คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3535/2560
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 86 วรรคท้าย
ผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของผู้ตายโดยอ้างว่า ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมและศาลยกคำร้องขอด้วยเหตุว่า ผู้ร้องมิใช่ทายาทโดยธรรมหรือผู้มีส่วนได้เสีย คดีถึงที่สุด ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้โดยอ้างว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้ผู้ร้อง กรณีมีเหตุอันสมควรสงสัยว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมหรือไม่ ศาลมีอำนาจเรียกคำขอเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์และตัวอย่างลายมือชื่อของผู้ตายที่ธนาคาร ก. มาสืบได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคท้าย ที่ผู้ร้องฎีกาว่า ศาลไม่ให้โอกาสผู้ร้องสืบพยานเพิ่มเติม ก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าต้องให้โอกาสผู้ร้องสืบพยานเพิ่มเติม และผู้ร้องมีโอกาสและระยะเวลาที่จะขอสืบพยานเพิ่มเติม แต่ผู้ร้องมิได้ขอก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นชอบแล้ว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอและแก้ไขคำร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นประกาศนัดไต่สวนแล้ว ไม่มีผู้ใดคัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 เห็นว่า พินัยกรรม เขียนขึ้นเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2557 ลายมือชื่อในพินัยกรรมดังกล่าวเป็นของผู้ตายหรือไม่ ต้องเปรียบเทียบกับลายมือชื่อของผู้ตายที่เคยลงลายมือชื่อไว้ในวันเวลาที่ใกล้เคียงกับวันที่ทำพินัยกรรมที่สุด ซึ่งก็คือตัวอย่างลายมือชื่อของผู้ตายที่ให้ไว้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาลำปาง ผู้ตายได้ลงลายมือชื่อไว้เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2557 เมื่อมานำเปรียบเทียบกับลายมือชื่อที่ลงไว้ในพินัยกรรมแล้ว มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงจนไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน เป็นเอกสารที่ศาลมีคำสั่งให้เรียกมาจากบุคคลภายนอก รับฟังได้ว่าผู้ตายได้ลงลายมือชื่อเป็นตัวอย่างไว้จริง ส่วนลายมือชื่อผู้ตายในใบยืมของชั่วคราวที่ทนายผู้ร้องอ้างส่งมาเพื่อเปรียบเทียบกับลายมือชื่อในพินัยกรรม โดยอ้างว่าลายมือชื่อทั้งสองเป็นของผู้ตาย แต่ลายมือชื่อในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนท้ายเอกสารใบยืมของชั่วคราวมีพิรุธโดยมีการขีดเขียนซ้ำบางแห่ง และไม่เหมือนกับที่เคยลงลายมือชื่อในสำนาบัตรประจำตัวประชาชน ส่วนตัวอย่างลายมือชื่อในใบรังวัดรวม 3 ฉบับ ที่ทนายผู้ร้องอ้างส่งมาด้วยเป็นเอกสารราชการ ผู้ตายได้ลงลายมือชื่อผู้ขอรังวัดในเอกสารทั้ง 3 ฉบับ มีลักษณะคล้ายคลึงกัน และคล้ายคลึงกับลายมือชื่อของผู้ตายที่ลงไว้ในเอกสารทุกแห่ง แต่ไม่เหมือนหรือคล้ายคลึงกับลายมือชื่อที่ลงไว้ในพินัยกรรม ซึ่งเอกสารของทางราชการทั้งสามฉบับกับเอกสารที่ศาลมีคำสั่งเรียกมาจากบุคคลภายนอกมีน้ำหนักน่าเชื่อถือจึงไม่น่าเชื่อว่าผู้ตายได้ทำพินัยกรรมไว้ก่อนตาย ผู้ร้องจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอของผู้ร้องนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 5 เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมของนายอินสม ซึ่งเป็นบิดาของนายโกศล ผู้ตายนายอินสมถึงแก่ความตายก่อนผู้ตาย ผู้ร้องไม่ได้เป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตาย ผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายโดยอ้างว่าผู้ร้องเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายและผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้องขอเพราะเห็นว่าผู้ร้องไม่ได้เป็นทายาทไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย หลังจากนั้นสิบเดือนผู้ร้องมายื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายโดยอ้างว่าผู้ร้องเป็นทายาทโดยพินัยกรรม ผู้ตายทำพินัยกรรมแบบเขียนด้วยลายมือตนเองทั้งฉบับยกทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่ผู้ร้อง เมื่อผู้ร้องนำพยานของผู้ร้องมาสืบเสร็จแล้วศาลชั้นต้นเห็นว่าเพื่อประโยชน์แก่การพิจารณาและทำคำสั่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกเอกสารจากธนาคารที่มีลายมือผู้ตายที่เขียนและลงลายมือชื่อไว้มาเพื่อตรวจสอบเปรียบเทียบกับพินัยกรรมที่ผู้ร้องอ้าง
คงมีปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องประการแรกว่า ศาลชั้นต้นไม่ให้โอกาสแก่ผู้ร้องในการสืบพยานเพิ่มเติมถึงเหตุที่ลายมือชื่อของผู้ตายในเอกสาร แตกต่างจากลายมือชื่อของผู้ตายในพินัยกรรม เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกเอกสารซึ่งเป็นคำขอเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์และตัวอย่างลายมือชื่อของผู้ตายที่มีอยู่ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาลำปาง มาประกอบการพิจารณานั้น สืบเนื่องมาจากผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของผู้ตายแล้วโดยอ้างว่าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ และศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งยกคำร้องขอด้วยเหตุว่าผู้ร้องมิใช่ทายาทโดยธรรมหรือผู้มีส่วนได้เสีย คดีถึงที่สุด ต่อมาผู้ร้องมายื่นคำร้องขอเป็นคดีนี้ อ้างว่าผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่ผู้ร้อง กรณีจึงมีเหตุอันสมควรสงสัยว่าผู้ตายทำพินัยกรรมดังกล่าวจริงหรือไม่ ศาลชั้นต้นมีอำนาจเรียกเอกสารดังกล่าวมาสืบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคท้าย ซึ่งบัญญัติว่า "เมื่อศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเป็นการจำเป็นที่จะต้องนำพยานหลักฐานอื่นอันเกี่ยวกับประเด็นในคดีมาสืบเพิ่มเติม ให้ศาลทำการสืบพยานหลักฐานต่อไป ซึ่งอาจรวมทั้งการที่จะเรียกพยานที่สืบแล้วมาสืบใหม่ด้วย โดยไม่ต้องมีฝ่ายใดร้องขอ" และที่ผู้ร้องฎีกาว่า ศาลชั้นต้นไม่ได้ให้โอกาสผู้ร้องในการสืบพยานเพิ่มเติมนั้น เห็นว่า ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่ากรณีนี้ต้องให้โอกาสผู้ร้องสืบพยานเพิ่มเติม อีกทั้งเมื่อศาลชั้นต้นเรียกเอกสารจากธนาคารแล้วในวันนัดฟังคำสั่งครั้งแรกวันที่ 21 มกราคม 2559 ศาลชั้นต้นได้ให้ทนายผู้ร้องตรวจดูเอกสารที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาลำปาง ส่งมา ทนายผู้ร้องแถลงว่า เป็นสำเนาคำขอเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของผู้ตายและตัวอย่างลายมือชื่อของผู้ตายจริง และเลื่อนไปนัดฟังคำสั่งในวันที่ 26 มกราคม 2559 ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 21 มกราคม 2559 ผู้ร้องมีโอกาสและระยะเวลาที่จะขอสืบพยานเพิ่มเติมแต่ผู้ร้องมิได้แถลงหรือร้องขอก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.2411/2559
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ ผู้ร้อง - นางสาวอุมาภรณ์หรือมัลลิกาหรือจัสมิน มูลเทพหรือจันทร์สิริโชคหรือชัยมณีหรือพาเวลส์โมด็อกซ์
ชื่อองค์คณะ น้ำเพชร ปานะถึก วาสนา หงส์เจริญ อาเล็ก จรรยาทรัพย์กิจ
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดลำปาง - นายสุจินต์ หลีสกุล ศาลอุทธรณ์ภาค 5 - นายประวิตร ประคำโทน