คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3233/2563
พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ม. 19 (7), 36 ทวิ
ที่ดินพิพาทแปลงที่สามที่โจทก์และจำเลยกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิครอบครองเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมยังไม่ได้ออกเอกสารสิทธิ (ส.ป.ก. 4 - 01) ให้แก่ผู้ใด ซึ่งตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 19 (7) บัญญัติให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ดังนั้น บุคคลหรือเกษตรกรที่จะเข้ามาอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมต้องได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมก่อน ฉะนั้น แม้โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทแปลงที่สามมาก่อนจำเลยก็ตาม แต่เมื่อทางราชการประกาศให้ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแล้ว ที่ดินพิพาทรวมทั้งส่วนควบของที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 36 ทวิ ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจจัดให้บุคคลใดเข้าถือครองและทำประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนด เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของรัฐ และตามมาตรา 36 ทวิ ให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เมื่อโจทก์มิใช่ผู้ที่มีสิทธิเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และเมื่อ ค. กับจำเลยยังไม่ได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จำเลยก็ย่อมไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาทเช่นกัน และเป็นกรณีที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบหลักเกณฑ์ต่อไป ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
สำหรับที่ดินพิพาทแปลงที่หนึ่งและแปลงที่สองได้ความว่ามีหลักฐานเป็นเพียงใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ ภ.บ.ท. 5 ซึ่งไม่ใช่เอกสารแสดงสิทธิในที่ดินอย่างหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดิน โดยตามสำเนาใบ ภ.บ.ท. 5 ลงวันที่ 15 มีนาคม 2525 แสดงถึงการเข้าทำประโยชน์ช่วงระยะเวลาหลังจาก ป.ที่ดิน ใช้บังคับแล้ว ต้องถือว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินของรัฐตาม ป.ที่ดิน มาตรา 2 โจทก์กับ พ. และจำเลยจึงไม่มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นผู้ฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 9 ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 108 หรือ 108 ทวิ แห่ง ป.ที่ดิน แล้วแต่กรณี ทั้งที่ดินแปลงที่หนึ่งและแปลงที่สองยังเป็นป่าตามความหมายแห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4 (1) และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4 ซึ่งผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษตามมาตรา 54 วรรคหนึ่ง มาตรา 72 ตรี แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และมาตรา 14 มาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ด้วย เมื่อการเข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทแปลงที่หนึ่งและแปลงที่สองเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ซึ่งเป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดิน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทและจำเลยไม่มีสิทธิฟ้องแย้งอ้างสิทธิในที่ดินพิพาทเช่นกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์และขนย้ายสิ่งของและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินมือเปล่าของโจทก์แปลงแรกเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ แปลงที่สองเนื้อที่ประมาณ 23 ไร่ แปลงที่สามเนื้อที่ประมาณ 2 งาน ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านกลาง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก และห้ามจำเลยพร้อมบริวารยุ่งเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้พิพากษาว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาททั้งสามแปลงและห้ามโจทก์พร้อมบริวารยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้งสามแปลง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินพิพาททั้งสามแปลงและให้ขนย้ายสิ่งของและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาททั้งสามแปลง แปลงแรกเนื้อที่ประมาณ 11 ไร่ 54 ตารางวา แปลงที่สองเนื้อที่ประมาณ 22 ไร่ 1 งาน 81 ตารางวา แปลงที่สามเนื้อที่ประมาณ 3 งาน 44 ตารางวา และห้ามจำเลยพร้อมบริวารมายุ่งเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท ยกฟ้องแย้งของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแปลงที่ 3 เนื้อที่ประมาณ 3 งาน 44 ตารางวา ห้ามโจทก์และบริวารยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทแปลงที่ 3 ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่ดินพิพาทแปลงที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องและฟ้องแย้งทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายพา มีบุตรด้วยกัน 4 คน คือนางเตียง ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ นายหนูเหรี่ยง นายคงเมือง และนางเข็มทอง นายคงเมืองและจำเลยอยู่กินฉันสามีภริยา เมื่อปี 2527 มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือนางกนิษฐา และนายอภิชาติ นายคงเมืองและจำเลยจดทะเบียนสมรสเมื่อปี 2536 นายพาถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2553 ต่อมานายคงเมืองถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2557 เดิมโจทก์ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินมือเปล่า 3 แปลง ตั้งอยู่ในท้องที่บ้านน้ำริน หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านกลาง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก แปลงที่หนึ่งเนื้อที่ 55 ไร่ 40 ตารางวา แปลงที่สองเนื้อที่ 48 ไร่ 1 งาน 32 ตารางวา แปลงที่สามเนื้อที่ 4 ไร่ ที่ดินพิพาท ต่อมาจำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทแปลงที่หนึ่งเนื้อที่ประมาณ 11 ไร่ 54 ตารางวา ครอบครองที่ดินพิพาทแปลงที่สองเนื้อที่ 22 ไร่ 1 งาน 81 ตารางวา และครอบครองที่ดินพิพาทแปลงที่สามเนื้อที่ 3 งาน 44 ตารางวา ในที่ดินพิพาทแปลงที่สามมีบ้านเลขที่ 216/1
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแปลงที่สามเนื้อที่ 3 งาน 44 ตารางวา ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า เมื่อปี 2554 นายคงเมืองสามีจำเลยไปยื่นคำขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแปลงที่สามซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินตามคำขอเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูป และได้ความจากนายณัฐพล นิติกรสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดพิษณุโลก พยานจำเลยผู้สอบสวนสิทธิของนายคงเมืองว่า ต่อมาคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดพิจารณาสิทธิของนายคงเมืองแล้วแต่ยังไม่ออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4 - 01 ให้เนื่องจากที่ดินบางส่วนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและมีการคัดค้านการครอบครองที่ดินของนายคงเมือง และข้อเท็จจริงปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยว่า ที่ดินพิพาทแปลงที่สามอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมยังไม่ได้ออกเอกสารสิทธิ (ส.ป.ก. 4 - 01) ให้แก่ผู้ใด ซึ่งตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 19 (7) บัญญัติให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ดังนั้น บุคคลหรือเกษตรกรที่จะเข้ามาอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมต้องได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมก่อน ฉะนั้น แม้โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทแปลงที่สามมาก่อนจำเลยก็ตาม แต่เมื่อทางราชการประกาศให้ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแล้ว ที่ดินพิพาทรวมทั้งส่วนควบของที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 36 ทวิ ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจจัดให้บุคคลใดเข้าถือครองและทำประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนด เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของรัฐ และตามมาตรา 36 ทวิ ให้ ส.ป.ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เมื่อโจทก์มิใช่ผู้ที่มีสิทธิเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อนายคงเมืองและจำเลยยังไม่ได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จำเลยก็ย่อมไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาทเช่นกัน และเป็นกรณีที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบหลักเกณฑ์ต่อไป ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความใดยกขึ้นอ้างศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแปลงที่ 3 เนื้อที่ประมาณ 3 งาน 44 ตารางวา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแปลงที่หนึ่งเนื้อที่ประมาณ 11 ไร่ 54 ตารางวา และที่ดินพิพาทแปลงที่สองเนื้อที่ 22 ไร่ 1 งาน 81 ตารางวา หรือไม่ เห็นว่า เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2525 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศให้ป่าเขากระยางในท้องที่ตำบลป่าแดง อำเภอชาติตระการ ตำบลนครไทย ตำบลหนองกะท้าว ตำบลบ้านแยง อำเภอนครไทย และตำบลบ้านกลาง ตำบลแก่งโสภา อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 977 (2525) โดยกฎกระทรวงและแผนที่ท้ายกฎกระทรวงดังกล่าวประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2525 จึงต้องถือที่ประชาชนทั่วไปได้ทราบว่าพื้นที่ตามกฎกระทรวงดังกล่าวเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติแล้ว คดีได้ความจากนายณัฐพล นิติกรสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดพิษณุโลกพยานจำเลยว่าที่ดินแปลงที่สามมีบางส่วนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแสดงว่าท้องที่บ้านน้ำริน หมู่ที่ 3 ซึ่งเป็นที่ตั้งของที่ดินแปลงที่หนึ่งและแปลงที่สองนั้น เป็นพื้นที่คาบเกี่ยวกับเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติด้วย จึงไม่ปรากฏว่ามีการนำที่ดินแปลงที่หนึ่งและแปลงที่สองไปดำเนินการขอออกเอกสารสิทธิในที่ดินหรือนำที่ดินนั้นไปปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมอย่างที่ดินแปลงที่สามซึ่งอยู่ในท้องที่เดียวกัน ทั้งโจทก์และจำเลยก็ไม่นำสืบให้ปรากฏชัดแจ้งว่าที่ดินแปลงที่หนึ่งและแปลงที่สองดังกล่าวมิได้อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตปฏิรูปที่ดิน ส่อแสดงถึงความไม่สุจริตของโจทก์และจำเลย สำหรับที่ดินพิพาทแปลงที่หนึ่งและแปลงที่สองดังกล่าวได้ความว่ามีหลักฐานเป็นเพียงใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ ภ.บ.ท. 5 ซึ่งไม่ใช่เอกสารแสดงสิทธิในที่ดินอย่างหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดิน โดยตามสำเนาใบ ภ.บ.ท. 5 เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 ของโจทก์ลงวันที่ 15 มีนาคม 2525 แสดงถึงการเข้าทำประโยชน์ช่วงระยะเวลาหลังจากประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับแล้ว ต้องถือว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 2 โจทก์กับนายพาและจำเลยจึงไม่มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นผู้ฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 9 ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 108 หรือ 108 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินแล้วแต่กรณี ทั้งที่ดินแปลงที่หนึ่งและแปลงที่สองยังเป็นป่าตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4 (1) และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4 ซึ่งผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษตามมาตรา 54 วรรคหนึ่ง มาตรา 74 ตรี แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 และมาตรา 14 มาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ด้วย เมื่อการเข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทแปลงที่หนึ่งและแปลงที่สองเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ซึ่งเป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดิน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทและจำเลยไม่มีสิทธิฟ้องแย้งอ้างสิทธิในที่ดินพิพาทเช่นกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาขับไล่จำเลยพร้อมบริวารออกจากที่ดินแปลงที่หนึ่งและแปลงที่สองและห้ามจำเลยยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทแปลงที่หนึ่งและที่สองมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับที่ดินพิพาทแปลงที่หนึ่งและแปลงที่สองด้วย ยกฟ้องแย้งของจำเลยสำหรับที่ดินพิพาทแปลงที่สาม ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการส่งสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมทราบ ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องและฟ้องแย้งทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.136/2563
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาง ค. จำเลย - นาง ง.
ชื่อองค์คณะ แก้ว เวศอุไร โสภณ บางยี่ขัน บุญไทย อิศราประทีปรัตน์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดพิษณุโลก - นายเทอดพงษ์ กาศเรือนแก้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 6 - นายบุญทอง ปลื้มวรสวัสดิ์