คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3273/2563
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 40, 44/1 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (5), 246, 252
การที่ผู้เสียหายจะมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 นั้น ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวจะต้องเป็นความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดที่พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องร้องเท่านั้น จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดที่ไม่ถูกฟ้องไม่ได้ เมื่อพนักงานอัยการโจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ผู้ร้องที่ 1 จึงไม่อาจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพ และค่าขาดไร้อุปการะได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246, 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 80, 91, 288 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นาย ว. บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เสียหายที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 620,000 บาท ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 90,000 บาท และผู้เสียหายที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวน
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 13 ปี 4 เดือน ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ทางนำสืบของจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้อื่นเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 ปี 10 เดือน 20 วัน รวมจำคุก 9 ปี 16 เดือน 20 วัน ริบของกลาง ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 1 จำนวน 572,000 บาท แก่ผู้ร้องที่ 2 จำนวน 29,000 บาท และแก่ผู้ร้องที่ 3 จำนวน 38,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวน นับแต่วันยื่นคำร้อง จนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีคนร้ายใช้อาวุธปืนลูกซองยิงผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 1 นัด ขณะผู้เสียหายที่ 1 อยู่ภายในร้านมาลาผับที่เกิดเหตุ เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 รับอันตรายสาหัส นอกจากนี้ กระสุนปืนยังไปถูกผู้เสียหายที่ 2 และผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งอยู่ในร้านที่เกิดเหตุด้วย เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ได้รับอันตรายแก่กาย หลังเกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจยึดอาวุธปืนลูกซอง ขนาด 12 จำนวน 1 กระบอก ปลอกกระสุนปืนลูกซอง 1 ปลอก และลูกกระสุนปรายกระสุนปืนลูกซอง 1 ชิ้น เป็นของกลาง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ สำหรับความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้กระทำผิด เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายข้างต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเพียงว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นหรือไม่ เห็นว่า นางสาวกนกรัตน์และนายสรายุทธพยานโจทก์เป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันว่าจำเลยคือคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 1 แม้ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน แต่ได้ความจากพยานทั้งสองดังกล่าวตรงกันว่า ภายในร้านเกิดเหตุมีแสงไฟสลัว ๆ เมื่อใช้เวลาปรับสายตาครู่หนึ่งจะสามารถมองเห็นสภาพภายในร้านได้ และโจทก์มีพันตำรวจโทอรุณ พนักงานสอบสวนเบิกความสนับสนุนว่า หลังเกิดเหตุพยานไปตรวจสถานที่เกิดเหตุพบว่า ภายในร้านเกิดเหตุมีแสงสว่างสามารถมองเห็นได้ จึงเชื่อว่าบริเวณเกิดเหตุมีแสงสว่างเพียงพอให้มองเห็นเหตุการณ์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายสรายุทธรู้จักจำเลยมาก่อนเนื่องจากจำเลยไปเที่ยวที่ร้านเกิดเหตุบ่อยครั้ง ก่อนเกิดเหตุนายสรายุทธเห็นกลุ่มของจำเลยกับกลุ่มของผู้เสียหายที่ 1 มีปากเสียงกันครู่หนึ่งแล้วนั่งลง นายสรายุทธจึงเริ่มจับตามองทั้งสองกลุ่ม ดังนี้ เชื่อได้ว่าประจักษ์พยานทั้งสองปากจดจำจำเลยได้ไม่ผิดพลาด ประจักษ์พยานทั้งสองปากไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุให้ระแวงว่าจะกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยให้ต้องรับโทษ และเชื่อว่าเบิกความไปตามความเป็นจริง นอกจากนี้โจทก์ยังมีบันทึกคำให้การของผู้เสียหายที่ 1 ที่ผู้เสียหายที่ 1 ให้การหลังเกิดเหตุทันทีว่าจำเลยเป็นคนร้ายคดีนี้ พร้อมกับชี้ยืนยันภาพถ่ายจำเลยไว้ โดยเหตุที่โจทก์ไม่ได้ตัวผู้เสียหายที่ 1 มาเบิกความเนื่องจากผู้เสียหายที่ 1 ถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว อันเป็นเหตุจำเป็นที่จะรับฟังบันทึกคำให้การของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นเพียงพยานบอกเล่าได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 วรรคสอง (2) ดังนี้ พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ผู้ร้องที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพ 150,000 บาท และค่าขาดไร้อุปการะ 200,000 บาท และศาลล่างพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่ผู้ร้องที่ 1 นั้น เห็นว่า การที่ผู้เสียหายจะมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 นั้น ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวจะต้องเป็นความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดที่พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องร้องเท่านั้น ผู้เสียหายจะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดที่ไม่ถูกฟ้องไม่ได้ คดีนี้พนักงานอัยการโจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ดังนั้น ผู้ร้องที่ 1 จะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตดังกล่าวไม่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพ 150,000 บาท และค่าขาดไร้อุปการะ 200,000 บาท แก่ผู้ร้องที่ 1 ด้วยนั้นเป็นการมิชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5), 246, 252 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพ 150,000 บาท และค่าขาดไร้อุปการะ 200,000 บาท ของผู้ร้องที่ 1 โดยให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 1 เป็นเงิน 222,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันยื่นคำร้อง จนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.2764/2562
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดพังงา ผู้ร้อง - นาย ว. กับพวก จำเลย - นาย ส.
ชื่อองค์คณะ สิทธิชัย โชคสวัสดิ์ไพศาล สนธิศาสตร์ เจตน์วราพงศ์ จรัญ รัตตมณี
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดพังงา - นายพัชรพงศ์ โรจนะวุฒิ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 - นายปิยะวรรณ สุประดิษฐ์ ณ อยุธยา