สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3379/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3379/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 3 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ม. 29/9 วรรคสอง, 36 วรรคสอง, 56/4 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 ม. 242, 246 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 ม. 7, 8 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158, 195 วรรคสอง, 225

ป.วิ.อ. มาตรา 158 บัญญัติแต่เพียงว่า คำฟ้องต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาและสถานที่อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีเท่านั้น ส่วนรายละเอียดที่ว่า ใครจะเป็นผู้นำจับ ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร เป็นรายละเอียดที่โจทก์อาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณาโดยไม่จำเป็นต้องกล่าวในคำฟ้องโดยละเอียด เพราะข้อเท็จจริงดังกล่าวมิใช่สาระสำคัญแห่งการกระทำผิดของจำเลย เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องโดยระบุว่าในการจับกุมความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มีผู้นำจับนำความมาแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้จับกุมคดีนี้และมีคำขอท้ายฟ้องให้จ่ายเงินสินบนแก่ผู้นำจับแล้ว การที่จำเลยให้การรับสารภาพย่อมแสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

มาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 บัญญัติให้จ่ายสินบนและเงินรางวัลจากเงินที่ได้จากการขายของกลางซึ่งศาลสั่งริบเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว หากของกลางที่ศาลสั่งริบไม่อาจขายได้ให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาล เมื่อของกลางคดีนี้เป็นทรัพย์สินที่มีไว้เป็นความผิดไม่อาจนำออกขายได้ และศาลใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่ปรับ กรณีจึงไม่มีเงินที่ได้จากการขายของกลางหรือเงินค่าปรับที่จะสั่งจ่ายสินบนและเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 8 ได้

ส่วนความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้าบารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 36, 56 วรรคหนึ่ง นั้น พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 มาตรา 20 และมาตรา 31 ให้เพิ่มเติมมาตรา 29/9 วรรคสอง และมาตรา 56/4 ทั้งมาตรา 37 ยังบัญญัติให้คำสั่งของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ออกตามมาตรา 36 และมาตรา 38 ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนที่ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะมีคำสั่งใหม่หรือมีคำสั่งยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ดังนั้น การกระทำความผิดฐานขายสินค้าบารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า โดยฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้าบารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า ยังบัญญัติให้เป็นความผิดอยู่ แต่โทษจำคุกตามกฎหมายใหม่เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 3, 4, 242, 246 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 36, 38, 56, 56/1 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 72 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91 ริบของกลาง จ่ายสินบนแก่ผู้นำจับ และจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 246 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 36, 56 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนพึงรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากร หรือเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ปรับ 859,312 บาท ฐานฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้าบารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า จำคุก 1 ปี และปรับ 100,000 บาท ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท รวมจำคุก 2 ปี และปรับ 969,312 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 12 เดือน และปรับ 484,656 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเกินหนึ่งปีแต่ไม่เกินสองปี ริบของกลาง ส่วนที่โจทก์ขอให้จ่ายสินบนแก่ผู้นำจับ และจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมายนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์มิได้บรรยายในคำฟ้องให้ชัดเจนว่า มีผู้นำจับ ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าคดีนี้มีผู้นำจับ ฉะนั้น จึงให้จ่ายรางวัลแก่เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งจับกุมผู้กระทำความผิดร้อยละยี่สิบของราคาของกลาง โดยให้จ่ายจากเงินที่ได้จากการขายของกลางซึ่งศาลสั่งริบเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว หากของกลางที่ศาลสั่งริบนั้นไม่อาจขายได้ ให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาลตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 7 และมาตรา 8 วรรคสอง ส่วนคำขอให้จ่ายสินบนแก่ผู้นำจับตามกฎหมายนั้นให้ยก

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนพึงรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากร หรือเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน เมื่อรวมโทษในความผิดฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วเป็นจำคุก 18 เดือน ไม่รอการลงโทษ และไม่ปรับ กับให้จ่ายเงินสินบนร้อยละสามสิบ และจ่ายเงินรางวัลร้อยละสิบห้าของราคาของกลางที่ศาลสั่งริบตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ ตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 7, 8 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประเด็นแรกว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องถึงรายละเอียดว่า มีใครเป็นผู้นำจับ เมื่อไร อย่างไร เพียงบรรยายฟ้องตอนท้ายว่า ในการจับกุมมีผู้นำจับจึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ไม่ชัดแจ้ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จ่ายสินบนแก่ผู้นำจับจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 บัญญัติแต่เพียงว่า คำฟ้องต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาและสถานที่อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีเท่านั้น ส่วนรายละเอียดที่ว่า ใครจะเป็นผู้นำจับ ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร เป็นรายละเอียดที่โจทก์อาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณาโดยไม่จำเป็นต้องกล่าวในคำฟ้องโดยละเอียด เพราะข้อเท็จจริงดังกล่าวมิใช่สาระสำคัญแห่งการกระทำผิดของจำเลย เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องโดยระบุว่า ในการจับกุมความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มีผู้นำจับ นำความมาแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้จับกุมคดีนี้และมีคำขอท้ายฟ้องให้จ่ายเงินสินบนแก่ผู้นำจับแล้ว การที่จำเลยให้การรับสารภาพย่อมแสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยกระทำความผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์และเป็นการกระทำความผิดครั้งแรก หลังจากถูกจับกุมจำเลยให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่และให้การรับสารภาพมาโดยตลอด ขอศาลฎีกาลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมของกลางเป็นเครื่องสูบบุหรี่ไฟฟ้า 59 เครื่อง หัวสำหรับใส่เครื่องสูบบุหรี่ไฟฟ้า 120 หัว แท่นชาร์จบุหรี่ไฟฟ้า 13 กล่อง และน้ำยาเติมบุหรี่ไฟฟ้าแยกบรรจุในหลอดพลาสติกใส ขวดแก้วใส และแกลลอนขนาดต่าง ๆ มีปริมาณมากถึง 105,618 ซีซี ถือว่ามีปริมาณมากและส่งผลกระทบถึงสุขอนามัยของผู้บริโภคในวงกว้าง อีกทั้งจำเลยยังมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง ไม่สมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษให้จำเลยนั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้จ่ายเงินสินบนร้อยละสามสิบ และจ่ายเงินรางวัลร้อยละสิบห้าของราคาของกลางที่ศาลสั่งริบ ตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 7, 8 นั้น เห็นว่า มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้จ่ายสินบนและเงินรางวัลจากเงินที่ได้จากการขายของกลางซึ่งศาลสั่งริบเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว หากของกลางที่ศาลสั่งริบไม่อาจขายได้ให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาล เมื่อของกลางคดีนี้เป็นทรัพย์สินที่มีไว้เป็นความผิดไม่อาจนำออกขายได้ และศาลใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่ปรับ กรณีจึงไม่มีเงินที่ได้จากการขายของกลางหรือเงินค่าปรับที่จะสั่งจ่ายสินบนและเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 8 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จ่ายเงินสินบนร้อยละสามสิบ และจ่ายเงินรางวัลร้อยละสิบห้าของราคาของกลางที่ศาลสั่งริบมานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ส่วนความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้าบารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 36, 56 วรรคหนึ่งนั้น พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 มาตรา 20 และมาตรา 31 ให้เพิ่มเติมมาตรา 29/9 วรรคสอง และมาตรา 56/4 ทั้งมาตรา 37 ยังบัญญัติให้คำสั่งของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ออกตามมาตรา 36 และมาตรา 38 ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะมีคำสั่งใหม่หรือมีคำสั่งยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ดังนั้น การกระทำความผิดฐานขายสินค้าบารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า โดยฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า "บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า" ยังบัญญัติให้เป็นความผิดอยู่ แต่โทษจำคุกตามกฎหมายใหม่เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 36 วรรคสอง (เดิม), 29/9 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่), 56/4 (ที่แก้ไขใหม่) ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้จ่ายเงินสินบนแก่ผู้นำจับ และจ่ายเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมตามกฎหมาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.3049/2562

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรสงคราม จำเลย - นาย ช.

ชื่อองค์คณะ สิทธิโชติ อินทรวิเศษ วัชรินทร์ สุขเกื้อ

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดสมุทรสงคราม - นายสมเกียรติ รัศมีภูผา ศาลอุทธรณ์ภาค 7 - นายสัมพันธ์ บุนนาค

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th