คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3244/2563
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 195 วรรคสอง, 200, 201 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 27
ป.วิ.อ. มาตรา 200 บัญญัติว่า ให้ศาลส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งแก้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาอุทธรณ์ ซึ่งเป็นการบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะพิเศษสำหรับคดีอาญาและหากมีการดำเนินการไม่ถูกต้องอย่างไร มาตรา 195 วรรคสอง ก็บัญญัติรองรับไว้ด้วยว่า ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย หรือที่เกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยอุทธรณ์ เหล่านี้ผู้อุทธรณ์หรือศาลยกขึ้นอ้างได้ แสดงให้เห็นว่า เป็นกรณีที่ไม่อาจนำเรื่องการเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามมาตรา 27 แห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับได้ จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิยื่นคำร้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1 เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะมีคำสั่งให้เพิกถอนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 จึงไม่ชอบ
การส่งสำเนาอุทธรณ์ไปยังที่อยู่ของจำเลยที่ 1 ตามที่ระบุในคำฟ้อง แม้ผู้รับจะมีอายุไม่ถึง 20 ปี อันจะทำให้รับฟังว่าเป็นการส่งไม่ชอบก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่อยู่ตามที่อยู่ดังกล่าวในช่วงที่มีการส่งสำเนาอุทธรณ์ และพบว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำผิดในคดีอื่น กรณีจึงถือได้ว่า การส่งสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ เพราะหาตัวไม่พบ หรือหลบหนี หรือจงใจไม่รับสำเนาอุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 201 ซึ่งกำหนดให้ศาลรีบส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อทำการพิจารณาพิพากษาต่อไป การดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนของการส่งสำเนาอุทธรณ์จึงเป็นไปโดยชอบแล้ว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 60, 80, 83, 91, 92, 288, 289, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบหัวกระสุนปืนของกลาง และเพิ่มโทษจำเลยทั้งสองตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ริบหัวกระสุนปืนของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 288 ประกอบมาตรา 80, 83, 371 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืน จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่น เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละตลอดชีวิต คำให้การในชั้นสอบสวนและคำเบิกความของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืน จำคุกคนละ 4 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืน จำคุกคนละ 4 เดือน ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น จำคุก คนละ 33 ปี 4 เดือน รวมจำคุกคนละ 33 ปี 12 เดือน ริบหัวกระสุนปืนของกลาง ข้อหาและคำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ศาลชั้นต้นไต่สวนและมีคำสั่งให้ส่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2550 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 1 ทางไปรษณีย์ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2551 โดยมีผู้รับแทนชื่อ ชลธิชา อายุ 18 ปี ต่อมาศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 วันที่ 3 มิถุนายน 2552 มีการส่งหมายนัดแก่จำเลยที่ 1 ทางไปรษณีย์ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2552 โดยมีผู้รับแทนชื่อ อรวรรณ อายุ 17 ปี ถึงวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ศาลชั้นต้นเห็นว่าผลการส่งหมายนัดให้แก่จำเลยที่ 1 ไม่ชอบเพราะผู้รับหมายมีอายุ 17 ปี จึงเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาใหม่วันที่ 29 กรกฎาคม 2552 ถึงวันนัดจำเลยทั้งสองไม่มาศาล ศาลชั้นต้นออกหมายจับเพื่อมาฟังคำพิพากษาในวันที่ 15 กันยายน 2552 ครบกำหนด โจทก์มาศาล ส่วนจำเลยทั้งสองซึ่งออกหมายจับมาเกิน 1 เดือนแล้ว ยังจับตัวไม่ได้ ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้โจทก์ฟังและถือว่าจำเลยทั้งสองทราบคำพิพากษาตามกฎหมายแล้ว ให้ออกหมายจับจำเลยทั้งสองมาปฏิบัติตามคำพิพากษาต่อไป ต่อมาเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2562 เจ้าหน้าที่ศาลเสนอรายงานต่อศาลชั้นต้นว่าตรวจสอบแล้วพบว่าจำเลยที่ 1 ในคดีนี้เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4790/2557 ของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้หมายเบิกจำเลยในคดีดังกล่าวมาสอบว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 1 ในคดีนี้หรือไม่ ในวันทำการถัดไป ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลสอบจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 แถลงรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้จำเลยที่ 1 ฟังแล้ว ออกหมายตามผลคำพิพากษา ต่อมาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับสำเนาอุทธรณ์และหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 กล่าวคือการส่งสำเนาอุทธรณ์และหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ทางไปรษณีย์มีผู้รับไว้แทน ซึ่งเป็นบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีทั้ง 2 ครั้ง การส่งสำเนาอุทธรณ์และหมายนัดดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้อง ส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพื่อพิจารณาสั่ง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า คำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 200 บัญญัติว่า ให้ศาลส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งแก้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาอุทธรณ์ ซึ่งเป็นการบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะพิเศษสำหรับคดีอาญาและหากมีการดำเนินการไม่ถูกต้องอย่างไร มาตรา 195 วรรคสอง ก็บัญญัติรองรับไว้ด้วยว่า ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย หรือที่เกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยอุทธรณ์ เหล่านี้ผู้อุทธรณ์หรือศาลยกขึ้นอ้างได้ แสดงให้เห็นว่า เป็นกรณีที่ไม่อาจนำเรื่องการเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามมาตรา 27 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับได้ จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิยื่นคำร้องที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 สั่งว่า ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1 เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะมีคำสั่งให้เพิกถอนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ต้องสั่งรับคำร้องของจำเลยที่ 1 พิจารณาต่อไป ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ได้มีการไต่สวนตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ไว้ครบถ้วนแล้ว ข้อเท็จจริงพอจะวินิจฉัยได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเลยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย
ปัญหาต้องวินิจฉัยมีว่า ต้องเพิกถอนกระบวนพิจารณาสำหรับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่การส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ โดยข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีการส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยทางไปรษณีย์มีนางสาวชลธิชา หลานของจำเลยที่ 1 ซึ่งในขณะนั้นมีอายุ 18 ปี เป็นผู้รับไว้แทน เห็นว่า ตามฟ้องโจทก์ระบุว่า จำเลยที่ 1 อยู่ที่บ้านเลขที่ 46 ซึ่งจำเลยที่ 1 เบิกความในชั้นไต่สวนคำร้องว่า เป็นบ้านมารดาของจำเลยที่ 1 การส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 1 มีการส่งไปยังที่อยู่ดังกล่าว ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็เบิกความด้วยว่า หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง จำเลยที่ 1 อยู่ที่บ้านดังกล่าว เป็นเวลา 1 เดือน แล้วก็ย้ายไปอยู่ที่บ้านภริยาของจำเลยที่ 1 ที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ดังนี้ จึงเห็นได้ว่าศาลชั้นต้นได้มีการส่งสำเนาอุทธรณ์ไปยังที่อยู่ของจำเลยที่ 1 ตามที่ระบุในคำฟ้อง แม้ผู้รับจะมีอายุไม่ถึง 20 ปี อันจะทำให้รับฟังว่าเป็นการส่งไม่ชอบก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ไม่อยู่ตามที่อยู่ดังกล่าวในช่วงที่มีการส่งสำเนาอุทธรณ์ และมีการตรวจสอบพบในภายหลังในชั้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำผิดในคดีอื่นของศาลชั้นต้น กรณีจึงถือได้ว่า การส่งสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ เพราะหาตัวไม่พบ หรือหลบหนี หรือจงใจไม่รับสำเนาอุทธรณ์ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 201 ซึ่งกำหนดให้ศาลรีบส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อทำการพิจารณาพิพากษาต่อไป การดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนของการส่งสำเนาอุทธรณ์จึงเป็นไปโดยชอบแล้ว ไม่ใช่กรณีที่ต้องเพิกถอนตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างในฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งยกคำร้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 1 ส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับการส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 นั้น ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งได้มีการเบิกตัวจำเลยที่ 1 มาและอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ฟังแล้ว
พิพากษายืน
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.105/2563
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดสระบุรี จำเลย - นาย อ. กับพวก
ชื่อองค์คณะ สุพิศ ปราณีตพลกรัง ธราธร ศิลปโอสถ อนันต์ เสนคุ้ม
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดสระบุรี - นางสาววริษฐา มงคลศิริ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 - นายพรชัย พุ่มกำพล