สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3578/2565

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3578/2565

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 119 วรรคหนึ่ง (4)

ตามกฎระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานพนักงานรายเดือนและพนักงานรายวัน ข้อ 9 วินัยในการปฏิบัติงาน ข้อย่อยที่ 18 กำหนดว่า "ห้ามพนักงานทุกคนนํายาเสพติดผิดกฎหมาย…. เข้ามาในบริเวณที่ทำงานหรือโรงงาน และพนักงานทุกคนต้องยินยอมให้บริษัทตรวจหาสารเสพติดได้ตลอดเวลาและทุกกรณีพนักงานที่ฝ่าฝืนหรือไม่ให้ความร่วมมือจะพิจารณาโทษสูงสุดโดยการเลิกจ้าง" เมื่อยาเสพติดให้โทษเป็นสิ่งผิดกฎหมายและเป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมส่วนรวม กฎระเบียบดังกล่าวของจําเลยย่อมมีเจตนารมณ์หรือวัตถุประสงค์ที่จะห้ามมิให้พนักงานทุกคนของจําเลยเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดไม่ว่ากรณีใดๆ มิได้เฉพาะแต่การนําหรือพกพายาเสพติดเข้ามาในที่ทำงานหรือโรงงานของจําเลยเท่านั้น แต่รวมถึงการเสพยาเสพติดแล้วเข้ามาปฏิบัติงานในที่ทำงานหรือโรงงานของจําเลยด้วย เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่จําเลยและผู้ปฏิบัติงานทุกคนในที่ทำงานหรือโรงงานของจําเลยด้วย ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่ตรวจพบสารเสพติดในปัสสาวะของโจทก์ขณะปฏิบัติหน้าที่ในที่ทำงานหรือโรงงานของจําเลยจึงเป็นการฝ่าฝืนกฎระเบียบดังกล่าว ซึ่งจําเลยจะพิจารณาโทษสูงสุดโดยการเลิกจ้างได้

คดีนี้จําเลยสมัครใจเข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติดในระบบสมัครใจ "ค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจังหวัดนครปฐม" ของศูนย์อํานวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดนครปฐม เพื่อเป็นการบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยเสพยาเสพติด ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 108/2557 ย่อมถือได้ว่า จําเลยสมัครใจที่จะปฏิบัติตามหรือให้ความร่วมมือกับมาตรการใด ๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งในเงื่อนไขของโครงการดังกล่าวด้วย เมื่อจําเลยมีคำสั่งให้โจทก์หยุดงานเพื่อไปดำเนินการบำบัดฟื้นฟูตามโครงการดังกล่าวในค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจังหวัดนครปฐมในระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2562 โดยโจทก์ก็ยินยอมเข้ารับการบําบัดฟื้นฟูด้วย ซึ่งในช่วงระยะเวลาที่โจทก์เข้ารับการบําบัดฟื้นฟูดังกล่าว จําเลยก็มิได้ลงโทษหรือเลิกจ้างโจทก์จากการกระทำผิดของโจทก์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า จําเลยให้ความร่วมมือสนับสนุนการดำเนินการบำบัดรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพยาเสพติด "ค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจังหวัดนครปฐม" แล้ว จําเลยจึงต้องให้โอกาสแก่โจทก์กลับเข้าทำงานต่อไปตามที่กำหนดไว้ และถือว่าจําเลยไม่ติดใจจะนํากฎระเบียบดังกล่าว ข้อ 9 ข้อย่อย 18 มาใช้บังคับแก่พนักงานที่ถูกพบสารเสพติดในปัสสาวะในโครงการดังกล่าวรวมถึงโจทก์ด้วย เพื่อให้เป็นไปตามความมุ่งหมายของโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติดในระบบสมัครใจ การที่จําเลยไม่ให้โจทก์กลับเข้าทำงานต่อไปและเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 18 มิถุนายน 2562 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันที่โจทก์ได้รับการบําบัดฟื้นฟูสิ้นสุดลงตามกระบวนการ จําเลยย่อมต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 78,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 13,650 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของค่าชดเชย และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานภาค 7 พิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 78,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2562 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานพิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 7 ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ตำแหน่งสุดท้ายเป็นพนักงานตรวจสอบคุณภาพสินค้า จำเลยมีนโยบายทำให้โรงงานปลอดยาเสพติดและเป็นโรงงานสีขาว เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2562 ปลัดจังหวัดนครปฐมนำเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบในสถานประกอบการจำเลย เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบสารเสพติดในปัสสาวะของโจทก์และโจทก์เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูในฐานะผู้ป่วยเสพยาเสพติด ต่อมาวันที่ 18 มิถุนายน 2562 โจทก์เข้าพบนายจองศักดิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลย เพื่อขอกลับเข้ามาทำงานภายหลังโจทก์เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูเสร็จสิ้นตามกระบวนการแล้ว แต่จำเลยปฏิเสธไม่รับโจทก์เข้าทำงานตามเดิม แล้ววินิจฉัยว่า การที่จำเลยไม่ให้โจทก์กลับเข้าทำงานเป็นการเลิกจ้างโจทก์ จำเลยรับทราบถึงการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษของโจทก์ และยินยอมให้โจทก์เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูในฐานะผู้ป่วยโดยมิได้เลิกจ้างในทันที อันมีลักษณะเป็นการให้โอกาสโจทก์ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นข้อที่ฝ่าฝืนกฎระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีที่ร้ายแรง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์เคยก่อความเสียหายจากการกระทำผิดดังกล่าว หรือทำให้จำเลยเสื่อมเสียชื่อเสียงจากการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องหรือผิดพลาด ในวันเกิดเหตุโจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ปรากฏว่าอยู่ในอาการผิดปกติหรือมึนเมา ดังนั้น ถือไม่ได้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนกฎระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีที่ร้ายแรง ไม่เข้ากรณีที่นายจ้างเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (4) แต่การที่โจทก์เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษกระทบต่อความไว้เนื้อเชื่อใจและการทำงานร่วมกับพนักงานอื่น จึงเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และการเลิกจ้างถือว่ามีเหตุผลเพียงพอ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษโดยมติที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่า การที่นายจ้างอาจเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (4) ซึ่งเป็นกรณีฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือระเบียบหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมเป็นกรณีที่ร้ายแรงนั้น ต้องเป็นเรื่องที่นายจ้างมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งให้ลูกจ้างปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ลูกจ้างไม่ปฏิบัติตาม กฎระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ข้อ 9. วินัยในการปฏิบัติงาน ข้อย่อย 18. กำหนดห้ามพนักงานทุกคนนำยาเสพติดผิดกฎหมายเข้ามาในบริเวณที่ทำงานหรือโรงงาน ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบสารเสพติดในปัสสาวะของโจทก์ยังไม่สามารถถือได้ว่าโจทก์นำยาเสพติดผิดกฎหมายเข้ามาในบริเวณที่ทำงานหรือโรงงานจำเลย อันจะเป็นการฝ่าฝืนกฎระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของจำเลย กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้ออื่นต่อไป เพราะไม่มีผลทำให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฏีกาของจำเลยว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงยุติตามที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันได้ความว่า จำเลยมีนโยบายมุ่งเน้นให้จำเลยเป็นโรงงานสีขาวปลอดจากยาเสพติด จึงแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติดในระบบสมัครใจ "ค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจังหวัดนครปฐม" รุ่นที่ 3 ของศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดนครปฐม เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาดำเนินการตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะของพนักงานจำเลยทุกคน ซึ่งโครงการดังกล่าวมีเป้าหมายดำเนินการบำบัดผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด โดยหากพนักงานรายใดตรวจพบสารเสพติดในปัสสาวะก็สามารถยินยอมขอเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูกับหน่วยงานฝ่ายปกครองของจังหวัดนครปฐมต่อไปได้ จากนั้นวันที่ 24 เมษายน 2562 ปลัดจังหวัดนครปฐมได้นำเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะของพนักงานในสถานประกอบการของจำเลยตามโครงการดังกล่าว โดยโจทก์สมัครใจเข้าร่วมรับการตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะด้วย ผลการตรวจเบื้องต้นพบสารเสพติดในปัสสาวะของโจทก์ โจทก์ยินยอมเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู ตามที่ศูนย์เพื่อการคัดกรองกำหนดให้ และยินยอมให้ติดตามดูแลภายหลังการบำบัดฟื้นฟูต่อเนื่องอีก 12 เดือน จำเลยจึงมีคำสั่งให้โจทก์หยุดงานเพื่อไปดำเนินการบำบัดฟื้นฟูตามโครงการดังกล่าวในค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจังหวัดนครปฐมซึ่งโจทก์ยินยอมและสมัครใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าวและเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู นั้น ตามกฎระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานพนักงานรายเดือนและพนักงานรายวัน ข้อ 9 วินัยในการปฏิบัติงาน ข้อย่อยที่ 18 กำหนดว่า "ห้ามพนักงานทุกคนนำยาเสพติดผิดกฎหมาย… เข้ามาในบริเวณที่ทำงานหรือโรงงาน และพนักงานทุกคนต้องยินยอมให้บริษัทตรวจหาสารเสพติดได้ตลอดเวลาและทุกกรณี พนักงานที่ฝ่าฝืนหรือไม่ให้ความร่วมมือจะพิจารณาโทษสูงสุดโดยการเลิกจ้าง" เมื่อยาเสพติดให้โทษเป็นสิ่งผิดกฎหมายและเป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมส่วนรวม กฎหมายดังกล่าวของจำเลยย่อมมีเจตนารมณ์หรือวัตถุประสงค์ที่จะห้ามมิให้พนักงานทุกคนของจำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดไม่ว่ากรณีใด ๆ มิได้เฉพาะแต่การนำหรือพกพายาเสพติดเข้ามาในที่ทำงานหรือโรงงานของจำเลยเท่านั้น แต่รวมถึงการเสพยาเสพติดแล้วเข้ามาปฏิบัติงานในที่ทำงานหรือโรงงานของจำเลยด้วย เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยและผู้ปฏิบัติงานทุกคนในที่ทำงานหรือโรงงานของจำเลยด้วย ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบสารเสพติดในปัสสาวะของโจทก์ขณะปฏิบัติหน้าที่ในที่ทำงานหรือโรงงานของจำเลยจึงเป็นการฝ่าฝืนกฎระเบียบดังกล่าว ซึ่งจำเลยจะพิจารณาโทษสูงสุดโดยการเลิกจ้างได้ แต่เมื่อคดีนี้จำเลยสมัครใจเข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติดในระบบสมัครใจ "ค่ายปรับเปลี่ยนพฤติการณ์จังหวัดนครปฐม" ของศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดนครปฐม เพื่อเป็นการบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยเสพยาเสพติดตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 108/2557 ย่อมถือได้ว่าจำเลยสมัครใจที่จะปฏิบัติตามหรือให้ความร่วมมือกับมาตราการใด ๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งในเงื่อนไขของโครงการดังกล่าวด้วย เมื่อโจทก์ให้ความร่วมมือให้ตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะของโจทก์ เมื่อตรวจพบสารเสพติดในปัสสาวะโจทก์ก็ยินยอมเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู และยินยอมให้ติดตามดูแลภายหลังการบำบัดฟื้นฟูต่อเนื่องอีก 12 เดือน ซึ่งเป็นไปตามความประสงค์ในการเข้าร่วมโครงการดังกล่าวของจำเลย จนกระทั่งโจทก์ผ่านการบำบัดฟื้นฟู โดยการประเมินตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข วันที่ 17 มิถุนายน 2562 ปลัดจังหวัดนครปฐมในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดนครปฐมจึงได้ทำหนังสือถึงจำเลย เพื่อขอความร่วมมือให้จำเลยสนับสนุนการดำเนินการบำบัดรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพยาเสพติด "ค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจังหวัดนครปฐม" ในห้วงระยะเวลาที่โจทก์เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2562 และให้โอกาสโจทก์กลับเข้าทำงานต่อไป โดยให้จำเลยรับการรายงานตัวโจทก์ในวันทำการถัดไปหลังจากวันที่ทำการบำบัดฟื้นฟูฯ สิ้นสุดลงทั้งเมื่อหลังจากรับโจทก์กลับเข้าทำงานแล้วขอให้จำเลยเฝ้าระวัง/สอดส่องดูแลมิให้โจทก์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดหรือกลับไปเสพซ้ำอีก ดังนั้น เมื่อจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์หยุดงานเพื่อไปดำเนินการบำบัดฟื้นฟูตามโครงการดังกล่าวในค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจังหวัดนครปฐมในระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2562 โดยโจทก์ยินยอมเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูด้วย ซึ่งในช่วงระยะเวลาที่โจทก์เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูดังกล่าว จำเลยก็มิได้ลงโทษหรือเลิกจ้างโจทก์จากการกระทำผิดของโจทก์ด้วย แสดงให้เห็นว่าจำเลยให้ความร่วมมือสนับสนุนการดำเนินการบัดบัดรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพยาเสพติด "ค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจังหวัดนครปฐม" แล้ว จำเลยจึงต้องให้โอกาสแก่โจทก์กลับเข้าทำงานต่อไปตามที่กำหนดไว้ด้วย และถือว่าจำเลยไม่ติดใจจะนำกฎระเบียบดังกล่าว ข้อ 9 ข้อย่อย 18 มาใช้บังคับแก่พนักงานที่ถูกพบสารเสพติดในปัสสาวะในโครงการดังกล่าวรวมถึงโจทก์ด้วย เพื่อให้เป็นไปตามความมุ่งหมายของโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติดในระบบสมัครใจ การที่จำเลยไม่ให้โจทก์กลับเข้าทำงานต่อไปและเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 18 มิถุนายน 2562 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันที่โจทก์ได้รับการบำบัดฟื้นฟูสิ้นสุดลงตามกระบวนการ จำเลยย่อมต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน

อนึ่ง โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 78,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ศาลแรงงานภาค 7 พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2562 ซึ่งเป็นวันเลิกจ้าง โดยมิได้ให้เหตุผลว่าเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความอย่างไร จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ย่อมไม่ชอบตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52 กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยไม่ได้ฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) มาตรา 246 และมาตรา 252 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 57/1 วรรคสอง

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยของค่าชดเชยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 5 กรกฎาคม 2562) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 7

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ร.1069/2564

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย ณ. จำเลย - บริษัท น.

ชื่อองค์คณะ สันทัด สุจริต โชติวัฒน์ เหลืองประเสริฐ อรพงษ์ ศิริกานต์นนท์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแรงงานภาค 7 - นายอาทิตย์ กิจชระภูมิ

  • นายศราวุธ ภาณุธรรมชัย
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE