คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3427/2563
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (4), 22, 185 วรรคหนึ่ง, 215, 225 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ม. 4
ความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 เกิดขึ้นเมื่อธนาคารปฏิเสธการใช้เงินตามเช็ค สถานที่ตั้งของธนาคารที่ปฏิเสธการจ่ายเงินจึงเป็นสถานที่ที่ความผิดเกิดขึ้น การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันออกเช็คธนาคาร ก. สาขาหาดกมลา ภูเก็ต ตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์นำเช็คพิพาททั้งสองฉบับเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคาร ก. สาขาบางรัก ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคาร ก. สาขาหาดกมลา ภูเก็ต ปฏิเสธการจ่ายเงินนั้น ย่อมแสดงว่า ธนาคาร ก. สาขาบางรัก มิได้เป็นผู้จ่ายเงินตามเช็คให้แก่โจทก์คงเป็นแต่เพียงตัวแทนของโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้เท่านั้น เมื่อธนาคาร ก. สาขาหาดกมลา ภูเก็ต ปฏิเสธการจ่ายเงิน ท้องที่จังหวัดภูเก็ตอันเป็นสถานที่ตั้งของธนาคาร ก. สาขาหาดกมลา ภูเก็ต ซึ่งเป็นธนาคารตามเช็คที่ปฏิเสธการจ่ายเงินจึงเป็นสถานที่ที่ความผิดเกิดขึ้น ความผิดคดีนี้จึงเกิดขึ้นในเขตศาลชั้นต้น ซึ่งมีอำนาจรับฟ้องไว้พิจารณาพิพากษา
ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินระบุว่า ผู้กู้ตกลงกู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้ 5,000,000 บาท และตกลงชำระดอกเบี้ยให้แก่ผู้กู้ 150,000 บาท แม้การกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสามจะมีการตกลงดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี อันเป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดก็ตาม แต่เมื่อได้ความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่า ในวันทำสัญญากู้ยืมเงินจำเลยที่ 2 ออกเช็คสั่งจ่ายให้แก่โจทก์ 5,450,000 บาท เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดชำระเงิน ปรากฎว่าโจทก์ไม่สามารถนำเช็คไปขึ้นเงินได้ โจทก์จึงนำเช็คไปพบจำเลยที่ 2 จนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ให้แก่โจทก์ การที่โจทก์นำเช็คพิพาททั้งสองฉบับตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ไปเรียกเก็บเงิน แสดงว่าโจทก์เจตนาเข้าถือสิทธิตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับ เมื่อเช็คพิพาททั้งสองฉบับตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 สั่งจ่ายเงิน 5,000,000 บาท และ 450,000 บาท ตามลำดับ อันเป็นการแยกให้เห็นชัดว่าเช็คฉบับใดชำระเงินต้นและเช็คฉบับใดชำระดอกเบี้ยประกอบกับโจทก์ยังบรรยายฟ้องอีกด้วยว่า เป็นการสั่งจ่ายเช็คให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมและดอกเบี้ยพร้อมทั้งแนบสัญญากู้ยืมเงินมาท้ายคำฟ้องซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง กรณีจึงไม่อาจฟังว่าเช็คพิพาททั้งสองฉบับตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 เป็นเช็คที่ออกเพื่อชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยโดยไม่อาจแยกเงินต้นและดอกเบี้ยออกจากกันได้ เมื่อปรากฏว่าเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.4 สั่งจ่ายเงิน 5,000,000 บาท จึงเป็นเช็คที่ออกเพื่อชำระเงินต้น ส่วนเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.5 สั่งจ่ายเงิน 450,000 บาท จึงเป็นเช็คที่ออกเพื่อชำระดอกเบี้ยที่เรียกเกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนด ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้กระทำผิดในส่วนของดอกเบี้ยที่โจทก์คิดเกินอัตราตามกฎหมาย ดังนั้น แม้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.5 ก็จะถือว่าโจทก์เป็นผู้ทรงโดยชอบและเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 สำหรับความผิดในส่วนของเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.5 แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะให้การรับสารภาพก็ไม่อาจฟังลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ ทั้งนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 แต่ในส่วนของเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.4 นั้นเป็นเช็คที่ออกเพื่อชำระเงินต้นมิได้รวมดอกเบี้ยที่มิชอบเข้าไว้ด้วย จึงเป็นการออกเช็คชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย การที่จำเลยที่ 2 สั่งจ่ายเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.4 เพื่อชำระเงินต้นตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.4 ในนามหรือแทนจำเลยที่ 1 อันเป็นการแสดงออกถึงความประสงค์ของนิติบุคคล เมื่อเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.4 ถึงกำหนดชำระแล้วปรากฎว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินด้วยเหตุผลว่า "เงินในบัญชีไม่พอจ่าย" จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยทั้งสามขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 (1) (3) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ปรับกระทงละ 10,000 บาท (ที่ถูก ปรับกระทงละ 20,000 บาท) และจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทงละ 8 เดือน จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 10,000 บาท รวมปรับจำเลยที่ 1 สองกระทงเป็นเงิน 20,000 บาท และคงจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทงละ 4 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 รวมสองกระทงคนละ 8 เดือน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
ก่อนครบกำหนดที่ศาลชั้นต้นขยายระยะเวลาฎีกาให้จำเลยทั้งสามโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประการแรกว่า ศาลชั้นต้นมีอำนาจรับฟ้องพิจารณาพิพากษาคดีนี้ หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า ความผิดเกิดขึ้นที่ธนาคาร ก. สาขาบางรัก ซึ่งเป็นธนาคารที่ปฏิเสธการจ่ายเงิน เห็นว่า ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 เกิดขึ้นเมื่อธนาคารปฏิเสธการใช้เงินตามเช็ค สถานที่ตั้งของธนาคารที่ปฏิเสธการจ่ายเงินจึงเป็นสถานที่ที่ความผิดเกิดขึ้น การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันออกเช็คธนาคาร ก. สาขาหาดกมลา ภูเก็ต ตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ให้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์นำเช็คพิพาททั้งสองฉบับตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 เข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคาร ก. สาขาบางรัก ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคาร ก. สาขาหาดกมลา ภูเก็ต ปฏิเสธการจ่ายเงินนั้น ย่อมแสดงว่า ธนาคาร ก. สาขาบางรัก มิได้เป็นผู้จ่ายเงินตามเช็คให้แก่โจทก์คงเป็นแต่เพียงตัวแทนของโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ให้เท่านั้น เมื่อธนาคาร ก. สาขาหาดกมลา ภูเก็ต ปฏิเสธการจ่ายเงิน ท้องที่จังหวัดภูเก็ตอันเป็นสถานที่ตั้งของธนาคาร ก. สาขาหาดกมลา ภูเก็ต ซึ่งเป็นธนาคารตามเช็คที่ปฏิเสธการจ่ายเงินจึงเป็นสถานที่ที่ความผิดเกิดขึ้น ความผิดคดีนี้จึงเกิดขึ้นในเขตศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีอำนาจรับฟ้องพิจารณาพิพากษาคดีนี้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประการต่อไปว่า ฟ้องของโจทก์ขาดองค์ประกอบความผิดหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ต้องบรรยายฟ้องตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 25 และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล พ.ศ. 2560 มาตรา 3 (5) ว่า การกระทำความผิดตามฟ้องนี้เกิดจากการสั่งการ หรือการกระทำของจำเลยที่ 2 ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินการของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องดำเนินการ เห็นว่า โจทก์ฟ้องและมีคำขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 มิใช่ฟ้องตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 25 และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล พ.ศ. 2560 มาตรา 3 (5) แต่อย่างใด การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คในฐานะผู้มีอำนาจกระทำการแทนของจำเลยที่ 1 และในนามส่วนตัว แล้วจำเลยทั้งสามได้ส่งมอบเช็คให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ต้นเงินกู้ยืมและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ อันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อถึงกำหนดชำระหนี้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค จึงเป็นฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประการต่อไปว่า ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 นั้นเป็นฎีกาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ข้อหาความผิดตามที่โจทก์ฟ้องมิใช่เป็นข้อหาความผิดที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมรับฟังเป็นยุติได้ตามที่โจทก์ฟ้อง ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า การกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการให้ยืมเพื่อนำเงินมาลงทุนร่วมกัน โดยโจทก์ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 20 เมื่อเป็นการลงทุนผู้ร่วมลงทุนจึงต้องรับผลกำไรและผลขาดทุนร่วมกัน สัญญากู้ยืมเงินจึงไม่มีหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาไม่สามารถพิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์จริง ขอให้ยกฟ้อง จึงเป็นฎีกาโต้เถียงเป็นอย่างอื่นให้ขัดกับที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพ เป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แม้ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไว้ ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประการต่อไปว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง เห็นว่า ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินระบุว่า ผู้กู้ตกลงกู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้ 5,000,000 บาท และตกลงชำระดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ 150,000 บาท ต่อเดือน ผู้กู้ตกลงชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยทั้งหมดภายในวันที่ 25 ตุลาคม 2557 แม้การกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสามจะมีการตกลงดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี อันเป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดก็ตาม แต่เมื่อได้ความตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสามถามค้านว่า ในวันทำสัญญากู้ยืมเงิน จำเลยที่ 2 ออกเช็คสั่งจ่ายให้แก่โจทก์ 5,450,000 บาท ตามสำเนาต้นขั้วเช็ค เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดชำระเงิน ปรากฎว่าโจทก์ไม่สามารถนำเช็คตามสำเนาต้นขั้วเช็คไปขึ้นเงินได้ โจทก์จึงนำเช็คตามสำเนาต้นขั้วเช็คไปพบจำเลยที่ 2 จนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ให้แก่โจทก์ ดังนั้น การที่โจทก์นำเช็คพิพาททั้งสองฉบับตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ไปเรียกเก็บเงิน แสดงว่าโจทก์เจตนาเข้าถือสิทธิตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 และสละสิทธิที่จะดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 สำหรับเช็คตามสำเนาต้นขั้วเช็คแล้ว เมื่อเช็คพิพาททั้งสองฉบับตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 สั่งจ่ายเงิน 5,000,000 บาท และ 450,000 บาท ตามลำดับ อันเป็นการแยกให้เห็นชัดว่าเช็คฉบับใดชำระเงินต้นและเช็คฉบับใดชำระดอกเบี้ยประกอบกับโจทก์ยังบรรยายฟ้องอีกด้วยว่า เป็นการสั่งจ่ายเช็คให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมและดอกเบี้ยพร้อมทั้งแนบสัญญากู้ยืมเงินมาท้ายคำฟ้องซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง กรณีจึงไม่อาจฟังว่าเช็คพิพาททั้งสองฉบับตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 เป็นเช็คที่ออกเพื่อชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยโดยไม่อาจแยกเงินต้นและดอกเบี้ยออกจากกันได้ เมื่อปรากฏว่าเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.4 สั่งจ่ายเงิน 5,000,000 บาท จึงเป็นเช็คที่ออกเพื่อชำระเงินต้น ส่วนเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.5 สั่งจ่ายเงิน 450,000 บาท จึงเป็นเช็คที่ออกเพื่อชำระดอกเบี้ยที่เรียกเกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนด ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้กระทำผิดในส่วนของดอกเบี้ยที่โจทก์คิดเกินอัตราตามกฎหมาย ดังนั้น แม้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.5 ก็จะถือว่าโจทก์เป็นผู้ทรงโดยชอบและเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 สำหรับความผิดในส่วนของเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.5 แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะให้การรับสารภาพก็ไม่อาจฟังลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 แต่ในส่วนของเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.4 นั้นเป็นเช็คที่ออกเพื่อชำระเงินต้นมิได้รวมดอกเบี้ยที่มิชอบเข้าไว้ด้วย จึงเป็นการออกเช็คชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย การที่จำเลยที่ 2 สั่งจ่ายเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.4 เพื่อชำระเงินต้นตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.4 ในนามหรือแทนจำเลยที่ 1 อันเป็นการแสดงออกถึงความประสงค์ของนิติบุคคล เมื่อเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.4 ถึงกำหนดชำระแล้วปรากฎว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินด้วยเหตุผลว่า "เงินในบัญชีไม่พอจ่าย" จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังขึ้นบางส่วน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการต่อไปว่า มีเหตุสมควรลงโทษจำเลยที่ 2 ในสถานเบาและรอการลงโทษให้จำเลยที่ 2 หรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสามชดใช้เงินให้แก่โจทก์แล้วบางส่วนเป็นเงิน 320,000 บาท ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 23 มีนาคม 2561 และก่อนครบกำหนดที่ศาลชั้นต้นขยายระยะเวลาฎีกาให้จำเลยทั้งสามนั้น จำเลยที่ 3 ชำระเงินให้แก่โจทก์ 2,500,000 บาท แล้ว เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นสามีภริยากัน กรณีจึงมีเหตุสมควรลงโทษจำเลยที่ 2 ในสถานเบาและรอการลงโทษให้จำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 3 ชำระเงินให้แก่โจทก์ 2,500,000 บาทแล้ว นั้น เป็นเพียงเหตุให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ตามคำร้องลงวันที่ 9 ตุลาคม 2562 เท่านั้น ทั้งศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความแล้ว ลำพังเพียงจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นสามีภริยากัน หาใช่เหตุสมควรลงโทษจำเลยที่ 2 ในสถานเบาและรอการลงโทษให้จำเลยที่ 2 ตามที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างไม่ ประกอบกับจำเลยที่ 2 สั่งจ่ายเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.4 ชำระหนี้เงินกู้ยืมจำนวน 5,000,000 บาท แม้โจทก์จะได้รับเงินจากจำเลยที่ 3 จำนวน 2,500,000 บาท และระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสามชดใช้เงินให้แก่โจทก์แล้วบางส่วนเป็นเงิน 320,000 บาท ก็ตาม แต่โจทก์ยังคงไม่ได้รับเงินตามเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.4 อีก 2,180,000 บาท นับว่าเป็นเงินจำนวนมาก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 เดือน โดยไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น เป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ศาลฎีกาไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ส่วนฎีกาข้ออื่นๆ ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 นอกจากนี้เป็นประเด็นปลีกย่อยที่ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 (1) (3) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ในส่วนของเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.4 ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ปรับ 20,000 บาท และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 เดือน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 10,000 บาท และคงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 เดือน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ยกฟ้องโจทก์สำหรับเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.5 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.526/2563
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาง ม. จำเลย - บริษัท ม. กับพวก
ชื่อองค์คณะ ภาวนา สุคันธวณิช ภานุวัฒน์ ศุภะพันธุ์ วินัย เรืองศรี
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดภูเก็ต - นางสาวปรายฝน เพชรโพธิ์ศรี ศาลอุทธรณ์ภาค 8 - นายสุทธิพงษ์ วัชรินทร์