สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3278/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3278/2563

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 131 (2), 151

ศาลชั้นต้นพิเคราะห์ฟ้องและเอกสารท้ายฟ้องแล้ว เห็นว่า เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบซึ่งมิได้มีการกระทำใด ๆ ที่เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อต่อโจทก์ทั้งสี่โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันเป็นการละเมิดตาม ป.พ.พ.มาตรา 420 โจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีอำนาจเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ พิพากษายกฟ้องและยกคำขอในส่วนแพ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ ถือได้ว่าศาลชั้นต้นรับฟ้องคดีส่วนแพ่งแล้วนำข้อเท็จจริงในฟ้องและเอกสารท้ายฟ้องมาวินิจฉัยเกี่ยวกับคำฟ้องส่วนแพ่งและพิพากษายกฟ้อง เป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีตาม ป.วิ.พ.มาตรา 131 (2) ประกอบพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง มีผลเป็นการพิพากษาคดีส่วนแพ่งแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่ศาลชั้นต้นไม่รับหรือคืนคำฟ้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 แห่ง ป.วิ.พ. ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง จึงไม่มีเหตุที่จะคืนค่าขึ้นศาลให้แก่โจทก์ทั้งสี่ตามมาตรา 151

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 1,000,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่

วันที่ 18 พฤษภาคม 2560 ศาลชั้นต้นตรวจฟ้องในเบื้องต้นแล้ว เห็นว่า มีความจำเป็นเพื่อให้ได้ความชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดีอันจะเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 23 ข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยวิธีการดำเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 ข้อ 16 มอบหมายให้เจ้าพนักงานคดีดำเนินการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานอันเป็นประเด็นแห่งคดี ศาลชั้นต้นอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง ให้โจทก์ทั้งสี่ชี้ช่องพยานหลักฐานให้ชัดเจนโดยส่งคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด และรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มีมติไม่ชี้มูลความผิดแก่โจทก์ทั้งสี่ และเสียค่าขึ้นศาลคดีในส่วนแพ่งให้ถูกต้องภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2560

วันที่ 6 มิถุนายน 2560 โจทก์ทั้งสี่ส่งสำเนารายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่องกล่าวหาเลขดำที่ 42010730 เลขแดงที่ 01674555 ลงวันที่ 11 เมษายน 2555 และสำเนาคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ.285 – 286/2556 คดีหมายเลขแดงที่ อ.487 – 488/2557 กับวางเงินค่าธรรมเนียมศาล 1,150,000 บาท และความปรากฏว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินส่งเอกสารรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบมายังศาลชั้นต้นตามหนังสือลับ ที่ ตผ 0012/572 ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2560

วันที่ 27 มิถุนายน 2560 ศาลชั้นต้นอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 23 ข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยวิธีการดำเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 ข้อ 16 มอบหมายให้เจ้าพนักงานคดีดำเนินการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานอันเป็นประเด็นแห่งคดี โดยให้มีหนังสือถึงสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจัดส่งข้อบังคับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยการตรวจสอบสืบสวน พ.ศ.2549 ระเบียบ ข้อหารือ หรือแนวทางการปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง ถ้ามี พร้อมทั้งให้ชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรถึงแนวทางปฏิบัติตามข้อบังคับในเรื่องดังกล่าว สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้รับเรื่องไว้เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2560 และขอขยายระยะเวลาในการจัดส่งเอกสารออกไป 15 วัน ตามหนังสือด่วนที่สุด ที่ ตผ 0012/2968 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2560 ซึ่งต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้แยกเก็บเอกสารที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจัดส่งมาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2560

ศาลชั้นต้นตรวจฟ้องแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ได้ความตามฟ้องเพียงพอแก่การวินิจฉัยคดีไม่จำเป็นต้องไต่สวนคดีต่อไปและมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2560 โดยวินิจฉัยว่า การที่จำเลยทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มิใช่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การกระทำของจำเลยดังที่โจทก์ทั้งสี่บรรยายมาในฟ้องไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่อาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ตามฟ้องได้ เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบจึงไม่ได้มีการกระทำใด ๆ ที่เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อต่อโจทก์ทั้งสี่โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันเป็นการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 โจทก์ทั้งสี่ไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ พิพากษายกฟ้องและยกคำขอในส่วนแพ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

วันที่ 11 กันยายน 2560 โจทก์ทั้งสี่ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบทั้งหมดโดยกำหนดนัดไต่สวนมูลฟ้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลพิจารณาพิพากษาคดีนี้โดยเห็นว่าการกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องไม่เป็นความผิดจึงพิพากษายกฟ้อง โดยมิได้นำหลักฐานอื่นใดเข้ามาพิจารณาด้วย จึงไม่ต้องดำเนินการตามวิธีการต่าง ๆ ที่โจทก์ทั้งสี่อ้างมาในคำร้อง ดังนั้น การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายทุกประการ กรณีไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนกระบวนพิจารณา ให้ยกคำร้อง

วันที่ 15 กันยายน 2560 โจทก์ทั้งสี่ยื่นคำร้องโต้แย้งคำสั่งดังกล่าว อ้างว่า เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งโจทก์ทั้งสี่ประสงค์จะใช้สิทธิในการอุทธรณ์และฎีกาโดยอ้างเหตุศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบโดยไม่ไต่สวนคำร้อง

โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ทั้งสี่ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำบรรยายฟ้องปรากฏถึงลำดับความเป็นมาของข้อเท็จจริงแห่งคดีว่า เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2540 โจทก์ทั้งสี่ บริษัทประยูรวิศร์ จำกัด และบริษัทนอร์ธเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่ใช้ชื่อทางการค้าว่ากิจการร่วมค้า NVPSKG และ NWWI กับกรมควบคุมมลพิษได้ทำสัญญาโครงการจัดการน้ำเสียในเขตควบคุมมลพิษจังหวัดสมุทรปราการฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก ตามสัญญาเลขที่ 75/2540 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2540 ซึ่งต่อมาบริษัทสมุทรปราการ ออพเปอร์เรทติ้ง จำกัด เข้ามาเป็นคู่สัญญาแทนที่บริษัทนอร์ธเวสต์ฯ (NWWI) โดยความยินยอมของกรมควบคุมมลพิษ ความปรากฏว่ากรมควบคุมมลพิษขอยกเลิกสัญญาโดยกล่าวอ้างว่าสัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะด้วยเหตุสำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรมและกรมควบคุมมลพิษยื่นฟ้องกิจการร่วมค้า NVPSKG และโจทก์ทั้งสี่กับพวกต่อศาลแพ่ง ขอเรียกทรัพย์คืนโดยอ้างว่านิติกรรมเป็นโมฆะตามคดีหมายเลขแดงที่ 3358/2547 คดีถึงที่สุดในชั้นฎีกาที่ให้ดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการเสียก่อน นอกจากนั้นกรมควบคุมมลพิษยังฟ้องกิจการร่วมค้ากับพวกต่อศาลแขวงดุสิตในข้อหาฉ้อโกง ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3501/2552 ชั้นอนุญาโตตุลาการ ปรากฏว่าคณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้กรมควบคุมมลพิษชำระเงินค่าจ้าง ค่าเสียหาย รวมดอกเบี้ย แก่โจทก์ทั้งสี่กับพวก และในชั้นขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการและขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ศาลปกครองกลางพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการโดยให้กรมควบคุมมลพิษชำระเงินให้เสร็จสิ้นภายในเก้าสิบวันนับแต่คดีถึงที่สุด ในชั้นอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยประเด็นเกี่ยวกับสัญญานั้นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสี่กับพวกปกปิดข้อเท็จจริงอันมีผลให้กรมควบคุมมลพิษสำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญา และวินิจฉัยถึงข้อสำคัญผิดในทรัพย์สินที่เป็นวัตถุแห่งนิติกรรมที่กรมควบคุมมลพิษกล่าวอ้างถึงเรื่องการขายที่ดินให้กรมควบคุมมลพิษสำหรับใช้ในโครงการออกแบบรวมก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย เขตควบคุมมลพิษจังหวัดสมุทรปราการ อีกประการหนึ่งว่าเป็นที่ดินที่กรมควบคุมมลพิษได้พิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นตามที่ได้ประกาศเชิญชวนไว้ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่โจทก์ทั้งสี่กับพวกจะเข้าทำสัญญากับกรมควบคุมมลพิษ เมื่อมีความผิดพลาดที่เกิดแก่เอกสารสิทธิในที่ดินพิพาท จึงไม่ใช่ความผิดของโจทก์ทั้งสี่กับพวก กรณีหาใช่การสำคัญผิดในทรัพย์สินที่เป็นวัตถุแห่งนิติกรรมที่จะมีผลให้สัญญาเป็นโมฆะ พิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสี่กับพวกตามคดีหมายเลขแดงที่ อ.487 – 488/2557 ของศาลปกครองสูงสุด ส่วนข้อหาฉ้อโกงศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลแขวงดุสิตให้ยกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสี่กับพวกร่วมกันหลอกลวงฉ้อโกงขายที่ดินห้าโฉนดซึ่งออกโดยมิชอบให้แก่กรมควบคุมมลพิษ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสี่กับพวกร่วมกระทำความผิดฐานฉ้อโกงในการทำสัญญารับเหมาก่อสร้างกับกรมควบคุมมลพิษตามคดีหมายเลขแดงที่ 14544/2556 ของศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2556 ภายหลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษามีการเจรจากันและคณะรัฐมนตรีมีมติให้กรมควบคุมมลพิษจ่ายค่าชดเชยตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดให้แก่โจทก์ทั้งสี่กับพวก 7,936,453,915.10 บาท และ 54,294,638.50 เหรียญสหรัฐ พร้อมงดดอกเบี้ย และแบ่งจ่ายเป็น 3 งวด งวดที่ 1 จำนวนร้อยละ 40 ภายในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2558 เป็นเงิน 3,174,581,566.04 บาท และ 21,717,855.40 เหรียญสหรัฐ งวดที่ 2 จำนวนร้อยละ 30 ภายในวันที่ 21 พฤษภาคม 2559 เป็นเงิน 2,380,936,174.53 บาท และ 16,288,391.55 เหรียญสหรัฐ และงวดที่ 3 จำนวนร้อยละ 30 ภายในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2559 เป็นเงิน 2,380,936,174.53 บาท และ 16,288,391.55 เหรียญสหรัฐ และอยู่ในระหว่างบังคับคดี โดยกรมควบคุมมลพิษจ่ายเงินงวดที่ 1 แล้ว โจทก์ทั้งสี่บรรยายฟ้องกล่าวถึงข้อความที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีตามหนังสือ ลับมาก ด่วนมาก ที่ ตผ 0005/0421 ลงวันที่ 27 เมษายน 2559 เรื่อง ขอให้ใช้อำนาจยึดหรืออายัดเงินผู้ร่วมกระทำผิดคดีคลองด่านที่จำเลยในฐานะผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีถึงเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ความว่า "…ผลการพิจารณาของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเห็นสอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย โดยเห็นว่า จากการชี้มูลความผิดของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งชี้มูลความผิดนายวัฒนา ใช้อำนาจข่มขู่หรือจูงใจเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางพลี จนนำไปสู่คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขแดงที่ อม.2/2551 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2551 พิพากษาลงโทษนายวัฒนาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 ลงโทษจำคุก 10 ปี และชี้มูลความผิดนายปกิต อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายศิริธัญญ์ อดีตรองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และนางยุวรี อดีตนักวิชาการสิ่งแวดล้อม 7 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 จนนำไปสู่คำพิพากษาของศาลอาญา คดีอาญา ที่ อ.4197/2558 ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2558 พิพากษาว่า จำเลยทั้งสาม ประกอบด้วย นายปกิต อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ จำเลยที่ 1 นายศิริธัญญ์ อดีตรองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ จำเลยที่ 2 และนางยุวรี อดีตนักวิชาการสิ่งแวดล้อม 7 จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 อีกทั้งศาลอาญายังได้วินิจฉัยในข้อเท็จจริงว่า "กิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจีและกลุ่มเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับกรมควบคุมมลพิษ ได้ร่วมกันบิดเบือนข้อเท็จจริงดำเนินการเสนอเข้าประกวดราคาในแต่ละขั้นตอนโดยทุจริต โดยมีจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ร่วมกับผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบ ปฏิบัติหน้าที่โดยเลือกดำเนินการแต่ละขั้นตอนไปในทางที่ขัดต่อระเบียบราชการ มติคณะรัฐมนตรีและไม่ชอบด้วยกฎหมายสนองรับดำเนินการให้ อันเป็นการทุจริตและเอื้อประโยชน์เพื่อช่วยเหลือจนทุก ๆ ขั้นตอน บรรลุผลสำเร็จ" จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า สัญญาดังกล่าวเกิดขึ้นจากการทุจริตของอธิบดีและเจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษในขณะนั้นสมคบกับกิจการร่วมค้าในทุกขั้นตอน เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มเอกชนดังกล่าวได้เข้ามาเป็นคู่สัญญา จึงเป็นสัญญาขัดต่อความสงบเรียบร้อย ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ซึ่งมีผลในทางกฎหมายให้สัญญาดังกล่าวเสียเปล่ามาตั้งแต่ต้น เสมือนไม่เคยมีการทำสัญญาดังกล่าวเกิดขึ้นเลย ดังนั้น อนุญาโตตุลาการซึ่งเกิดขึ้นโดยข้อกำหนดของสัญญาจึงไม่อาจมีได้ และไม่อาจมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อโต้แย้งของสัญญาแต่ประการใด

จากคำวินิจฉัยของศาลอาญาข้างต้น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่ามีช่องทางตามกฎหมายที่อาจดำเนินการได้ ดังนี้

  1. ให้หน่วยงานที่เดือดร้อนเสียหาย หรืออาจเดือดร้อนเสียหาย ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอพิจารณาคดีใหม่ เนื่องจากมีข้อเท็จจริงใหม่ว่าสัญญาดังกล่าวตกเป็นโมฆะเพราะขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีงาม โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจะนำเสนอต่อผู้มีอำนาจเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

  2. การกระทำของจำเลยทั้งสาม รวมถึงกิจการร่วมค้า เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาในฐานะตัวการร่วม ผู้ใช้ ผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานในการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ซึ่งเป็นหนึ่งในมูลฐานความผิดแห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (5) ซึ่งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สามารถใช้อำนาจในการดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์สินเจ้าหน้าที่รัฐ และเอกชนที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐในการกระทำทุจริตเพื่อเปิดโอกาสให้มาพิสูจน์ความผิด

เพื่อรักษาไว้ซึ่งประโยชน์ทางราชการและการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 39 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ขอความร่วมมือให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดำเนินการยึดอายัดทรัพย์สินของผู้อื่นที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่ต่อไป โดยขอให้เร่งดำเนินการออกคำสั่งยึดอายัดให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 21 พฤษภาคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่ครบกำหนดการชำระเงินงวดที่สอง ตามข้อตกลงในการชำระเงินตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด…" คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้ชี้มูลความผิดแก่โจทก์ทั้งสี่ว่ากระทำความผิดฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาในการกระทำความผิดตามโครงการดังกล่าวตามสำเนารายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่องกล่าวหาเลขดำที่ 42010730 เลขแดงที่ 01674555 ลงวันที่ 11 เมษายน 2555 ที่ศาลชั้นต้นอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง ให้โจทก์ทั้งสี่ชี้ช่องพยานหลักฐานให้ชัดเจน

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ในคดีส่วนแพ่งว่า ที่ศาลชั้นต้นยกคำขอในส่วนแพ่งและให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสี่ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาว่ากระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญารวมกันมาโดยคำขอส่วนแพ่งขอบังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่งฐานละเมิดโดยมีมูลมาจากความรับผิดทางอาญาดังกล่าวอันเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา และคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 และมาตรา 47 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง เมื่อการกระทำของจำเลยดังที่โจทก์ทั้งสี่บรรยายมาในฟ้องไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่อาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ตามฟ้องได้ และศาลชั้นต้นพิเคราะห์ฟ้องและเอกสารท้ายฟ้องแล้ว เห็นว่า เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบจึงมิได้มีการกระทำใด ๆ ที่เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อต่อโจทก์ทั้งสี่โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันเป็นการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 โจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีอำนาจเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ พิพากษายกฟ้อง และยกคำขอในส่วนแพ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ ถือได้ว่าศาลชั้นต้นรับฟ้องคดีส่วนแพ่งแล้วนำเอาข้อเท็จจริงในฟ้องและเอกสารท้ายฟ้องมาวินิจฉัยเกี่ยวกับคำฟ้องส่วนแพ่งและพิพากษายกฟ้อง เป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 131 (2) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง และมีผลเป็นการพิพากษาคดีส่วนแพ่งแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่ศาลชั้นต้นไม่รับหรือคืนคำฟ้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง จึงไม่มีเหตุที่จะคืนค่าขึ้นศาลให้แก่โจทก์ทั้งสี่ตามมาตรา 151 คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์ทั้งสี่อ้างนั้นมีข้อเท็จจริงแห่งคดีไม่ตรงกับคดีนี้ด้วยเหตุที่ตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งรับคำฟ้องคดีส่วนแพ่งหรือถือได้ว่ารับคำฟ้องคดีส่วนแพ่งแล้วตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ทั้งสี่ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ส่วนฎีกาข้ออื่นของโจทก์ทั้งสี่ไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อท.27/2562

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - บริษัท ว. กับพวก จำเลย - นาย พ.

ชื่อองค์คณะ ยงยุทธ แสงรุ่งเรือง กึกก้อง สมเกียรติเจริญ สรศักดิ์ จันเกษม

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง - นายอาคม ศรียาภัย ศาลอุทธรณ์ - นายนพรัตน์ สี่ทิศประเสริฐ

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th