คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3248/2565
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 195 วรรคสอง, 225 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ม. 127 ทวิ วรรคสอง พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ม. 157/1 วรรคสอง พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ม. 57, 91 พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2550 ม. 3 พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ม. 4, 7
พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มาตรา 7 กำหนดให้บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่อ้างถึงบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ให้ถือว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นอ้างบทบัญญัติแห่ง ป.ยาเสพติดในมาตราที่มีนัยเช่นเดียวกัน เมื่อ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง และ พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 127 ทวิ วรรคสอง อ้างถึง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 91 จึงถือว่าอ้างถึง ป.ยาเสพติด มาตรา 162 ด้วยอันเป็นบทกำหนดความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในการเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน ซึ่งต้องระวางโทษสูงกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษอีกหนึ่งในสาม ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 43 ทวิ, 157/1, 162 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 92, 93, 94, 95, 102 (3 ทวิ), 127 ทวิ เพิกถอนหรือพักใช้ใบอนุญาตขับรถทั้งสองของจำเลยไม่น้อยกว่าหกเดือน
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 57, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 102 (3 ทวิ), 127 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่บทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 127 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 91 เพียงบทเดียว ตามนัยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 8 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 เดือน พักใช้ใบอนุญาตขับรถทั้งสองของจำเลยมีกำหนด 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติด พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า สมควรรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถบรรทุกหกล้อ หากมีอาการมึนเมาย่อมทำให้ขาดสติ ไม่สามารถใช้ความระมัดระวังในการขับรถได้อย่างเต็มที่ดังเช่นในภาวะที่มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ ลักษณะการกระทำความผิดของจำเลยอาจสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของผู้อื่น อันก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนและมีภาระต้องอุปการะเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัว หรือมีเหตุอื่นดังที่จำเลยยกขึ้นอ้างในฎีกา ก็มิใช่เป็นเหตุผลเพียงพอจะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย การใช้ดุลพินิจกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์เหมาะสมแก่รูปคดี ศาลฎีกาไม่มีเหตุจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ออกใช้บังคับ โดยในมาตรา 4 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 รวมทั้งที่แก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ และให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าวแทน โดยความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 57 ต้องด้วยบทกำหนดโทษตามมาตรา 91 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับส่วนประมวลกฎหมายยาเสพติดได้บัญญัติไว้ในมาตรา 104 และต้องด้วยบทกำหนดโทษตามมาตรา 162 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนี้ จะเห็นได้ว่ากฎหมายยาเสพติดซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำผิดและเป็นกฎหมายใหม่ ยังคงบัญญัติให้การเสพเมทแอมเฟตามีนยังเป็นความผิดอยู่เช่นเดิมสำหรับความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนนั้น พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มาตรา 7 กำหนดให้บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่อ้างถึงบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ให้ถือว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นอ้างบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายยาเสพติดในมาตราที่มีนัยเช่นเดียวกัน เมื่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 127 ทวิ วรรคสอง อ้างถึงพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 91 จึงถือว่าอ้างถึงประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 162 ซึ่งเป็นบทกำหนดความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในการเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนจึงต้องระวางโทษสูงกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษอีกหนึ่งในสาม ซึ่งหมายความรวมถึงประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 162 ด้วย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อนและเป็นโทษจำคุกระยะสั้น สมควรแก้ไขดุลพินิจในการกำหนดโทษจำเลยเสียใหม่ โดยให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมแก่รูปคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 มาตรา 225 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 104, 162 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มารตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 162 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 102 (3 ทวิ), 127 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 162 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดมีระวางโทษเท่ากัน ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายยาเสพติดมาตรา 162 วางโทษจำคุก 4 เดือน ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้กึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุกมีกำหนด 2 เดือน แต่ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังจำเลยมีกำหนด 2 เดือนแทน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.1543/2565
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดลำพูน จำเลย - นาย ป.
ชื่อองค์คณะ อุไรลักษณ์ ลีธรรมชโย นวลทิพย์ ฉัตรชัยสกุล พัชร์ภรณ์ อนุวุฒินาวิน
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดลำพูน - นางสาวปรายฝน เพชรโพธิ์ศรี ศาลอุทธรณ์ - นางเกดแก้ว หว่างอุ่น