คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 341/2562
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 186 (9), 195 วรรคสอง, 225 พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พุทธศักราช 2550 ม. 3
โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า เจ้าพนักงานตำรวจยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นของกลาง ทั้งไม่มีคำขอท้ายฟ้องให้ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ แม้ในทางพิจารณาจะได้ความว่าเจ้าพนักงานตำรวจยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่จากจำเลยเป็นของกลางด้วย แต่โทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวไม่ใช่ของกลางที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องและมีคำขอให้ศาลวินิจฉัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 66, 91, 97 100/1, 102 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 4, 43 ทวิ, 157/1 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบของกลางทั้งหมด เพิ่มโทษจำเลยที่ 3 กึ่งหนึ่งตามกฎหมาย เพิกถอนหรือพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยที่ 3 มีกำหนดไม่น้อยกว่า 6 เดือน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 57, 66 วรรคสาม, 91 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 57, 67, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตลอดชีวิตและปรับคนละ 2,000,000 บาท ฐานร่วมกันเสพเมทแอมเฟตามีน (ที่ถูก ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน) จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 6 เดือน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 ปี ฐานเสพเมทแอมเฟตามีนและฐานขับรถเสพเมทแอมเฟตามีนเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 8 เดือน เพิ่มโทษจำเลยที่ 3 กระทงละกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นจำคุก 1 ปี 6 เดือน ฐานขับรถเสพเมทแอมเฟตามีนเป็นจำคุก 12 เดือน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 25 ปี และปรับคนละ 1,000,000 บาท ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุกคนละ 3 เดือน จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพฐานขับรถเสพเมทแอมเฟตามีนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำคุก 6 เดือน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ทางนำสืบจำเลยที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำคุก 9 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีกำหนดคนละ 25 ปี 3 เดือน และปรับคนละ 1,000,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 15 เดือน ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เกิน 1 ปี ให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยที่ 3 มีกำหนด 6 เดือน ริบของกลาง ยกเว้นโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้คืนแก่เจ้าของ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกตลอดชีวิต และปรับ 2,000,000 บาท เมื่อลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้วจึงไม่อาจเพิ่มโทษจำคุกได้ คงเพิ่มเฉพาะโทษปรับกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 เป็นปรับ 3,000,000 บาท คำรับสารภาพของจำเลยที่ 3 ในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 33 ปี 4 เดือน และปรับ 2,000,000 บาท เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานเป็นผู้ขับรถเสพเมทแอมเฟตามีนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 33 ปี 10 เดือน และปรับ 2,000,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่) หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังจำเลยที่ 3 ไม่เกิน 1 ปี ไม่คืนโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 347x xxx แก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2558 เวลาประมาณ 12 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ ที่อู่ซ่อมรถของจำเลยที่ 1 ในท้องที่ตำบลหนองบัวโคก อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ และยึดเมทแอมเฟตามีน 2 ชิ้น กับอุปกรณ์การเสพเมทแอมเฟตามีน 1 ชุด เป็นของกลาง ในเวลาต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจกลับไปตรวจค้นที่อู่ซ่อมรถของจำเลยที่ 1 อีกครั้ง และยึดเมทแอมเฟตามีนในถุงรวม 966 เม็ด กับเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดสีขาว 1 ถุง เป็นของกลาง และในตอนเย็นของวันเดียวกันเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 3 ได้ที่บริเวณสี่แยกไฟแดงทางเข้าอำเภอลำปลายมาศ และยึดเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดสีขาว 1 หลอด เป็นของกลางวันรุ่งขึ้นเวลาประมาณ 13 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจไปค้นบ้านของจำเลยที่ 2 ที่ตำบลลำปลายมาศ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ และยึดเมทแอมเฟตามีน 3 มัด รวม 6,062 เม็ด เป็นของกลาง หลังจากนั้นไปค้นบ้านของจำเลยที่ 3 ในท้องที่เดียวกันยึดเมทแอมเฟตามีน 1 เม็ด กับอุปกรณ์การเสพเมทแอมเฟตามีนอีก 1 ชุด เป็นของกลาง พนักงานสอบสวนส่งเมทแอมเฟตามีนของกลางทั้งหมดไปตรวจพิสูจน์แล้ว ปรากฏว่าคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 125.7602 กรัม โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ คดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งให้การรับสารภาพ รวมทั้งคดีสำหรับจำเลยที่ 3 เฉพาะความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนและเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 เพียงประการเดียวว่า จำเลยที่ 3 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสามปากเบิกความถึงพฤติการณ์ในการจับกุมและยึดยาเสพติดของกลางได้สอดคล้องต้องกันทุกขั้นตอน โดยเริ่มจากจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนในอู่ซ่อมรถของจำเลยที่ 1 ได้ 2 ชิ้น กับ 966 เม็ด และเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดสีขาวอีก 1 ถุง หลังจากนั้นจึงขยายผลไปจับกุมจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดได้ พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีน 1 เม็ด และเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดสีขาว 1 หลอด กับพาไปยึดเมทแอมเฟตามีนที่บ้านของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 3 ฝากไว้อีก 6,062 เม็ด ตามลำดับ โดยไม่ปรากฏข้อพิรุธให้น่าระแวงสงสัย เฉพาะอย่างยิ่งหลังจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถูกจับกุมก็ให้การยืนยันมาตั้งแต่ต้นว่าเมทแอมเฟตามีนที่ยึดได้ในอู่ซ่อมรถของจำเลยที่ 1 เป็นยาเสพติดส่วนหนึ่งที่จำเลยที่ 3 มอบให้เก็บรักษาไว้ เพื่อเตรียมจำหน่ายให้แก่ลูกค้า โดยจำเลยที่ 3 ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 347x xxx สั่งการอีกทอดหนึ่ง พร้อมทั้งให้การถึงรายละเอียดในการร่วมกันไปรับเมทแอมเฟตามีนมาแบ่งเก็บไว้เพื่อรอจำหน่ายอย่างชัดเจน สอดคล้องกับคำเบิกความของผู้จับกุม ซึ่งหากไม่เป็นความจริง จำเลยที่ 1 และที่ 2 คงไม่สามารถให้รายละเอียดเกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ได้เช่นนี้ ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 3 ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นหลานเขยนายสมเกียรติ สามีเก่าของจำเลยที่ 3 นับว่ามีความใกล้ชิดสนิทสนมกัน โดยไม่ปรากฏว่ามีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน จึงไม่มีข้อให้น่าระแวงสงสัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยที่ 3 โดยปราศจากมูลความจริง อีกทั้งขณะเกิดเหตุพยานโจทก์กับพวกสามารถยึดเมทแอมเฟตามีนบางส่วนได้จากตัวจำเลยที่ 3 และจากบ้านของจำเลยที่ 3 ด้วย แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 เกี่ยวข้องกับเมทแอมเฟตามีนจริง นอกจากนี้จำเลยที่ 3 ยังร่วมกับจำเลยที่ 2 นำเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจยึดเมทแอมเฟตามีนที่ฝากไว้ที่บ้านของจำเลยที่ 2 ได้อีก 6,062 เม็ดด้วย สอดคล้องกับคำให้การในชั้นจับกุมของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า เมทแอมเฟตามีนของกลางจำเลยที่ 3 เป็นผู้ฝากไว้เพื่อรอจำหน่ายให้แก่ลูกค้า ซึ่งคำให้การในชั้นจับกุมของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่พาดพิงว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกระทำความผิดด้วย สามารถรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ไม่เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคท้าย และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ประกอบกับในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังคงให้การรับสารภาพโดยยืนยันว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกระทำความผิดด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ในชั้นสอบสวนครั้งแรกจำเลยที่ 3 เองก็ให้การรับสารภาพเช่นกัน โดยมีรายละเอียดในการกระทำความผิดอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นการรับสารภาพต่อหน้าทนายความ โดยโจทก์มีพันตำรวจโทสมศักดิ์ พนักงานสอบสวนเบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพไว้ด้วยความสมัครใจ พยานโจทก์ทุกปากที่กล่าวมาต่างปฏิบัติราชการไปตามหน้าที่ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 3 มาก่อน ทั้งเบิกความได้สอดคล้องต้องกันสมเหตุผลเชื่อมโยงกับเอกสารและภาพถ่ายที่เกี่ยวข้องโดยไม่มีข้อพิรุธให้น่าระแวงสงสัย โดยเฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณาอีกด้วย เป็นการสนับสนุนให้คำเบิกความของพยานโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น ข้อที่จำเลยที่ 3 นำสืบปฏิเสธว่า จำเลยที่ 3 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเมทแอมเฟตามีนของกลางที่ยึดได้ในอู่ซ่อมรถของจำเลยที่ 1 และที่บ้านของจำเลยที่ 2 นั้น เป็นการนำสืบเพียงลอย ๆ และขัดกับพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน ไม่มีน้ำหนักแก่การเชื่อถือ เมื่อประมวลพยานหลักฐานของโจทก์เข้าด้วยกันแล้ว มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจริงตามฟ้อง พยานหลักฐานของจำเลยที่ 3 ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า เจ้าพนักงานตำรวจยึดเมทแอมเฟตามีนของกลางส่วนใหญ่ได้จากอู่ซ่อมรถของจำเลยที่ 1 และจากบ้านของจำเลยที่ 2 มิใช่ยึดได้จากจำเลยที่ 3 จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกระทำความผิดด้วย นั้น เห็นว่า ตามพฤติการณ์แห่งคดีดังที่วินิจฉัยมา ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 มอบหมายให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เก็บรักษาเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้เพื่อรอจำหน่ายให้แก่ลูกค้าในลักษณะเป็นขบวนการค้ายาเสพติด โดยการแบ่งหน้าที่กันทำ ดังนั้น แม้จำเลยที่ 3 มิได้ยึดถือครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางดังกล่าวโดยตรง ก็ถือว่าเป็นตัวการกระทำความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแล้ว หาใช่เป็นการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพียงลำพังไม่ ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาต่อมาว่าโจทก์มีแต่พยานบอกเล่าและพยานซัดทอด ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังลงโทษจำเลยที่ 3 ได้ นั้น เห็นว่า ในข้อนี้ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยพร้อมแสดงเหตุผลประกอบไว้อย่างละเอียดแล้ว ซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย จึงไม่จำต้องกล่าวซ้ำอีก ส่วนที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าพนักงานสอบสวนระบุวันที่ในการชี้เมทแอมเฟตามีนของกลางของจำเลยที่ 3 เป็นวันที่ 11 กรกฎาคม 2558 ไม่ตรงกับความเป็นจริง ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์มีข้อพิรุธไม่น่าเชื่อถือนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติแล้วว่า เจ้าพนักงานตำรวจยึดเมทแอมเฟตามีนของกลางได้จริง มิใช่เป็นการกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยทั้งสาม ดังนั้น แม้พนักงานสอบสวนจะระบุวันที่ในการนำชี้ของกลางคลาดเคลื่อนไปบ้าง ก็ไม่ถึงกับเป็นเหตุทำให้พยานหลักฐานของโจทก์มีพิรุธจนขาดความน่าเชื่อถือแต่อย่างใด สำหรับฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 3 เป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อยไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า เจ้าพนักงานตำรวจยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นของกลาง อีกทั้งไม่มีคำขอท้ายฟ้องให้ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วย แม้ในทางพิจารณาจะได้ความว่าเจ้าพนักงานตำรวจยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่จากจำเลยที่ 3 เป็นของกลางด้วย แต่โทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าว ไม่ใช่ของกลางที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องและมีคำขอให้ศาลวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (9) การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้คืนโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางแก่เจ้าของก็ดี และศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าไม่คืนโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางแก่เจ้าของ โดยวินิจฉัยว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 3 ใช้ในการกระทำความผิด อันมีผลเท่ากับให้ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวก็ดี ล้วนเป็นการพิพากษานอกเหนือไปจากคำฟ้อง อันเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งเรื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.1136/2561
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์ จำเลย - นาย ร. กับพวก
ชื่อองค์คณะ พิชัย เพ็งผ่อง อธิคม อินทุภูติ จรัญ เนาวพนานนท์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ - นายภัทรพล เอกทันต์ ศาลอุทธรณ์ - นายธีระเดช ยุวชิต