คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3214/2560
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 84 วรรคสี่, 226, 226/1
การที่จำเลยทั้งสี่ให้การต่อผู้ดำเนินกรรมวิธีซักถามในฐานะผู้ถูกดำเนินกรรมวิธีหรือผู้ต้องสงสัย และต่อพนักงานสอบสวนในฐานะพยาน มิใช่คำให้การของผู้ถูกจับที่ให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับเพราะขณะนั้นจำเลยทั้งสี่ยังไม่ได้ถูกจับกุม กรณีไม่อยู่ในบังคับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคสี่ คำรับสารภาพและถ้อยคำอื่นของจำเลยทั้งสี่จึงไม่ต้องห้ามรับฟังตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ทั้งการสอบปากคำจำเลยทั้งสี่โดยผู้ดำเนินกรรมวิธีและพนักงานสอบสวนก็เป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่โดยชอบ เพราะขณะนั้นยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะดำเนินการขอออกหมายจับจำเลยทั้งสี่ได้ เนื่องจากไม่รู้ว่าผู้ใดเป็นคนร้าย การสอบปากคำจำเลยทั้งสี่จึงเป็นเพียงการสอบถามเบื้องต้นในชั้นสืบสวนเท่านั้น ผู้ดำเนินกรรมวิธีและพนักงานสอบสวนไม่จำต้องแจ้งสิทธิใด ๆ ให้จำเลยทั้งสี่ทราบก่อน บันทึกผลการดำเนินตามกรรมวิธีและบันทึกคำให้การของพยานรวมทั้งรถจักรยานยนต์และถังดับเพลิงของกลางจึงเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นและได้มาโดยชอบ ไม่ต้องห้ามรับฟังตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 และมาตรา 226/1
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และ 209
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2557 เวลาประมาณ 9 นาฬิกา มีเหตุระเบิดเกิดขึ้นที่รถจักรยานยนต์พ่วงข้าง ซึ่งจอดอยู่ข้างตู้โทรศัพท์สาธารณะบริเวณทางเข้าโรงพยาบาลมายอ จังหวัดปัตตานี ทำให้รถจักรยานยนต์พ่วงข้างแหลกกระจาย ทรัพย์สินของโรงพยาบาลมายอและรถยนต์ที่จอดอยู่ฝั่งตรงข้ามได้รับความเสียหาย กับมีชาวบ้านที่ขับรถจักรยานยนต์ผ่านมาได้รับอันตรายแก่กาย หลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งอยู่บริเวณหน้าโรงพยาบาลมายอ เห็นภาพคนร้ายสวมหมวกนิรภัยและใส่ผ้ากันเปื้อนอยู่ด้านหน้าเป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์พ่วงข้างพร้อมระเบิดแสวงเครื่องไปจอดข้างตู้โทรศัพท์สาธารณะดังกล่าวก่อนเกิดเหตุ แล้วเดินไปนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่มีคนร้ายอีก 1 คน ขับพาหลบหนีไป วันที่ 13 ถึงวันที่ 19 ตุลาคม 2557 เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารควบคุมตัวจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช 2457 ไปที่ศูนย์ซักถามค่ายอิงคยุทธบริหาร เพื่อสอบถาม ต่อมาจำเลยที่ 1 ถูกส่งตัวไปซักถามที่หน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารขยายผลเข้าควบคุมตัวจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช 2457 เมื่อวันที่ 9 ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2557 เพื่อสอบถาม หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ถูกส่งตัวไปควบคุมตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต่อมาพนักงานสอบสวนได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารว่า ได้ควบคุมตัวจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยในเบื้องต้นจึงร่วมกันสอบสวนจำเลยทั้งสี่ในฐานะพยาน หลังจากนั้นจึงขอออกหมายจับจำเลยทั้งสี่ ชั้นจับกุมจำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ ชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนแจ้งสิทธิและข้อหาแก่จำเลยทั้งสี่ฐานเป็นอั้งยี่และข้อหาเกี่ยวกับวัตถุระเบิด จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83 ดังฟ้องหรือไม่ โจทก์มีร้อยตรีต่อตระกูล ผู้ดำเนินกรรมวิธีซักถามจำเลยทั้งสี่ ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช 2457 มาเบิกความเป็นพยานประกอบบันทึกผลการดำเนินตามกรรมวิธี ได้ความว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ให้การรับว่าได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจำเลยที่ 1 มีชื่อจัดตั้งว่า มูซอ จำเลยที่ 3 มีชื่อจัดตั้งว่า กรู จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติการก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี ส่วนจำเลยที่ 4 มีหน้าที่ดูแลอาวุธยุทโธปกรณ์และจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ก่อเหตุความรุนแรง เมื่อจำเลยที่ 1 ดูภาพถ่ายคนร้ายจากกล้องวงจรปิด ซึ่งก่อเหตุลอบวางระเบิดที่หน้าโรงพยาบาลมายอแล้วแจ้งว่า คนร้ายคือจำเลยที่ 2 และพาเจ้าหน้าที่ไปชี้บ้านพักของจำเลยที่ 2 ที่อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานีด้วย และโจทก์มีพันโทโสธร เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารหน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ซักถามจำเลยทั้งสี่ ตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาเบิกความเป็นพยานได้ความว่า จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นสมาชิกก่อเหตุความรุนแรงในพื้นที่อำเภอมายอ มีส่วนร่วมก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ 2 ครั้ง และร่วมก่อเหตุคดีนี้ โดยจำเลยที่ 2 สั่งให้จำเลยที่ 1 เฝ้าดูต้นทาง ตามผลการดำเนินกรรมวิธี จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นสมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบโดยเป็นหัวหน้าดูแลพื้นที่ในอำเภอมายอและร่วมก่อเหตุคดีนี้ จำเลยที่ 3 รับว่าเป็นสมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นอำเภอมายอ มีส่วนร่วมก่อเหตุในพื้นที่หลายครั้งรวมทั้งคดีนี้ เคยรับฝากรถจักรยานยนต์ที่ใช้ในการก่อเหตุแล้วนำไปซุกซ่อนไว้ที่คลองลางสาดและพาเจ้าหน้าที่ไปยึดรถจักรยานยนต์ซึ่งเป็นของนางสมใจ ส่วนจำเลยที่ 4 ก็ให้การรับว่าเป็นเป็นสมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่อำเภอมายอ มีตำแหน่งเป็นรองปฏิบัติการชุดที่ 2 และร่วมก่อเหตุในพื้นที่หลายครั้งรวมทั้งคดีนี้โดยนำระเบิดไปมอบให้แก่ผู้ก่อเหตุ นอกจากนี้โจทก์ยังมีพันตำรวจเอกปรีชา พนักงานสอบสวนซึ่งเป็นผู้สอบสวนจำเลยทั้งสี่ในเบื้องต้นในฐานะพยานเบิกความประกอบบันทึกคำให้การของพยาน ได้ความว่า จำเลยทั้งสี่ให้การรับว่าเป็นสมาชิกขบวนการกู้ชาติรัฐปัตตานีได้ทำพิธีเข้าสาบานตนฝึกร่างกายและยุทธวิธีทางทหาร โดยจำเลยที่ 1 ให้การว่าร่วมกับพวกก่อเหตุคดีนี้โดยได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ 2 ให้เฝ้าดูความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่และรายงานให้จำเลยที่ 2 ทราบ และเคยได้รับคำสั่งให้นำถังดับเพลิงไปซุกซ่อนในป่าละเมาะข้างทางก่อนถึงอำเภอมายอ แล้วพาไปตรวจยึดถังดับเพลิง 2 ถัง ที่ซุกซ่อนไว้เป็นของกลางด้วย เห็นว่า พยานโจทก์ดังกล่าวเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ ทั้งไม่ปรากฏว่าขณะสอบปากคำจำเลยทั้งสี่ได้มีการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญหลอกลวงหรือกระทำโดยมิชอบประการอื่นแต่อย่างใด การให้การของจำเลยทั้งสี่รวมทั้งการนำเจ้าพนักงานตำรวจไปเอาของกลางเป็นการกระทำก่อนที่เจ้าพนักงานตำรวจจะจับกุมจำเลยทั้งสี่เป็นผู้ต้องหา เชื่อว่าเกิดจากความสมัครใจของจำเลยทั้งสี่ เพราะหากจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ให้การโดยสมัครใจและนำเจ้าพนักงานตำรวจไปเอาของกลาง ย่อมยากแก่การที่เจ้าพนักงานตำรวจจะสามารถตรวจค้นและยึดของกลางได้ นอกจากนี้ในการสอบสวนจำเลยทั้งสี่ในฐานะพยานได้กระทำต่อหน้านายตำรวจชั้นผู้ใหญ่และผู้นำศาสนา โดยเฉพาะกรณีของจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีภริยาและญาติเข้าร่วมฟังการสอบสวนด้วย ซึ่งนายมูฮัมมัดนัสรุดดีน ผู้นำศาสนา พยานโจทก์ก็มาเบิกความรับรองในข้อนี้และลงชื่อเป็นพยาน ยิ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสี่ให้การโดยสมัครใจตามความจริง แม้จำเลยที่ 4 จะไม่ยอมลงชื่อในบันทึกคำให้การของพยานดังกล่าวแต่ก็เชื่อว่าจำเลยที่ 4 ได้ให้การตามที่พนักงานสอบสวนบันทึกไว้ เพราะหากจำเลยที่ 4 ไม่ได้ให้การเช่นว่านั้นผู้นำศาสนาคงไม่ยอมลงชื่อเป็นพยานรับรองด้วย และแม้คำให้การของจำเลยทั้งสี่ตามผลการดำเนินตามกรรมวิธีกับบันทึกคำให้การของพยานจะเป็นพยานบอกเล่า แต่เมื่อคำนึงถึง ตามสภาพ ลักษณะแหล่งที่มาและข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้น น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ คำให้การของจำเลยทั้งสี่ดังกล่าวจึงรับฟังได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 วรรคสอง (1) ส่วนที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยต้องกันมาทำนองว่า จำเลยทั้งสี่ถูกซักถามในฐานะผู้ถูกดำเนินกรรมวิธีหรือเป็นผู้ต้องสงสัยหรือเป็นพยาน ยังไม่อยู่ในฐานะผู้ต้องหาเพราะเจ้าพนักงานตำรวจมิได้แจ้งข้อหาให้ทราบ คำให้การของจำเลยทั้งสี่ตามผลการดำเนินตามกรรมวิธีและบันทึกคำให้การของพยานดังกล่าวจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยทั้งสี่ไม่ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยทั้งสี่ให้การต่อผู้ดำเนินกรรมวิธีซักถามในฐานะผู้ถูกดำเนินกรรมวิธีหรือผู้ต้องสงสัย และต่อพนักงานสอบสวนในฐานะพยาน มิใช่คำให้การของผู้ถูกจับที่ให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับเพราะขณะนั้นจำเลยทั้งสี่ยังไม่ได้ถูกจับกุม กรณีไม่อยู่ในบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคสี่ คำรับสารภาพและถ้อยคำอื่นของจำเลยทั้งสี่จึงไม่ต้องห้ามรับฟังตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ทั้งการสอบปากคำจำเลยทั้งสี่โดยผู้ดำเนินกรรมวิธีและพนักงานสอบสวนก็เป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่โดยชอบ เพราะขณะนั้นยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะดำเนินการขอออกหมายจับจำเลยทั้งสี่ได้ เนื่องจากไม่รู้ว่าผู้ใดเป็นคนร้าย การสอบปากคำจำเลยทั้งสี่จึงเป็นเพียงการสอบถามเบื้องต้นในชั้นสืบสวนเท่านั้น ผู้ดำเนินกรรมวิธีและพนักงานสอบสวนไม่จำต้องแจ้งสิทธิใด ๆ ให้จำเลยทั้งสี่ทราบก่อน บันทึกผลการดำเนินตามกรรมวิธีและบันทึกคำให้การของพยานรวมทั้งรถจักรยานยนต์และถังดับเพลิงของกลางจึงเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นและได้มาโดยชอบ ไม่ต้องห้ามรับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 และมาตรา 226/1 ดังที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัย เมื่อพิจารณาประกอบกับการที่จำเลยที่ 1 พาเจ้าพนักงานตำรวจไปเอาถังดับเพลิง 2 ถัง ของกลางที่ซุกซ่อนในป่าละเมาะข้างทางก่อนถึงอำเภอมายอ ตามบันทึกข้อความและรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีและภาพถ่าย และจำเลยที่ 3 พาเจ้าหน้าที่ไปเอารถจักรยานยนต์ที่เคยใช้ในการก่อเหตุแล้วนำไปซุกซ่อนที่บริเวณคลองลางสาด ตามภาพถ่าย โดยมีร้อยตำรวจโททวีป เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนสถานีตำรวจภูธรมายอ พันตำรวจเอกกองอรรถ พนักงานสอบสวน และพันโทโสธร เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารหน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้าจังหวัดชายแดนภาคใต้พยานโจทก์มาเบิกความรับรองในข้อนี้ด้วยแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์ประกอบกันจึงรับฟังได้โดยปราศจากข้อควรสงสัยว่า จำเลยทั้งสี่เข้าเป็นสมาชิกขบวนการกู้ชาติรัฐปัตตานี ซึ่งมีพฤติการณ์กระทำความผิดเกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสร้างสถานการณ์ก่อเหตุลอบวางระเบิด ซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเป็นคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสี่จึงมีความผิดฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83 พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสี่ไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาต้องกันมาให้ยกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 วรรคหนึ่ง (เดิม) ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 6 ปี คำรับของจำเลยทั้งสี่ตามบันทึกผลการดำเนินตามกรรมวิธี กับบันทึกคำให้การของพยานเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 4 ปี
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.3345/2559
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 2 ภาค 9 จำเลย - นายหามะ สาเมาะ กับพวก
ชื่อองค์คณะ วีระวัฒน์ ปวราจารย์ อุดม สิทธิวิรัชธรรม ณัฏฐชัย ไวยภาษจีรกุล
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดปัตตานี - นายกฤษฏิ์ภีมพศ ตีระรัตน์ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 - นายเรวัตร อิศราภรณ์