกลงจะชำระเงินโบนัสแก่โจทก์ปีละ 100,000 บาท เป็นเวลา 5 ปี เริ่มชำระงวดแรกในปี 2567 หลังจากที่จำเลยได้จ่ายเงินตามสัญญาข้อ 7 ครบ 5 ปี ในปี 2566 ซึ่งถือว่ามีลักษณะเป็นเงินค่าเลี้ยงชีพภายหลังการหย่าเช่นกันและเป็นการจ่ายค่าเลี้ยงชีพต่อเนื่องกับสัญญาข้อ 7 รวมแล้วเป็นเวลา 10 ปี เป็นที่เห็นได้ชัดว่าเป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยตกลงยอมผ่อนผันตามคำเรียกร้องของโจทก์ในคำฟ้องด้วยการลดจำนวนเงินที่เรียกร้องทั้งสองจำนวนลงจากที่จำเลยจะต้องจ่ายในช่วง 5 ปีแรก เดือนละ 35,000 บาท เหลือเดือนละ 25,000 บาท และช่วง 5 ปีหลัง จากที่จำเลยต้องจ่ายเงินได้พิเศษประจำปีจากการทำงานของจำเลย (โบนัส) จำนวนครึ่งหนึ่งของเงินได้ เหลือเพียงปีละ 100,000 บาท แม้คำฟ้องและสัญญาประนีประนอมยอมความกำหนดให้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพจากเงินได้พิเศษประจำปีจากการทำงานของจำเลย (โบนัส) ในช่วง 5 ปี หลังก็ตาม แต่น่าจะเป็นเพราะโจทก์ต้องการเรียกร้องเป็นเงินครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินได้พิเศษประจำปีจากการทำงานหรือโบนัสของจำเลย มิได้ถือเอาเป็นข้อสำคัญว่าเงินที่จะนำมาจ่ายให้แก่โจทก์จะต้องเป็นเงินโบนัสที่จำเลยได้มาจากบริษัท บ. ซึ่งสัญญาประนีประนอมยอมความก็ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขไว้อย่างใดว่า เงินที่จะจ่ายแก่โจทก์ต้องเป็นเงินโบนัสที่จำเลยได้จากบริษัท บ. ศาลฎีกาได้พิเคราะห์เจตนาอันแท้จริงของโจทก์และจำเลยแล้วเห็นพ้องด้วยกับศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษว่า โจทก์และจำเลยมีเจตนาตกลงกันให้จำเลยจ่ายเงินเป็นค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ตามสัญญาข้อ 8 อีกปีละ 100,000 บาท เป็นเวลา 5 ปี เริ่มชำระงวดแรกในปี 2567 เป็นต้นไป นอกเหนือจากที่จะต้องจ่ายตามสัญญาข้อ 7 ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตาม หนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 8 เป็นหนี้ในอนาคตยังไม่ถึงกำหนดตามคำพิพากษาตามยอม จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยมิได้ปฏิบัติตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาตามยอมของศาล เช่นนี้โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้มีการบังคับคดีแก่จำเลยได้ คำสั่งและคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองที่ให้อายัดเงินในบัญชีธนาคารของจำเลยนั้น เป็นการไม่ชอบ และเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 และพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 182/1

พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ยช.(พ)6/2566

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นางสาว ร. จำเลย - นาย พ.

ชื่อองค์คณะ สมชัย ฑีฆาอุตมากร อโนชา ชีวิตโสภณ ชนากานต์ ธีรเวชพลกุล

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดปทุมธานี - นายทรงพล พันธุ์วิชาติกุล

  • นางแก้วตา เทพมาลี
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th