สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3452/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3452/2563

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15, 40 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 141 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ม. 26/4, 26/5

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยเป็นคดีอาญาตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และขอให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐ จึงเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การพิจารณาคดีในส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 40 ตอนท้าย และคำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งจะต้องกล่าวหรือแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง กับต้องวินิจฉัยไปตามประเด็นแห่งคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 141 (4) (5) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีส่วนแพ่งโดยยังมิได้สอบคำให้การจำเลย จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีส่วนแพ่งไปโดยมิชอบ จึงให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 ในคดีส่วนแพ่ง ให้ศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยในคดีส่วนแพ่ง แล้วพิจารณาและพิพากษาคดีส่วนแพ่งไปตามรูปคดี

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 5, 6, 8, 9, 14, 25, 26/4, 26/5, 31 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 54, 55, 72 ตรี ให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารออกจากเขตป่าและป่าสงวนแห่งชาติ ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือนำสิ่งใด ๆ อันก่อให้เกิดการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติออกจากป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุภายในระยะเวลา 1 เดือน และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 1,146,194.30 บาท แก่กรมป่าไม้

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง (3) (ที่ถูก (เดิม)) พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ (ที่ถูก ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90) จำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี ให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง (ที่ถูก มีผู้แทนด้วย) และบริวารออกจากป่าและให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือนำสิ่งใด ๆ อันก่อให้เกิดการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติที่ถูกทำลายออกจากป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุภายในระยะเวลา 1 เดือน นับแต่มีคำพิพากษา และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 1,146,194.30 บาท ให้แก่กรมป่าไม้

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ในชั้นนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงประการเดียวว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า แม้ที่ดินที่เกิดเหตุอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่ได้ความจากรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติว่า ที่ดินดังกล่าวมีลักษณะเป็นป่าเสื่อมโทรม โดยมีบุคคลอื่นเข้าทำประโยชน์ด้วยการปลูกต้นขนุนมาก่อน ตั้งแต่ประมาณปี 2539 หลังจากนั้นบิดาจำเลยได้รับมอบการครอบครองที่ดินมา จนกระทั่งปี 2549 จำเลยจึงขอบิดาใช้ประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุด้วยการปลูกต้นยางพารา โดยจำเลยไม่ได้บุกรุกตัดฟันหรือแผ้วถางป่าเพิ่มเติม เพียงแต่ว่าจ้างชาวบ้านในพื้นที่ตัดหญ้าและตัดต้นขนุนออกเพื่อปลูกต้นยางพาราแทน จำเลยไม่ได้พักอาศัยอยู่ที่บ้านที่เกิดเหตุเป็นประจำ เนื่องจากต้องกลับไปดูแลมารดาที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเจ็บป่วยเข้ารับการผ่าตัดกระดูกงอกบริเวณข้อเท้า เมื่อจำเลยทราบว่าถูกออกหมายจับคดีนี้ จึงเดินทางเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนและสำนึกในความผิดให้การรับสารภาพตลอดมา ประกอบกับข้อเท็จจริงได้ความว่าในช่วงปี 2545 ถึงปี 2550 นายพิพัฒน์ บิดาจำเลย เป็นผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินแปลงที่เกิดเหตุต่อทางราชการไว้ แสดงว่าบิดาจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุมาก่อนจริง อีกทั้งตามคำฟ้องของโจทก์ระบุว่าจำเลยกระทำความผิดคดีนี้เมื่อระหว่างปี 2556 ถึงวันที่ 1 เมษายน 2558 แสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่า จำเลยเพิ่งเข้ายึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุได้ไม่นาน จึงเชื่อว่าการกระทำของจำเลยมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ป่าสงวนแห่งชาติมากนัก ตามพฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยมิใช่มีลักษณะเป็นนายทุนหรือผู้มีอิทธิพลที่บุกรุกเข้าไปทำลายป่าโดยตรง เพียงแต่ได้รับมอบการครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุ ซึ่งมีการทำประโยชน์มาก่อนแล้วสืบต่อจากบิดาอีกทอดหนึ่ง อีกทั้งหลังเกิดเหตุ จำเลยสำนึกผิดด้วยการมอบคืนพื้นที่เกิดเหตุให้แก่กรมป่าไม้ไปเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ได้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและนำไม้ทั้งหมดไปถวายให้แก่วัดป่าน้ำหนาว ซึ่งกระทำขึ้นก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา และในคดีส่วนแพ่งจำเลยก็ผ่อนชำระค่าเสียหายให้แก่กรมป่าไม้ไปแล้วรวม 4 งวด เป็นเงิน 80,000 บาท แสดงให้เห็นว่าจำเลยสำนึกผิดในการกระทำของตน และพยายามหาทางบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างเต็มกำลังตลอดมา จำเลยเป็นผู้หญิง จบการศึกษาชั้นปริญญาตรี สาขาการออกแบบนิเทศศิลป์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งแน่นอน และประกอบอาชีพสุจริตเลี้ยงดูบิดามารดามาโดยตลอด ไม่ปรากฏว่าเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน นิสัยและความประพฤติทั่วไปไม่ปรากฏข้อเสียหายร้ายแรง จึงสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีด้วยการรอการลงโทษไว้สักครั้งหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์แก่จำเลยและสังคมโดยรวมมากกว่าการลงโทษจำคุกไปเสียทีเดียว ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำไม่หวนกลับไปกระทำความผิดอีก จึงให้ลงโทษปรับอีกสถานหนึ่งและกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยไว้ด้วย

อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยเป็นคดีอาญาตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ และขอให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐ จึงเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การพิจารณาคดีในส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 ตอนท้าย และคำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งจะต้องกล่าวหรือแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวงกับต้องวินิจฉัยไปตามประเด็นแห่งคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141 (4) (5) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีส่วนแพ่งโดยยังมิได้สอบคำให้การจำเลย จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีส่วนแพ่งไปโดยมิชอบ

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลย 100,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับ 50,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้เป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์เกี่ยวกับการอนุรักษ์ รักษา และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรเป็นเวลา 30 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 ในคดีส่วนแพ่ง ให้ศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยในคดีส่วนแพ่ง แล้วพิจารณาและพิพากษาคดีส่วนแพ่งไปตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา สว.(อ)66/2563

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดหล่มสัก จำเลย - นางสาว น.

ชื่อองค์คณะ พิชัย เพ็งผ่อง ธงชัย เสนามนตรี กษิดิศ มงคลศิริภัทรา

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดหล่มสัก - นางสาวสิริมาส ชาตรี ศาลอุทธรณ์ภาค 6 - นายประดิษฐ์ จิตต์จำนงค์

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th