สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 314/2567

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 314/2567

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/27, 744 (1), 744 (2), 744 (3), 744 (4), 744 (5), 744 (6), 745 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 274

ผู้รับจำนองซึ่งทรงทรัพยสิทธิจำนองย่อมมีสิทธิบังคับจำนองแม้หนี้ที่ประกันหรือสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความ เพียงแต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่าห้าปีไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และ 745 แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายสารบัญญัติ เมื่อคดีเข้าสู่ศาล กระบวนพิจารณาก็ต้องบังคับตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. ดังนั้น เมื่อ ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง มาตรา 274 บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องร้องขอให้บังคับคดีภายในสิบปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ซึ่งหมายถึงตั้งแต่มีคำพิพากษาของศาลชั้นที่สุดในคดีนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2543 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ และจำเลยผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความตั้งแต่งวดแรกวันที่ 30 มิถุนายน 2543 ดังนี้ การร้องขอให้บังคับคดีโดยการยึดทรัพย์สินจำนองจึงต้องกระทำภายในสิบปีนับแต่วันที่จำเลยผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว โจทก์ยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์สินจำนองของจำเลยล่วงพ้นระยะเวลาสิบปีนับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2543 แล้ว โจทก์จึงสิ้นสิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินจำนองของจำเลย อย่างไรก็ตาม ทรัพยสิทธิจำนองยังคงอยู่ และโจทก์สามารถใช้ยันต่อลูกหนี้จำนองหรือต่อบุคคลภายนอกที่รับโอนทรัพย์สินจำนองต่อไปได้

เนื้อหาฉบับเต็ม

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยและบังคับจำนอง ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมโดยจำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องเป็นเงิน 1,564,537.55 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 1,509,373.07 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นรายเดือนทุกเดือนภายในวันสิ้นเดือน เดือนละไม่น้อยกว่า 19,500 บาท เริ่มงวดแรกในวันสิ้นเดือนมิถุนายน 2543 เป็นต้นไป แต่ทั้งนี้จำเลยจะต้องชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จสิ้นภายในเวลา 3 ปี นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ คดีถึงที่สุดแล้ว แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ขอออกหมายบังคับคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ออกหมายบังคับคดีตามคำขอของโจทก์ ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 325 ทรัพย์จำนองของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งว่า ตรวจสอบแล้วคดีนี้ศาลมีคำพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2543 และโจทก์แถลงว่าจำเลยไม่เคยชำระหนี้ ดังนั้น นับแต่วันผิดนัดชำระหนี้ (วันที่ 1 กรกฎาคม 2543) จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว คดีจึงพ้นระยะเวลาบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 274 เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่อาจบังคับคดีหรือยึดทรัพย์ตามคำร้องได้ ยกคำร้อง

โจทก์ยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า การบังคับคดีจะต้องกระทำภายใน 10 ปี คำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีชอบแล้ว ยกคำร้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 325 อันเป็นทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า สิทธิจำนองเป็นทรัพยสิทธิจะระงับสิ้นไปก็ต่อเมื่อมีกรณีต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 744 (1) ถึง (6) ดังนี้ ผู้รับจำนองซึ่งทรงทรัพยสิทธิจำนองย่อมมีสิทธิบังคับจำนองแม้หนี้ที่ประกันหรือสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความ เพียงแต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้ ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/27 และมาตรา 745 บัญญัติไว้ แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายสารบัญญัติ ซึ่งกำหนดสิทธิและหน้าที่แก่คู่กรณีที่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน โดยหากเจ้าหนี้ประสงค์บังคับตามสิทธิก็ต้องฟ้องเป็นคดีต่อศาลเพราะเหตุถูกลูกหนี้โต้แย้งสิทธิ ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 อันเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติคือกฎหมายวิธีพิจารณาความบัญญัติไว้ และเมื่อคดีเข้าสู่ศาล กระบวนพิจารณาก็ต้องบังคับตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังนั้น เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 ลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง มาตรา 274 บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องร้องขอให้บังคับคดีภายในสิบปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ซึ่งหมายถึงตั้งแต่มีคำพิพากษาของศาลชั้นที่สุดในคดีนั้น สำหรับคดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2543 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ และจำเลยผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความตั้งแต่งวดแรกวันที่ 30 มิถุนายน 2543 ดังนี้ การร้องขอให้บังคับคดีโดยการยึดทรัพย์สินจำนองจึงต้องกระทำในระยะเวลาสิบปีนับแต่วันที่จำเลยผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการบังคับคดีที่ต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมายวิธีพิจารณาความ แต่โจทก์เพิ่งยื่นคำขอฉบับลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์สินจำนองของจำเลยล่วงพ้นระยะเวลาสิบปีนับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2543 แล้ว จึงมีผลเพียงทำให้โจทก์หมดสิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินจำนองของจำเลยในคดีดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ทรัพยสิทธิจำนองยังคงอยู่ และโจทก์สามารถใช้ยันต่อลูกหนี้จำนองหรือต่อบุคคลภายนอกที่รับโอนทรัพย์สินจำนองต่อไปได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์และศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนมานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.253/2566

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - ธนาคาร น. โดยบริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. ผู้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทน จำเลย - นาย ก.

ชื่อองค์คณะ ธนิต รัตนะผล วิธูร คลองมีคุณ สมชาย อุดมศรีสำราญ

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดธัญบุรี - นายภราดร อาสาสรรพกิจ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 - นายสายัณห์ มุกดาประเสริฐ

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th