สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3431/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3431/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 317 วรรคสาม (เดิม)

แม้ก่อนเกิดเหตุโจทก์ร่วมที่ 1 นั่งเล่นโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ในโรงเรียนหน้าห้องทำงานของจำเลย โดยจำเลยมิได้นัดแนะหรือพาโจทก์ร่วมที่ 1 มา ก็ถือว่าขณะนั้นโจทก์ร่วมที่ 1 อยู่ในความปกครองดูแลของโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นมารดา จำเลยไม่มีสิทธิพาโจทก์ร่วมที่ 1 ไปยังที่ใดโดยโจทก์ร่วมที่ 2 ไม่รู้เห็นยินยอม การที่จำเลยเข้ามากอดแล้วลากโจทก์ร่วมที่ 1 เข้าไปข่มขืนกระทำชำเราในห้องทำงานของจำเลย ถือได้ว่าจำเลยพาไปหรือแยกโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากความปกครองดูแลของโจทก์ร่วมที่ 2 โดยปราศจากเหตุอันสมควรแล้ว มิใช่เป็นเพียงการกระทำเพื่อมิให้บุคคลอื่นพบเห็นจึงเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา เพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม (เดิม)

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91, 277, 283 ทวิ, 317 ริบของกลาง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณานางสาว ธ. ผู้เสียหายที่ 1 โดยนาง อ. มารดาผู้แทนโดยชอบธรรม และนาง อ. ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้เสียหายที่ 1 เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหากระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน และข้อหาพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร และอนุญาตให้ผู้เสียหายที่ 2 เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหาพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร ส่วนข้อหาอื่นโจทก์ร่วมทั้งสองไม่เป็นผู้เสียหายจึงไม่อนุญาต และโจทก์ร่วมทั้งสองยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมทั้งสอง

จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคหนึ่ง, 283 ทวิ วรรคสอง, 317 วรรคสาม (ที่ถูก มาตรา 277 วรรคหนึ่ง, 283 ทวิ วรรคสอง (เดิมและที่แก้ไขใหม่), 317 วรรคสาม (เดิมและที่แก้ไขใหม่)) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารตามฟ้องข้อ 1.1 และข้อ 1.15 รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี ฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร และฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ตามฟ้องข้อ 1.2 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 ปี รวมจำคุก 16 ปี คำให้การในชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 10 ปี 8 เดือน ริบของกลาง ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามฟ้องข้อ 1.3 ถึงข้อ 1.14 กับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม (เดิม) ตามฟ้องข้อ 1.1 และฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ทวิ วรรคสอง (เดิม) ตามฟ้องข้อ 1.2 ด้วย รวมจำคุก 11 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 7 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งรับฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ร่วมที่ 1 อายุประมาณ 13 ถึง 14 ปีเศษ เป็นบุตรของนาย พ. กับโจทก์ร่วมที่ 2 กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียน พ. และโจทก์ร่วมที่ 1 เคยเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียน บ. จำเลยเป็นครูประจำชั้นโจทก์ร่วมที่ 1 ขณะเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 สำหรับความผิดตามฟ้องข้อ 1.3 ถึง 1.14 ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้อง และความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารตามฟ้องข้อ 1.2 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้อง ส่วนความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีตามฟ้องข้อ 1.2 และความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารตามฟ้องข้อ 1.15 ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลย คู่ความมิได้ฎีกาในความผิดดังกล่าว และมิได้ฎีกาในคดีส่วนแพ่ง ความผิดดังกล่าวและคดีส่วนแพ่งจึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารตามฟ้องข้อ 1.1 หรือไม่ เห็นว่า แม้ก่อนเกิดเหตุโจทก์ร่วมที่ 1 นั่งเล่นโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ในโรงเรียนหน้าห้องทำงานของจำเลย โดยจำเลยมิได้นัดแนะหรือพาโจทก์ร่วมที่ 1 มา ก็ถือว่าขณะนั้นโจทก์ร่วมที่ 1 อยู่ในความปกครองดูแลของโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นมารดา จำเลยไม่มีสิทธิพาโจทก์ร่วมที่ 1 ไปยังที่ใดโดยโจทก์ร่วมที่ 2 ไม่รู้เห็นยินยอม การที่จำเลยเข้ามากอดแล้วลากโจทก์ร่วมที่ 1 เข้าไปข่มขืนกระทำชำเราในห้องทำงานของจำเลยนั้น พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยพาไปหรือแยกโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากความปกครองดูแลของโจทก์ร่วมที่ 2 โดยปราศจากเหตุอันสมควรแล้ว มิใช่การกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นเพียงการกระทำเพื่อมิให้บุคคลอื่นพบเห็นตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม (เดิม) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารตามฟ้องข้อ 1.1 อีกกระทงหนึ่ง ให้จำคุก 5 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน เมื่อรวมกับโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นจำคุก 10 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.992/2563

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดนางรอง โจทก์ร่วม - นางสาว ธ. โดยนาง อ. ผู้แทนโดยชอบธรรม กับพวก จำเลย - นาย ช.

ชื่อองค์คณะ วัชรินทร์ สุขเกื้อ สิทธิโชติ อินทรวิเศษ

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดนางรอง - นายนที เข็มทอง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 - นายไพศาล โกสวัสดิ์

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE