คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3225/2563
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1629, 1633, 1649 วรรคสอง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (4), 5, 44/1
การพิจารณาว่าผู้ใดจะมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 หรือไม่ ต้องพิจารณาจากสิทธิในทางแพ่งไม่ใช่กรณีที่จะนำความหมายของคำว่า ผู้เสียหายในทางอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) เช่น เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือผู้มีอำนาจจัดการแทน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) มาบังคับใช้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากผู้ร้อง โดยจำเลยมิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่า ผู้ตายมีภริยาที่มิได้จดทะเบียนสมรส ไม่มีบุตรด้วยกัน และบิดา มารดาผู้ตายได้ถึงแก่ความตายแล้ว ผู้ร้องซึ่งเป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย จึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกแต่เพียงผู้เดียว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (3) และ 1633 และเป็นผู้มีอำนาจและตกอยู่ในหน้าที่ต้องจัดการทำศพ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1649 วรรคสอง มีสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่งได้ ผู้ร้องจึงเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 มีอำนาจร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 290
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางสุพัตรา น้องของผู้ตาย ยื่นคำร้องว่า ผู้ตายไม่มีภริยาและบุตร บิดามารดาของผู้ตายได้ถึงแก่ความตายแล้ว ขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังนี้ ค่ารถรับจ้างนำศพผู้ตายกลับไปจังหวัดอุบลราชธานี เป็นเงิน 25,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการจัดการงานศพของผู้ตายเป็นเงิน 275,000 บาท รวมเป็นเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันกระทำผิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 จำคุก 4 ปี 2 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในห้าตามประมวกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน กับให้จำเลยร่วมกับพวกชดใช้เงินจำนวน 177,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันละเมิด (วันที่ 17 มิถุนายน 2560) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในส่วนแพ่งให้เป็นพับ (ที่ถูก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ)
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ผู้ร้องฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง นายจรัญ กับพวกร่วมกันทำร้ายนายประจักษ์ ได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลฟกช้ำรอบตา เลือดออกจากจมูก เลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก รักษาโดยการผ่าตัดระบายเลือด มีการติดเชื้อที่ปอด และติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ต่อมาวันที่ 10 กรกฎาคม 2560 นายประจักษ์ถึงแก่ความตายด้วยสาเหตุเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอกจากการบาดเจ็บที่ศีรษะ คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยร่วมกับนายจรัญและพวกทำร้ายร่างกายผู้ตาย และมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน จำเลยไม่ฎีกา คดีส่วนอาญาของจำเลยจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีอำนาจร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ เห็นว่า แม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ได้มีคำอธิบายคำว่าผู้เสียหายไว้ในมาตรา 2 (4) ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้เสียหาย หมายถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6" แต่ข้อความตามมาตรา 44/1 ที่บัญญัติให้ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนได้นั้น ย่อมมีความหมายในตัวว่า หมายถึง ผู้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน จึงมีความหมายที่แตกต่างเกินกว่าความหมายของผู้เสียหาย ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 2 (4) ถือได้ว่าขัดกัน การตีความคำว่าผู้เสียหายตามมาตรา 44/1 จึงไม่ต้องถือตามความหมายเช่นเดียวกับมาตรา 2 (4) ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 1 ที่บัญญัติว่า "ในประมวลกฎหมายนี้ ถ้าคำใดมีคำอธิบายไว้แล้วให้ถือตามความหมายดังได้อธิบายไว้ เว้นแต่ข้อความในตัวบทจะขัดกับคำอธิบายนั้น" ดังนั้น การพิจารณาว่าผู้ใดจะมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 หรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากสิทธิในทางแพ่ง ไม่ใช่กรณีที่จะนำความหมายของคำว่า ผู้เสียหายในทางอาญา เช่น เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือผู้มีอำนาจจัดการแทน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (2) มาบังคับใช้ สำหรับคดีนี้ผู้ร้องไม่ได้ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 30 จึงไม่ต้องพิจารณาว่าผู้ร้องมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 หรือไม่ โดยผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ซึ่งในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 เมื่อข้อเท็จจริงคดีส่วนอาญาฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 แล้วว่า จำเลยมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย จำเลยจึงเป็นผู้ทำละเมิดต่อผู้ตาย จำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น และกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และ 443 เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากผู้ร้อง โดยจำเลยมิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่า ผู้ตายมีภริยาที่มิได้จดทะเบียนสมรส ไม่มีบุตรด้วยกัน และบิดา มารดาผู้ตายได้ถึงแก่ความตายแล้ว ผู้ร้องซึ่งเป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย จึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกแต่เพียงผู้เดียว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 (3) และ 1633 และเป็นผู้มีอำนาจและตกอยู่ในหน้าที่ต้องจัดการทำศพ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1649 วรรคสอง มีสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่งได้ ผู้ร้องจึงเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 มีอำนาจร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของผู้ร้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับคดีส่วนแพ่งให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.926/2563
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้ร้อง - นาง ส. จำเลย - นาย อ.
ชื่อองค์คณะ ประทีป อ่าววิจิตรกุล ปกรณ์ วงศาโรจน์ เอกศักดิ์ ยันตรปกรณ์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา - นางวาสนา พูลโภคา ศาลอุทธรณ์ภาค 1 - นายวิรัช จารุนิธิ