คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 313/2567
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/30, 1349 พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ม. 11, 13, 16
การเรียกร้องค่าทดแทนเป็นสิทธิของเจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่เพื่อชดเชยความเสียหายอันที่เกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสี่ โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิที่จะฟ้องเรียกค่าทดแทนการใช้ที่ดินจากจำเลยเป็นคดีต่างหากได้ หากศาลในคดีก่อนวินิจฉัยชี้ขาดให้จำเลยได้สิทธิทางจำเป็นบนที่ดินของโจทก์ทั้งสาม โดยโจทก์ทั้งสามไม่จำต้องฟ้องแย้งเรียกค่าทดแทนมาในคำให้การ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของคู่ความว่า มีการบังคับคดีเปิดทางจำเป็นตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2555 โจทก์ทั้งสามจึงชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนการใช้ทางจำเป็นบนที่ดินของโจทก์ทั้งสามนับตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2555 อายุความสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนของโจทก์ทั้งสามจึงเริ่มนับแต่วันดังกล่าว เมื่อ ป.พ.พ. หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะในเรื่องอายุความใช้ค่าทดแทนในการเปิดทางจำเป็นไว้ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อนับระยะเวลานับแต่วันที่มีการเปิดใช้ทางจำเป็นจนถึงวันที่โจทก์ทั้งสามฟ้องเรียกค่าทดแทนในคดีนี้เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี สิทธิเรียกค่าทดแทนของโจทก์ทั้งสามจึงยังไม่ขาดอายุความ
โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าทดแทนที่ดินแก่โจทก์ทั้งสามเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่าน สำหรับโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 200,000 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 100,000 บาท และโจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสามฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังยุติว่า ก่อนหน้านี้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ถูกนางสาวมาลีและพันเอกวินัยฟ้องต่อศาลชั้นต้น ให้เปิดทางผ่านที่ดินของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ที่ล้อมอยู่ออกสู่ทางสาธารณะรวม 2 คดี คือคดีหมายเลขแดงที่ 770/2548 และคดีหมายเลขแดงที่ 3972/2548 ตามลำดับ ซึ่งตามคำฟ้องทั้ง 2 คดี เจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมไม่ได้เสนอค่าทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 และโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่ได้ฟ้องแย้งขอให้เจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมใช้ค่าทดแทนเพราะเหตุมีทางผ่านเช่นกัน สำหรับการเปิดทางจำเป็นในคดีหมายเลขแดงที่ 770/2548 เป็นคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาและต่อมาศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง การเปิดทางจำเป็นชั่วคราวจึงสิ้นสุดลง ในชั้นนี้คงพิจารณาเฉพาะทางจำเป็นที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ 3972/2548 เท่านั้น ซึ่งในคดีดังกล่าวศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เปิดทางจำเป็นในที่ดินของโจทก์ทั้งสาม
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามประการแรกว่า การใช้สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสามขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า ตามมาตรา 1349 วรรคสี่ ผู้มีสิทธิผ่านทางจำเป็นต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมเพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการขอเปิดทางผ่าน แต่ไม่ได้กำหนดว่าต้องใช้ค่าทดแทนก่อนจึงใช้ทางจำเป็นได้ ดังนั้น การฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็นจึงไม่จำต้องเสนอชดใช้ค่าทดแทนที่ดินแต่เป็นหน้าที่ของเจ้าของที่ดินที่ถูกฟ้องให้เปิดทางจำเป็นที่จะต้องเรียกร้องค่าทดแทนที่ดินขึ้นมาเอง เมื่อจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมไม่เสนอค่าทดแทนแก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่ล้อม และเจ้าของที่ดินที่ล้อมไม่ได้ฟ้องแย้งเรียกค่าทดแทนแก่เจ้าของที่ดินที่ถูกล้อม คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องค่าทดแทนที่จะต้องพิจารณา และเป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสามต้องไปว่ากล่าวเป็นคดีอื่น ดังที่ศาลอุทธรณ์ในคดีหมายเลขแดงที่ 3972/2548 ของศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้ตอนหนึ่ง ซึ่งชอบด้วยเหตุผลแล้ว และแม้การใช้ทางจำเป็น เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายก็ตามแต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงข้อจำกัดสิทธิของเจ้าของที่ดินแปลงที่ล้อมที่ดินของผู้อื่นจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ ต้องยอมให้เจ้าของที่ดินแปลงที่ถูกล้อมใช้ทางผ่านที่ดินของตนเพื่อออกไปสู่ทางสาธารณะได้เท่านั้น ไม่ใช่บทบัญญัติที่เป็นการให้สิทธิเจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมที่จะเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นหรือกระทำการใดๆในที่ดินของผู้อื่นได้โดยพลการ ทั้งสิทธิในการใช้ทางจำเป็นตามกฎหมายดังกล่าวจะต้องพิจารณาสภาพความเป็นจริงในขณะนั้นว่าเข้าเงื่อนไขตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 และ มาตรา 1350 บัญญัติไว้หรือไม่ด้วย ที่จำเลยแก้ฎีกาว่า โจทก์ทั้งสามไม่ได้ฟ้องแย้งมาในคำให้การหรือฟ้องเป็นคดีใหม่ภายในอายุความ เพิ่งฟ้องเป็นคดีนี้จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า ขณะที่โจทก์ทั้งสามยื่นคำให้การในคดีก่อน ข้อเท็จจริงยังไม่เป็นอันยุติว่า จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมมีสิทธิใช้ทางผ่านที่ดินของโจทก์ทั้งสามที่ล้อมอยู่ได้หรือไม่ จึงต้องใช้ศาลชี้ขาดข้อเท็จจริงให้รับฟังเป็นยุติก่อนว่า ตามสภาพของที่ดินนั้น เข้าเงื่อนไขทางจำเป็นหรือไม่ และการเรียกร้องค่าทดแทนเป็นสิทธิของเจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่เพื่อชดเชยความเสียหายอันที่เกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสี่ โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิที่จะฟ้องเรียกค่าทดแทนการใช้ที่ดินจากจำเลยเป็นคดีต่างหากได้หากศาลในคดีก่อนวินิจฉัยชี้ขาดให้จำเลยได้สิทธิทางจำเป็นบนที่ดินของโจทก์ทั้งสาม โดยโจทก์ทั้งสามไม่จำต้องฟ้องแย้งเรียกค่าทดแทนมาในคำให้การตามที่จำเลยแก้ฎีกา เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของคู่ความว่า มีการบังคับคดีเปิดทางจำเป็นตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2555 โจทก์ทั้งสามจึงชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนการใช้ทางจำเป็นบนที่ดินของโจทก์ทั้งสามนับตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2555 อายุความสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนของโจทก์ทั้งสามจึงเริ่มนับแต่วันดังกล่าว เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะในเรื่องอายุความใช้ค่าทดแทนในการเปิดทางจำเป็นไว้ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อนับระยะเวลานับแต่วันที่มีการเปิดใช้ทางจำเป็นจนถึงวันที่โจทก์ทั้งสามฟ้องเรียกค่าทดแทนในคดีนี้เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี สิทธิเรียกค่าทดแทนของโจทก์ทั้งสามจึงยังไม่ขาดอายุความ
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า โจทก์ทั้งสามมีสิทธิได้รับค่าทดแทนหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า แม้จำเลยให้การว่า โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 585 และ 7695 และโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 136075 กับการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค ตั้งแต่เมื่อปี 2554 แต่จำเลยไม่ได้อ้างส่งสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวอ้างดังกล่าว ส่วนที่จำเลยนำสืบโดยอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 585 ของโจทก์ที่ 1 ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 16 นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2550 ใช้บังคับ เมื่อการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยได้จ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนแล้ว โจทก์ที่ 1 จึงไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 585 ส่วนที่เป็นถนนลาดยางอีกต่อไปและอ้างส่งหนังสือจากการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2563 ที่แจ้งจำเลยว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 136075 ของโจทก์ที่ 3 และที่ดินโฉนดเลขที่ 585 ของโจทก์ที่ 1 ถูกเวนคืนเพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โดยการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยได้วางเงินค่าทดแทนแล้วโดยฝากไว้กับธนาคารออมสิน แต่หนังสือของการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยดังกล่าวมีข้อความระบุแต่เพียงว่า การรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยได้วางเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 585 ของโจทก์ที่ 1 และที่ดินโฉนดเลขที่ 136075 ของโจทก์ที่ 3 ที่ถูกเวนคืนไว้แล้วโดยฝากไว้กับธนาคารออมสิน สาขาบางแค เท่านั้น ไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่เวนคืนได้วางเงินทดแทนไว้เมื่อใด อันจะทำให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 585 ของโจทก์ที่ 1 ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยตามที่จำเลยอ้าง ซึ่งในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์นั้น หากเจ้าหน้าที่เวนคืนจัดให้มีการวางเงินค่าทดแทนในกรณีที่ตกลงกันได้หรือวางเงินค่าทดแทนในกรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ ให้ถือว่ามีการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นับแต่วันวางเงินทดแทน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 13 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 11 วรรคสอง พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบจึงยังฟังไม่ได้ว่า โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 585 และ 7695 และโจทก์ที่ 3 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 136075 ให้แก่การรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยไปแล้วตั้งแต่ปี 2554 โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิฟ้องเรียกร้องค่าทดแทนจากจำเลย
ส่วนปัญหาว่า โจทก์ทั้งสามมีสิทธิได้รับค่าทดแทนเพียงใดนั้น เห็นว่า จำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ทั้งสามสำหรับจำนวนเงินค่าทดแทนที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องมาในฟ้อง ทั้งเมื่อพิจารณาเนื้อที่และที่ตั้งของที่ดินแล้ว จำนวนเงินค่าทดแทนที่เรียกร้องมาเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 136075 ของโจทก์ที่ 2 ได้โอนเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 3 ไปแล้ว เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2551 ก่อนที่จะมีการเปิดใช้ทางจำเป็นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2555 จำเลยจึงไม่มีหนี้ค่าทดแทนค้างชำระต่อโจทก์ที่ 2 ภายหลังเมื่อโจทก์ที่ 3 รับโอนที่ดินมาจากโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 3 จึงเป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากจำเลย ประกอบกับค่าทดแทนมีไว้เพื่อชดเชยความเสียหายแก่เจ้าของที่ดินแปลงที่ล้อมเท่านั้น ไม่ได้ชดเชยให้กับบริวารที่พักอาศัยด้วย อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงได้ความตามฎีกาของโจทก์ที่ 3 ว่า โจทก์ที่ 3 คงติดใจเรียกร้องค่าทดแทนในชั้นฎีกาเพียง 335,000 บาท จึงกำหนดให้ตามขอ จำเลยจึงต้องใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 200,000 บาท และใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 335,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันที่ฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และมาตรา 224 (เดิม) และ (ที่แก้ไขใหม่) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า โจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนที่ดินจากจำเลยเนื่องจากขาดอายุความนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ทั้งสามฟังขึ้น
พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าทดแทนที่ดินแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 200,000 บาท และโจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 335,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ สำหรับดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปนั้น หากกระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนไปบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอ กับให้ยกคำขอเรียกค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.502/2566
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาง จ. กับพวก จำเลย - นาย น.
ชื่อองค์คณะ สุจินต์ เชี่ยวชาญศิลป์ สุวิทย์ พรพานิช สถาพร ดาโรจน์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแพ่งธนบุรี - นางสาวอรรถนัดดา สุนทรศารทูล ศาลอุทธรณ์ - นายมนตรี จิตร์วิวัฒน์