คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3228/2563
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 78 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 163 วรรคสอง
ป.อ. มาตรา 78 เป็นบทบัญญัติให้ศาลใช้ดุลพินิจในการลงโทษให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์ของผู้กระทำความผิดเป็นรายบุคคลไป หาใช่บทบังคับที่จะต้องลดโทษให้แก่ผู้กระทำความผิดเพราะมีเหตุบรรเทาโทษเสมอไปไม่ จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้การรับสารภาพในชั้นอุทธรณ์ เป็นการขอแก้ไขคำให้การจากที่ให้การปฏิเสธเป็นให้การรับสารภาพ จำเลยทั้งสองไม่อาจกระทำได้เพราะการแก้ไขคำให้การจะต้องกระทำก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา และไม่อาจถือว่าเป็นการยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ เพราะจำเลยยังติดใจในประเด็นรอการลงโทษจำคุก ทั้งไม่อาจถือว่าเป็นการยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ด้วยการสละประเด็นบางข้อ เพราะพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว เพียงแต่ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองยอมรับข้อเท็จจริง โดยไม่โต้แย้งข้อที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ได้ยกปัญหาที่จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพดังกล่าวมาเป็นเหตุลดโทษให้จำเลยทั้งสองเพราะเห็นว่าล่วงเลยเวลาที่จะขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การหรืออุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองแล้ว จึงมิใช่การลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานหรือให้ความรู้แก่ศาลอันจะเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ย่อมเป็นดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค 4
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 278, 281, 309
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานาย ก. ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 (เดิม), 281 (ที่ถูกไม่ต้องระบุ), 309 วรรคแรก (เดิม) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 (เดิม), 281 (ที่ถูกไม่ต้องระบุ) ประกอบมาตรา 83 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 2 เดือน และยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 ขอให้การรับสารภาพในชั้นอุทธรณ์และขอให้รอการลงโทษจำคุก
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่ไม่ลดโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ชอบหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นอุทธรณ์ อันเป็นการลุแก่โทษ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องลดโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสองกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 นั้น เห็นว่า บทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ที่บัญญัติว่า "เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ… ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้…" เป็นบทบัญญัติให้ศาลใช้ดุลพินิจในการลงโทษให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์ของผู้กระทำความผิดเป็นรายบุคคลไป หาใช่บทบังคับที่จะต้องลดโทษให้แก่ผู้กระทำความผิดเพราะมีเหตุบรรเทาโทษเสมอไปไม่ การที่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้การรับสารภาพในชั้นอุทธรณ์นั้น เป็นการขอแก้คำให้การจากที่ให้การปฏิเสธเป็นให้การรับสารภาพ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองไม่อาจกระทำได้เพราะการแก้คำให้การจะต้องกระทำก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา และไม่อาจถือว่าเป็นการยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ เพราะจำเลยทั้งสองยังติดใจอุทธรณ์ในประเด็นรอการลงโทษจำคุก ทั้งไม่อาจถือว่าเป็นการยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ด้วยการสละประเด็นบางข้อ เพราะพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว เพียงแต่ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองยอมรับข้อเท็จจริง โดยไม่โต้แย้งข้อที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 (เดิม), 309 วรรคแรก (เดิม) ประกอบมาตรา 83 ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ได้ยกปัญหาที่จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพดังกล่าวมาเป็นเหตุลดโทษให้จำเลยทั้งสองเพราะเห็นว่าล่วงเลยเวลาที่จะขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การหรืออุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองแล้ว จึงมิใช่การลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานหรือให้ความรู้แก่ศาลอันจะเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ย่อมเป็นดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่จะไม่ลดโทษให้จำเลยทั้งสองได้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ได้ลดโทษให้จำเลยทั้งสองโดยเหตุดังกล่าว จึงไม่ใช่เรื่องที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยคดีและพิพากษาโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการต่อมาว่า คดีมีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเลขานุการนายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่ นับว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้มีตำแหน่งหน้าที่สำคัญในการเป็นตัวแทนของประชาชนในท้องถิ่น จึงสมควรประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี แต่จำเลยทั้งสองกลับใช้อำนาจข่มเหง กดขี่และคุกคามสิทธิและเสรีภาพในตัวของนาย ก. ผู้เสียหายให้รู้สึกอับอายและเกรงกลัว เพียงเพราะไม่พอใจการเสนอข่าวของสื่อมวลชน และยิ่งจำเลยทั้งสองเป็นผู้มีตำแหน่งหน้าที่ มีการศึกษา หรือประวัติการรับราชการที่ดี ก็ยิ่งต้องประพฤติตนอย่างระมัดระวังเพื่อให้เป็นที่เชื่อถือของประชาชน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงมิใช่เรื่องระหว่างบุคคลกับบุคคล หรือไม่มีผลต่อคนหมู่มากดังที่ฎีกา แม้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเป็นเงิน 100,000 บาท และไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน หรือมีเหตุอื่นดังที่จำเลยทั้งสองยกขึ้นอ้างในฎีกา แต่ยังไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยทั้งสองได้ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตามการที่จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเป็นเงิน 100,000 บาท ดังกล่าว เป็นการพยายามบรรเทาความเสียหายอันพอจะฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองเองก็สำนึกในผลแห่งการกระทำ ถือว่ามีเหตุบรรเทาโทษ และการลงโทษจำคุกไม่น่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยทั้งสองและสังคมส่วนรวม จึงให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังจำเลยทั้งสองแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยทั้งสองเป็นกักขังมีกำหนดคนละ 2 เดือน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.309/2563
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดพล โจทก์ร่วม - นาย ก. จำเลย - นาย ป. กับพวก
ชื่อองค์คณะ จรัญ รัตตมณี สิทธิชัย โชคสวัสดิ์ไพศาล สนธิศาสตร์ เจตน์วราพงศ์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดพล - นายวัฒนา ชินรัตน์ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 - นางปิยนุช จรูญรัตนา