สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3256/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3256/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 352, 354 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1719, 1720, 1721, 1723, 1750 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (5), 192

เมื่อศาลตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ ว. แล้ว จำเลยไม่อาจจัดการมรดกให้เป็นไปทางหนึ่งทางใดตามอำเภอใจได้ แต่จักต้องทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกภายใต้กรอบและหลักเกณฑ์ที่ ป.พ.พ. กำหนดไว้ โดยประการสำคัญ จำเลยมีหน้าที่ต้องรวบรวมทรัพย์มรดกทั้งหลายของ ว. แล้วนำมาจัดการมรดกโดยทั่วไปและจัดสรรแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิทุกคนให้เป็นไปตามกฎหมายและตามพินัยกรรมของ ว. ซึ่งในการนี้ จำเลยต้องกระทำเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกด้วยความสุจริต โปร่งใสและตรงไปตรงมาอย่างเปิดเผยเพื่อไม่ได้เป็นที่คลางแคลงใจ อันจะก่อให้เกิดความขัดแย้งกระทบกระทั่งต่อความสัมพันธ์อันดีในระหว่างทายาทผู้มีสิทธิทุกคน มิฉะนั้น จำเลยอาจต้องรับผิดในทางแพ่งต่อทายาทตามมาตรา 1720 ทั้งหากกระทำการโดยทุจริตเพื่อประโยชน์แก่ตนเองเป็นที่ตั้ง จำเลยก็อาจต้องรับผิดทางอาญาในความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 และ 354

ผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งมีอำนาจและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 ทั้งการจัดการมรดกเป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะต้องจัดการโดยตนเอง เว้นแต่เข้าข้อยกเว้นให้ผู้จัดการมรดกมอบให้ตัวแทนทำการได้ตามอำนาจที่ให้ไว้ชัดแจ้งหรือโดยปริยายในพินัยกรรม หรือโดยคำสั่งศาล หรือในพฤติการณ์เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามมาตรา 1723 นอกจากนี้ ผู้จัดการมรดกที่ศาลมีคำสั่งตั้งมิใช่ตัวแทนของทายาท โดยอำนาจหน้าที่และความรับผิดของผู้จัดการมรดกที่มีต่อทายาทเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมาย ผู้จัดการมรดกจึงอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนตามกฎหมายของทายาทที่จะต้องจัดการมรดกเพื่อประโยชน์แก่ทายาทและกองมรดก โดยทายาทไม่มีอำนาจที่จะสั่งการให้ผู้จัดการมรดกกระทำการใด ๆ ได้ เพียงแต่ผู้จัดการมรดกจะต้องรับผิดต่อทายาทตามมาตรา 1720 โดยกฎหมายให้นำบทบัญญัติบางมาตราในลักษณะตัวแทนมาใช้บังคับโดยอนุโลม และทายาทอยู่ในฐานะเป็นผู้ควบคุมการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกให้อยู่ในขอบอำนาจตามที่พินัยกรรมและกฎหมายกำหนดไว้ รวมทั้งมีอำนาจที่จะขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกที่ละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ เมื่อการจัดการมรดกของ ว. เป็นหน้าที่โดยตรงของจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกที่จะต้องกระทำด้วยตนเอง โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ ว. จึงไม่มีอำนาจบังคับจำเลยให้ดำเนินการขายที่ดินพิพาทในรูปแบบของคณะกรรมการขายที่ดินตามมติที่ประชุมทายาทและในทางกลับกัน จำเลยย่อมมีอำนาจเต็มที่ที่จะจัดการมรดกของ ว ได้โดยไม่จำต้องขออนุญาตหรือต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์หรือที่ประชุมทายาทก่อน

ว. เจ้ามรดก มิได้กำหนดให้ผู้จัดการมรดกกระทำโดยวิธีการใด เพียงแต่ระบุให้ทายาทรวม 6 คน ได้รับส่วนแบ่งทรัพย์สินคนละส่วนเท่า ๆ กัน ดังนั้น การแบ่งปันทรัพย์มรดกจึงต้องดำเนินการไปตามหลักเกณฑ์ที่ มาตรา 1750 กำหนดไว้โดยเฉพาะ กล่าวคือ การแบ่งปันทรัพย์มรดกสามารถกระทำได้ 3 วิธี โดยวิธีแรก ให้ทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด วิธีที่สอง ให้ดำเนินการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท และวิธีที่สาม ให้ทายาทตกลงกันด้วยการทำรูปแบบของสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 850 และ 852 มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อทายาทหรือตัวแทนของทายาทเป็นสำคัญ จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกเลือกวิธีการแบ่งมรดกด้วยการขายที่ดินพิพาทเพื่อเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาทแม้จำเลยจะเป็นทายาทของ ว. ที่มีส่วนในทรัพย์มรดกมากกว่าโจทก์และทายาทคนอื่น แต่เมื่อการประมูลขายที่ดินพิพาทของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ว. เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และมีพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางไม่ชอบมาพากลหลายประการ รูปคดีจึงบ่งชี้ว่าจำเลยไม่เพียงจัดการมรดกโดยมิชอบในทางแพ่งเท่านั้น แต่ยังมีเจตนากระทำความผิดทางอาญาด้วยการวางแผนแสวงหาประโยชน์จากที่ดินพิพาทอย่างเป็นขั้นเป็นตอนโดยทุจริต ซึ่งความในข้อนี้เห็นได้ชัดจากการที่จำเลยมอบหมายให้ อ. บุตรชายของจำเลยเข้าประมูลซื้อที่ดินพิพาทเพื่อให้เป็นของจำเลย โดยจำเลยไม่ได้นำมูลค่าของที่ดินพิพาท ที่ประมูลซื้อในราคา 8,150,000 บาท มาแบ่งปันแก่ทายาทแต่อย่างใด อีกทั้งจำเลยยังดำเนินการแบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป็นที่ดินแปลงย่อย 4 แปลง แล้วขายที่ดินแปลงคงและแปลงย่อยรวม 5 แปลง ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ว. ให้แก่ ศ. ในราคาสูงถึง 19,000,000 บาท แล้วนำเงินเข้าบัญชีของจำเลย แม้ต่อมาจำเลยได้ถอนเงินจำนวน 9,000,000 บาท นำเข้าฝากในบัญชีกองมรดกของ ว. ก็ตาม แต่เงินอีก 10,000,000 บาท ไม่ใช่เงินส่วนตัวของจำเลยเพราะจำเลยขายที่ดินพิพาทในฐานะผู้จัดการมรดกของ ว. คดีจึงรับฟังได้มั่นคงว่า จำเลยในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดกของ ว. ตามคำสั่งศาลได้ครอบครองและเบียดบังเอาทรัพย์มรดกของ ว. เป็นของตนหรือของบุคคลที่สามโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ประกอบมาตรา 354

โจทก์บรรยายฟ้องมีสาระสำคัญว่า จำเลยในฐานที่เป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาลได้กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยเบียดบังเอาทรัพย์สินของกองมรดกของ ว. ไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ซึ่งการเบียดบังเอาที่ดินมรดกไปหรือเบียดบังเอาเงินที่ได้จากการขายที่ดินมรดกไปก็ย่อมถือเป็นความผิดที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสิ้น

ฟ้องโจทก์บรรยายว่าจำเลยนำแคชเชียร์เช็คค่าซื้อที่ดินไปเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยจำนวนเงิน 10,000,000 บาท และ 9,000,000 บาท ตามลำดับ โดยเจตนาทุจริต ซึ่งคำฟ้องในลักษณะเช่นนี้ย่อมทำให้จำเลยเข้าใจได้ว่า โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยเบียดบังยักยอกเอาเงินค่าขายที่ดินมรดกไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่ชอบ และเมื่อจำเลยได้รับสำเนาคำฟ้องแล้ว จำเลยก็ให้การปฏิเสธว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดตามฟ้อง อันเป็นการแสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีและไม่หลงข้อต่อสู้ ฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 352, 354 และนับโทษของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ อ.48/2559 และคดีหมายเลขดำที่ อ.52/2559 ของศาลแขวงลพบุรี

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ และแถลงรับว่าจำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 30 มกราคม 2561

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ประกอบมาตรา 354 จำคุก 1 ปี ยกคำขอนับโทษต่อ

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ จำเลย นายสุภัสร์ นางสาวจันทนา และนางสาวจิตติมา เป็นบุตรของนายวิฑูรย์กับนางสมพร ระหว่างมีชีวิต นายวิฑูรย์มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 12243 เนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา ต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม 2531 นายวิฑูรย์ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองระบุยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นางสมพรและบุตรทั้งห้าคน คนละส่วนเท่ากัน กับตั้งนายสมชาย เป็นผู้จัดการมรดกของนายวิฑูรย์ หลังจากนั้นนายวิฑูรย์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2536 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายสมชายเป็นผู้จัดการมรดกของนายวิฑูรย์ สำหรับนางสมพร ภริยาของนายวิฑูรย์ ได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองฉบับลงวันที่ 7 เมษายน 2543 ระบุยกทรัพย์สินทั้งหมดของนางสมพรให้แก่จำเลยเพียงผู้เดียว กับตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางสมพร หลังจากนั้นนางสมพรถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2546 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางสมพร ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ถอนนายสมชายออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายวิฑูรย์ และขอให้ตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายวิฑูรย์แทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 ถอนนายสมชายออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายวิฑูรย์ และตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายวิฑูรย์ หลังจากจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายวิฑูรย์แล้ว เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2555 จำเลยได้ดำเนินการเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 12243 จากชื่อนายวิฑูรย์เป็นชื่อจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายวิฑูรย์ และเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2556 จำเลยขอแบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป็นที่ดินแปลงย่อยอีก 4 แปลง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 88421 ถึง 88424 ต่อมาวันที่ 6 มิถุนายน 2559 จำเลยขายที่ดินพิพาทรวม 5 แปลงดังกล่าว ให้แก่นายศิริชัย ในราคา 19,000,000 บาท จำเลยนำเช็คทั้งสองฉบับเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย จากนั้นวันที่ 27 มิถุนายน 2559 จำเลยถอนเงิน 9,000,000 บาท ไปฝากเข้าบัญชีธนาคารที่มีชื่อจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายวิฑูรย์

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ จำเลยรับอาสาเข้ามาทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกของนายวิฑูรย์แทนนายสมชายซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกคนเดิม โดยไม่มีผู้ใดบังคับขู่เข็ญและไม่มีทายาทผู้ใดคัดค้าน ประกอบกับทรัพย์มรดกของนายวิฑูรย์ที่ตกทอดแก่ทายาทคนละส่วนเท่า ๆ กัน มีเป็นจำนวนมากทั้งที่ดินหลายแปลงและสังหาริมทรัพย์ประเภทต่าง ๆ หลายรายการ กรณีจึงนับว่าจำเลยอุทิศตนและมีความเสียสละที่จะจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่มีมูลค่าสูงของนายวิฑูรย์ให้แก่ทายาททั้งหลายทั้ง ๆ ที่จำเลยไม่มีสิทธิที่จะได้รับบำเหน็จตอบแทนจากกองมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1721 อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายวิฑูรย์แล้ว จำเลยไม่อาจจัดการมรดกให้เป็นไปในทางหนึ่งทางใดตามอำเภอใจได้ แต่จักต้องทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกภายใต้กรอบและหลักเกณฑ์ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดไว้ โดยประการสำคัญ จำเลยมีหน้าที่ต้องรวบรวมทรัพย์มรดกทั้งหลายของนายวิฑูรย์แล้วนำมาจัดการมรดกโดยทั่วไปและจัดสรรแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิทุกคนให้เป็นไปตามกฎหมายและตามพินัยกรรมของนายวิฑูรย์ ซึ่งในการนี้ จำเลยต้องกระทำเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกด้วยความสุจริต โปร่งใสและตรงไปตรงมาอย่างเปิดเผยเพื่อไม่ได้เป็นที่คลางแคลงใจ อันจะก่อให้เกิดความขัดแย้งกระทบกระทั่งต่อความสัมพันธ์อันดีงามในระหว่างทายาทผู้มีสิทธิทุกคน มิฉะนั้น จำเลยอาจต้องรับผิดในทางแพ่งต่อทายาทตามาตรา 1720 ทั้งหากกระทำการโดยทุจริตเพื่อประโยชน์แก่ตนเองเป็นที่ตั้ง จำเลยก็อาจต้องรับผิดทางอาญาในความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และ 354 ปัญหาว่าจำเลยมีอำนาจจัดการมรดกของนายวิฑูรย์ได้เพียงใด ในประเด็นนี้ แม้ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า ก่อนที่จำเลยจะเข้ารับหน้าที่เป็นผู้จัดการมรดกของนายวิฑูรย์ตามคำสั่งศาลเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 โจทก์กับทายาทอื่นและนายสมชายซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายวิฑูรย์คนเดิมได้เคยร่วมประชุมปรึกษาหารือกัน และมีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการขายที่ดินมรดกของนายวิฑูรย์จำนวน 3 คน กับให้คณะกรรมการขายที่ดินดังกล่าวมีอำนาจกำหนดวิธีการขายที่ดินก็ตาม แต่ก็เห็นได้ว่าผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งมีอำนาจและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 ทั้งการจัดการมรดกตามบทบัญญัติของกฎหมายเป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะต้องจัดการโดยตนเอง เว้นแต่กรณีเข้าข้อยกเว้นให้ผู้จัดการมรดกมอบให้ตัวแทนทำการได้ตามอำนาจที่ให้ไว้ชัดแจ้งหรือโดยปริยายในพินัยกรรม หรือโดยคำสั่งศาล หรือในพฤติการณ์เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามมาตรา 1723 ซึ่งในคดีนี้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงให้จำเลยที่เป็นผู้จัดการมรดกของนายวิฑูรย์ต้องมอบหมายให้ผู้อื่นจัดการมรดกแทนจำเลยแต่อย่างใด นอกจากนี้ ผู้จัดการมรดกที่ศาลมีคำสั่งตั้งมิใช่ตัวแทนของทายาท โดยอำนาจหน้าที่และความรับผิดของผู้จัดการมรดกที่มีต่อทายาทเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมาย ผู้จัดการมรดกจึงอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนตามกฎหมายของทายาทที่จะต้องจัดการมรดกเพื่อประโยชน์แก่ทายาทและกองมรดก โดยทายาทไม่มีอำนาจที่จะสั่งการให้ผู้จัดการมรดกกระทำการใด ๆ ได้ เพียงแต่ผู้จัดการมรดกจะต้องรับผิดต่อทายาทตามมาตรา 1720 โดยกฎหมายให้นำบทบัญญัติบางมาตราในลักษณะตัวแทนมาใช้บังคับโดยอนุโลม และทายาทอยู่ในฐานะเป็นผู้ควบคุมการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกให้อยู่ในขอบอำนาจตามที่พินัยกรรมและกฎหมายกำหนดไว้ รวมทั้งมีอำนาจที่จะขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกที่ละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ ส่วนมาตรา 1726, 1727 วรรคสอง 1729, 1731 และ 1732 เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ศาลเป็นผู้ดูแลให้ผู้จัดการมรดกปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อให้การจัดการมรดกเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เมื่อการจัดการมรดกของนายวิฑูรย์เป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกที่จะต้องกระทำโดยตนเอง โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของนายวิฑูรย์จึงไม่มีอำนาจบังคับจำเลยให้ดำเนินการขายที่ดินพิพาทในรูปแบบของคณะกรรมการขายที่ดินตามมติที่ประชุมทายาทดังที่โจทก์นำสืบได้ และในทางกลับกัน จำเลยย่อมมีอำนาจเต็มที่ที่จะจัดการมรดกของนายวิฑูรย์ได้โดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาตหรือต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์หรือที่ประชุมทายาทก่อนตามที่จำเลยฎีกา

ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยจัดการมรดกของนายวิฑูรย์โดยชอบหรือโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือไม่ประการใด เห็นว่า จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายวิฑูรย์มีหน้าที่ที่จะต้องจัดการมรดกโดยคำนึงถึงประโยชน์ของทายาทและกองมรดกเป็นสำคัญ ทั้งมีหน้าที่จัดสรรแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิทุกคนให้เป็นไปตามกฎหมายและตามพินัยกรรมของนายวิฑูรย์ ซึ่งการแบ่งปันทรัพย์มรดกอันเป็นที่ดินในคดีนี้ นายวิฑูรย์ เจ้ามรดก มิได้กำหนดให้ผู้จัดการมรดกกระทำโดยวิธีการใด เพียงแต่ระบุให้ทายาทรวม 6 คน ได้รับส่วนแบ่งทรัพย์สินคนละส่วนเท่า ๆ กัน ดังนั้น การแบ่งปันทรัพย์มรดกจึงต้องดำเนินการไปตามหลักเกณฑ์ที่ มาตรา 1750 กำหนดไว้โดยเฉพาะ กล่าวคือ การแบ่งปันทรัพย์มรดกสามารถกระทำได้ 3 วิธี โดยวิธีแรก ให้ทายาทต่างเข้าครอบครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด วิธีที่สอง ให้ดำเนินการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท และวิธีที่สาม ให้ทายาทตกลงกันด้วยการทำรูปแบบของสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 850 และ 852 มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อทายาทหรือตัวแทนของทายาทเป็นสำคัญ สำหรับการแบ่งปันที่ดินพิพาทตามฟ้อง จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้เลือกวิธีการแบ่งมรดกด้วยการขายที่ดินพิพาทเพื่อเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท โดยการขายที่ดินพิพาทดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการนำออกขายโดยประมูลราคากันเองก็ดี หรือนำออกขายทอดตลาดให้แก่บุคคคลภายนอกก็ดี ล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดการมรดกซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของจำเลยผู้เป็นผู้จัดการมรดกที่สามารถกระทำได้เองดังที่จำเลยฎีกา

แม้จำเลยจะเป็นทายาทของนายวิฑูรย์ที่มีส่วนในทรัพย์มรดกของนายวิฑูรย์มากกว่าโจทก์และทายาทคนอื่น แต่เมื่อการประมูลขายที่ดินพิพาทของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายวิฑูรย์เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และมีพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางไม่ชอบมาพากลหลายประการดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น รูปคดีจึงบ่งชี้ว่าจำเลยไม่เพียงจัดการมรดกโดยมิชอบในทางแพ่งเท่านั้น แต่ยังมีเจตนากระทำความผิดทางอาญาด้วยการวางแผนแสวงหาประโยชน์จากที่ดินพิพาทอย่างเป็นขั้นเป็นตอนโดยทุจริต ซึ่งความในข้อนี้เห็นได้ชัดจากการที่จำเลยมอบหมายให้นายอานันท์บุตรชายของจำเลยเข้าประมูลซื้อที่ดินพิพาทเพื่อให้เป็นของจำเลย โดยจำเลยไม่ได้นำมูลค่าของที่ดินพิพาท ที่ประมูลซื้อในราคา 8,150,000 บาท มาแบ่งปันแก่ทายาทแต่อย่างใด อีกทั้งจำเลยยังดำเนินการแบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป็นที่ดินแปลงย่อย 4 แปลง แล้วขายที่ดินแปลงคงและแปลงย่อยรวม 5 แปลง ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายวิฑูรย์ให้แก่นายศิริชัยในราคาสูงถึง 19,000,000 บาท เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2559 โดยจำเลยนำแคชเชียร์เช็ค 2 ฉบับ ที่นายศิริชัยสั่งจ่ายจำนวน 19,000,000 บาท ฝากเข้าในบัญชีเงินฝากส่วนตัวของจำเลยในวันดังกล่าวทันที แม้ต่อมาวันที่ 27 มิถุนายน 2559 จำเลยได้ถอนเงินจำนวน 9,000,000 บาท (เกินกว่าราคาประมูล 8,150,000 บาท) ออกจากบัญชีเงินฝากส่วนตัวของจำเลยที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาศาลากลางจังหวัดลพบุรี แล้วนำเงินเข้าฝากในบัญชีกองมรดกของนายวิฑูรย์ที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบิ๊กซีลพบุรีก็ตาม แต่เงินอีก 10,000,000 บาท จำเลยยังคงฝากไว้ในบัญชีส่วนตัวของจำเลย ทั้ง ๆ ที่เงินจำนวน 19,000,000 บาท เป็นเงินที่ได้มาจากการขายที่ดินพิพาทที่จำเลยต้องแจกแจงแก่ทายาทอย่างละเอียดและต้องนำเข้าบัญชีกองมรดกทั้งหมดเสียก่อนแล้วจึงจะแบ่งปันให้แก่ทายาททุกคนตามส่วนของแต่ละคน เงินจำนวน 10,000,000 บาท จึงไม่ใช่เงินส่วนตัวของจำเลยเพียงคนเดียวดังที่จำเลยอ้างในฎีกาเพราะจำเลยขายที่ดินพิพาทในฐานะผู้จัดการมรดกของนายวิฑูรย์ ไม่ได้ขายในฐานะส่วนตัว เมื่อข้อนำสืบของโจทก์มีพยานหลักฐานเชื่อมโยงสอดคล้องต้องกันสมเหตุสมผลเป็นที่น่าเชื่อถือ ประกอบกับจำเลยไม่ได้สืบพยานหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น คดีจึงรับฟังได้มั่นคงว่า จำเลยในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดกของนายวิฑูรย์ตามคำสั่งศาลได้ครอบครองและเบียดบังเอาทรัพย์มรดกของนายวิฑูรย์เป็นของตนหรือของบุคคลที่สามโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ประกอบมาตรา 354 ตามฟ้องโจทก์ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยนำแคชเชียร์เช็ค 2 ฉบับ ฉบับละ 10,000,000 บาท และ 9,000,000 บาท ที่นายศิริชัยสั่งจ่ายให้แก่จำเลยไปเข้าบัญชีเงินฝากส่วนตัวของจำเลยเป็น 2 บัญชี แยกจากกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิด 2 กรรมนั้น เห็นว่า การที่จำเลยนำแคชเชียร์เช็ค 2 ฉบับ ที่ได้มาจากการขายที่ดินพิพาทไปเข้าบัญชีเงินฝากส่วนตัวของจำเลย 2 บัญชี เป็นกรณีที่จำเลยมีเจตนาประการเดียวที่จะนำเงินทั้งสองจำนวนไปแสวงหาประโยชน์โดยทุจริต จึงเป็นการกระทำความผิดเพียงกรรมเดียว ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้องประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในฐานยักยอกที่ดินมรดก โดยไม่ได้ประสงค์ให้ลงโทษฐานยักยอกเงินค่าขายที่ดินมรดกให้แก่นายศิริชัย ศาลจึงไม่มีอำนาจลงโทษจำเลยในฐานยักยอกเงินค่าขายที่ดินมรดกได้นั้น เห็นว่า คดีนี้ โจทก์บรรยายฟ้องมีสาระสำคัญว่า จำเลยในฐานที่เป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาลได้กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยเบียดบังเอาทรัพย์สินของกองมรดกของนายวิฑูรย์ไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ซึ่งการเบียดบังเอาทรัพย์สินของกองมรดกดังกล่าวไปนั้น ไม่ว่าทางพิจารณาจะรับฟังได้ว่าเป็นการเบียดบังเอาที่ดินมรดกไปหรือเบียดบังเอาเงินที่ได้จากการขายที่ดินมรดกไปก็ย่อมถือเป็นความผิดที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสิ้น ที่จำเลยฎีกาต่อไปว่า ฟ้องโจทก์ที่กล่าวหาว่าจำเลยเบียดบังเอาเงินที่ได้จากการขายที่ดินมรดกไปเป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้น เห็นว่า ฟ้องโจทก์บรรยายว่าจำเลยนำแคชเชียร์เช็คค่าซื้อที่ดินมรดกไปเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยจำนวนเงิน 10,000,000 บาท และ 9,000,000 บาท ตามลำดับ โดยเจตนาทุจริต ซึ่งคำฟ้องในลักษณะเช่นนี้ย่อมทำให้จำเลยเข้าใจได้ว่า โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยเบียดบังยักยอกเอาเงินค่าขายที่ดินมรดกไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยมิชอบ และเมื่อจำเลยได้รับสำเนาคำฟ้องแล้ว จำเลยก็ให้การปฏิเสธว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดตามฟ้อง อันเป็นการแสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีและไม่หลงข้อต่อสู้ ฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุมดังที่จำเลยอ้างและกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในประเด็นปลีกย่อยอื่น เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 ใช้บังคับ โดยมาตรา 4 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 352 วรรคหนึ่ง และมาตรา 354 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน แต่อัตราโทษที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงให้ใช้อัตราโทษที่ใช้บังคับขณะกระทำผิดบังคับแก่จำเลย

พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 (เดิม) ประกอบมาตรา 354 (เดิม) จำคุก 1 ปี ให้ปรับจำเลย 10,000 บาท จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกคำขอนับโทษต่อ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.2782/2562

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย ส. จำเลย - นาย ว.

ชื่อองค์คณะ ภานุวัฒน์ ศุภะพันธุ์ ภาวนา สุคันธวณิช วินัย เรืองศรี

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดลพบุรี - นางสาวสุพรรณี ผิวนิล ศาลอุทธรณ์ภาค 1 - นายประสงค์ กระจ่างวุฒิชัย

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th