คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3529/2565
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 426 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 225 วรรคหนึ่ง, 225 วรรคสอง, 252 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 54 วรรคหนึ่ง, 57/1 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. 2496 พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ม. 4, 8 วรรคหนึ่ง พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ.2519
การนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมาใช้บังคับแก่คดี เป็นปัญหาข้อกฎหมายสำคัญที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษควรวินิจฉัยให้ เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาโดยมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยในปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวนี้ไปเสียทีเดียวได้ และเพื่อความรวดเร็ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิจารณาพิพากษาใหม่
พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 4 ให้คำนิยามของคำว่า เจ้าหน้าที่ หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือ… และคำว่า หน่วยงานของรัฐ หมายความว่า… รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา และมาตรา 8 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเพื่อการละเมิดของเจ้าหน้าที่ ให้หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่หน่วยงานของรัฐได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เมื่อโจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นองค์การของรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. 2496 และ พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ. 2519 อันอยู่ในนิยามของคำว่า หน่วยงานของรัฐ และจำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์อันอยู่ในนิยามคำว่า เจ้าหน้าที่ จึงต้องใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวบังคับแก่คดีนี้ ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยกระทำด้วยความประมาทเลินเล่อ มิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โจทก์จึงไม่มีสิทธิไล่เบี้ยค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
แม้ ป.พ.พ. มาตรา 426 บัญญัติว่า นายจ้างซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อละเมิดอันลูกจ้างได้ทำนั้น ชอบที่จะได้ชดใช้จากลูกจ้างนั้น แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับแก่นายจ้างและลูกจ้างในกรณีทั่วไป พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มีเหตุผลในการประกาศใช้บังคับซึ่งปรากฏอยู่ที่ท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าวว่า การที่เจ้าหน้าที่ดำเนินกิจการต่าง ๆ ของหน่วยงานของรัฐนั้น หาได้เป็นไปเพื่อประโยชน์อันเป็นการเฉพาะตัวไม่ การปล่อยให้ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ในการปฏิบัติงานในหน้าที่และเกิดความเสียหายแก่เอกชนเป็นไปตามหลักกฎหมายเอกชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงเป็นการไม่เหมาะสม… ดังนั้น จึงสมควรกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดทางละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่เฉพาะเมื่อเป็นการจงใจกระทำเพื่อการเฉพาะตัว หรือจงใจให้เกิดความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น… จึงเห็นได้ว่าพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายเฉพาะที่มีเจตนารมณ์ไม่ให้นำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการไล่เบี้ยระหว่างนายจ้างและลูกจ้างซึ่งเกิดจากลูกจ้างทำละเมิดต่อบุคคลภายนอกมาใช้บังคับ ดังนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิไล่เบี้ยเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 426
ที่โจทก์ฎีกาว่า คำสั่งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพให้จำเลยชำระเงินค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ในฐานะนายจ้างชดใช้แก่ผู้เสียหายคืนแก่โจทก์ยังไม่ได้ถูกฟ้องขอให้เพิกถอน จึงมีผลในทางปฏิบัติต่อไป จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลางและในชั้นอุทธรณ์ โจทก์ก็มีอำนาจยกขึ้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง และมาตรา 252 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 57/1 วรรคหนึ่ง
จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด ต้องพิจารณาจากการกระทำของจำเลยแล้วปรับเข้ากับบทบัญญัติของกฎหมาย เมื่อพิจารณาการกระทำของจำเลย บทบัญญัติของกฎหมาย และรูปคดีนี้แล้ว จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ แม้คำสั่งให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ดังกล่าวยังไม่ได้ถูกเพิกถอน ก็ถือได้ว่าคำสั่งดังกล่าวสิ้นผลบังคับไปโดยปริยาย
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 2,235,661.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,020,593.32 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานพิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาใหม่ในประเด็นผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อไปตามรูปคดี
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความไม่โต้เถียงกันและที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาเป็นยุติว่า โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจและมีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทองค์การของรัฐบาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. 2496 และพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ. 2519 และเป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งพนักงานขับรถโดยสาร เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2556 จำเลยปฏิบัติหน้าที่ขับรถโดยสารของโจทก์ด้วยความประมาทชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย 2 ราย อันเป็นการทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ ศาลอาญาธนบุรีมีคำพิพากษาลงโทษจำเลย จำคุก 3 ปี ปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี ตามคดีหมายเลขแดงที่ 768/2557 ของศาลอาญาธนบุรี มารดาของผู้ตายรายหนึ่งฟ้องโจทก์และจำเลย แต่ภายหลังได้มีการถอนฟ้องจำเลย ขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่มารดาของผู้ตายรายนั้นตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3232/2560 โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษาของศาลฎีกาเป็นเงิน 2,455,032.87 บาท แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยขับรถเลี้ยวขวาเข้าซอย ไม่สามารถขับรถด้วยความเร็วได้ และไม่ปรากฏว่าจำเลยเสพสารเสพติดหรือเมาสุรา จำเลยจึงขับรถด้วยความประมาทเท่านั้น มิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จำเลยเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหน้าที่ในขณะเกิดเหตุ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับผิดทั้งมูลละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์หรือไม่ และโจทก์มีสิทธิไล่เบี้ยจากจำเลยตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด ศาลแรงงานกลางยังไม่ได้วินิจฉัย ย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าคำฟ้องโจทก์ประกอบพยานหลักฐานอื่นไม่ปรากฏว่าจำเลยต้องรับผิดตามสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์อย่างไร จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ จึงต้องบังคับใช้ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ไม่อาจนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 426 มาบังคับใช้ให้ขัดกับพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ และจำเลยไม่ได้ผิดสัญญาจ้างแรงงาน ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่ คลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงและเกินไปกว่าคำขอของโจทก์ เป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริง และที่โจทก์อุทธรณ์ว่าคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่าการบังคับใช้กฎหมายเฉพาะตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ไม่สามารถนำกฎหมายที่เป็นหลักกฎหมายทั่วไปมาบังคับใช้ได้อีกเป็นการไม่ชอบด้วยหลักกฎหมายนั้น ไม่ทำให้ผลแห่งคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป เป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษในข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยรับว่าเป็นลูกจ้างโจทก์แล้ว การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ส่งสัญญาจ้างแรงงานและหลักฐานอื่นใดว่าจำเลยจะต้องรับผิดตามสัญญาจ้างแรงงานอย่างไร เป็นการวินิจฉัยในข้อเท็จจริงที่รับกันหรือถือว่ารับกันแล้วเป็นการวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงและเกินไปกว่าคำขอของโจทก์ แล้วศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยยกอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวชอบหรือไม่ เห็นว่า เดิมศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยในประเด็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่ ซึ่งศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์ไม่ได้ผิดสัญญาจ้าง การที่โจทก์อุทธรณ์ในข้อดังกล่าวจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้มานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษในข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เมื่อบังคับใช้กฎหมายเฉพาะตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 แล้ว จึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 426 ซึ่งเป็นหลักกฎหมายทั่วไปมาบังคับใช้ให้ขัดกับกฎหมายดังกล่าวได้อีก แล้วศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวว่าไม่ทำให้ผลแห่งคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป อันเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ไม่รับวินิจฉัย อุทธรณ์ของโจทก์ชอบหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้แล้ว เห็นได้ว่าการนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมาใช้บังคับแก่คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายสำคัญที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษควรวินิจฉัยให้ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และเมื่อคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาโดยมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยในปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวนี้ไปเสียทีเดียวได้และเพื่อความรวดเร็ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิจารณาพิพากษาใหม่ โดยคดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 426 หรือไม่ และตามที่โจทก์ฎีกาว่า คดีเดิม ศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์ในฐานะนายจ้างรับผิดร่วมกับจำเลยในผลของละเมิดที่จำเลยลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้าง โจทก์ชำระหนี้ให้แก่ผู้เสียหายแล้ว โจทก์ตั้งคณะกรรมการสอบสวนความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ จนมีคำสั่งให้จำเลยในฐานะลูกจ้างชดใช้เงินคืนโจทก์ จำเลยไม่ได้ฟ้องเพิกถอนคำสั่ง คำสั่งดังกล่าวจึงมีผลในทางปฏิบัติ โจทก์ในฐานะนายจ้างจึงมีสิทธิฟ้องให้จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างชดใช้เงินคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 426 ได้ ไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เห็นว่า พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 4 ให้คำนิยามของคำว่า เจ้าหน้าที่ หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือ … และคำว่า หน่วยงานของรัฐ หมายความว่า …รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา และมาตรา 8 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเพื่อการละเมิดของเจ้าหน้าที่ ให้หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่หน่วยงานของรัฐได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ขับรถโดยสารประจำทางด้วยความประมาทชนนางอัญชลี และนางสาวภาริศา ซึ่งเป็นผู้อื่นถึงแก่ความตาย นางนิสานาถ มารดานางสาวภาริศาฟ้องโจทก์เรียกค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่ง ศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์ชดใช้ ซึ่งโจทก์ชำระเงินตามคำพิพากษาศาลฎีกา โจทก์แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดแล้วคณะกรรมการมีความเห็นว่าพฤติกรรมของจำเลยเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ เห็นสมควรให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และโจทก์ออกคำสั่งที่ 682/2560 ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนคืนจากจำเลย ดังนั้น เมื่อโจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นองค์การของรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. 2496 และพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ. 2519 อันอยู่ในนิยามของคำว่าหน่วยงานของรัฐ และจำเลยเป็นลูกจ้างของโจทก์อันอยู่ในนิยามคำว่าเจ้าหน้าที่ จึงต้องใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวบังคับแก่คดีนี้ ข้อเท็จจริงได้ความเป็นยุติตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางว่า จำเลยกระทำด้วยความประมาทเลินเล่อ มิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โจทก์จึงไม่มีสิทธิไล่เบี้ยค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยตามพระราชบัญญัติดังกล่าว แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 426 บัญญัติว่า นายจ้างซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อละเมิดอันลูกจ้างได้ทำนั้น ชอบที่จะได้ชดใช้จากลูกจ้างนั้น แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับแก่นายจ้างและลูกจ้างในกรณีทั่วไป พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มีเหตุผลในการประกาศใช้บังคับซึ่งปรากฏอยู่ที่ท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าวว่า การที่เจ้าหน้าที่ดำเนินกิจการต่าง ๆ ของหน่วยงานของรัฐนั้น หาได้เป็นไปเพื่อประโยชน์อันเป็นการเฉพาะตัวไม่ การปล่อยให้ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ในกรณีที่ปฏิบัติงานในหน้าที่และเกิดความเสียหายแก่เอกชนเป็นไปตามหลักกฎหมายเอกชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงเป็นการไม่เหมาะสม … ดังนั้น จึงสมควรกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดทางละเมิดในการปฏิบัติงานในหน้าที่เฉพาะเมื่อเป็นการจงใจกระทำเพื่อการเฉพาะตัว หรือจงใจให้เกิดความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น … จึงเห็นได้ว่า พระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายเฉพาะที่มีเจตนารมณ์ไม่ให้นำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการไล่เบี้ยระหว่างนายจ้างและลูกจ้างซึ่งเกิดจากลูกจ้างทำละเมิดต่อบุคคลภายนอกมาใช้บังคับ ดังนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิไล่เบี้ยเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 426 ซึ่งศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยไว้ชอบแล้ว ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า คำสั่งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เขตการเดินรถที่ 5 ที่ 682/2560 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2560 ให้จำเลยชำระเงินค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ในฐานะนายจ้างชดใช้แก่ผู้เสียหายคืนแก่โจทก์ ยังไม่ได้ถูกฟ้องขอให้เพิกถอน จึงมีผลในทางปฏิบัติต่อไป จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องนั้น เห็นว่า ฎีกาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลางและในชั้นอุทธรณ์ โจทก์ก็มีอำนาจยกขึ้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง และมาตรา 252 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 57/1 วรรคหนึ่ง ในข้อนี้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด ต้องพิจารณาจากการกระทำของจำเลยแล้วปรับเข้ากับบทบัญญัติของกฎหมายว่าจำเลยต้องรับผิดตามบทบัญญัติของกฎหมาย่ใด หรือไม่ เพียงใด เมื่อพิจารณาการกระทำของจำเลย บทบัญญัติของกฎหมายและรูปคดีนี้ดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ แม้คำสั่งให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ดังกล่าวยังไม่ได้ถูกเพิกถอน ก็ถือได้ว่าคำสั่งดังกล่าวสิ้นผลบังคับไปโดยปริยาย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเฉพาะในส่วนที่ยกอุทธรณ์ของโจทก์ด้วยเหตุว่าไม่ทำให้ผลแห่งคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป อันเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ร.1148/2564
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำเลย - นาย ส.
ชื่อองค์คณะ จักษ์ชัย เยพิทักษ์ โชติวัฒน์ เหลืองประเสริฐ สมจิตร์ ทองศรี
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแรงงานกลาง - นายวัชรินทร์ ฤชุโรจน์
- นายยุคนธร พาณิชปฐมพงศ์