คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3473/2563
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 3, 91 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (4), 120 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ม. 5, 10, 12 (1) (2)
โจทก์ฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 5, 9, 10, 12 (1) (2) อันเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน มิใช่เป็นความผิดอันยอมความได้ ดังนั้น พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ได้โดยไม่จำต้องมีคำร้องทุกข์จากผู้เสียหาย เมื่อพนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนจนเสร็จ ถือได้ว่ามีการสอบสวนโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120
การที่จำเลยเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาลผู้เสียหายที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับจำเลย โดยจำเลยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์จากภายนอกผ่านระบบอินเทอร์เน็ตของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายของโรงพยาบาลผู้เสียหาย แล้วทำการปิดระบบกระจายสัญญาณเพื่อปิดระบบโปรแกรมสำหรับบริการทางการแพทย์ อันเป็นการกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบ เพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาลผู้เสียหายถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวนจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ โดยเป็นการกระทำต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะในแต่ละคราว เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 12 (2) (เดิม) ประกอบมาตรา 10 ย่อมเป็นความผิดสำเร็จในตัว ต่างกรรมต่างวาระ และอาศัยเจตนาแตกต่างแยกจากกันได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันมิใช่ความผิดกรรมเดียว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3, 5, 9, 10, 12 (1) (2) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 5, 12 (2) เดิม ประกอบมาตรา 10 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 12 (2) เดิม ประกอบมาตรา 10 ฐานกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบเพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวนจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ โดยเป็นการกระทำต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 6 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 4 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันรับฟังเป็นที่ยุติในชั้นฎีกาว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทเอสเค เน็ตเวิร์ค ซิสเต็มส์ จำกัด เมื่อปี 2556 โรงพยาบาลสุรินทร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ทำสัญญาซื้อขายรายการติดตั้งสายสัญญาณภายในอาคารอุบัติเหตุฉุกเฉินใหม่ และระบบการเชื่อมโยงระบบเดิมภายในโรงพยาบาลกับอาคารอุบัติเหตุฉุกเฉินใหม่กับบริษัทเอสเค เน็ตเวิร์ค ซิสเต็มส์ จำกัด จำเลยได้วางระบบคอมพิวเตอร์ โดยติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายไว้ที่ศูนย์แพทย์ศาสตร์ศึกษา แล้วเชื่อมต่อไปยังอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉินใหม่ รวมทั้งอาคารต่าง ๆ ภายในโรงพยาบาล และติดตั้งอุปกรณ์กระจายสัญญาณยี่ห้อ Cisco รุ่น 3750 สำหรับการเชื่อมต่อ โรงพยาบาลสุรินทร์ใช้ระบบบริการทางการแพทย์หรือระบบ SSB ในการบริหารจัดการข้อมูลในหน่วยงานและแผนกต่าง ๆ ของโรงพยาบาล เช่น ห้องผ่าตัด งานวิสัญญี รวมทั้งการนัดหมายผู้ป่วย ในการเข้าสู่ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาล ผู้เข้าระบบจะต้องลงชื่อผู้ใช้และรหัสผ่าน โดยมีผู้ทราบชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านดังกล่าว 6 คน คือ นายวรเวทย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ นายธาดา นักวิชาการคอมพิวเตอร์ นายนันตศักดิ์ เจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์ นายปรัชญา เจ้าหน้าที่ของบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) นายสามารถ วิศวกรของบริษัทซิสโก้ ซีสเต็มส์ จำกัด และจำเลย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2559 เวลาประมาณ 1 นาฬิกา ระบบ SSB ที่อาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉินใหม่ใช้งานไม่ได้ เนื่องจากอุปกรณ์กระจายสัญญาณถูกปิดจุดเชื่อมต่อจากเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย จากการตรวจสอบข้อมูลการเข้าใช้คอมพิวเตอร์แม่ข่ายและอุปกรณ์กระจายสัญญาณ หรือ Log ปรากฏว่า มีผู้สั่งปิดระบบ SSB โดยใช้หมายเลข IP : 223.207.16x.xxx จากเครื่องคอมพิวเตอร์ภายนอกโรงพยาบาล ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต 3BB เข้ามาควบคุมเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายซึ่งใช้หมายเลข IP : 10.255.3x.xxx แล้วเข้าไปปิดอุปกรณ์กระจายสัญญาณ รุ่น 3750 และรุ่น 3750X ที่อาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉินใหม่ ต่อมาวันที่ 12 ธันวาคม 2559 เวลาประมาณ 11 นาฬิกา ระบบ SSB ที่อาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉินใหม่ใช้การไม่ได้อีก เนื่องจากตัวกระจายสัญญาณ รุ่น 3750 และรุ่น 3750X ถูกปิดจุดเชื่อมต่อจากเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย โดยมีการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์จากภายนอก ซึ่งใช้หมายเลข IP : 223.205.10x.xxx ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต 3BB เข้ามาควบคุมเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย แล้วเข้าไปปิดอุปกรณ์กระจายสัญญาณ รุ่น 3750 และรุ่น 3750X ที่อาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉินใหม่ สำหรับความผิดฐานทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง เพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่ฎีกา จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้การดำเนินคดีอาญาของโรงพยาบาลสุรินทร์ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขจะมีสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีได้ก็ตาม แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 5, 9, 10, 12 (1) (2) อันเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน มิใช่เป็นความผิดอันยอมความได้ ดังนั้นพนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ได้โดยไม่จำต้องมีคำร้องทุกข์จากผู้เสียหาย เมื่อพนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนจนเสร็จ ถือได้ว่ามีการสอบสวนโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมาตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือไม่ เห็นว่า การเข้าสู่ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาลสุรินทร์ ผู้เข้าสู่ระบบจะต้องทราบชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านจึงจะสามารถเข้าสู่ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ดังกล่าวได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นหนึ่งในบุคคลเพียงหกคนเท่านั้นที่ทราบชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านโดยจำเลยเป็นผู้วางระบบคอมพิวเตอร์และติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายให้โรงพยาบาลสุรินทร์ นอกจากนั้นเมื่อตรวจสอบข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ย้อนหลังไปในเวลาเกิดเหตุปรากฏว่า มีการใช้หมายเลข IP : 223.207.16x.xxx วันที่ 10 ธันวาคม 2559 เวลา 1.13.42 นาฬิกา และ 1.28.35 นาฬิกา กับหมายเลข IP : 223.205.10x.xxx วันที่ 12 ธันวาคม 2559 เวลา 11.43 นาฬิกา ซึ่งหมายเลข IP หรือ IP Address ดังกล่าวบริษัทเอสเค เน็ตเวิร์ค ซิสเต็มส์ จำกัด เป็นผู้ใช้บริการโดยมีจำเลยเป็นผู้ติดต่ออีกด้วย แม้ผู้ให้บริการไม่มาเบิกความสนับสนุนข้อเท็จจริงในส่วนนี้ แต่โจทก์มีพันตำรวจโทรัฐพงษ์ พนักงานสอบสวนผู้ขอข้อมูลจากผู้ให้บริการมาเบิกความประกอบข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ท้ายหนังสือเรื่องการตรวจสอบข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ดังกล่าวยืนยันว่าผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตตรวจสอบหมายเลข IP ดังกล่าวว่าเป็นของผู้ใช้บริการรายใด จนกระทั่งผู้ให้บริการมีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบมา โดยไม่ปรากฏข้อสงสัยว่าจะมีการกลั่นแกล้งให้ร้ายจำเลยหรือมีข้อพิรุธแต่ประการใด จำเลยเป็นผู้วางระบบคอมพิวเตอร์และติดตั้งเครื่องเครือข่ายคอมพิวเตอร์ให้โรงพยาบาลสุรินทร์เพื่อเชื่อมโยงระบบบริการทางการแพทย์ หากระบบดังกล่าวขัดข้องหรือไม่สะดวกต่อการใช้งานย่อมเป็นธรรมดาที่โรงพยาบาลสุรินทร์จะต้องแก้ไขปรับปรุงหรือวางระบบใหม่เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจำเลยย่อมอยู่ในข่ายที่จะได้รับประโยชน์หากได้รับมอบหมายให้ทำสัญญาดังเช่นที่เคยทำมา ดังนี้ แม้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นเหตุการณ์ขณะจำเลยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์จากภายนอกผ่านระบบอินเทอร์เน็ต 3BB เข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายของโรงพยาบาลสุรินทร์ หรือไม่มีการตรวจยึดเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องใด ชนิดใดจากจำเลยไปตรวจสอบเพราะจำเลยสามารถใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องใด ๆ ของบุคคลอื่นเข้าสู่ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาลสุรินทร์ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย ก็หาทำให้พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักลดน้อยลงจนถึงกับรับฟังไม่ได้ ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยเสียเปรียบไม่มีโอกาสถามค้านผู้ให้บริการซึ่งไม่มาเบิกความเป็นพยานโจทก์ และการตรวจสอบหมายเลข IP จะถูกต้องหรือไม่นั้น เห็นว่า จำเลยสามารถอ้างผู้ให้บริการมาเบิกความเป็นพยานจำเลยเพื่อหักล้างความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบหมายเลข IP ได้ แต่จำเลยกลับอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความเพียงปากเดียวโดยไม่นำสืบหักล้างให้เห็นว่าการตรวจสอบหมายเลข IP ไม่ถูกต้องอย่างใด ทั้งผู้ให้บริการมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ เมื่อไม่ปรากฏว่าการตรวจสอบเป็นไปโดยไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาดประการใดย่อมมีน้ำหนักรับฟังได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า การเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาลสุรินทร์ต้องเก็บจาก Log ซึ่งติดตั้งอยู่ที่เครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายโดยผู้ที่มีคุณสมบัติและได้รับอนุญาตให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับอนุญาตตามกฎหมายเท่านั้นจึงจะเก็บข้อมูลดังกล่าวได้ การเก็บข้อมูลของโรงพยาบาลสุรินทร์จึงไม่เป็นไปตามกฎหมายและไม่อาจนำข้อมูลมารับฟังเป็นพยานหลักฐานได้นั้น เห็นว่า โรงพยาบาลสุรินทร์มิใช่ผู้ให้บริการตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3 การเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาลสุรินทร์ที่กระทำโดยนายนันตศักดิ์ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ดูแลระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาลสุรินทร์ย่อมเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง อีกทั้งไม่ปรากฏว่าการจัดเก็บไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาดประการใด เช่นนี้ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ย่อมมีน้ำหนักรับฟังได้ ที่จำเลยฎีกาว่า อุปกรณ์กระจายสัญญาณอาจเสียหายจากการเสื่อมสภาพตามกาลเวลาเพราะใช้มาเป็นเวลานาน หรือเสียหายจากระบบไฟฟ้าตก กระชาก ทำให้เสื่อมสภาพนั้น เห็นว่า ขัดกับผลการตรวจสอบของนายวรเวทย์ นายธาดา และนายนันตศักดิ์ ซึ่งเป็นผู้ดูแลระบบของโรงพยาบาลสุรินทร์ที่พบว่ามีการปิดอุปกรณ์กระจายสัญญาณ เมื่อแก้ไขโดยเปิดอุปกรณ์กระจายสัญญาณก็กลับมาใช้งานได้ตามปกติ โดยเฉพาะยังได้ความจากนายวรเวทย์เบิกความว่า เมื่อมีการเปลี่ยนชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ในโรงพยาบาลแล้วก็ไม่เกิดปัญหาอีก จึงไม่มีข้อสงสัยว่า การที่ระบบบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลสุรินทร์ขัดข้องจะมีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่น เช่นนี้พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้โดยมั่นคงปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อมาตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาลสุรินทร์แล้วปิดระบบกระจายสัญญาณอันเป็นการกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบเพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ถูกระงับ ชะลอ ขัดขวางหรือรบกวนจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ โดยเป็นการกระทำต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะในแต่ละคราว ย่อมเป็นความผิดสำเร็จในตัวต่างกรรมต่างวาระ และอาศัยเจตนาแตกต่างแยกจากกันได้ การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหาใช่ความผิดกรรมเดียวกันไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน สำหรับฎีกาข้ออื่นของจำเลยเป็นรายละเอียดไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.406/2563
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดสุรินทร์ จำเลย - นาย ส.
ชื่อองค์คณะ ไพจิตร สวัสดิสาร สมศักดิ์ คุณเลิศกิจ สมบูรณ์ วัฒนพรมงคล
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดสุรินทร์ - นายสุรศักดิ์ ศรีศุภรางค์กุล ศาลอุทธรณ์ภาค 3 - นางสาวจรัสศรี จริยากูล