คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3410/2565
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1623 พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ม. 31, 32
พระภิกษุในคณะสงฆ์ไทยรวมทั้งผู้ตายที่ได้ไปพำนักและปฏิบัติศาสนกิจอยู่ที่วัดผู้คัดค้านที่ 2 ยังคงถือว่าอยู่ในความปกครองดูแลโดยมหาเถรสมาคม แต่การจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ในลักษณะดังกล่าว ไม่เป็นผลให้วัดผู้คัดค้านที่ 2 ที่ตั้งอยู่นอกราชอาณาจักรมีฐานะเป็นวัดตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 เมื่อไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายอื่นบัญญัติรับรองให้วัดผู้คัดค้านที่ 2 มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทวัด จึงถือไม่ได้ว่าวัดผู้คัดค้านที่ 2 มีฐานะเป็นวัดตามกฎหมาย และไม่อาจถือได้ว่าที่ตั้งของวัดผู้คัดค้านที่ 2 ในประเทศดังกล่าว ที่ผู้ตายพำนักเป็นภูมิลำเนาของผู้ตาย ดังนั้น เมื่อผู้ตายถึงแก่มรณภาพ ทรัพย์สินของผู้ตายที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศจึงตกเป็นสมบัติของวัดผู้คัดค้านที่ 1 ที่เป็นภูมิลำเนาของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1623 ผู้คัดค้านที่ 2 มิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกไม่มีสิทธิขอจัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องทั้งสอง และมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านขอให้มีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ระหว่างพิจารณา ผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้านที่ 1 ตกลงยินยอมให้ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งวัด ด. ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายหรือพระครูปลัดจำลอง ผู้ตาย ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ยกคำร้องขอของผู้ร้องทั้งสองและคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า วัดผู้คัดค้านที่ 2 ตั้งอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกา จดทะเบียนตามกฎหมายประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรประเภทสถานสักการะบูชาซึ่งได้รับยกเว้นการเสียภาษีการบริหารงานของวัดเป็นในรูปแบบของคณะกรรมการมีนางสาวจิตตรานนท์ เป็นประธานมีอำนาจดำเนินกิจการแทนวัดผู้คัดค้านที่ 2 ผู้ตายอุปสมบทที่วัด ม. กรุงเทพมหานคร ผู้ตายสังกัดวัดผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2522 ผู้ตายย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดผู้คัดค้านที่ 2 จนกระทั่งต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2562 ผู้ตายอาพาธและมรณภาพ ผู้ตายมีทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศที่ปรากฏขณะยื่นคำร้องขอจัดการมรดก ได้แก่ ที่ดิน 2 แปลง ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมหรือตั้งบุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอจัดการมรดกของผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้านที่ 2 ผู้ร้องทั้งสองไม่อุทธรณ์ คดีผู้ร้องทั้งสองจึงยุติตามคำสั่งศาลชั้นต้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ว่า ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกมีสิทธิร้องขอจัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ เห็นว่า ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 บัญญัติว่า วัดมีสองอย่าง (1) วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา (2) สำนักสงฆ์ ให้วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัดในกิจการทั่วไป และมาตรา 32 บัญญัติว่า การสร้าง การตั้ง… วัด … ให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งตามกฎกระทรวง การสร้าง การตั้ง การรวม การย้าย และการยุบเลิกวัด… พ.ศ. 2559 หมวด 1 การสร้างวัด ข้อ 5 ถึง ข้อ 8 กำหนดหลักเกณฑ์ที่เป็นสาระสำคัญสรุปได้ว่า ที่ดินที่ใช้เป็นสถานที่สร้างวัดต้องมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่าหกไร่ ผู้ประสงค์จะสร้างวัดให้ยื่นคำขอสร้างวัดต่อผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดในจังหวัดที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่ เพื่อขอความเห็นจากเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ นายอำเภอ และเจ้าคณะจังหวัด ที่เกี่ยวข้อง แล้วเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาเห็นสมควรให้สร้างวัดได้ ให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติรายงานให้นายกรัฐมนตรีและมหาเถรสมาคมทราบ หมวด 2 การตั้งวัด ข้อ 9 ถึงข้อ 11 กำหนดหลักเกณฑ์ที่เป็นสาระสำคัญสรุปได้ว่า เมื่อได้สร้างเสนาสนะขึ้นพร้อมที่จะเป็นที่พำนักของพระภิกษุและประกอบศาสนกิจแล้ว ให้ผู้ได้รับอนุญาตสร้างวัด ยื่นรายงานเพื่อขอตั้งวัดต่อผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดในจังหวัดที่ที่ดินได้รับอนุญาตให้สร้างวัดนั้นตั้งอยู่ เพื่อขอความเห็นต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง แล้วเสนอรายงานพร้อมความเห็นต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาเห็นสมควรให้ตั้งวัดได้ ให้เสนอรายงานพร้อมความเห็นไปยังเจ้าคณะภาค เจ้าคณะใหญ่ ที่เกี่ยวข้อง และผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อพิจารณาตามลำดับ เมื่อผู้มีอำนาจดังกล่าวเห็นสมควรให้ตั้งวัดได้ ให้เสนอรายงานพร้อมความเห็นต่อคณะกรรมการที่มหาเถรสมาคมแต่งตั้งขึ้นเพื่อพิจารณากลั่นกรองเรื่องการตั้งวัดและการใช้ชื่อวัดนำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อพิจารณาเห็นชอบ ให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติประกาศเรื่องการตั้งวัดในราชกิจจานุเบกษาต่อไป สำหรับวัดผู้คัดค้านที่ 2 เดิมใช้ชื่อว่า "ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนา อ. นครนิวยอร์ค" ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น"วัด อ. นิวยอร์คหรือนครนิวยอร์ค" จดทะเบียนตามกฎหมายประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรประเภทสถานสักการะบูชาได้รับการยกเว้นการเสียภาษี การบริหารงานของวัดเป็นในรูปแบบของคณะกรรมการโดยมีประธานกรรมการ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการลงมติให้เป็นประธานกรรมการมีอำนาจดำเนินกิจการแทนวัดผู้คัดค้านที่ 2 ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความไม่ปรากฏว่าการสร้างและการตั้งวัดผู้คัดค้านที่ 2 มีการบังคับให้ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงฯ ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 เช่นเดียวกับวัดทั่วไปที่ตั้งอยู่ภายในราชอาณาจักร นอกจากนี้กรณีของวัด ผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมายประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร การจัดตั้งและการบริหารองค์กรย่อมต้องอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายของประเทศดังกล่าว ไม่อาจที่จะนำบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฯ หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นกฎหมายภายในของประเทศไทยไปใช้บังคับนอกราชอาณาจักร ในทางที่ขัดหรือแย้งกับหลักกฎหมายของประเทศนั้นได้ ตามหลักทั่วไปเรื่องการใช้เขตอำนาจรัฐตามหลักดินแดนที่กำหนดให้รัฐมีอำนาจออกกฎหมายและใช้บังคับกฎหมายเหนือบุคคลหรือทรัพย์สินในดินแดนของตน การสร้างและการจัดตั้งวัดผู้คัดค้านที่ 2 ในประเทศสหรัฐอเมริกาเกิดจากความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่อาศัยอยู่ในประเทศดังกล่าวที่ร่วมกันจัดสร้างและขออนุญาตจดทะเบียนตั้งขึ้นตามกฎหมายประเทศสหรัฐอเมริกา การที่สมเด็จพระสังฆราชทรงมีพระบัญชาขนานนามวัดผู้คัดค้านที่ 2 และทรงรับวัดผู้คัดค้านที่ 2 ไว้ในพระสังฆราชูปถัมภ์นั้น คงเป็นไปเพื่อให้การอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและเพื่อส่งเสริมการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาให้เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนในต่างประเทศ มิได้มุ่งหมายเพื่อที่จะสถาปนาวัดผู้คัดค้านที่ 2 ยกขึ้นเป็นวัดตามที่บัญญัติในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฯ ให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแต่อย่างใด สำหรับพระภิกษุในคณะสงฆ์ไทยรวมทั้งผู้ตายที่ได้ไปพำนักและปฏิบัติศาสนากิจอยู่ที่วัดผู้คัดค้านที่ 2 ยังคงถือว่าอยู่ในความปกครองดูแลโดยมหาเถรสมาคม แต่การจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ในลักษณะดังกล่าว ไม่เป็นผลให้วัดผู้คัดค้านที่ 2 ที่ตั้งอยู่นอกราชอาณาจักรมีฐานะเป็นวัดตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฯ เมื่อไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายอื่นบัญญัติรับรองให้วัดผู้คัดค้านที่ 2 มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทวัด จึงถือไม่ได้ว่าวัดผู้คัดค้านที่ 2 มีฐานะเป็นวัดตามกฎหมาย และไม่อาจถือได้ว่าที่ตั้งของวัดผู้คัดค้านที่ 2 ในประเทศดังกล่าวที่ผู้ตายพำนักเป็นภูมิลำเนาของผู้ตาย ดังนั้น เมื่อผู้ตายถึงแก่มรณภาพ ทรัพย์สินของผู้ตายที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศจึงตกเป็นสมบัติของวัดผู้คัดค้านที่ 1 ที่เป็นภูมิลำเนาของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1623 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านที่ 2 มิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกไม่มีสิทธิขอจัดการมรดกของผู้ตายนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.339/2565
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ ผู้ร้อง - นางสาว ฉ. กับพวก ผู้คัดค้าน - วัด ด. กับพวก
ชื่อองค์คณะ เศรณี ศิริมังคละ รักเกียรติ วัฒนพงษ์ อุทัย โสภาโชติ
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดนนทบุรี - นางสาวณิชารัตน์ สุจริตวรางกูร ศาลอุทธรณ์ภาค 1 - นายอธิป จิตต์สำเริง