สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3329/2567

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3329/2567

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/33 (2)

เมื่อสัญญากำหนดให้ลูกหนี้ต้องชำระหนี้เป็นงวด ๆ สิทธิของเจ้าหนี้ที่จะเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก็ต้องเป็นไปตามที่กำหนดคือเป็นงวด ๆ เช่นเดียวกัน เจ้าหนี้จะเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ในงวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระก่อนย่อมไม่อาจทำได้ สิทธิเรียกร้องในหนี้แต่ละงวดซึ่งถึงกำหนดไม่พร้อมกัน ย่อมมีระยะเวลาครบกำหนดอายุความไม่พร้อมกัน หนี้ที่ถึงกำหนดชำระในงวดก่อน ย่อมครบกำหนด 5 ปี ก่อนหนี้ที่ถึงกำหนดทีหลังถัดกันไป ไม่ใช่ว่าหนี้งวดแรกซึ่งถึงกำหนดก่อนครบกำหนดอายุความแล้ว จะทำให้หนี้ทั้งหมดรวมถึงหนี้ในงวดหลัง ๆ ต้องครบกำหนดอายุความไปด้วยไม่ เนื่องจากสัญญาไม่ได้กำหนดไว้ว่า หากผิดนัดชำระหนี้งวดหนึ่งงวดใดแล้วก็ให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดทุกงวด ดังนั้นหนี้แต่ละจำนวนซึ่งถึงกำหนดชำระไม่พร้อมกัน จึงไม่ได้ขาดอายุความไปพร้อมกัน

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 825,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 600,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับว่า ให้จำเลยชำระเงิน 390,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 7 มกราคม 2565 นับย้อนหลังไปเป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 225,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 6,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ

จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยลงลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้มอบให้โจทก์ไว้จริง คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า กรณีการชำระหนี้ที่กำหนดให้ชำระเป็นงวด ๆ เช่นนี้ สิทธิของเจ้าหนี้ที่จะมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก็ต้องเป็นไปตามข้อตกลงในสัญญา กล่าวคือ เมื่อสัญญากำหนดให้ลูกหนี้ต้องชำระหนี้เป็นงวด ๆ สิทธิของเจ้าหนี้ที่จะเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก็ต้องเป็นไปตามที่กำหนดคือเป็นงวด ๆ เช่นเดียวกัน เจ้าหนี้จะเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ในงวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระก่อนก็ย่อมไม่อาจทำได้ ดังนั้นสิทธิเรียกร้องในหนี้แต่ละงวดซึ่งถึงกำหนดไม่พร้อมกัน ย่อมมีระยะเวลาครบกำหนดอายุความไม่พร้อมกันไปด้วย หนี้ที่ถึงกำหนดชำระในงวดก่อน ย่อมครบกำหนด 5 ปี ก่อนหนี้ที่ถึงกำหนดทีหลังถัดกันไป ไม่ใช่ว่าหนี้งวดแรกซึ่งถึงกำหนดก่อนครบกำหนดอายุความแล้ว จะทำให้หนี้ทั้งหมดรวมถึงหนี้ในงวดหลัง ๆ ต้องครบกำหนดอายุความไปด้วยไม่ เนื่องจากในสัญญาไม่ได้กำหนดไว้ว่า หากผิดนัดชำระหนี้งวดหนึ่งงวดใดแล้วก็ให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดทุกงวด ดังนั้นหนี้แต่ละจำนวนซึ่งถึงกำหนดชำระไม่พร้อมกัน จึงไม่ได้ขาดอายุความไปพร้อมกันดังที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกา เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 7 มกราคม 2565 โจทก์ย่อมเรียกร้องหนี้ที่จำเลยค้างชำระตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 มาจนถึงวันฟ้องได้เนื่องจากยังอยู่ในระยะเวลา 5 ปี ยังไม่ขาดอายุความ ส่วนหนี้ที่ถึงกำหนดก่อนหน้านั้นแล้วตั้งแต่ปี 2558 และปี 2559 ซึ่งเกินระยะเวลา 5 ปี แล้วนับแต่วันฟ้องย่อมขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยมาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนปัญหาสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยที่อ้างว่า หนังสือรับสภาพหนี้เป็นเอกสารปลอมนั้น เห็นว่า จำเลยมีเพียงข้อกล่าวอ้างลอย ๆ ว่าเป็นเอกสารปลอมโดยจำเลยยอมรับว่าลงลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้จริง แต่ขณะนั้นเป็นเอกสารเปล่าไม่มีข้อความใด ๆ โจทก์นำเอกสารไปเติมข้อความเอาเองในภายหลัง โดยโจทก์หลอกให้จำเลยลงลายมือชื่อในเอกสาร ขณะที่นำเอกสารจำนวนมากมาให้จำเลยลงลายมือชื่อในเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดการมรดกของนายประหยัด ซึ่งมีทรัพย์สินเป็นที่ดินหลายแปลง จำเลยลงลายมือชื่อในเอกสารจำนวนมากให้โจทก์ไป โดยไม่ได้อ่านข้อความในเอกสารว่ามีเอกสารอะไรบ้าง จำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินจากโจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว ส่วนโจทก์นอกจากมีพยานเอกสารคือหนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งจำเลยลงลายมือชื่อไว้จริงแล้ว ยังมีพยานบุคคลทั้งตัวโจทก์และนางสาวเวียง ภริยาโจทก์ ซึ่งเป็นประจักษ์พยานโดยตรง ยืนยันข้อเท็จจริงตรงกันว่า จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์จริง โดยมีเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการเบิกเงินจากบัญชีธนาคารสนับสนุน โดยจำเลยไม่เคยชำระหนี้คืนให้แก่โจทก์ และภายหลังจำเลยจึงทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์ โดยขอผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือน เดือนละ 10,000 บาท ตามการที่จำเลยมีแต่ข้อกล่าวอ้างลอย ๆ ส่วนโจทก์มีทั้งพยานบุคคลและเอกสารที่เกี่ยวข้องโดยตรงยืนยันเช่นนี้ พยานโจทก์ย่อมมีเหตุผลน่าเชื่อถือมากกว่า ทั้งเมื่อพิจารณาประกอบข้อเท็จจริงที่จำเลยเองก็ยอมรับว่า ทั้งโจทก์และจำเลยแบ่งฝ่ายกัน เนื่องจากมีข้อขัดแย้งกันในเรื่องการแบ่งทรัพย์มรดกของนายประหยัดจนถึงขนาดมีการฟ้องร้องคดีกันต่อศาล เช่นนี้ ที่จำเลยอ้างว่าลงลายมือชื่อในเอกสารเปล่าโดยไม่มีข้อความจึงไม่น่าเชื่อถือ บุคคลที่มีข้อขัดแย้งกันอยู่ย่อมไม่มีเหตุผลที่จะไปลงลายมือชื่อในเอกสารเปล่าให้กันเป็นแน่ แม้จะอ้างว่ามีเอกสารจำนวนมากก็เชื่อว่า จำเลยต้องตรวจดูก่อนลงชื่อในเอกสารทุกฉบับ ที่อ้างว่าลงชื่อโดยไม่ได้อ่านข้อความในเอกสารไม่มีเหตุผล ไม่น่าเชื่อถือ หรือที่อ้างว่าโจทก์ไม่ได้รีบฟ้องคดีทั้ง ๆ ที่จำเลยผิดนัดชำระหนี้นานหลายปีแล้วจึงเป็นพิรุธนั้น เห็นว่า การที่โจทก์จะฟ้องร้องหรือไม่ เมื่อใด ล้วนเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของโจทก์เองทั้งสิ้น ไม่ได้มีกฎหมายใดบังคับให้โจทก์ต้องรีบใช้สิทธิฟ้องร้องคดีแต่อย่างใด หรือการที่โจทก์ไม่มีหลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยมานำสืบนั้น ก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะรับฟังว่าจำเลยไม่ได้กู้ยืมเงินจากโจทก์ เนื่องจากนางสาวเวียงยืนยันว่า เงินที่ให้จำเลยยืมนั้น ส่วนหนึ่งเป็นรายได้จากการค้าขาย อีกส่วนหนึ่งเบิกมาจากบัญชีธนาคาร เงินที่ให้จำเลยกู้ยืมเป็นเงินสด จึงไม่มีหลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติแต่อย่างใด เห็นว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีเหตุผล มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ สามารถรับฟังได้มากกว่าข้ออ้างลอย ๆ ของจำเลย ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังตามที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์ไว้จริง และจำเลยเป็นฝ่ายผิดนัดไม่ชำระหนี้ จำเลยจึงต้องรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน

อนึ่ง คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 390,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 7 มกราคม 2565 นับย้อนหลังไปเป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 225,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาจึงคิดเป็นเงิน 536,250 บาท จำเลยจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 10,725 บาท แต่จำเลยเสียมา 12,300 บาท จึงให้คืนค่าขึ้นศาลที่ชำระเกินมา 1,575 บาท แก่จำเลย

พิพากษายืน แต่ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่เสียเกินมา 1,575 บาท แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.163/2567

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย ร. จำเลย - นาง ม.

ชื่อองค์คณะ พันธุ์เลิศ บุญเลี้ยง อุทัย โสภาโชติ กรวรรณ อาธารมาศ

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดกำแพงเพชร - นายถิรโรจน์ สายเพ็ชร์ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 - นางณัฐสิรี นิตยะประภา

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th