คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3060/2537
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 47, 55, 172, 183, 225 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 ม. 41
ใบมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ทำที่เมืองฮ่องกงมีหนังสือของโนตารีปับลิกแห่งเมืองฮ่องกงรับรองว่าผู้มีอำนาจลงชื่อแทนโจทก์เป็นผู้ลงชื่อในช่องผู้มอบอำนาจ โดยมีกงสุลไทยเมืองฮ่องกงรับรองลายมือชื่อของโนตารีปับลิกอีกชั้นหนึ่งเมื่อจำเลยไม่ได้นำสืบหักล้าง จึงฟังได้ว่าใบมอบอำนาจฉบับนี้ลงชื่อโดยผู้มีอำนาจของโจทก์จริง ไม่จำเป็นต้องให้โนตารีปับลิกรับรองด้วยว่าผู้ที่ลงชื่อมอบอำนาจได้กระทำต่อหน้าตนและรับรองว่ามีตราดุนประทับในใบมอบอำนาจ ใบมอบอำนาจให้ฟ้องคดีดังกล่าวย่อมมีผลใช้ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ตามกฎหมายฮ่องกง และแนบหนังสือรับรองของโนตารีปับลิกซึ่งรับรองว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นโดยถูกต้องตามกฎหมายฮ่องกงมาท้ายฟ้อง ย่อมเป็นคำฟ้องที่สมบูรณ์แจ้งชัดแล้ว ไม่จำต้องแนบหนังสือรับรองการเป็นนิติบุคคลมาท้ายฟ้องด้วย ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม โจทก์ฟ้องว่าเครื่องหมายการค้าพิพาทเป็นของโจทก์จำเลยให้การว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของเครื่องหมายการค้าพิพาทแต่ผู้เดียว ไม่ได้กล่าวอ้างว่าเป็นของบุคคลอื่นใด ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้เพียงว่าโจทก์หรือจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่ากัน การที่จำเลยอุทธรณ์ว่าเครื่องหมายการค้าเป็นของผู้อื่นไม่ใช่ของโจทก์จึงเป็นการอุทธรณ์นอกคำให้การ และนอกประเด็น เครื่องหมายการค้าของโจทก์รูปที่ 6 เป็นอักษรโรมันคำว่าLEEKUMKEE รูปที่ 2 เป็นอักษรจีนอ่านว่า ลีคุมกี หรือลีคุมคีหรือลีคัมกีหรือลีกัมกี รูปที่ 6 เป็นกรอบรูปประดิษฐ์สี่เหลี่ยมผืนผ้าตรงกลาง เป็นรูปวงกลมมีหญิงจีนยืนชิดโต๊ะอาหารหันหน้าเข้าโต๊ะ มือซ้ายวางคว่ำบนโต๊ะหลังมือชิดจานอาหาร รูปที่ 7 เป็นรูปแถบชายธงโค้งด้านเว้าหงายขึ้น ตรงกลางมีรูปวงกลม หญิงจีน โต๊ะอาหารและจานอาหารเช่นเดียวกับในรูปที่ 6 ตรงชายแถบด้านซ้ายมีอักษรจีนอ่านว่า ลีกัมกี และชายแถบด้านขวามีอักษรโรมันคำว่า LEEKUMKEE อ่านว่า ลีกัมลี รูปที่ 8 เป็นรูปพัดจีนประดิษฐ์ มีอักษรโรมัน L.K.K. อ่านว่า แอลเคเคอยู่เหนืออักษรจีนที่อ่านว่า ลีคัมกี รูปที่ 9 เป็นรูปพัดจีนประดิษฐ์เหมือนรูปที่ 8 แต่เพิ่มตัวอักษรจีนอ่านว่าลีคุมกี อยู่เหนือพัดจีน และ อักษรโรมันคำว่า LEEKUMKEEอ่านว่า ลีคัมกี อยู่ใต้พัดจีน ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยประกอบด้วยรูปภาพและตัวอักษรมีทั้งหมดสองส่วน 3 รูปส่วนบนเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าใหญ่ภายในมีกรอบรูปประดิษฐ์ล้อมรอบ ตรงกลางเป็นรูปเรือสำเภาจีน เหนือขึ้นไปเป็นอักษรโรมันคำว่า LEEMIANKEE อ่านว่า ลีเมียนกี ด้านซ้ายและขวามีอักษรจีนอ่านว่า ลีเมียนกี อยู่ในกรอบรูปประดิษฐ์เล็ก ๆ ส่วนล่างประกอบด้วยรู)2 รูปเรียงกัน รูปแรกด้านซ้ายเป็นรูปประดิษฐ์คล้ายเข็มขัดมีหัวอยู่ตรงกลาง มีรูปหญิงจีนถือจานอาหารอยู่ตรงหัวเข็มขัด ส่วนสายเข็มขัดด้านขวามีอักษรโรมันอ่านว่า LEEMAINKEE อ่านว่า ลีเมียนกีกับอักษรจีนอ่านว่า ลีเมียนกี รูปที่ 2 ด้านขวาเป็นรูปคล้ายพัดจีนประดิษฐ์ตั้งตรงด้านมือจับชี้ลง มีอักษรโรมัน L.M.K.อ่านว่า แอลเอ็มเคและอักษรจีนอ่านว่าลีเมียนกีอยู่ภายในกรอบรูปพัดจีนโดยอักษรโรมันอยู่เหนืออักษรจีนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้ง 7 รูป ดังกล่าวกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงแตกต่างกันมาก ทั้งนี้เพราะเครื่องหมายการค้าของโจทก์รูปที่ 1 และ 2 มีเพียงตัวอักษรเท่านั้นไม่มีรูปภาพ การอ่านออกเสียงก็ต่างกับเครื่องหมายการค้าของจำเลย และเครื่องหมายการค้าของจำเลยจุดเด่นอยู่ที่รูปภาพส่วนของโจทก์อยู่ที่ตัวอักษร เครื่องหมายการค้าของโจทก์รูปที่ 6 เป็นรูปภาพเดี่ยว ของจำเลยมีรูปภาพถึง 3 รูปแม้จะมีรูปหญิงจีนเหมือนกันแต่ท่าทางก็ต่างกัน ของโจทก์รูปหญิงจีนเป็นรูปเด่น ของจำเลยเป็นเพียงรูปเล็ก ๆ ของรูปหนึ่งใน 3 รูป เครื่องหมายการค้าของโจทก์รูปที่ 7 แม้จะมีอักษรโรมันและอักษรจีนเช่นเดียวกับของจำเลย แต่ก็ออกเสียงคนละอย่างและอยู่ในตำแหน่งที่ต่างกัน เครื่องหมายการค้าของโจทก์รูปที่ 8 และรูปที่ 9 เป็นรูปเดี่ยว ของจำเลยเป็นรูปภาพ 3 รูป มีรูปพัดจีนเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ และเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีด้ามส่วนของโจทก์นั้นขอบรูปพัดเป็นรูปเถาไม้เลื้อย คดเคี้ยวคล้ายลายกนก ไม่มีด้ามแม้รูปที่ 9ของโจทก์จะมีตัวอักษรภาษาจีนและอักษรโรมันก็อ่านออกเสียงคนละอย่างกับของจำเลย ดังนั้นเครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์รูปหนึ่งรูปใดใน 7 รูปดังกล่าวเลย
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า คำ รูปและสลากเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า LEE KUM KEE อักษรจีนอ่านว่า ลี คุม กี หรือ ลี คุม คี หรือ ลี คัม กี หรือ ลี กัม กีหรือ หลี กิม กี่ อักษรไทยคำว่า ลีคัมกี สลากเครื่องหมายการค้ารูปเด็กและหญิงจีนแจวเรือ รูปหญิงจีนในกรอบรูปประดิษฐ์รูปคล้ายพัดจีนประดิษฐ์มีอักษรจีนอ่านว่า ลี คุม กี และอักษรโรมันตัว LKK รวมอยู่ในรูปคล้ายพัดจีนประดิษฐ์ รูปคล้ายพัดจีนประดิษฐ์มีอักษรจีนอ่านว่า ลี คุม กี และอักษรโรมันตัว LKK รวมอยู่ในรูปคล้ายพัดจีนประดิษฐ์ กับมีอักษรจีนอ่านว่า ลี คุม กี และอักษรโรมันคำว่า LEE KUM KEE อยู่เหนือและใต้รูปดังกล่าว โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและสลากเครื่องหมายการค้าไว้หลายคำขอ แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าแจ้งว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลย จึงจดทะเบียนให้ไม่ได้ จำเลยไม่มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าข้างต้น แต่จำเลยได้ผลิตสินค้าน้ำมันหอย ภายใต้สลากเครื่องหมายการค้ารูปเด็กและหญิงจีนแจวเรือ รวมทั้งเครื่องหมายการค้าอักษรจีนอ่านว่า ลี เมียน กี อักษรโรมันคำว่า LEE MAIN KEE และอักษรไทยคำว่า ตราลีเมียนกี ออกจำหน่าย ทำให้โจทก์จำหน่ายสินค้าน้ำมันหอย ของโจทก์ที่ใช้เครื่องหมายการค้าและสลากเครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้น้อยลงเดือนละ 50,000 บาท ขอให้พิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าพิพาทและมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลย เครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ให้จำเลยถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 71434, 77533, 87222, และ 91504 หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และห้ามจำเลยใช้หรือเกี่ยวข้องกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 50,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยเลิกผลิตและจำหน่ายสินค้าน้ำมันหอย ภายใต้เครื่องหมายการค้าและสลากเครื่องหมายการค้าพิพาท
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมโจทก์ไม่ใช่เจ้าของเครื่องหมายการค้าตามฟ้องแต่เพียงผู้เดียวความเสียหายของโจทก์ประมาณเดือนละ 100 บาทเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าตามเอกสารท้ายฟ้องรูปที่ 1 รูปที่ 2 รูปที่ 4 รูปที่ 5 รูปที่ 8และรูปที่ 9 เครื่องหมายการค้าของจำเลยตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 108832 (ทะเบียนที่ 71434) 116242 (ทะเบียนที่ 77533)และ 139212 (ทะเบียนที่ 91504) เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารท้ายฟ้องรูปที่ 4 รูปที่ 5 ให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 71434 (คำขอเลขที่ 108832) 77533(คำขอเลขที่ 116242) 91505 (คำขอเลขที่ 139212) หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยห้ามจำเลยใช้หรือเกี่ยวข้องกับเครื่องหมายการค้าข้างต้นและให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะเลิกใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.11 หรือเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 รูปที่ 1 ถึงรูปที่ 9 โดยแบ่งเป็น 6 คำขอ แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าแจ้งว่าเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนตามคำขอที่ 169030 เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ 71434 คำขอที่ 108832 ทะเบียนเลขที่ 77533คำขอเลขที่ 116242 และทะเบียนเลขที่ 91504 คำขอเลขที่ 139212ของจำเลย จึงจดทะเบียนให้ไม่ได้ โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสามคำขอดังกล่าวรวมทั้งเครื่องหมายการค้าเลขที่ 87222 คำขอเลขที่ 116243 ของจำเลยอีกคำขอหนึ่งด้วย โดยอ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าเหล่านั้นดีกว่าจำเลยพร้อมทั้งเรียกค่าเสียหาย ศาลล่างทั้งสองฟังต้องกันมาโดยไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามคำขอสามคำขอแรกเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่โจทก์อ้างว่าเป็นของโจทก์ ตามเอกสารท้ายฟ้องรูปที่ 4 รูปที่ 5 จึงพิพากษาให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามคำขอสามคำขอแรกและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเลขที่ 87222 คำขอเลขที่ 116243 ศาลล่างทั้งสองฟังว่าไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่โจทก์อ้างว่าเป็นของโจทก์จึงยกคำขอส่วนนี้โจทก์ฎีกาว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยเลขที่ 87222 คำขอเลขที่ 116243 เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ขอให้บังคับตามฟ้อง ส่วนจำเลยขอให้ยกฟ้องเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าสามเลขทะเบียนที่ศาลล่างทั้งสองให้เพิกถอนและให้ใช้ค่าเสียหาย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะใบมอบอำนาจให้ฟ้องคดีไม่สมบูรณ์ เห็นว่า ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ฟ้องคดีโดยอาศัยใบมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.10 ซึ่งท่าเมืองฮ่องกงและมีเอกสารหมาย จ.9 อันเป็นคำรับรองของโนตารีลีปับลิกแห่งเมืองฮ่องกงรับรองว่าลายมือชื่อที่ลงในช่องผู้รับมอบอำนาจคือลายมือชื่อของผู้มีอำนาจลงชื่อแทนโจทก์ได้ ซึ่งกงสุลไทยเมืองฮ่องกงได้รับรองลายมือชื่อของโนตารีปับลิกอีกชั้นหนึ่งจำเลยมิได้นำสืบหักล้างประการใด จึงฟังได้ว่าใบมอบอำนาจฉบับนี้ลงชื่อโดยผู้มีอำนาจของโจทก์จริง ไม่จำเป็นต้องให้โนตารีปับลิกรับรองด้วยว่าผู้ที่ลงชื่อมอบอำนาจนั้นได้กระทำต่อหน้าตนดังที่จำเลยฎีกา ส่วนที่จำเลยอ้างว่าไม่มีตราประทับในใบมอบอำนาจปรากฏว่าใบมอบอำนาจดังกล่าวมีตราประทับเป็นตราดุน ข้ออ้างของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น และตราประทับนี้ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีโนตารีปับลิกรับรองว่ามีตราประทับไว้ด้วยดังที่จำเลยอ้างในฎีกาเพราะย่อมปรากฏให้เห็นเองในเอกสาร ส่วนข้อที่จำเลยอ้างว่าใบมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.10 เป็นใบมอบอำนาจทั่วไปมิใช่มอบอำนาจให้ฟ้องคดีนั้น เห็นว่า ใบมอบอำนาจดังกล่าวมีข้อความตอนท้ายว่า "ให้มีอำนาจฟ้องร้องดำเนินและต่อสู้คดีทางอาญาและทางแพ่งในศาลทั้งหลาย ให้มีอำนาจเรียกร้องและฟ้องเรียกค่าเสียหายต่าง ๆ ให้มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาเพิกถอน ประนีประนอมยอมความและระงับคดีต่าง ๆ ทั้งมวลเช่นว่ามานั้น" ฉะนั้นเอกสารหมาย จ.10 จึงเป็นใบมอบอำนาจให้ฟ้องคดีด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ปัญหาต่อมาตามฎีกาของจำเลยที่ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะมิได้แนบหนังสือรับรองการเป็นนิติบุคคลและหนังสือรับรองการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามากับฟ้องนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายฮ่องกง และแนบหนังสือรับรองของโนตารีปับลิกฮ่องกงมาท้ายคำฟ้องซึ่งมีข้อความว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นโดยถูกต้องตามกฎหมายฮ่องกง โดยมีกงสุลไทย ณ เมืองฮ่องกงรับรองลายมือชื่อโนตารีปับลิกย่อมเป็นคำฟ้องที่สมบูรณ์แจ้งชัดแล้วไม่มีกฎหมายใดบังคับว่าโจทก์ต้องแนบหนังสือรับรองการเป็นนิติบุคคลกับแนบหนังสือรับรองการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามาท้ายฟ้องดังที่จำเลยอ้าง ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ปัญหาต่อมาตามฎีกาของจำเลยมีว่า การที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์มิใช่เครื่องหมายการค้าพิพาท แต่เจ้าของเครื่องหมายการค้านี้ได้แก่ ห้างหุ้นส่วน ลี กัม กี ซึ่งยังดำเนินกิจการอยู่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลย แต่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยเพราะถือว่าเป็นเรื่องนอกประเด็นนั้นชอบหรือไม่เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าเครื่องหมายการค้าพิพาทเป็นของโจทก์ โดยโจทก์ได้ใช้และโฆษณากับสินค้าเครื่องปรุงอาหารและได้จดทะเบียนไว้ในหลายประเทศ จำเลยให้การว่าโจทก์มิใช่เจ้าของเครื่องหมายการค้าพิพาทแต่ผู้เดียว ไม่เคยใช้และไม่เคยมีสินค้าของโจทก์ขายในประเทศไทย และไม่เคยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทยศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ในประเด็นข้อ 3 ว่าโจทก์หรือจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้า คำ รูป และฉลากเครื่องหมายการค้าตามฟ้องดีกว่ากัน จึงเห็นได้ว่า จำเลยมิได้กล่าวอ้างว่าเครื่องหมายการค้าพิพาทเป็นของบุคคลอื่นใด การที่จำเลยกล่าวอ้างในอุทธรณ์ว่าเครื่องหมายการค้าเป็นของผู้อื่นมิใช่โจทก์ จึงเป็นการนอกประเด็น นอกจากนี้ตามประเด็นที่ศาลชั้นต้นได้กำหนดไว้นั้นคงมีเพียงว่า โจทก์หรือจำเลยมีสิทธิดีกว่ากันเท่านั้น มิได้กำหนดว่าเครื่องหมายการค้าพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ และการที่จะวินิจฉัยว่าโจทก์หรือจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่ากัน สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นการอุทธรณ์นอกประเด็น ศาลอุทธรณ์ชอบแล้วไม่รับวินิจฉัยชอบแล้ว
สำหรับฎีกาของโจทก์เกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยเลขที่ 87222 คำขอเลขที่ 116243 นั้น โจทก์ฎีกาว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยดังกล่าวเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.11 รูปที่ 1, 2และ 6 ถึง 9 พิเคราะห์แล้ว เครื่องหมายการค้าของจำเลยนั้นปรากฏตามเอกสารหมาย จ.35 หรือ ล.5 ดังนี้คือ ภาพรวมทั้งหมดนั้นประกอบด้วยรูปภาพและตัวอักษรมีทั้งหมดสองส่วน ส่วนแรกคือส่วนบนเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าใหญ่ ส่วนที่สองส่วนล่างอยู่ใต้ส่วนแรก ประกอบด้วยรูปสองรูปเรียงกัน ข้างซ้ายเป็นรูปประดิษฐ์คล้ายเข็มขัดมีหัวอยู่ตรงกลาง ข้างขวาเป็นรูปคล้ายพัดจีนประดิษฐ์ตั้งตรงด้านมือจับชี้ลง รูปแรกมีขนาดใหญ่กว่ารูปที่สองประมาณสี่เท่าและใหญ่กว่ารูปที่สามประมาณเกือบยี่สิบเท่า รูปทั้งสามนี้แม้แยกกันเป็นคนละรูปแต่ก็อยู่ใกล้ชิดกัน ขอบซ้ายสุดของรูปที่สองก็ไม่ล้ำขอบซ้ายสุดของรูปแรกและขอบขวาสุดของรูปที่สามก็ไม่ล้ำขอบขวาสุดของรูปแรก และในสี่เหลี่ยมผืนผ้ารูปแรกนั้นมีกรอบรูปประดิษฐ์ล้อมรอบ ตรงกลางเป็นรูปเรือสำเภาจีน เหนือขึ้นไปเป็นอักษรโรมันคำว่า LEE MAIN KEE อ่านว่า ลี เมียน กี ด้านซ้ายและขวามีอักษรภาษาจีนอ่านว่า ลี เมียน กี อยู่ในกรอบรูปประดิษฐ์เล็ก ๆ ส่วนรูปที่สองอันเป็นรูปคล้ายเข็มขัดนั้นตรงกลางมีรูปหญิงจีนถือจานอาหารอยู่ตรงส่วนหัวเข็มขัดส่วนสายเข็มขัดทั้งด้านซ้ายและขวามีกรอบรูปประดิษฐ์ และเฉพาะกรอบรูปประดิษฐ์ด้านขวามือมีอักษรโรมันคำว่า LEE MAIN KEE อ่านว่า ลี เมียน กีกับ อักษรจีนอ่านว่า ลี เมียน กี สำหรับรูปที่สามอันเป็นรูปคล้ายพัดจีนประดิษฐ์นั้น มีอักษรโรมัน L.M.K. อ่านว่าแอล เอ็ม เค และอักษรจีนอ่านว่า ลี เมียน กี อยู่ภายในกรอบรูปพัดจีนดังกล่าว โดยอักษรโรมันอยู่เหนืออักษรจีนส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.11 รูปที่ 1เป็นอักษรโรมันคำว่า LEE KUM KEE รูปที่ 2 เป็นอักษรจีนอ่านว่าลี คุม กี หรือ ลี คุม คี หรือ ลี คัม กี หรือ ลี กัม กี รูปที่ 6เป็นกรอบรูปประดิษฐ์สี่เหลี่ยมผืนผ้า ตรงกลางเป็นรูปวงกลมภายในรูปวงกลมเป็นรูปหญิงจีนยืนชิดโต๊ะอาหารโดยหันหน้าเข้าทางโต๊ะมือขวาถือของสิ่งหนึ่งยกแปะไว้เหนืออก ส่วนมือซ้ายวางคว่ำบนโต๊ะหลังมือชิดจานอาหารซึ่งวางอยู่บนโต๊ะ รูปที่ 7 เป็นรูปแถบชายธงโค้งด้านเว้าหงายขึ้น ตรงกลางมีรูปวงกลมหญิงจีน โต๊ะอาหารและจานอาหารเช่นเดียวกับในรูปที่ 6 ตรงชายแถบด้านซ้ายมีอักษรจีนอ่านว่า ลี กัม กี และชายแถบด้านขวามีอักษรโรมันคำว่าLEE KUM KEE อ่านว่า ลี กัม กี รูปที่ 8 เป็นรูปพัดจีนประดิษฐ์มีอักษรโรมัน L.K.K. อ่านว่า แอล เค เค อยู่เหนืออักษรจีนที่อ่านว่า ลี คัม กี รูปที่ 9 เป็นรูปพัดจีนประดิษฐ์เหมือนรูปที่ 8แต่เพิ่มตัวอักษรจีนอ่านว่า ลี คุม กี อยู่เหนือพัดจีน และอักษรโรมันคำว่า LEE KUM KEE อ่านว่า ลี คัม กี อยู่ใต้พัดจีนศาลฎีกาได้พิเคราะห์เปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าของจำเลยกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งเจ็ดรูปดังกล่าวแล้ว เห็นว่าแตกต่างกันมาก กล่าวคือสำหรับเครื่องหมายการค้าของโจทก์รูปที่ 1, 2นั้น ของโจทก์มีเพียงตัวอักษรเท่านั้นไม่มีรูปภาพใด ๆ เลยและการอ่านออกเสียงก็ต่างกันกับอักษรที่มีอยู่ในรูปภาพของเครื่องหมายการค้าของจำเลย โดยจุดเด่นของเครื่องหมายการค้าอยู่ที่รูปภาพ ส่วนของโจทก์อยู่ที่ตัวอักษร และสำหรับเครื่องหมายการค้าของโจทก์รูปที่ 6 นั้น แม้จะเป็นรูปภาพก็เป็นรูปภาพเดี่ยว ส่วนของจำเลยเป็นรูปภาพถึงสามภาพ และแม้ต่างมีรูปหญิงจีน แต่ลักษณะท่าทางก็ต่างกัน และของโจทก์รูปหญิงจีนเป็นรูปเด่น ส่วนของจำเลยเป็นเพียงรูปเล็ก ๆ ของรูปหนึ่งในสามรูปเท่านั้น และสำหรับเครื่องหมายการค้าของโจทก์รูปที่ 7แม้จะมีอักษรโรมันและอักษรจีนเช่นเดียวกับของจำเลย แต่ออกเสียงคนละอย่างและอยู่ในตำแหน่งที่ต่างกัน สำหรับเครื่องหมายการค้ารูปที่ 8 ของโจทก์นั้น ก็เป็นรูปเดี่ยว ต่างกับของจำเลยที่เป็นรูปภาพสามส่วนมีรูปพัดจีนเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ และรูปพัดจีนก็เป็นเพียงรูปจำลองกล่าวคือเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเอาด้านยาวตั้งขึ้นและมีด้ามเท่านั้น ส่วนรูปพัดจีนประดิษฐ์ในเครื่องหมายการค้ารูปที่ 8 ของโจทก์นั้นขอบรูปพัดเป็นรูปเถาไม้เลื้อย คดเคี้ยวลายกนก ด้ามพัดก็ไม่ปรากฏ ต่างกันมากสำหรับเครื่องหมายการค้าของโจทก์รูปที่ 9 นั้น แตกต่างกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยเช่นเดียวกับในรูปที่ 8 ส่วนที่มีตัวอักษรภาษาจีนและภาษาโรมันนั้น ก็อ่านออกเสียงคนละอย่างฉะนั้นจึงเห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยเลขที่ 87222คำขอเลขที่ 116243 นั้น ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.11 รูปที่ 1, 2 และรูปที่ 6 ถึง 9รูปใดเลย
พิพากษายืน
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - บริษัท ลี คุม กี คัมปะนี ลิมิเต็ด จำเลย - บริษัท ไทย สุรีย์ฟูด จำกัด
ชื่อองค์คณะ นิเวศน์ คำผอง มีพาศน์ โปตระนันทน์ สมาน เวทวินิจ
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan