คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3499/2563
พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ม. 100/2
เจ้าพนักงานตำรวจยึดเมทแอมเฟตามีนของกลางได้เนื่องจากจำเลยเป็นผู้นำชี้ให้ยึดโดยเมทแอมเฟตามีน 538 เม็ด จำเลยฝังดินไว้นอกรั้วบ้าน ส่วนเมทแอมเฟตามีนอีก 8,000 เม็ด จำเลยฝังดินไว้ในสวนพริก ห่างจากบ้านของจำเลยประมาณ 3 กิโลเมตร ซึ่งเมทแอมเฟตามีนของกลางทั้งสองจำนวนถูกฝังดินซุกซ่อนไว้อย่างมิดชิด หากจำเลยไม่ให้ข้อมูลต่อเจ้าพนักงานตำรวจและนำไปชี้ตำแหน่งที่ซุกซ่อน ย่อมเป็นการยากที่เจ้าพนักงานตำรวจจะสามารถยึดเมทแอมเฟตามีนทั้งสองจำนวนมาเป็นของกลางในคดีนี้ได้ การให้ข้อมูลของจำเลยเป็นผลให้เมทแอมเฟตามีนของกลางไม่แพร่ระบาดไปสู่สังคมในวงกว้าง ถือได้ว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจ จึงสมควรลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 97, 100/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 ริบเมทแอมเฟตามีน โทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมซิมการ์ดของกลาง และเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม จำคุกตลอดชีวิต และปรับ 2,000,000 บาท เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 แต่เมื่อศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้วจึงไม่อาจเพิ่มโทษจำคุกได้อีกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 51 คงเพิ่มโทษได้เฉพาะโทษปรับ เป็นจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 3,000,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังได้เกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 เวลาประมาณ 20 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยและควบคุมตัวนายอำนาจ ที่หน้าธนาคาร แล้วแยกควบคุมตัวไปรถคนละคัน เจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นบ้านของจำเลยไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจยึดเมทแอมเฟตามีน จำนวน 8,538 เม็ด น้ำหนักสุทธิ 737.715 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 140.620 กรัม เป็นของกลาง แจ้งข้อหาแก่จำเลยว่า มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ชั้นจับกุมจำเลยให้การรับสารภาพ ชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า ในวันเกิดเหตุ พันตำรวจโทวิชาญยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อซัมซุงพร้อมซิมการ์ดหมายเลข 06 3145 xxxx จากกระเป๋ากางเกงของจำเลย ซึ่งตรงกับหมายเลขโทรศัพท์บุคคลชื่ออ้าย ตามเอกสารที่ระบุว่ามีรายการเรียกเข้ามาในเวลา 20 นาฬิกา และการติดต่อทางแอปพลิเคชันไลน์กับนางสาวสาลินีในวันเกิดเหตุ โดยมีภาพถ่ายแสดงภาพหน้าจอของจำเลยปรากฏอยู่ด้วย ประกอบกับพันตำรวจโทสุเทพยังเบิกความว่า จำเลยมีการติดต่อกับนางสาวรุ่งนภา ในเครือข่ายยาเสพติด ซึ่งภาพถ่ายหน้าจอปรากฏรูปของจำเลยเช่นเดียวกัน แม้นางสาวสาลินีจะเบิกความขัดแย้งกับบันทึกคำให้การ โดยอ้างว่า ได้รับเมทแอมเฟตามีนมาจากนายอำนาจ พยานไม่ได้อ่านข้อความในคำให้การ แต่ลงลายมือชื่อไว้นั้น เห็นว่า พันตำรวจโทสุเทพร่วมกับเจ้าพนักงานตำรวจอื่นไปสอบถามคำให้การนางสาวสาลินีในเรือนจำถึง 2 ครั้ง คือในวันที่ 27 และ 28 ธันวาคม 2560 นางสาวสาลินีให้การเกี่ยวกับรายละเอียดการติดต่อสั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย การโอนเงินให้จำเลย หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลย รวมทั้งมีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับจำเลยเข้าไปเยี่ยมนางสาวสาลินีในเรือนจำและพูดจาหว่านล้อมไม่ให้นางสาวสาลินีซัดทอดถึงจำเลยโดยมีข้อแลกเปลี่ยนต่าง ๆ ซึ่งตามปกติวิสัยทั่วไปย่อมไม่มีผู้ใดล่วงรู้ได้ และสอดคล้องกับรายการโทรศัพท์ในชื่อ "อ้าย" และหมายเลขโทรศัพท์ที่ถ่ายรูปมาจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนางสาวสาลินี ประกอบกับทนายความจำเลยมิได้ถามค้านพันตำรวจโทสุเทพในข้อนี้เพื่อกระจายข้อเท็จจริงทำลายน้ำหนักให้ลดน้อยลงว่านางสาวสาลินีให้ถ้อยคำโดยไม่สมัครใจและมีการกระทำที่มิชอบอย่างไร จึงมีเหตุผลให้น่าเชื่อว่าเหตุที่นางสาวสาลินีมาเบิกความเป็นปรปักษ์กับพยานโจทก์ก็เพื่อช่วยเหลือจำเลยให้พ้นผิด แม้คำให้การของนางสาวสาลินีจะเป็นคำซัดทอด แต่ก็มิได้ทำให้นางสาวสาลินีพ้นความรับผิด ทั้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ก็มิได้บัญญัติห้ามมิให้รับฟังพยานบอกเล่าและคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันเสียทีเดียว หากพิจารณาตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมแล้วเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ ศาลย่อมมีอำนาจรับฟังพยานซัดทอดนั้น เพียงแต่การชั่งน้ำหนักจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังและไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์แห่งคดี หรือมีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 เมื่อฟังประกอบกับคำเบิกความของนายอำนาจ ซึ่งไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย ทั้งจำเลยรับว่าเป็นฝ่ายชักชวนนายอำนาจให้ไปที่ธนาคารกับจำเลยจนกระทั่งถูกจับกุม นายอำนาจเบิกความถึงการสนทนาทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่างจำเลยกับนางสาวสาลินีก่อนไปที่ธนาคาร และยังเบิกความถึงการว่าจ้างให้นายอำนาจขับรถนำทางจำเลยไปรับมอบเมทแอมเฟตามีนที่จังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งการขุดฝังเมทแอมเฟตามีนไว้ที่สวนพริกเพื่ออำพรางการกระทำผิด สอดคล้องกับคำเบิกความของพันตำรวจโทสุเทพและพันตำรวจโทวิชาญ หากจำเลยมิได้ปกปิดความผิดด้วยวิธีการดังกล่าว ก็ย่อมเป็นการยากที่จะไปขุดพบเมทแอมเฟตามีนได้ในตำแหน่งที่แม่นยำ ทั้งขณะนั้นนายอำนาจก็มิได้ไปพร้อมกับจำเลยที่สวนพริกอีกด้วย ย่อมเป็นข้อที่ไม่มีเหตุอันควรแก่การสงสัยว่าจำเลยจะไม่ได้ชี้จุดที่ขุดพบเมทแอมเฟตามีนด้วยตนเอง นอกจากนี้โจทก์ยังมีภาพของจำเลยที่แจ้งถึงเมทแอมเฟตามีนที่ฝังไว้ข้างรั้วบ้านจำเลย และที่สวนพริกอีกด้วย แม้จำเลยอ้างว่าถูกขู่บังคับทำร้ายร่างกาย แต่จำเลยก็มิได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่เรือนจำนำตัวจำเลยไปพบแพทย์เพื่อตรวจสภาพร่างกายว่ามีร่องรอยการถูกทำร้ายหรือไม่ นับว่าเป็นการง่ายที่จะกล่าวอ้างทำให้ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ เมื่อพิจารณาตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมดังกล่าวแล้ว จึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางทั้งหมดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นในข้อหาดังกล่าวชอบด้วยเหตุผลแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงได้ความว่าขณะเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจยึดเมทแอมเฟตามีนของกลางได้ เนื่องจากจำเลยเป็นผู้นำชี้ให้ยึดโดยเมทแอมเฟตามีน 538 เม็ด จำเลยฝังดินไว้นอกรั้วบ้าน ส่วนเมทแอมเฟตามีนอีก 8,000 เม็ด จำเลยฝังดินไว้ในสวนพริก ห่างจากบ้านของจำเลยประมาณ 3 กิโลเมตร ซึ่งเมทแอมเฟตามีนของกลางทั้งสองจำนวนถูกฝังดินซุกซ่อนไว้อย่างมิดชิด หากจำเลยไม่ให้ข้อมูลต่อเจ้าพนักงานตำรวจและนำไปชี้ตำแหน่งที่ซุกซ่อนดังกล่าว ย่อมเป็นการยากที่เจ้าพนักงานตำรวจจะสามารถยึดเมทแอมเฟตามีนทั้งสองจำนวนมาเป็นของกลางในคดีนี้ได้ การให้ข้อมูลของจำเลยเป็นผลให้เมทแอมเฟตามีนของกลางไม่แพร่ระบาดไปสู่สังคมในวงกว้าง ตามรูปคดีถือได้ว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจ จึงสมควรลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 จำคุก 30 ปี และปรับ 900,000 บาท เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 เป็นจำคุก 45 ปี และปรับ 1,350,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.445/2563
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดชัยภูมิ จำเลย - นาย ส.
ชื่อองค์คณะ ชาติชาย อัครวิบูลย์ อธิคม อินทุภูติ พิชัย เพ็งผ่อง
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดชัยภูมิ - นายกิตติกานต์ พละคช ศาลอุทธรณ์ - หม่อมหลวง นารีธรรม ศรีธวัช