สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3322/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3322/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 135/1 (1) วรรคแรก, 135/2 (2), 210 วรรคสอง (เดิม), 218 (4), 221 (เดิม), 222, 289 (4) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 195 วรรคสอง, 225, 226/3 วรรคสอง (1) (2), 227/1 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ม. 55, 78 วรรคหนึ่ง

แม้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานยืนยันการกระทำความผิดของจำเลย แต่ ป. และ ฮ. ผู้ร่วมขบวนการ ได้ให้การจากการซักถามของเจ้าพนักงานว่า จำเลยเป็นผู้ร่วมขบวนการด้วย โดย ป. ยังให้ถ้อยคำถึงรายละเอียดในการกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้ และในครั้งอื่น ๆ ที่จำเลยมีส่วนร่วมก่อการด้วย โดยมีรายละเอียดของขั้นตอนในการกระทำความผิดอย่างครบถ้วน ส่วน ฮ. ก็ให้ถ้อยคำในรายละเอียดของการกระทำความผิดในคดีนี้ การให้ถ้อยคำของ ป. และ ฮ. มิใช่เป็นการซัดทอดจำเลยเพื่อให้ตนเองพ้นผิด แต่เป็นการให้ถ้อยคำเกี่ยวกับข้อมูลของผู้ร่วมขบวนการด้วยกันว่ามีบุคคลใดบ้าง ตลอดจนรายละเอียดของการกระทำความผิดในแต่ละครั้ง ซึ่งรวมถึงคดีนี้ว่ามีขั้นตอนอย่างไร และมีบุคคลใดบ้างที่เกี่ยวข้อง สอดคล้องต้องกัน จึงมีเหตุผลให้รับฟัง ส่วนจำเลยให้การในชั้นสอบสวนด้วยความสมัครใจมีรายละเอียดตั้งแต่แรกว่าได้เข้าร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนเมื่อใด โดยคดีนี้มี ป. เป็นผู้สั่งการและได้มอบหมายให้จำเลยมีหน้าที่กดรีโมทคอนโทรลจุดชนวนระเบิด บันทึกคำให้การของผู้ต้องหาและบันทึกผลการซักถามเบื้องต้นดังกล่าว แม้เป็นพยานบอกเล่า แต่น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ ศาลย่อมสามารถรับฟังพยานบอกเล่านั้น ประกอบพยานหลักฐานอื่นเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้

ความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรเป็นความผิดสำเร็จเมื่อมีการสมคบกัน ต่อมาการที่ผู้กระทำความผิดได้ร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกัน เพื่อก่อการร้าย หรือกระทำการอื่นใดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 135/2 (2) จำเลยกับพวกมีเจตนาเดียวในการกระทำความผิดทั้งสองฐานนี้ จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

ปัญหาว่าความผิดตามฟ้องทั้งหมดของโจทก์เป็นกรรมเดียวกันหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ โดยมิได้เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 83, 91, 135/1, 135/2, 210, 221, 222, 218 วรรคหนึ่ง (4), 288, 289 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 55, 78 ริบของกลาง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 (1) วรรคหนึ่ง, 135/2 (2), 210 วรรคสอง (เดิม), 222 ประกอบมาตรา 218 (4), 289 (4) ประกอบมาตรา 80 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันตระเตรียมและสมคบกันเพื่อก่อการร้าย และฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันตระเตรียมและสมคบกันเพื่อก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/2 (2) จำคุก 3 ปี ฐานร่วมกันก่อการร้าย ฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ฐานร่วมกันทำให้เกิดระเบิดจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่โรงเรือนอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ฐานใช้วัตถุระเบิดกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต คำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 คงลงโทษฐานร่วมกันตระเตรียมและสมคบกันเพื่อก่อการร้าย จำคุก 2 ปี ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำคุก 33 ปี 4 เดือน รวมจำคุก 35 ปี 4 เดือน ริบของกลาง

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง แต่ให้ริบของกลาง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ มีกลุ่มบุคคลสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปใช้ชื่อว่าขบวนการกู้ชาติรัฐปัตตานี ซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย กระทำการเพื่อยึดอำนาจการปกครองในจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และบางอำเภอของจังหวัดสงขลา แล้วจัดตั้งเป็นประเทศหรือรัฐขึ้นใหม่ที่มีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง ด้วยการใช้กำลังประทุษร้าย ฆ่า และพยายามฆ่า เจ้าพนักงานของรัฐและประชาชน สะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน รับการฝึกการก่อการร้าย ตระเตรียมการและสมคบกันก่อการร้าย อันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง และสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2551 คนร้ายซึ่งเป็นสมาชิกของขบวนการดังกล่าวนำระเบิดแสวงเครื่องประกอบขึ้นเองไปวางที่หน้าต่างของอาคารคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตรในมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา แล้วจุดระเบิดด้วยรีโมทคอนโทรลรถยนต์ เป็นเหตุให้นางตรึงใจ ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ธุรการได้รับอันตรายแก่กาย ศีรษะแตก อาคารและทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเสียหาย หลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานยึดชิ้นส่วนโลหะ ภาชนะบรรจุระเบิด (กล่องเหล็ก) ชิ้นส่วนวงจรรีโมทคอนโทรลรถยนต์ ชิ้นส่วนถ่านไฟฉายขนาด 9 โวลต์ ชิ้นส่วนเทปพันสายไฟสีดำ ชิ้นส่วนเหล็กตัดท่อน (สะเก็ดระเบิด) หัวกระสุนปืน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัตถุระเบิดแสวงเครื่องที่คนร้ายมีไว้เป็นความผิดและได้ใช้ในการกระทำความผิดจากบริเวณที่เกิดเหตุเป็นของกลาง ชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ มีเหตุการณ์ลอบวางระเบิด วางเพลิง และยิงระเบิดตามสถานที่ต่าง ๆ พร้อมกัน หรือในเวลาไล่เลี่ยกันหลายแห่ง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของราชการและประชาชนเป็นจำนวนมาก อันมีลักษณะเป็นความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายของกลุ่มก่อความไม่สงบ เป้าหมายเพื่อทำลายอำนาจรัฐ โดยสร้างความปั่นป่วน ให้เกิดความหวาดระแวงในหมู่ประชาชน โดยมีผู้ร่วมก่อเหตุหรือสมาชิกจำนวนมาก มีการสะสมกำลังพลและอาวุธ และเตรียมการวางแผนมาเป็นอย่างดี สอดคล้องกับที่โจทก์นำสืบว่า กลุ่มที่ก่อเหตุเป็นขบวนการก่อการร้ายของ "ขบวนการกู้ชาติรัฐปัตตานี" ซึ่งผู้ร่วมขบวนการจะปกปิดวิธีดำเนินการ และกระทำกันอย่างลับ ๆ ดังนั้น จึงเป็นการยากที่จะหาพยานหลักฐาน โดยเฉพาะประจักษ์พยาน จำเป็นต้องอาศัยพยานหลักฐานแวดล้อมต่าง ๆ มาประกอบกันเพื่อเชื่อมโยงให้ถึงผู้กระทำความผิด สำหรับจำเลย แม้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานยืนยันการกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้ แต่โจทก์มีพันตำรวจโทสุรจิตที่เป็นผู้ซักถามนายปัญญา และพันตำรวจเอกธรรศภณที่เป็นผู้ซักถามนายบูคอรีและนายฮารงเบิกความยืนยันว่า นายปัญญา นายบูคอรี และนายฮารง เป็นผู้ร่วมขบวนการกู้ชาติรัฐปัตตานี และจากการซักถามผู้ร่วมขบวนการดังกล่าว ต่างให้ถ้อยคำยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้ร่วมขบวนการกู้ชาติรัฐปัตตานีด้วยผู้หนึ่ง โดยนายปัญญาให้ถ้อยคำในรายละเอียดไว้ด้วยว่า ประมาณเดือนมกราคม 2551 ขบวนการกู้ชาติรัฐปัตตานีได้ส่งสมาชิกมาเพิ่มจำนวน 2 คน คือ จำเลยและนายฮารง โดยพันตำรวจโทสุรจิตให้นายปัญญาชี้ยืนยันภาพถ่ายของจำเลยไว้ด้วย สอดคล้องกับการให้ถ้อยคำของนายฮารงที่ให้ถ้อยคำว่าร่วมก่อเหตุรวม 4 คดี คดีแรกเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2551 โดยมีนายปัญญาเป็นผู้โทรศัพท์ติดต่อ และนายปัญญายังให้ถ้อยคำถึงรายละเอียดในการกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้ และในครั้งอื่น ๆ ที่จำเลยมีส่วนร่วมก่อการด้วย โดยมีรายละเอียดของขั้นตอนในการกระทำความผิดอย่างครบถ้วน ตั้งแต่การติดต่อสั่งการจำเลยจนถึงหน้าที่ที่จำเลยได้รับมอบหมายให้กระทำในแต่ละครั้ง สำหรับการวางระเบิดในคดีนี้ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลานั้น นายปัญญาได้โทรศัพท์นัดหมายให้จำเลยไปสำรวจเป้าหมายในมหาวิทยาลัยดังกล่าว ส่วนนายปัญญาก็จะไปสำรวจเป้าหมายด้วย สมาชิกในขบวนการช่วยกันประกอบระเบิด แล้วให้นายมาหะมะหรือเปาะยูเก็บไว้ และเป็นผู้นำระเบิดไปวางที่เป้าหมาย จำเลยทำหน้าที่กดรีโมทคอนโทรลจุดชนวนวัตถุระเบิด และนายฮารงทำหน้าที่ตรวจเส้นทางการเดินทางไปมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาแล้วรายงานให้นายมาหะมะทราบ ส่วนนายฮารงก็ให้ถ้อยคำในรายละเอียดของการกระทำความผิดในคดีนี้ ตั้งแต่นายปัญญาโทรศัพท์ติดต่อว่าจะวางระเบิดในมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มีการวางแผนไว้เรียบร้อย และเรียกประชุมผู้ร่วมขบวนการ มีการกำหนดหน้าที่ว่านายฮารงและจำเลยได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่อย่างไรบ้าง โดยนายฮารงขับรถจักรยานยนต์พานายมาหะมะซึ่งถือถุงกระดาษมีระเบิดอยู่ภายในไปที่เกิดเหตุ และได้พบกับจำเลยที่รออยู่แล้ว จากนั้นจึงกลับไปแล้วทราบจากข่าวว่าเกิดเหตุระเบิดขึ้น ซึ่งรายละเอียดของข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญสอดคล้องต้องกัน ไม่ว่าจะเป็นพฤติการณ์ในการกระทำความผิด การติดต่อจากนายปัญญา ตลอดจนผู้เก็บวัตถุระเบิดและวางระเบิดคือนายมาหะมะกับจำเลยที่ทำหน้าที่กดรีโมทคอนโทรล ยากที่พันตำรวจโทสุรจิต และพันตำรวจเอกธรรศภณจะคิดแต่งเติมเรื่องราวซึ่งมีรายละเอียดเป็นจำนวนมากดังกล่าวขึ้นเอง แล้วให้มีความสอดคล้องต้องกันในรายละเอียดได้เช่นนั้น ทั้งการให้ถ้อยคำของนายปัญญาและนายฮารงดังกล่าวมิใช่เป็นการซัดทอดจำเลยเพื่อให้ตนเองพ้นผิด แต่เป็นการให้ถ้อยคำเกี่ยวกับข้อมูลของผู้ร่วมขบวนการด้วยกันว่ามีบุคคลใดบ้าง ตลอดจนรายละเอียดของการกระทำความผิดในแต่ละครั้งซึ่งรวมถึงคดีนี้ว่ามีขั้นตอนอย่างไร และมีบุคคลใดบ้างที่เกี่ยวข้อง การให้ถ้อยคำของนายปัญญาและนายฮารงดังกล่าวเป็นการให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานตำรวจต่างคนกัน แต่กลับมีรายละเอียดของข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญที่สอดคล้องต้องกัน จึงมีเหตุผลให้รับฟัง ทั้งพันตำรวจโทสุรจิตและพันตำรวจเอกธรรศภณผู้ซักถามทั้งสอง ต่างเป็นเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งปฏิบัติงานไปตามหน้าที่ ไม่ปรากฏว่าเคยมีเหตุโกรธเคืองใด ๆ กับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะเบิกความไม่ตรงกับความจริงเพื่อใส่ร้ายจำเลย นอกจากนั้นโจทก์มีพันตำรวจเอกประวิทย์ พนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความว่า ในชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับว่า เป็นผู้ใช้รีโมทคอนโทรลกดจุดระเบิด โดยจำเลยให้การในรายละเอียดว่า ประมาณปี 2546 ถึงปี 2547 จำเลยถูกชักชวนเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มแนวร่วม จำเลยหลงเชื่อ จากนั้นได้มีการปลูกฝังความคิด ความเชื่อ และพาไปสาบานตน ส่วนเหตุระเบิดคดีนี้ได้รับมอบหมายจากนายปัญญาให้ร่วมวางระเบิด โดยจำเลยทำหน้าที่รับรีโมทคอนโทรลมาจากนายมาหะมะหรือเปาะยู ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา 9.50 นาฬิกา ที่ด้านหลังอาคารคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยบอกว่าได้วางระเบิดไว้แล้วที่ผนังห้องและให้จุดระเบิดโดยรีโมทคอนโทรล เมื่อได้รับรีโมทคอนโทรลมาแล้วจำเลยก็ได้กดระเบิดทันทีและเกิดระเบิดเสียงดังขึ้นอย่างแรง 1 ครั้ง ต่อจากนั้นจำเลยก็นำเอารีโมทคอนโทรลไปทิ้งในโถส้วมที่ตึกอาคารด้านหน้าแล้วเดินทางออกจากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเพื่อกลับที่พัก คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยดังกล่าว พันตำรวจเอกประวิทย์เบิกความยืนยันว่าในการสอบสวนจำเลยได้สอบสวนต่อหน้าทนายความ และญาติ หรือบุคคลที่จำเลยไว้วางใจ และมีการแจ้งสิทธิแก่จำเลยตามกฎหมาย โดยไม่มีการบังคับขู่เข็ญ หรือล่อลวง โดยโจทก์มีนายกรจักร ทนายความที่ร่วมฟังการสอบสวน เบิกความสนับสนุนว่า พนักงานสอบสวนแจ้งสิทธิแก่จำเลยตามกฎหมาย ซึ่งจำเลยให้การในรายละเอียดตั้งแต่แรกว่าได้เข้าร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนเมื่อใด เกี่ยวกับคดีนี้มีนายปัญญาเป็นผู้สั่งการ และได้มอบหมายให้จำเลยมีหน้าที่กดรีโมทคอนโทรลจุดชนวนระเบิด โดยจำเลยไปกดรีโมทคอนโทรลที่ใกล้บริเวณอาคารคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตรที่เกิดเหตุ คำเบิกความของนายกรจักรดังกล่าวไม่ปรากฏว่ามีเหตุที่พนักงานสอบสวนข่มขู่หรือบังคับจำเลย และโจทก์มีนายมะยาซิ บิดาจำเลยเบิกความสนับสนุนด้วยว่า ขณะที่พยานไปเยี่ยมจำเลย จำเลยไม่เคยบอกพยานว่าถูกบังคับขู่เข็ญในขณะถูกควบคุม จำเลยมีสภาพร่างกายโดยทั่วไปปกติดี พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยเป็นภาษาไทย พยานจึงไม่เข้าใจ พยานไม่ทราบว่าจำเลยจะให้การต่อพนักงานสอบสวนอย่างไร แต่ไม่มีการบังคับขู่เข็ญจำเลยแต่อย่างใด ดังนี้ นายกรจักรเป็นทนายความและเป็นพยานคนกลางที่ไม่มีส่วนได้เสียใด ๆ ในคดี นายมะยาซิก็เป็นบิดาจำเลยเอง หากมีการบังคับขู่เข็ญจำเลยต้องให้การอย่างหนึ่งอย่างใด นายมะยาซิก็คงเบิกความถึงเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นแล้ว พฤติการณ์แห่งคดีจึงเชื่อได้ว่าจำเลยให้การในชั้นสอบสวนด้วยความสมัครใจ มิได้มีการบังคับขู่เข็ญ ซึ่งคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยดังกล่าวก็มีรายละเอียดสอดคล้องเป็นอย่างเดียวกันกับการให้ถ้อยคำของนายปัญญาและนายฮารง ทำให้บันทึกคำให้การของผู้ต้องหาและบันทึกผลการซักถามเบื้องต้นของนายปัญญาและนายฮารง มีน้ำหนักให้รับฟังมากยิ่งขึ้น บันทึกคำให้การของผู้ต้องหาและบันทึกผลการซักถามเบื้องต้นดังกล่าว แม้เป็นพยานบอกเล่า แต่กฎหมายไม่ได้ห้ามรับฟังพยานเช่นว่านี้โดยเด็ดขาด เมื่อพิเคราะห์ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้นแล้ว บันทึกคำให้การของผู้ต้องหาและบันทึกผลการซักถามเบื้องต้นของนายปัญญาและนายฮารงน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ ศาลย่อมสามารถรับฟังพยานบอกเล่านั้น ประกอบพยานหลักฐานอื่นเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 วรรคสอง (1) และ 227/1 โดยโจทก์ยังคงมีพันเอกธนุตม์ เป็นพยานเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุพยานมาช่วยราชการเป็นรองผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจยะลา 11 จังหวัดยะลา ผู้ก่อความรุนแรงในพื้นที่ได้มีการก่อเหตุรุนแรงขึ้นในลักษณะที่เป็นองค์กร การปฏิบัติการในเมืองจะแบ่งเป็นชุดปฏิบัติการเล็ก ๆ มีโครงสร้างในการก่อเหตุระเบิด 2 ทีม คือทีมยิงและทีมระเบิด และมีส่วนที่สั่งการอีก 1 ชุด โดยมีคนที่เคยศึกษาในสถาบันการศึกษาที่เป็นสมาชิกของกลุ่มผู้ก่อการร้ายอยู่หลายสถาบัน สำหรับจำเลยอยู่ในกลุ่มทีมระเบิดร่วมกับนายปัญญา โดยขณะเกิดเหตุจำเลยกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จากการปิดล้อมตรวจค้นตลาดเก่าได้ควบคุมนายปัญญาก่อนเกิดเหตุคดีนี้ 1 วัน นายปัญญาให้ถ้อยคำว่าอยู่ในขบวนการและมีสมาชิกหลายคน แต่ไม่ระบุว่าจะก่อเหตุร้ายหรือรับมอบสั่งการปฏิบัติอะไรบ้าง นายปัญญาได้เขียนรายชื่อสมาชิกในกลุ่มว่ามีใครบ้างซึ่งรวมทั้งจำเลยด้วย เมื่อเกิดเหตุระเบิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาที่อาคารคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร พยานได้เข้าไปตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุในเบื้องต้นเพื่อสำรวจและสั่งการเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อสกัดจุดตรวจในการหนีของคนร้าย พบบุคคลเป้าหมายคือจำเลย โดยจำเลยกำลังขับรถจักรยานยนต์ไปที่มัสยิดกลางยะลา สามารถควบคุมตัวจำเลยได้ที่หน้าสถานีรถไฟ พยานสอบถามเบื้องต้นจำเลยไม่ยอมรับ แต่เมื่อพยานกล่าวถึงนายปัญญา นายซาลาฮุดดิน ซึ่งเป็นสมาชิกในกลุ่มแล้วจำเลยมีท่าทีอ่อนลงและให้การยอมรับว่าเป็นการจุดระเบิดด้วยรีโมทคอนโทรล ส่วนตัวรีโมทคอนโทรลนั้นได้โยนทิ้งในโถส้วมในมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา พันเอกธนุตม์ถือได้ว่าเป็นประจักษ์พยานในส่วนที่มีการสอบถามจำเลยในเวลาที่ใกล้ชิดกับเหตุระเบิดที่เกิดขึ้น แล้วจำเลยแจ้งต่อพันเอกธนุตม์ไว้อย่างไร ทั้งยังมีโอกาสสอบถามนายปัญญาก่อนหน้านี้ ซึ่งข้อมูลที่ได้จากนายปัญญา และข้อเท็จจริงที่จำเลยรับก็สอดคล้องต้องกันกับบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา ที่จำเลยรับในชั้นสอบสวนด้วย นอกจากนั้นโจทก์ยังมีบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของพันตำรวจตรีสุจริต ซึ่งปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว เป็นพยานหลักฐาน โดยพันตำรวจตรีสุจริตให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า เป็นผู้สืบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการลอบวางระเบิดของขบวนการกู้ชาติรัฐปัตตานีในสถานที่ต่าง ๆ หลายแห่ง ซึ่งรวมถึงเหตุระเบิดคดีนี้ด้วย มีการประสานข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ทหารจนทราบว่าจำเลยเป็นผู้ร่วมขบวนการด้วยผู้หนึ่ง และเหตุระเบิดคดีนี้มีนายปัญญาทำหน้าที่วางแผนสั่งการ ส่วนจำเลยทำหน้าที่จุดชนวนระเบิดด้วยรีโมทคอนโทรล และเมื่อก่อเหตุแล้วจะมีนายบูคอรีขับรถจักรยานยนต์มารับพาหลบหนี กับมีนายมาหะมะเป็นผู้นำเอาวัตถุระเบิดไปวางที่จุดเกิดเหตุ โดยมีนายฮารงเป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์พาไปและพาหลบหนีออกจากจุดที่เกิดเหตุ และได้ทำบันทึกข้อความรายงานการสืบสวนต่อผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองยะลาไว้ รายงานการสืบสวนดังกล่าวยังมีรายละเอียดเพิ่มเติมภายหลังเกิดเหตุด้วยว่า จำเลยได้กลับบ้านไปพบบิดา มารดา และกลัวความผิดจึงเล่าเรื่องให้บิดา มารดาฟัง รับว่าตนเป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบ และร่วมกับพวกก่อเหตุระเบิดในมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา บิดามารดาจำเลยจึงได้นำจำเลยไปถอนการสาบานตน และนำจำเลยมามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งรายละเอียดของการสืบสวนดังกล่าวมีข้อเท็จจริงอันเกี่ยวแก่การก่อเหตุระเบิดในคดีนี้ของขบวนการกู้ชาติรัฐปัตตานี ตั้งแต่เริ่มวางแผน ขั้นตอนการปฏิบัติงาน ตลอดจนการกำหนดหน้าที่ของผู้ร่วมขบวนการที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน ยากที่พันตำรวจตรีสุจริตจะคิดปรุงแต่งเรื่องราวขึ้นมาเอง และสอดคล้องต้องกันกับบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาและบันทึกผลการซักถามเบื้องต้นของนายปัญญาและนายฮารง ข้อเท็จจริงตามรายงานการสืบสวนดังกล่าวจึงมีเหตุผลที่หนักแน่นน่าเชื่อถือ ทั้งเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นเนื่องจากไม่สามารถนำบุคคลซึ่งเป็นผู้ทราบข้อความตามรายงานการสืบสวนดังกล่าวมาเบิกความเป็นพยานต่อศาลได้ เนื่องจากพันตำรวจตรีสุจริตเสียชีวิตไปแล้ว และมีเหตุผลสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะรับฟังพยานบอกเล่านั้น จึงรับฟังบันทึกคำให้การของพยาน และรายงานการสืบสวนตามบันทึกข้อความ ซึ่งเป็นพยานบอกเล่านั้นได้โดยชอบ เพื่อประกอบพยานหลักฐานอื่น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 วรรคสอง (2) ยิ่งไปกว่านั้น โจทก์มีพันตำรวจโทศุภชัย พนักงานสอบสวนร่วม เป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า เมื่อได้รับแจ้งว่ามีเหตุระเบิดเกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา พยานได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่หน่วยต่าง ๆ เก็บวัตถุพยานในที่เกิดเหตุ และจัดทำบัญชีของกลางคดีอาญาไว้ โดยรายละเอียดตามบัญชีของกลางคดีอาญาดังกล่าว รายการที่ 2 ปรากฏว่าตรวจพบชิ้นส่วนวงจรรีโมทรถยนต์ ซึ่งเป็นวัตถุพยานที่สอดคล้องต้องกันกับพยานหลักฐานอื่น ๆ ที่โจทก์นำสืบมาโดยตลอดว่าจำเลยเป็นสมาชิกผู้ร่วมขบวนการ และได้รับมอบหมายให้ใช้รีโมทคอนโทรลในการจุดชนวนระเบิด อันทำให้พยานหลักฐานต่าง ๆ ของโจทก์มีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น ดังนี้ เมื่อพิเคราะห์คำเบิกความพยานโจทก์ เอกสารต่าง ๆ วัตถุพยานในที่เกิดเหตุ ตลอดจนพยานหลักฐานแวดล้อมอื่น ๆ ประกอบแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมั่นคง ที่จำเลยต่อสู้ทำนองว่า จำเลยให้การรับสารภาพ เพราะพนักงานสอบสวนแจ้งว่า หากรับสารภาพแล้วจะได้รับการประกันตัว หากจำเลยปฏิเสธจะไม่ให้ประกันตัว จำเลยจึงให้การรับสารภาพต่อพนักงานสอบสวนแล้วได้ประกันตัวกลับบ้านไปนั้น เห็นว่า ข้อต่อสู้ของจำเลยเป็นข้อต่อสู้ที่ง่ายแก่การปฏิเสธ หากจำเลยมิได้กระทำความผิดก็สามารถให้การปฏิเสธได้ การจะได้รับการปล่อยชั่วคราวหรือไม่ มิใช่ว่าถ้าจำเลยให้การรับสารภาพแล้วจะได้รับการปล่อยชั่วคราว คงต้องพิจารณาถึงปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย และยังสามารถยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวชั้นพิจารณาต่อไปได้ ข้อต่อสู้ของจำเลยดังกล่าวจึงไม่มีเหตุผลให้รับฟัง ส่วนการที่เจ้าพนักงานตำรวจมิได้จัดให้จำเลยนำชี้ที่เกิดเหตุ และถ่ายรูปการนำชี้สถานที่เกิดเหตุเพื่อประกอบคำรับสารภาพของจำเลย และไม่ได้รีโมทคอนโทรลมาเป็นพยานหลักฐานนั้น เห็นว่า คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพว่าเป็นผู้ใช้รีโมทคอนโทรลในการจุดชนวนระเบิด กับมีนายกรจักรซึ่งเป็นทนายความที่ร่วมฟังการสอบสวนเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า หลังสอบคำให้การจำเลยเสร็จแล้ว พนักงานสอบสวน จำเลย และพยาน ได้ไปที่เกิดเหตุ จำเลยชี้จุดที่ระเบิด บริเวณขอบหน้าต่างของอาคารคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร และพาไปดูห้องน้ำที่ทิ้งรีโมทคอนโทรลในโถส้วม แต่ในวันที่ไปดูอาคารที่มีโถส้วมอยู่นั้น กำลังถูกรื้อถอน โดยจำเลยสมัครใจชี้สถานที่เกิดเหตุดังกล่าว และจำเลยเองก็เบิกความตอบโจทก์ถามค้านเจือสมกับคำเบิกความของนายกรจักรว่า พนักงานสอบสวนให้จำเลยนำไปดูที่เกิดเหตุที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เนื่องจากพนักงานสอบสวนไม่รู้จักอาคารสถานที่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา แต่จำเลยนั่งอยู่ในรถไม่ได้ไปดูสถานที่เกิดเหตุด้วย ดังนี้ เห็นได้ว่าจำเลยได้นำพนักงานสอบสวนและนายกรจักรไปดูสถานที่ที่เกิดเหตุระเบิดขึ้นแล้ว แม้มิได้มีการถ่ายรูปการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพไว้ก็ไม่ถึงขนาดที่จะเป็นข้อพิรุธสำคัญ และโถส้วมที่จำเลยทิ้งรีโมทคอนโทรลไปนั้นรื้อถอนไปแล้ว จึงยากที่จะติดตามนำรีโมทคอนโทรลนั้นมาเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ จึงมิได้เป็นข้อพิรุธสงสัยเช่นกัน พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยเข้าร่วมเป็นสมาชิกในกลุ่มแบ่งแยกดินแดน และเข้าร่วมก่อเหตุในคดีนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องจำเลยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า ความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรกับความผิดฐานร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกัน เพื่อก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/2 (2) เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจร เป็นความผิดสำเร็จเมื่อมีการสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 ของประมวลกฎหมายอาญา ต่อมาการที่ผู้กระทำความผิดได้ร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกัน เพื่อก่อการร้าย หรือกระทำการอื่นใดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 135/2 (2) ก็เพื่อให้เป็นไปตามเจตนาที่ได้สมคบกันมาแต่แรก ย่อมเห็นได้ว่า จำเลยกับพวกมีเจตนาเดียวในการกระทำความผิดทั้งสองฐานนี้ จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวแต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากันนั้น ไม่ถูกต้อง ที่ถูกแล้ว ความผิดฐานร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกัน เพื่อก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/2 (2) มีอัตราโทษสูงกว่าความผิดฐานซ่องโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 วรรคสอง (เดิม) อย่างไรก็ตาม ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรกับความผิดฐานร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย ตระเตรียมการอื่นใดหรือสมคบกัน เพื่อก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/2 (2) เป็นความผิดกรรมเดียวกัน และแยกเป็นการกระทำความผิดกรรมหนึ่งต่างหากจากความผิดอื่น ส่วนความผิดฐานอื่นตามฟ้องก็เป็นความผิดกรรมเดียวกัน แต่แยกเป็นการกระทำความผิดอีกกรรมหนึ่งนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องแยกความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจร กับความผิดฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ เอาไว้ต่างหากจากความผิดฐานอื่น โดยบรรยายฟ้องแยกไว้ในข้อ 2.1 และ 2.2 ตามลำดับ ส่วนความผิดฐานร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกัน เพื่อก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/2 (2) ฐานร่วมกันก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 (1) วรรคแรก ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ฐานร่วมกันใช้วัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ฐานร่วมกันกระทำให้เกิดระเบิดจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่โรงเรือนอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และฐานร่วมกันกระทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น โจทก์บรรยายฟ้องความผิดฐานต่าง ๆ เช่นว่านั้นรวมกันมาในฟ้องข้อ 2.3 เป็นข้อเดียวกัน อันแสดงให้เห็นว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยตามฐานความผิดต่าง ๆ ดังกล่าวเพียงกรรมเดียว ดังนั้น เมื่อความผิดฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องแยกไว้ในข้อ 2.2 เป็นความผิดกรรมเดียวกันกับความผิดฐานร่วมกันใช้วัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ที่โจทก์บรรยายฟ้องไว้ในข้อ 2.3 และฟังว่าความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจร ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องแยกไว้ในข้อ 2.1 ก็เป็นความผิดกรรมเดียวกันกับความผิดฐานร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกัน เพื่อก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/2 (2) ที่โจทก์บรรยายฟ้องไว้ในข้อ 2.3 ด้วยเช่นกัน กรณีจึงถือได้ว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยในความผิดต่าง ๆ ตามฟ้องแต่เพียงกรรมเดียว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานร่วมกันใช้วัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 และคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องพอเข้าใจได้ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันกระทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น โดยโจทก์มีคำขอท้ายคำฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 221 ไว้แล้ว เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง จำเลยจึงมีความผิดฐานดังกล่าวอีกบทหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาปรับบทความผิดฐานนี้มาด้วยนั้นเป็นการไม่ชอบ ปัญหาว่าความผิดตามฟ้องทั้งหมดของโจทก์เป็นกรรมเดียวกันหรือไม่ และการที่ศาลชั้นต้นมิได้ปรับบทความผิดให้ถูกต้องดังกล่าวนั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง โดยมิได้เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 (1) วรรคแรก, 135/2 (2), 210 วรรคสอง (เดิม), 221 (เดิม), 222 ประกอบมาตรา 218 (4), 289 (4) ประกอบมาตรา 80 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันใช้วัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกตลอดชีวิต ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 แล้ว คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน ริบของกลาง

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.704/2563

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 ภาค 9 จำเลย - นาย ฟ.

ชื่อองค์คณะ อารีย์ เตชะหรูวิจิตร เกียรติพงศ์ อมาตยกุล อรรณพ วิทูรากร

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดยะลา - นายกุฎาคาร คำจันทร์ลา ศาลอุทธรณ์ภาค 9 - นางสาวสมจิตต์ สุขกมลวัฒนา

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE